Skip to main content
sharethis

อิตาลีเป็นประเทศที่ยังคงมีปัญหาแก๊งอาชญากรรมในหลายพื้นที่ ซึ่งก่อปัญหาให้กับเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร เพราะมีการคุกคามผู้สื่อข่าว ทำให้สื่อทำงานลำบากขึ้นและต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง อนึ่ง แม้ว่าความรุนแรงทางกายภาพจะลดลงแล้วเมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อนหน้านี้ แต่แก๊งอาชญากรรมแค่เปลี่ยนวิธีจากใช้ปืนไปใช้กฎหมายเพื่อขู่นักข่าวแทน

ที่มาของภาพประกอบ: gijn.org

6 ต.ค. 2560 เปาโล บอร์โรเมตี นักข่าวอิตาลีถูกบีบให้ต้องออกจากซิซิลีย้ายไปกรุงโรมเนื่องจากถูกคุกคามเพราะเขารายงานข่าวเกี่ยวกับแก๊งอาชญากร ไม่ใช่แค่บอร์โรเมตีคนเดียวเท่านั้นที่รายงานเรื่องนี้ มีนักข่าวราว 20 ราย ในอิตาลีที่ยังต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองของตำรวจจากการรายงานเรื่องของแก๊งผู้มีอิทธิพล

รายงานของนักข่าวสืบสวนของโครงการในอิตาลี ลอเรนโซ แบคโนลี ระบุถึงเรื่องของบอร์โรเมตีที่ถูกคนในชุดฮู้ดทำร้ายเขาที่ใกล้ๆ บ้านเมื่อเดือน พ.ค. 2557 เขาถูกทำร้ายหลังจากที่ถามชาวเมืองเกี่ยวกับคดีการฆาตกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อนหน้านั้น การคุกคามอีกครั้งหนึ่งคือการวางเพลิงเกิดขึ้นที่หน้าบ้านพ่อแม่ของเขาทำให้เกิดความเสียหาย แต่เหตุถูกทำร้ายและถูกวางเพลิงก็ไม่ทำให้บอร์โรเมตีล้มเลิกการรายงานข่าวแก๊งอาชญากรรม

รายงานในเว็บไซต์เครือข่ายข่าวสืบสวนสอบสวนโลกระบุว่า แม้ว่าบอร์โรเมตีจะถูกสั่งย้ายไปยังกรุงโรม แต่เขาก็ยังคงทำงานเปิดโปงกิจกรรมของแก๊งผู้มีอิทธิพลต่อไป เขายังคงเผชิญกับการถูกข่มขู่คุกคามอยู่เรื่อยๆ เมื่อช่วงฤดูร้อนนี้เองที่เขาถูกบุคคลนิรนามบุกค้นบ้านเพื่อขโมยฮาร์ดดิสก์ของเขาและเอกสารที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนของเขาไป

สิ่งที่สะท้อนสถานการณ์อีกเรื่องหนึ่งคือเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงกิจการภายในของอิตาลีเผยแพร่ตัวเลขผู้สื่อข่าวที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของตำรวจ นับเป็นครั้งแรกที่มีการเผยแพร่เรื่องนี้

บอร์โรเมตีเป็นหัวหน้าบรรณาธิการเว็บซีนท้องถิ่น LaSpia.it และเป็นนักข่าวอิสระที่ทำงานให้กับสื่อหลายแห่ง เมื่อไม่มีเงินเดือนตายตัวเขาจึงต้องผลิตงานข่าวออกมาอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้อยู่รอดได้ มีนักข่าวอิตาลีหลายคนที่สภาพการเงินใกล้เคียงกับบอร์โรเมตี นิโกลา มิรินี กรรมการบอร์ดของสมาคมผู้สื่อข่าวบอกว่านักข่าว 8 ใน 10 ของอิตาลีมีรายได้น้อยกว่า 10,000 ยูโร (ราว 390,000 บาท) ต่อปี

เบปเป กิวเลียตตี ประธานสหภาพผู้สื่อข่าวอิตาลีเปิดเผยว่า ถึงแม้อิตาลีจะมีเหตุการณ์มาเฟียสังหารนักข่าวน้อยลงกว่าในอดีต แต่พวกเขาก็เปลี่ยนจากการคุกคามทางร่างกายมาเป็นการบีบเค้นด้านอื่นอย่างการอ้างใช้กฎหมายหมิ่นประมาทที่ "ร้ายแรงเทียบเท่ากับใช้กระสุน" บีบให้นักข่าวหยุดการสืบสวน เซ็นเซอร์ตัวเองเพราะกลัวความเสี่ยงเรื่องคดีความ กิวเลียตตีกล่าวถึงกรณีของบอร์โรเมตีว่า บอร์โรเมตีมีความกังวลถึงสถานการณ์การคุกคามที่ไม่ได้กระทบแค่ความปลอดภัยเท่านั้นแต่ยังทำให้การทำงานของเขายากลำบากขึ้นเมื่ออยู่ภายใต้การคุ้มครองของตำรวจ

องค์กรออสซิเกโน (Ossigeno) ซึ่งเป็นองค์กรเฝ้าระวังเรื่องภัยคุกคามต่อนักข่าวเปิดเผยว่าการฟ้องร้องส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามหลักการกฎหมาย มีคนที่ฟ้องร้องหมิ่นประมาท 1 ใน 3 กรณีของอิตาลีเป็นกลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวพับกับแก๊งอาชญากรหรือกลุ่มล็อบบีเรื่องต่างๆ และมักจะมีการเรียกไถเงินจำนวนมากแม้ว่าความเสียหายที่สร้างจะเล็กนิดเดียว ซึ่งเชื่อว่าเป็นการอ้างลงโทษเพื่อข่มขู่

ก่อนหน้านี้ในช่วงยุคทศวรรษที่ 2520 มีกรณีนักข่าวในอิตาลีถูกมาเฟียสังหารจำนวนมาก จนทำให้เกิดความเกี่ยวข้องกันระหว่างประเด็นเรื่องเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารกับประเด็นแก๊งอาชญากร มักจะมีกระแสต่อต้านความรุนแรงจากประชาชนเป็นพักๆ แล้วก็เงียบหายไป นักการเมืองก็ไม่ค่อยขยับเรื่องคุ้มครองนักข่าว องค์กรออสซิเกโนจึงถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2550 หลังจากนักข่าวและนักเขียนรวมสามคนต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองของตำรวจ เพื่อเน้นให้เห็นปัญหานักข่าวถูกคุกคาม ทำให้เสรีภาพข้อมูลข่าวสารถูกปิดล้อมเมื่อเป็นประเด็นเรื่องอาชญากรรม การเมือง หรือการทุจริต

กิวเลียตตี บอกว่านักการเมืองมัวแต่พยายามปรับระบบไม่ให้พวกเขาถูกรายงานข่าวในเชิงลบต่อพวกเขาจนไม่ได้สนใจเรื่องจุดอ่อนของกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพสื่อ

จากรายงานขององค์กรออสซิเกโนระบุว่าการที่สื่อถูกคุกคามเช่นนี้ยังส่งผลให้ชาวอิตาลีที่อาศัยอยู่ในชนบทมีชีวิตยากลำบากขึ้น เนื่องจากนักข่าวท้องถิ่นรู้สึกถูกกดดันจากแก๊งอาชญากรและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เช่น เคยมีกรณีของท้องถิ่นแห่งหนึ่งแถบรอบนอกของมิลาน มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นถูกกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายเข้าไปบุกพัง 3 ครั้งภายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จากที่พวกเขากำลังสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับแก๊งอาชญากรรมในพื้นที่

แม้ว่าตำรวจอิตาลีจะทำงานล่าช้า แต่ก็มีบางส่วนของรัฐสภาอิตาลีที่คอยสอดส่องดูแลสถานการณ์แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ เช่น คณะกรรมาธิการต่อต้านมาเฟียของรัฐสภามีการแต่งตั้งคณะกรรมการว่าด้วยมาเฟีย งานข่าว และสื่อ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาทางกฎหมาย ทำให้นักข่าวจำนวนมากต้องอยู่ในความเสี่ยงและทำให้การรายงานเกี่ยวกับแก๊งอาชญากรรมยากขึ้นกว่าเดิม

 

เรียบเรียงจาก

Mafia and the Media: Italian Journalists Face Threats, GIJN, 03-10-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net