Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ส่งจดหมายเรียกร้องให้อาเซียนจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อหาทางแก้ไขวิกฤตล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ระบุที่ผ่านมายังมีท่าทีไม่ชัดเจน

แฟ้มภาพ

6 ต.ค.2560 รายงานข่าวจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แจ้งว่า ในวันนี้ (6 ต.ค.60) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เรียกร้องให้ผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมา

จดหมายดังกล่าวลงนามโดยผู้อำนวยการ 13 คนจากสำนักงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย เรียกร้องให้อาเซียนจัดประชุมสุดยอดฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมในตอนเหนือของรัฐยะไข่ของเมียนมา

เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่าอาเซียนยังไม่ได้แสดงจุดยืนใดๆ ในขณะที่รัฐภาคีใช้ปฏิบัติการความรุนแรงเพื่อล้างเผ่าพันธุ์

“รัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต้องยึดมั่นปฏิบัติตามพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งบัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน ในขณะที่กองทัพเมียนมาได้แสดงความดูหมิ่นต่อพันธกิจนี้อย่างชัดเจน และยังคงเดินหน้าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติกับชาวโรฮิงญาต่อไป” เจมส์ โกเมซ กล่าว

นับแต่กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาโจมตีป้อมของฝ่ายความมั่นคงในเมียนมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาได้เริ่มก่อปฏิบัติการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โหดร้าย และรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา แอมเนสตี้ได้เก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายหลายครั้ง รวมทั้งการสังหารแบบไม่ชอบด้วยกฎหมาย การวางเพลิงเผาบ้านเรือนและหมู่บ้านต่างๆ ในวงกว้าง

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งในทางกฎหมายถือว่าเป็น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รวมไปถึงการสังหารและการเนรเทศ หรือการบังคับให้ประชากรต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนยันด้วยว่ามีการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลโดยกองทัพเมียนมา

ที่ผ่านมา อาเซียนได้แสดงท่าทีต่อกรณีนี้ โดยออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2560 เกือบหนึ่งเดือนหลังความโหดร้ายในรัฐยะไข่เริ่มขึ้น โดยอาเซียนได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หลีกเลี่ยงไม่ใช้แม้แต่คำว่า “โรฮิงญา” และแถลงการณ์นี้มีเนื้อหาค่อนข้างอ่อน

จดหมายของแอมเนสตี้กล่าวด้วยว่าการแสดงท่าทีเช่นนี้ยังไม่เพียงพอ และอาเซียนจำเป็นต้องแสดงท่าทีต่อวิกฤตในเมียนมาอย่างจริงจังมากกว่านี้

แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานคนปัจจุบันของอาเซียน ให้เรียกประชุมสุดยอดฉุกเฉินระดับอาเซียน เพื่อให้มีการอภิปรายถึงปัญหาในเมียนมา ซึ่งรวมถึง ให้ยุติความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ประกันให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และสามารถเดินทางกลับถิ่นฐานของตนได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี สำหรับผู้ที่สมัครใจจะกลับ และ ยุติการเลือกปฏิบัติที่ฝังรากลึกต่อชาวโรฮิงญา สนับสนุนการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นอิสระ และให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย

จดหมายนี้ลงนามโดยผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในออสเตรเลีย ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ไทย และไต้หวัน

รายละเอียดจดหมายดังกล่าว : 

 

เลขาธิการ Alan Peter Cayetano

รัฐมนตรีต่างประเทศ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์

กระทรวงการต่างประเทศ

2330 Roxas Boulevard

Pasay City, Metro Manila

Philippines

เรียน เลขาธิการ Cayetano

จดหมายเปิดผนึก: อาเซียนต้องแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเนื่องมาจากวิกฤตในรัฐยะไข่ของเมียนมา

 

ข้าพเจ้าเขียนจดหมายฉบับนี้ในนามของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ที่เกิดขึ้นกับพลเรือนในตอนเหนือของรัฐยะไข่ องค์กรของเราขอกระตุ้นให้ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) คนปัจจุบัน ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหานี้ ให้สอดคล้องตามกฎบัตรอาเซียน และมาตรฐานกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

นับแต่กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาโจมตีป้อมของฝ่ายความมั่นคงในเมียนมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม รัฐบาลเมียนมาได้เริ่มปฏิบัติการอย่างรุนแรงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเกินกว่าเหตุต่อชาวโรฮิงญา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เก็บข้อมูลการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนมากมายหลายครั้ง รวมทั้งการสังหารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การวางเพลิงเผาบ้านเรือนและหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง และได้ยืนยันว่ามีการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (anti-personnel landmines) โดยกองทัพเมียนมา ทางการยังได้ยับยั้งการเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ของหน่วยงานสหประชาชาติ และหน่วยงานด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศอื่นๆ ในตอนเหนือของรัฐยะไข่อย่างเด็ดขาด เป็นเหตุให้ประชาชนหลายหมื่นคนเสี่ยงภัย จากการคาดการณ์ล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ ชาวโรฮิงญา 480,000 คนได้หลบหนีเข้าสู่บังคลาเทศ ในขณะที่รัฐบาลเมียนมาได้อพยพประชาชนกว่า 30,000 คนที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์อื่น ๆ ในรัฐยะไข่ 

แม้เราตระหนักว่า ทางการเมียนมา มีหน้าที่และสิทธิที่จะคุ้มครองประชากรของตนเอง และเจ้าหน้าที่ให้รอดพ้นจากการโจมตี รวมถึงการสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ทางการเมียนมาก็ต้องประกันว่า มาตรการตอบโต้การโจมตีที่นำมาใช้นั้น มีสัดส่วนเหมาะสม และไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน .

แต่จากพยานหลักฐานที่รวบรวมโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เราได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนเหนือของรัฐยะไข่อาจเรียกได้ว่าเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ (ethnic cleansing) โดยมีเป้าหมายเป็นชาวโรฮิงญา ซึ่งตกเป็นเป้าด้วยเหตุผลด้านชาติพันธุ์และศาสนา ในทางกฎหมายถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รวมทั้งการสังหารและการเนรเทศ หรือการบังคับให้ประชากรต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ความรุนแรงในตอนเหนือของรัฐยะไข่เกิดขึ้นจากบริบทของการเลือกปฏิบัติที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง และมีมาอย่างยาวนานต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมา พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติโดยแบ่งแยกเชื้อชาติ ถูกปฏิเสธสิทธิที่จะมีสัญชาติ และถูกจำกัดสิทธิอื่น ๆ อย่างเข้มงวด เช่น สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง การเข้าถึงการศึกษา บริการด้านสุขภาพ และอาชีพ สิทธิที่จะได้ปฏิบัติตามหลักศาสนาของตน และการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ

กฎบัตรอาเซียนกำหนดอย่างชัดเจนว่า “อาเซียนและรัฐภาคีต้องปฏิบัติตาม” หลักการของ “การเคารพเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม” นอกจากนั้น ข้อ 20(4) ยังกำหนดว่า “กรณีที่มีการละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง หรือการไม่ปฏิบัติตาม ต้องมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อพิจารณาลงมติ” และข้อ 7(2)(ง) ที่ระบุว่า “ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจะ...สนองตอบสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทบต่ออาเซียน โดยดำเนินมาตรการที่เหมาะสม” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่า รัฐบาลเมียนมาได้ละเมิดอย่างร้ายแรงต่อพันธรณีของตนด้านสิทธิมนุษยชน และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียน  

ทางหน่วยงานของเราได้รับทราบว่า ประธานอาเซียนได้มีถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่แสดงข้อกังวลและประณาม “การกระทำที่รุนแรงใด ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตของพลเรือน การทำลายบ้านเรือน และการพัลดถิ่นฐานของประชาชนจำนวนมาก” ในรัฐยะไข่ เราเชื่อว่า ถ้อยแถลงนี้ยังไม่เพียงพอ และอาเซียนจำเป็นต้องแสดงท่าทีอย่างจริงจังมากกว่านี้ต่อวิกฤตในเมียนมา  

ดังนั้น เราจึงร้องขอให้อาเซียนดำเนินการต่อไปนี้ โดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วน

·        จัดประชุมสุดยอดฉุกเฉินระดับอาเซียนเพื่อแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ สอดคล้องกับข้อ 20(4) และ 7(2)(ง) ของกฎบัตรอาเซียน เพื่อให้มีการเจรจากับรัฐบาลเมียนมา ทั้งนี้เพื่อให้ดำเนินการโดยทันทีเพื่อ

o   ยุติความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ

o   ประกันให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ และที่พลัดถิ่นในเมียนมา เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

o   ประกันให้มีการเดินทางกลับถิ่นฐานของตนได้อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี สำหรับผู้ที่สมัครใจจะกลับ  

o   แก้ปัญหาที่รากเหง้าของวิกฤตครั้งนี้ โดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติที่ฝังรากลึก และการปฏิบัติโดยแบ่งแยก ด้วยเหตุผลทางชาติพันธุ์หรือศาสนาต่อชาวโรฮิงญา

o   สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการไต่สวนความจริง ที่ตั้งขึ้นตามมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และความพยายามระหว่างประเทศใด ๆ ที่มุ่งสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ และให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย  

·        สนับสนุนการรับรองมติว่าด้วยสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงในเมียนมา ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และ

·        จัดทำกลไก ภายใต้คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) หรือนอกเหนือจากนั้น เพื่อรับคำร้องเรียนว่าจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ๆ กรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐภาคีใด ๆ ของอาเซียน โดยให้กลไกนี้มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนตามคำร้องนั้น ในการแสวงหาและได้รับข้อมูลจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง และให้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาตามคำร้องนั้น 

 

ขอแสดงความนับถือ

 

Claire Mallinson, ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออสเตรเลีย

 

Mabel Au, ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮ่องกง

 

Aakar Patel, ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดีย

 

Usman Hamid, ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินโดนีเซีย

 

Kaoru Yamaguchi, รักษาการผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ญี่ปุ่น

 

Catherine Hee Jin Kim, ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เกาหลี

 

Gwen Lee, รักษาการผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มาเลเซีย

 

Altantuya Batdorj, ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มองโกเลีย

 

Nirajan Thapaliya, ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เนปาล

 

Grant Bayldon, ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นิวซีแลนด์

 

Butch Olano, ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิลิปปินส์

 

ปิยนุช โคตรสาร, ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

James Fang, ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไต้หวัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net