Skip to main content
sharethis

สื่อเอ็นเอชเคออกมายอมรับว่านักข่าวของพวกเขาเสียชีวิตหลังทำงานหนักเกินไปเป็นเพราะระบบที่ย่ำแย่ของพวกเขาเอง อีกกรณีหนึ่งคือศาลตัดสินให้บริษัทเดนท์สุถูกสั่งปรับเนื่องจากละเมิดสิทธิแรงงานจากเหตุการณ์ที่ มัทสึริ ทากาฮาชิ พนักงานหญิงอายุ 24 ปี ฆ่าตัวตายหลังถูกใช้ทำงานล่วงเวลาอย่างหนัก

ซ้าย: มิวะ ซาโดะ นักข่าวผู้เสียชีวิตหลังทำงานล่วงเวลา 159 ชั่วโมงในเวลาหนึ่งเดือน (ที่มา: thestar.com)

ขวา: ภาพพนักงานออฟฟิศนอนหลับจากการทำงานมากเกินไป (ที่มา: flickr/hiroo yamagata)

7 ต.ค. 2560 สื่อเอ็นเอชเคเปิดเผยผลการสืบสวนจากผู้ตรวจการแรงงานว่าการเสียชีวิตของนักข่าวหญิงอายุ 13 ปี ของสื่อพวกเขาเองเมื่อปี 2556 มีสาเหตุมาจากการทำงานหนักเกินไป เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าคนทำงานในญี่ปุ่นต้องเผชิญกับสภาพการทำงานหนักในระดับวิกฤต

มิวะ ซาโดะ พนักงานของเอ็นเอชเคประจำกรุงโตเกียวเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเมื่อเดือน ก.ค. 2556 ในช่วงเวลาหนึ่งเดือน เธอทำงานล่วงเวลาถึง 159 ชั่วโมงโดยที่มีวันหยุดเพียง 2 วันเท่านั้นก่อนที่เธอจะเสียชีวิต สำนักงานมาตรฐานแรงงานของท้องถิ่นมีการสรุปเรื่องนี้เอาไว้แล้วตั้งแต่เดือน พ.ค. 2557

เจแปนไทม์รายงานว่าชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพยายามทำให้เกิดสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้นในประเทศหลังจากที่เกิดกรณีคนทำงานหน้าใหม่ในบริษัทโฆษณายักษ์ใหญ่เดนท์สุ อิงค์ ฆ่าตัวตายในปี 2558 จากการที่มีชั่วโมงทำงานมากเกินไป

ซาโดะเป็นผู้รับหน้าที่ทำข่าวประจำอยู่สำนักงานบริหารมหานครโตเกียว ในช่วงนั้นกำลังมีการเลือกตั้งสภากรุงโตเกียวและสภาบนในช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ก.ค. ปี 2556 เธอเสียชีวิตในวันที่ 24 ก.ค. สามวันหลังจากการเลือกตั้งสภาบน

เอ็นเอชเคระบุว่าพวกเขารวบรวมข้อมูลการทำงานของเธอจากการตอกบัตรเวลาทำงานและคำบอกเล่าส่วนตัว มาซาฮิโกะ ยามาอุจิ พนักงานระดับสูงของฝ่ายข่าวเอ็นเอชเคกล่าวว่าประเด็นการเสียชีวิตของเธอไม่ใช่เรื่องสวนบุคคล แต่เป็นปัญหาองค์กรทั้งระบบ รวมถึงระบบการจ้างงานและวิธีการใช้งานทำข่าวการเลือกตั้ง

มีคำถามว่าเหตุใดถึงใช้เวลาตั้ง 3 ปี ถึงจะทำให้เรื่องนี้ออกสู่สาธารณะ ยามาอุจิบอกว่าทางเอ็นเอชเคยอมรับฟังความปรารถนาของครอบครัวซาโดะ ครอบครัวของเธอบอกว่าพวกเขาไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

ซาโดะเริ่มเข้าทำงานที่เอ็นเอชเคตั้งแต่ปี 2548 ในสำนักงานที่จังหวัดคาโกชิมะ ต่อมาเธอถูกส่งตัวไปที่สำนักงานในโตเกียวตอนปี 2553 และได้รับหน้าที่ทำข่าวที่สำนักงานบริหารมหานครโตเกียวเป็นเวลา 2 ปี จนกระทั่งเสียชีวิต

"แม้แต่ในตอนนี้ ผ่านมา 4 ปีแล้ว พวกเราก็ยังคงรับกับความจริงไม่ได้ในเรื่องที่ลูกสาวของพวกเราเสียชีวิต" พ่อแม่ของซาโดะกล่าว ความคิดเห็นเหล่านี้ได้รับการเผยแพร่จากเอ็นเอชเค "พวกเราหวังว่าความเศร้าโศกจากการสูญเสียของครอบครัวพวกเราจะไม่สูญเปล่า"

ศาลตัดสินให้เดนท์สุชดใช้กรณีพนักงานฆ่าตัวตาย

อีกกรณีหนึ่งคือกรณีการฆ่าตัวตายของ มัทสึริ ทากาฮาชิ พนักงานเดนท์สุอายุ 24 ปี เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจ และมีการสรุปผลการสืบสวนโดยผู้ตรวจการมาตรฐานแรงงานเมื่อเดือน ก.ย. 2559 ทำให้เดนท์สุถูกดำเนินคดีละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งศาลตัดสินเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมาให้เดนท์สุต้องถูกสั่งปรับ 500,000 เยน (ราว 148,000 บาท) จากการสั่งทำงานล่วงเวลาอย่างผิดกฎหมาย

คดีของเดนท์สุยังทำให้สังคมญี่ปุ่นอภิปรายกันเกี่ยวปัญหาสภาพการทำงานที่โหดร้ายในประเทศ ในวันตัดสินคดีผู้พิพากษา สึโตมุ คิคุจิ อ่านคำพิพากษาที่ระบุว่า "สังคมทั้งหมดทั้งมวลจะจับตาดูบริษัทคุณเพื่อดูว่าพวกคุณทำสำเร็จ (ในเรื่องการปฏิรูปการทำงาน) ตามที่วางแผนไว้ได้หรือไม่ และจับตาดูว่ามีการคงไว้ซึ่งเป้าหมายนี้ต่อไปหรือไม่"

ฮิโรชิ คาวาฮิโตะ ทนายความที่ว่าความแทนแม่ของมัทสึริ ทากาฮาชิ กล่าวว่า การที่ทางบริษัทถูกตัดสินให้มีความผิดในครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญของสังคมญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าอัตราการสั่งปรับในคดีนี้จะยังน้อยเกินไปจากมุมมองของคนทั่วไป แต่ทนายความก็มองว่ามันจะเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อการล่วงละเมิดสิทธิแรงงานได้

เรียบเรียงจาก

NHK reveals journalist’s 2013 death was caused by overwork, Japan Times, October 5, 2017

Society will be 'monitoring' Dentsu for illegal overtime: judge, The Mainichi, October 7, 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net