Skip to main content
sharethis

นักสหภาพแรงงานในสหรัฐฯ ยื่นหนังสือถึงสถานทูตไทยที่ดีซี ในช่วงการเยือนของ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องทางการไทยถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่ฟาร์มไก่ในเครือเบทาโกรฟ้องคนงานพม่า 14 คน หลังไปร้องเรียนการละเมิดสิทธิ โดยที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ฟาร์มไก่ชดเชยคนงาน 1.7 ล้านบาท จากการไม่ยอมจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ และคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา ขณะที่บริษัทฟ้องคนงานกลับข้อหาลักทรัพย์ เนื่องจากนำบัตรตอกเวลามาฟ้องเป็นหลักฐานแก่ตำรวจ

เมื่อวันพุธที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่านักสหภาพแรงงานจากสหพันธ์สหภาพแรงงานและสภาแรงงานอุตสาหกรรมแห่งอเมริกา (AFL-CIO) ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 12 ล้านคน ได้รวมตัวกันหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ดำเนินการให้ทางการไทยถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาทที่บริษัทธรรมเกษตรได้กล่าวหาคนงานฟาร์มเลี้ยงไก่จากประเทศพม่าทั้ง 14 คน ว่าทำให้เสี่อมเสียชื่อเสียง จากการที่คนงานได้ยื่นคำร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

โดยในวันดังกล่าว เป็นวันเดียวกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริก่า โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อหารือในเรื่องการเจรจาและข้อตกลงทางเศรษฐกิจ และเป็นวันเดียวกับที่ศาลแขวงดอนเมืองที่กรุงเทพฯ มีกำหนดพิจารณาคดีของบริษัทธรรมเกษตรต่อคนงานทั้ง 14 คน

นักสหภาพแรงงานกลุ่มดังกล่าวได้ยื่นจดหมายลงนามวันที่ 19 กันยายน 2560 ซึ่งลงนามโดยภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ-ธุรกิจ-สมาชิกรัฐสภา 87 ราย เพิ่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทย “ดำเนินมาตรการเชิงรุกโดยทันที” เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิด้านแรงงาน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) โดยทางสถานทูตได้ส่งตัวแทนออกมารับจดหมายดังกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ศาลแรงงาน ได้มีคำสั่งให้บริษัทธรรมเกษตร ซึ่งมีสัญญาส่งสินค้าประเภทสัตว์ปีกให้กับบริษัทเบทาโกร จ่ายค่าชดเชยแก่คนงานทั้ง 14 คนเป็นจำนวน 1.7 ล้านบาท จากการที่บริษัทจ่ายค่าจ้างคนงานต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และไม่ยอมจ่ายค่าทำงานล่วงเวลา และต่อมาหลังจากที่บริษัทได้ยื่นฎีกาต่อศาลอุทธรณ์ ศาลได้มีคำพิพากษายืนคำตัดสินดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 ยืนยันให้บริษัทต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแรงงานภาค 1 นอกจากนี้ ศาลฎีกายังรับพิจารณาคำอุทธรณ์ของคนงานซึ่งเรียกร้องจากการละเมิดสิทธิแรงงานเป็นจำนวน 44 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามบริษัทได้ฟ้องคนงานข้อหาหมิ่นประมาท หลังคนงานมาร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีโทษตัดสินจำคุก 2 ปี โดยคดีดังกล่าวจะเริ่มไต่สวนเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า นอกจากนี้บริษัทยังฟ้องคนงาน 2 คน จาก 14 คนในข้อหาลักทรัพย์ เนื่องจากคนงาน 2 รายดังกล่าวนำบัตรตอกเวลาออกมาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าพวกเขาถูกใช้ทำให้งานเกินเวลา ซึ่งถ้าศาลตัดสินว่ามีความผิด พวกเขาต้องเสียค่าปรับและอาจถึงขั้นจำคุกเป็นเวลา 7 ปี

คดีนี้ได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยโครงการรณรงค์ Walk Free รวบรวมลายชื่อกว่า 113,000 คน เพื่อยื่นต่อสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้บริษัท เบทาโกรฯ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ให้รับประกันว่าแรงงานข้ามชาติทั้ง 14 คน จะได้รับค่าชดเชยที่ค้างจ่าย และเรียกร้องให้บริษัทเบทาโกรฯ ดำเนินการตรวจสอบสภาพการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ  และมิให้ละเว้นความผิดจากการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่

สำหรับบริษัทเบทาโกรฯ เป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยเช่นเดียวกับสมาชิกชั้นนำ เช่น  CP, GFPT, Cargill, BRF แหลมทองสัตว์ปีก  พนัสสัตว์ปีก เซนทราโก และบางกอกแร้นช์  ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสัตว์ปีกรายใหญ่ของโลกที่ส่งออกไก่เพื่อใช้ในอาหารแปรรูปหรืออาหารสำเร็จรูปโดยส่วนใหญ่จะส่งออกไปสหภาพยุโรปและตลาดญี่ปุ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net