Skip to main content
sharethis

ถึงแม่

ผมขอโทษที่ทำให้แม่ผิดหวัง สิ่งที่ผมกำลังจะทำไม่ใช่ทำเพื่อครอบครัวเราครอบครัวเดียว และไม่ได้ทำเพื่อแม่คนนี้คนเดียว ผมกำลังจะทำให้กับแม่ของทุกๆ คน ถ้าสังคมในบ้านเรายังมีคนอีกมากที่ทุกข์ยากลำเค็ญ ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยผู้มีอำนาจส่วนน้อยในสังคม ครอบครัวเล็กๆ อย่างเราจะไปอยู่รอดได้ยังไง ผมแค่อยากเห็นช่องว่างระหว่างชนชั้นระหว่างคนรวยกับคนจนที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่นี้ ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้จะเป็นการขายชาติขายเมืองเหมือนอย่างที่พวกเขาใส่ร้ายป้ายสี ลูกของแม่คนนี้ไม่ได้เลวอย่างที่เขากล่าวหา เพื่อนของผมก็เช่นกัน พวกเขาถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายทารุณ ไม่ละเว้นแม้แต่ผู้หญิงและเด็ก พวกเขาเอาสิทธิอะไรมาเข่นฆ่าพวกเราราวกับเป็นผักเป็นปลา นี่น่ะหรือเมืองพุทธอย่างที่เขาชอบพูดกัน...

นี่คือเนื้อหาบางส่วนจากภาพยนตร์สั้นเรื่อง “พิราบ” ผลงานการกำกับโดย ภาษิต พร้อมนำพล บัณฑิตวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งทำภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสารนิพนธ์จบ

หนังสั้นว่าด้วยเรื่องราวของนักศึกษาที่ถูกล้อมปราบในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้รับรางวัลพิราบขาว จากมูลนิธิ 14 ตุลา และรางวัลชมเชย สาขาช้างเผือก ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นปีล่าสุด ครั้งที่ 21

ประชาไทชวนคุยกับภาษิต พร้อมนำพล ในฐานะคนรุ่นใหม่ลูกหลานคนเดือนตุลา ที่ทำหนังจาก “พิราบราม” หนังสือที่พ่อเขาเขียนถึงเรื่องราวชีวิตในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาและการตัดสินใจเข้าป่าหลังจากนั้น ด้วยประสบการณ์ตรงจากพ่อและความทรงจำที่ถูกเล่าอย่างไม่ปะติดปะต่อ บางครั้งก็เป็นเหตุการณ์น่าสะเทือนใจ ประกอบสร้างขึ้นเป็นหนังแห่งความทรงจำที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น พอให้ภาพได้ว่าอนาคต 6 ตุลากับคนรุ่นใหม่จะเป็นเช่นไร  

ภาษิต พร้อมนำพล

จุดเริ่มต้น

จริงๆ ตั้งใจจะทำหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ปีหนึ่งปีสองแล้ว แต่รู้สึกว่าหนังสเกลมันใหญ่มาก และเราไม่มีตังค์ทำ ก็เลยเก็บเรื่องนี้ไว้ทำเป็นธีสิสเพื่อที่พอรวบรวมสมาชิกมันก็จะมีงบประมาณระดับหนึ่ง

ธีสิสของ มศว เป็นระบบจับกลุ่มกัน ไม่ได้ทำคนเดียว มศว.แบ่งออกเป็น 3 เอก มีผลิต (การผลิตงานภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล) แสดง (การแสดงและกำกับการแสดงผ่านสื่อ) แล้วก็ออกแบบ (การออกแบบเพื่องานภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล) ซึ่งในหนึ่งกลุ่มต้องมีอย่างน้อยเอกละ 2 คน แล้วใครก็ได้ส่งเรื่องที่จะทำ ถ้าใครส่งผ่านก็จะได้เป็นหัวหน้ากลุ่ม

ผมเรียนผลิต โชคดีที่เรื่องผ่านก็เลยได้เขียนบทแล้วก็กำกับด้วย

ที่ยกเรื่อง 6 ตุลา ตอนแรกผมไม่ค่อยอินกับเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่ผมโตมากับสังคมที่เพื่อนพ่อเป็นคนเดือนตุลาทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยรู้จักเพื่อนพ่อกลุ่มอื่นเท่าไหร่ พ่อเพิ่งมาเจอเพื่อนสมัยมัธยมไม่นานนี้เอง ผมเลยโตมากับพี่ๆ น้องๆ ที่มีพ่อแม่เข้าป่า

แล้วหันมาสนใจ 6 ตุลาได้ไง

ปีที่แล้วมันครบ 40 ปี 6 ตุลาพอดี เป็นปีที่กระแสบูมมาก และมีข้อมูลให้ค้นคว้าเพิ่มขึ้นเยอะ อีกอย่างคือเหมือนเป็นความน้อยใจของพ่อนิดหน่อย คือเราอ่านหนังสือของคนอื่นมากกว่าหนังสือของพ่อเราเอง เราก็เลยตั้งใจทำหนังเรื่องนี้เพื่อบอกว่าเราก็อ่านหนังสือของเขานะ เหมือนทำหนังให้พ่อ

ภาพหนังสือ ‘พิราบราม’ ‘ศึกลำโดมเลือด’ ‘ทัพฅนแดง’ (โดยภาษิต พร้อมนำพล)

เล่าหนังสือของพ่อให้ฟังหน่อย

หลังออกจากป่าเขาเคยเป็นนักข่าวอยู่เนชั่น เขาเลยมีสกิลในการเขียนอะไรยังงี้เยอะ แล้วเขาก็เลยเขียนเรื่องของตัวเอง เหมือนเป็นบันทึกเก็บเอาไว้ แต่ก็ได้พิมพ์กับสำนักพิมพ์แล้วก็ขายด้วย แต่มันนานมากแล้ว ไม่ค่อยได้รับความนิยมอะไรเท่าไหร่ จริงๆ มันเป็นไตรภาคมีสามเล่ม มี ‘พิราบราม’ ‘ศึกลำโดมเลือด’ แล้วก็ ‘ทัพฅนแดง’

พิราบรามเป็นเล่มแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับก่อนหน้า 6 ตุลา และเหตุการณ์หลังจากนั้นจนกระทั่งเข้าป่า ส่วนอีกสองเล่มเป็นชีวิตเขาตอนอยู่ในป่า

เราเลือกพิราบรามมาทำเป็นหนัง เพราะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ค่อยมีเรื่องที่เล่าว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับนักศึกษาบ้างก่อนหน้าที่จะหนีเข้าป่า ข้อมูลทั่วไปก็จะบอกว่าในวันที่ 6 เกิดอะไรบ้าง มีคนตายเท่านี้ คนเจ็บเท่านี้ แต่ไม่ได้พูดถึงชีวิตของนักศึกษา อะไรทำให้ตัดสินเข้าป่า พิราบรามคือการบอกเล่าเนื้อหาในส่วนนั้น

เรามักเห็นหนังที่เล่าว่าก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์ มีชนวนอะไรบ้างที่ทำให้เกิด 6 ตุลา 14 ตุลา แต่ยังไม่ค่อยมีหนังเรื่องไหนที่เล่าว่าแล้วหลังจากนั้นล่ะ เกิดอะไรขึ้น

หรืออย่างหนังเรื่อง “14 ตุลา สงครามประชาชน” อันนั้นเล่าถึงเรื่อง เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) ซึ่งเขาเป็นแกนนำ แต่อันนี้พ่อไม่ได้เป็นแกนนำ เป็นแค่นักศึกษาที่เข้าไปร่วม เราเลยคิดว่าไอเดียนี้มันเวิร์ค แล้วมันก็มาจากชีวิตของพ่อเราจริงๆ ด้วย แต่หนังก็ไม่ได้ตรงตามหนังสือทุกอย่าง มีดัดแปลงนิดหน่อย

หนังไทยเกี่ยวกับ 6 ตุลามีอะไรบ้าง

ตอนที่ผมรีเสิร์ชทำธีสิส ได้หนังไทยเกี่ยวกับ 6 ตุลามา 7-8 เรื่องเอง มีสารคดีผีตองเหลือง เป็นภาพฟุตเทจของเหตุการณ์แต่เอาคำบรรยายสารคดีผีตองเหลืองมาใส่เข้าไป อันนี้ดีมาก มีเรื่อง October Sonata เรื่องเชือดก่อนชิมที่เกี่ยวอยู่นิดหน่อย มีดาวคะนอง มีสารคดีสองเรื่องที่ได้ดูปีที่แล้ว คือ Silence-Memories กับ Respectfully yours ซึ่งถือว่าน้อย แต่ผมว่าดีในแง่ที่เรารู้ว่าเขาเล่าอะไรไปแล้วบ้าง เราจะได้ไม่เล่าซ้ำ ยังมีช่องทางใหม่ๆ ที่ยังไม่ถูกพูดถึงในแง่ของภาพยนตร์

พ่อได้เล่าเหตุการณ์พวกนี้ให้ฟังไหม

เล่า เล่าเรื่อยๆตั้งแต่เด็ก เขาน่าจะอยู่ในป่า 10 ปีได้ เป็นล็อตหลังๆ ที่ออกมา เข้าตอนประมาณปีสองปีสาม แล้วตอนออกมาน่าจะอายุ 30 กว่าแล้ว

พ่อเล่ายังไงให้ฟังบ้าง

เหมือนเรื่องเล่าของคนแก่ มันจะไม่ปะติดปะต่อเท่าไหร่ ไม่ค่อยเล่าเป็น หนึ่ง สอง สาม แต่เวลาเขาไปเจออะไร ขับรถไปต่างจังหวัด ขับรถไปเจออะไรคุ้นๆตา เขาก็จะเล่าเหตุการณ์ในช่วงนั้นๆ

ตอนทำรีเสิร์ชหนังเรื่องนี้ก็ได้ไปคุยกับพ่ออีกทีว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง เขาก็ไล่เรียงตั้งแต่เช้าวันนั้นไปเรื่อยๆ จนถึงติดคุก มีเรื่องเล่าเยอะมากๆ เขาเจอเหตุการณ์มาเยอะมากๆ

6 ตุลา มีผลกระทบต่อเราไหม

มันก็มีบ้างนิดหน่อย เหมือนเราเป็นคนพิเศษหน่อยนึงคือเราใกล้ชิดกับคนเหล่านี้ เราเป็นหนึ่งในลูกหลานของเขาที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น เวลาเขามาเจอกัน รำลึกถึงกัน เขาก็จะบอกว่า เออเนี่ยวันนั้นวิ่งหลบกระสุนกับคนนี้ ลงน้ำกับคนนี้ด้วยกัน เป็นเหมือนการเล่าเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพวกเขา พอทุกคนย้อนกลับไป บางทีก็เป็นการคุยเล่นกันมากกว่า ไม่ค่อยพูดถึงด้วยความเศร้า แต่จะเศร้าเวลาไปร่วมงานรำลึกมากกว่า

แต่มันมีเหตุการณ์น่าสะเทือนใจเหมือนกัน แต่พ่อไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยเล่าให้ฟัง เคยถามมาได้ครั้งหนึ่งตอนที่ต้องรีเสิร์ชทำธีสิส เขาเลยยอมเล่า

ตอนนั้น เช้าวันที่ 6 ช่วงที่มีคนยิงเข้าไปแรกๆ พ่อเป็นหัวหน้าการ์ดอยู่ตรงประตูใหญ่หน้าหอประชุม แล้วเขาเล่าให้ฟังว่าภาพที่เขาไม่เคยลืมเลยคือ มีคนถูกยิงกระสุนเต็มตัวเลือดอาบ วิ่งมาเตือนเขาว่าตำรวจล้อมไว้หมดแล้ว มันเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจเหมือนกันพอคิดตามเขา มีคนถูกยิงมาล้มต่อหน้าเรา แต่เขายังวิ่งมาเตือนเราบอกว่าไม่มีทางหนีแล้ว ผมเซ้นซิทีฟนิดนึง เพราะตอนทำก็ค่อนข้างอินกับเรื่องด้วย เหมือนฝังใจ เรื่องนี้ผมเกิดมา 20 กว่าปีเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก เขาไม่เคยเล่าให้ผมฟังเลย มันเป็นเรื่องที่สะเทือนใจเขามาก ตอนเขาเล่าเขาก็ยังสะเทือนใจ เขาพูดแบบตะกุกตะกักเลยแหละ ไม่เคยเห็นพ่อเป็นแบบนั้นมาก่อน

เช้าวันนั้นพ่อหนีออกมายังไง

เขาวิ่งไปทางตึกรัฐศาสตร์ วิ่งตามตึกไปเรื่อยๆ ไปที่โดม แล้วก็ไปที่ท่าเรือ แล้ว...เขาอ่ะว่ายน้ำไม่เป็น แต่เขาตัดสินใจที่จะโดด โดดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่โชคดีที่วันนั้นน้ำลด มันเลยตื้น โดดไปเลยไม่จม แล้วเขาก็พยายามว่ายไปอีกฝั่ง แต่ตำรวจขับเรือเอาปืนมาจ่อ เขาเลยถูกจับเอาขึ้นจากน้ำไปท่าเรือศิริราช แล้วเอาไปที่สน.แถวนั้น แล้วค่อยมาถูกฝากขังที่บางเขน เขาถูกสอบสวนแต่ก็ไม่รับสารภาพ

 

ในหนังมีฉากที่ตัวเอกเขียนจดหมายลาแม่ก่อนเข้าป่า ความจริงพ่อเขียนจดหมายหาย่าแบบนั้นเลยรึเปล่า

ไม่แน่ใจว่าแบบนั้นเลยร้อยเปอร์เซ็นต์รึเปล่า แต่เนื้อความจดหมายผมลอกมาจากหนังสือของพ่อเลย มีเสริมนิดหน่อย ผมรู้สึกว่าถ้อยคำมันสมบูรณ์ ผมก็เลยคิดว่าน่าจะยกมาใส่ทั้งหมด เพราะมันเป็นจดหมายของลูกถึงแม่ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับมา รู้สึกว่าคำพูดมันเพียวดี มีความรู้สึก

แล้วเคยคุยเรื่องนี้กับย่ามั้ย

ไม่เคย เหมือนเขาแก่มากแล้ว เราไม่รู้จะเริ่มคุยยังไง และเราก็ไม่อยากคุยอะไรที่อาจจะไปทำให้เขาเสียใจ

ช่วงไหนที่อินมากกับการทำหนังเรื่องนี้

มีสองช่วงหลักๆ คือช่วงรีเสิร์ช คือเราหาประวัติหาเรื่องราวเหตุการณ์ตลอดประมาณ 3 เดือน ช่วงนั้นเราอ่านเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แทบทุกวัน แล้วรู้สึกว่าทำไมมันโหดร้ายจังเลย ทำไมคนถึงทำกันได้ขนาดนี้

อีกช่วงหนึ่งที่อินมากๆ คือช่วงที่แคสติ้ง (คัดเลือกนักแสดง) ต้องบรีฟนักแสดง มีบางครั้งที่เราบรีฟนักแสดงแล้วร้องไห้ไปด้วย เพราะมันต้องดึงอารมณ์นักแสดงให้ขึ้นมาให้ได้ นักแสดงก็เป็นรุ่นเราๆ ซึ่งไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ ถ้อยคำที่เราบรีฟเขาไปมันเป็นคำที่ทำให้เราย้อนนึกถึงตัวเองว่า ถ้าสมมติเพื่อนเราตายต่อหน้าต่อตาเราจะรู้สึกยังไง

ก็เลยเป็นช่วงที่อิน แต่ก็ยอมรับว่าการแคสติ้งก็ยังมีปัญหา แล้วก็มีช่วงที่เบื่อด้วยนะ

ช่วงไหนที่เบื่อ

คือช่วงตัดต่อ เพราะผมไม่ค่อยเป็นสายโพสต์ (ขั้นตอนหลังการถ่ายทำ) เท่าไหร่ ช่วงตัดต่อทำสีเป็นอะไรที่ไม่ถนัดเลย ส่วนมากไปนั่งดูเพื่อนอีกคนหนึ่งตัด มันเบื่อเพราะมันทำมาตลอดทั้งปี มันอิ่มตัว เราไม่มีไอเดียใหม่ๆ ใส่เข้ามา และช่วงถ่ายมันเหนื่อยมาก ต้องไปช่วยเพื่อนกลุ่มอื่นออกกองด้วย และหนังเราไม่ได้มีไดนามิกขนาดนั้น มันจะไปเรื่อยๆ มากกว่า ก็เลยเนือยๆกับการทำ

เพื่อนในกลุ่มอินด้วยมั้ย

มีอินบ้างส่วนน้อย แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยอิน เพราะพ่อแม่เขาส่วนใหญ่อายุน้อยกว่าพ่อแม่ผม และโตไม่ทันเจอเหตุการณ์นี้ และมันเป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องเครียดๆด้วย ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอิน

แล้วมันเป็นปัญหาสำหรับเรามั้ยกับการที่เพื่อนไม่อิน

จริงๆ เขาไม่สนใจเราก็บังคับเขาไม่ได้ เพราะคนเราสนใจสิ่งที่แตกต่างกัน คนเราชอบไม่เหมือนกัน เราไปว่าอะไรเขาไม่ได้ เขาก็ทำในหน้าที่ของตัวเอง ตำแหน่งของตัวเองให้ซับพอร์ทกับหนังมากที่สุด และพวกเขาคือคนต่างยุคต่างวัย ถ้าเขาอยู่ยุคก่อนอาจจะสนใจก็ได้ โลกมันเปลี่ยนไป เจนเนเรชั่นมันเปลี่ยนไป คนสมัยใหม่สนใจอย่างอื่นมากกว่าประวัติศาสตร์ ก็ไม่เป็นไร เราบังคับให้เขาสนใจไม่ได้

ตอนรีเสิร์ชเราหาจากไหนบ้าง

มีหาในเน็ตครึ่งหนึ่ง แล้วก็ไปหาตามห้องสมุด อยากหาข้อมูลให้กว้างที่สุด ได้ไปห้องสมุดธรรมศาสตร์ด้วย ไปหาหนังสือพิมพ์ฉบับวันนั้น ซึ่งมันน้อยมากเลยที่เขาเก็บไว้ มีแค่ฉบับสองฉบับ และข่าวในวันนั้นก็จะไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นเพราะมันเช้ามากและยังไม่มีใครรู้ และเขาปิดหนังสือพิมพ์วันที่ 7-8

ไปเจอหนังสือพิมพ์วันที่ 11 เป็นหน้าประกาศว่าใคร นักศึกษาชื่ออะไรถูกจับกุมบ้าง ถูกจับไปอยู่ที่ไหน แล้วก็ไปเจอชื่อแม่อยู่ในหนังสือพิมพ์ แต่ไม่เจอชื่อพ่อเพราะพ่อเปลี่ยนทั้งชื่อและนามสกุล ผมจำไม่ได้ แต่น่าจะมีอยู่ในนั้น เขาถึงเพิ่งเจอเพื่อนมัธยม เพราะเพื่อนมัธยมนึกว่าเขาตายไปแล้ว

การเจอชื่อแม่ในหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มันรู้สึกยังไงบ้าง

สะเทือนใจมาก ผมนั่งเปิดดู ไล่หา ตอนแรกก็ไม่ได้คาดหวังจะเจอชื่อใคร แค่หาคนที่ชื่อคุ้น แล้วเราก็เห็นชื่อแม่ เรานิ่งไปแป๊บนึงแล้วก็เรียกเพื่อนมาดู กลับบ้านไปก็บอกแม่ โพสต์ขึ้นเฟสบุ๊กด้วยว่าเจอชื่อแม่ แม่ก็เล่าให้ฟังว่าที่บ้านก็เห็นชื่อนี้เหมือนกันแล้วก็ไปเยี่ยม

แล้วพ่อเจอแม่ยังไง

รู้สึกว่าเรียนที่รามฯ เหมือนกัน เป็นนักกิจกรรมเหมือนกัน เข้าป่าเหมือนกัน แต่อยู่คนละเขต พ่อเข้าที่ศรีสะเกษ ส่วนแม่เข้าที่อุดรฯ แต่มาเจอกันจริงๆ น่าจะออกจากป่า แต่ก่อนหน้านั้นก็รู้จักกันก่อนแล้ว

พ่อได้ดูยัง

ดู

แล้วเขาว่าไง

เขาก็...ชอบแหละ เพราะมันเป็นหนังชีวิตของเขา

แล้วเขาได้ชมอะไรมั้ย

ชมอะไรมั้ยเหรอ... เขาชอบ เขาบอกว่า ทำให้เขานึกถึงชีวิตของเขาเอง นี่แหละคำชมเขา

ดูเป็นสายขรึมเนอะ

ไม่ค่อยขรึมเท่าไหร่ อย่างเรื่องเกี่ยวกับ 6 ตุลาเขาก็เล่าตลอดแหละ แต่บางเรื่องที่เซ้นซิทีฟกับเขา บางทีเขาก็ไม่ค่อยพูด อย่างหนังเรื่องนี้มันเหมือนใช่กับชีวิตเขาไปหมด เขาเลยไม่รู้จะพูดอะไรมากกว่า

แนวคิดของพ่อในตอนนั้นเป็นยังไง

เขาเป็นเด็กกิจกรรมมีออกค่าย การที่คนชาวบ้าน คนยากคนจนไม่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ทำให้เขารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง ตอนนั้นบ้านเขาก็ไม่ได้รวยด้วย เขาก็เลยรู้สึกว่าสังคมไทยมันน่าจะดีกว่านี้ถ้าคนมันเท่าเทียมกัน

ทุกวันนี้เขายังมีแนวคิดแบบนี้ไหม

ก็มี แต่เขาไม่ได้อยู่ในช่วงอายุที่จะออกมาแสดงพลังแล้ว อยู่ในโซนที่นั่งดูประเทศไปเฉยๆ

เรารู้สึกว่าเหตุการณ์นี้มันถูกทำให้ลืมไหม

ก็รู้สึกนะ อย่างถ้าไม่ถึงใกล้วันที่ 6 ตุลาของทุกปีก็ไม่มีใครพูดถึง

ประเทศอื่นมีการระลึกถึงเหตุการณ์สูญเสียแบบนี้ แต่ประเทศไทยไม่มี ผมว่าประเทศไทยมันเป็นประเทศที่ลืมง่ายๆ มีข่าวอะไรมาแป๊บๆ ก็เปลี่ยนข่าวแล้ว กระแสมันเปลี่ยนได้ตลอดเวลา คนไม่ได้จำอะไรมากขนาดนั้น มีคนลืมอยู่แล้ว

แต่อย่างคนรุ่นพ่อเขาพูดถึงเรื่องนี้ได้ตลอดเวลา อาจจะเรียกว่าพยายามรื้อฟื้นเรื่องเก่าๆ มาคุยกัน เพราะเหมือนเหตุการณ์บ้านเมืองช่วงนี้มันทำให้คนแตกออกเป็นหลายฝ่าย เขาพยายามจะเอาชีวิตตอนมหา’ลัยของเขาที่เป็นเพื่อนกันอยู่มาคุยกันมากกว่าเหตุการณ์ในตอนนี้ อันนี้ไม่แน่ใจเหมือนกัน เป็นความคิดของผมนะ เพราะช่วงนั้นก็เหมือนรวมกลุ่มกันได้ เหมือนเป็นช่วงชีวิตที่ดีของเขานะ มีความสุขกับการใช้ชีวิตกับเพื่อนรอบข้าง

แล้วถ้าในอนาคตไม่มีใครสนใจเรื่องนี้แล้วล่ะ ถ้าคนรุ่นเก่าก็ทยอยตายกันไป

เราคงเล่าต่อ เราคงไม่ปล่อยให้มันหายไป เล่าในส่วนของเรา สิ่งที่เราพอทำได้ อาจจะทำหนังอีกสักเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยังแค่เป็นไอเดียเฉยๆ ถ้าในอนาคตเรียนรู้มากกว่านี้ เก่งกว่านี้ และมีโอกาสมากกว่านี้ ก็คงลองทำอีกสักเรื่องหนึ่งที่กว้างกว่านี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของเรา ของพ่อเรา แต่เป็นเหตุการณ์ภาพรวม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net