Skip to main content
sharethis

วงเสวนาเล่าประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องเอกราชของกาตาลุญญา สะกิด ผลประชามติแยกตัวคือเสียงข้างมากของเสียงข้างน้อย ชำแหละทางตันทางกฎหมายของแคว้นในรัฐเดี่ยว เงื่อนไขการเมือง เศรษฐกิจว่าด้วยการแยกตัว เทรนด์ขอแยกตัวด้วยประชามติกำลังมาแรง ของกาตาลุญญายังไม่เป็นที่ยอมรับ

ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์แล้วหลังแคว้นกาตาลุญญาทำประชามติขอแยกตัวออกจากสเปน มีคนออกมาโหวตร้อยละ 42 โดยร้อยละ 90 ของคะแนนเสียงเห็นด้วยแยกตัว แม้จะถูกรัฐบาลกลางห้ามและมีการใช้กำลังตำรวจของรัฐบาลกลางบุกยับยั้ง ทำลายการลงประชามติ สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนผู้รอลงคะแนนจนมีการปะทะกัน มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 450 ราย ในขณะที่ทางการท้องถิ่นของกาตาลันระบุว่ามีผู้บาดเจ็บมากกว่า 800 คน

วันนี้ (10 ต.ค.) สำนักข่าวอินดิเพนเดนท์ของสหราชอาณาจักรรายงานว่า การ์เลส ปุกเดมอนด์ ประธานรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลุญญาประกาศว่าพร้อมที่จะขอแยกตัวเป็นเอกราชในคืนวันอังคารนี้ตามเวลาท้องถิ่นสเปน อย่างไรก็ดี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาก็มีกระแสต่อต้านการแยกตัวเมื่อคนเรือนแสนมาชุมนุมในเมืองบาร์เซโลนา

ท่ามกลางการรอคอยครั้งนี้ ที่ไทยก็มีการจัดเสวนาเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในสเปน เมื่อ 9 ต.ค. 2560 ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสาขาวิชาภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานเสวนา มากกว่าการเมืองร่วมสมัย? ร่วมกันเข้าใจสถนการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญา ที่ห้อง 802 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) มี รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ  ดาบิด กูเตียร์เรซ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ณภัทร พุ่มศิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ณ เมืองบาร์เซโลนา เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย สุกิจ พู่พวง

งานเสวนามีผู้เข้าร่วมจำนวนมากจนเต็มห้องประชุม ประชาไทนำเสนอเนื้อหาในวงเสวนาออกมาเป็น 5 ข้อเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ก่อนที่จะเกิดการประกาศเอกราช (ถ้ามี)

1.ปมเอกราชมีมานานนม

จากซ้ายไปขวา: สุกิจ พู่พวง ณภัทร พุ่มศิริ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ย ดาบิด กูเตียร์เรซ

สมชาย กล่าวว่า การรวมแคว้นเกิดเมื่อ ค.ศ. 1469 เมื่ออภิเษกระหว่างเฟอร์นันโดแห่งแคว้นอารากอน กับพระนางอิสซาเบลาแห่งคาสติญญา ยุคนี้ยิ่งใหญมากเพราะ ค.ศ. 1492 เป็นปีที่ไล่แขกมัวร์คนสุดท้ายที่บุกเข้ายุโรปและครองสเปนตั้งแต่ ค.ศ. 711ออกจากกรานาด้า การรวมแคว้นอยู่ในลักษณะที่ไม่ได้สนิทสนมเท่าไหร่ แต่ละแคว้นยังอยู่กันเป็นอิสระจนกระทั่ง ค.ศ. 1705 แคว้นกาตาลุญญาถูกรวบเข้ากับสเปน  

แรงกดดันที่อยากเป็นอิสระมีตั้งแต่ศตวรรษ 15 และรุนแรงมากขึ้นทุกที เหตุการณ์มาแรงมากตอนก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมือง แคว้นกาตาลุญญาก็อยู่ในฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐ เรียกร้องอิสระมากซึ่งรัฐบาลก็ยอมในสมัยที่เป็นสาธารณรัฐ แต่ท้ายที่สุดก็มีรัฐประหารโดยนายพลฟรังโก้ ตามมาด้วยการรวมสเปนกลายเป็นหนึ่งเดียว กลุ่มฝักใฝ่การแยกตัวหลบหนีไปอยู่ที่อื่นและถูกลดทอนบทบาทลง โดยเฉพาะในแคว้นบาสก์ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 บัญญัติว่าสเปนต้องเป็นหนึ่งเดียว แต่ยังเปิดให้แคว้นต่างๆ มีอิสระเสรีแม้ไม่ได้ปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ แคว้นกาตาลุญญามีเสรีภาพด้านการศึกษา มีการสอนภาษากาตาลัน มีรัฐบาลท้องถิ่น หัวหน้าก็เรียกว่า presidente มีอำนาจรัฐสภาท้องถิ่น

สถานการณ์ที่ทำให้การแยกตัวกลับมาร้อนแรงคือเมื่อปี 2006 รัฐบาลกลางสเปนภายใต้พรรคโซเชียลลิสตาต้องการคะแนนเสียงในสภา จึงต้องไปเจรจากับพรรคต่างๆ และสนับสนุนแคว้นกาตาลุญญาให้มีสิทธิ์เสียงมากขึ้น นำไปสู่การลงประชามติรับรองกฎหมายรัฐบัญญัติว่าด้วยการปกครองตนเอง (Statute of Autonomy) ในปี 2006 ที่ให้เสรีภาพในการปกครองตนเองของแคว้นกาตาลุญญามากขึ้น  แต่ก็มีพรรคปาร์ติโด ปอปูลาร์ (พีพี) สืบทอดมาจากนายพลฟรังโกที่เป็นเสียงข้างน้อยคัดค้านไม่เห็นด้วย ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐบัญญัติขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 และใน ค.ศ. 2010 ศาลก็ตัดสินว่าขัดแย้งจริง ดังนั้นกฎหมายที่ออกมาก็ไม่ผ่าน ภาวะใกล้ได้อิสระแต่ไม่ได้ทำให้กระแสแยกตัวในกาตาลุญญายิ่งร้อนแรง นำไปสู่การเดินขบวนครั้งใหญ่ในเมืองบาร์เซโลนาเมื่อปี ค.ศ. 2010 ยิ่งมีสถานการณ์ค่าเงินยูโรที่ทำให้สเปนและแคว้นต่างๆ ลำบาก ประธานแคว้นกาตาลุญญายิ่งขอความเป็นอิสระ เพราะแคว้นกาตาลุญญาจ่ายเงินให้รัฐบาลกลางมากกว่าที่รับมา รัฐบาลกลางตอนนั้นไม่คุยเพราะสภาวะแย่มาก นำไปสู่ความแค้นมากขึ้น นำไปสู่เหตุการณ์ 2014 เป็นการลงประชามติแยกตัว ร้อยละ 80 ของคนเห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นเอกราช แต่สัดส่วนผู้ไปออกเสียงมีเพียงร้อยละ 33 จากทั้งหมดเท่านั้น

2. รัฐธรรมนูญ 1978 อิสรภาพแคว้นมากแต่แบ่งแยกไม่ได้ กลายเป็นทางตันทางการเมือง

ณภัทรกล่าวว่า ถ้าจะมองว่าอะไรเป็นสิ่งที่เกิดสิ่งนี้ขึ้นคือเศรษฐกิจและรัฐธรรมนูญปี 1978 เกิดขึ้นมาแล้วเป็นทั้งข้อจำกัดและช่องว่างให้เกิดประชามติที่ผ่านมา ข้อจำกัดคือสเปนแบ่งแยกไม่ได้ แต่การที่เขาให้อิสระแคว้นในการปกครองตัวเองก็เป็นช่องว่างหลายอย่าง ทั้งนโยบายการศึกษาที่ให้ใส่ความเป็นกาตาลันเข้าไปได้ ในห้องเรียน ใครที่เชียร์เรอัล มาดริดถือว่าเป็นแกะดำ

กาตาลุญญามีอิสระในการสร้างกองกำลังตำรวจ (มอสโซส) เป็นของตัวเองได้ สะท้อนว่าเขามีอิสระถึงขนาดไหน รวมถึงมีสถานทูตขนาดเล็กในประเทศต่างๆ แม้จะไม่ได้รับการยอมรับก็ตาม มันเลยเกิดภาพความย้อนแย้งในกฎหมาย เพราะทั้งจำกัดและให้อิสระ รัฐบาลท้องถิ่นจึงตีความว่าในเมื่อฉันออกกฎหมายได้ก็แปลว่าสามารถออกกฎหมายทำประชามติได้สิ การมีสภาท้องถิ่นในรูปแบบการปกครองแบบรัฐเดี่ยวกลายเป็นปัญหา เวลามันผ่านไปแสดงให้เห็นว่ามีความย้อนแย้งในตัวเองอยู่

3. ผลประชามติเป็นเสียงข้างมากของเสียงข้างน้อย แต่การแยกตัวสร้างบรรยากาศที่ไม่เหมือนเดิม

สมชายกล่าวว่า คนเห็นด้วยกับการแยกตัวไม่ใช่เสียงข้างมาก เป็นเพียงร้อยละ 90 ของร้อยละ 40 จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด และไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลออกคะแนนเสียงเป็นทางการเนื่องจากการลงประชามติไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ เพราะจากการหยั่งเสียงพบว่าไม่ต้องการแยกตัวมีมากกว่า แต่ฝ่ายแยกตัวเป็นเอกราชประโคมข่าวกันมากกว่า

ผลโหวตร้อยละ 90 หนุนกาตาลุญญาแยกตัว หลายฝ่ายกังวลปะทะเดือดวันลงคะแนน

ณภัทรกล่าวว่า ยังเป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบว่าคนกาตาลันส่วนมากอยากแยกตัวเป็นเอกราชหรือไม่ เพราะคนที่อยากแยกตัวก็อ้างว่าผลการเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อปี 2015 ก็ชี้ชัดแล้วว่าคนอยากแยกตัว แต่คนที่ไม่อยากแยกก็อ้างสถิติการลงประชามติว่าคนอยากแยกตัวเป็นส่วนน้อย แต่เมื่อประมวลประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างกาตาลุญญากับรัฐบาลกลางมาตลอดจนทุกวันนี้ ที่มีการชุมนุมใหญ่ในเมืองบาร์เซโลนาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาดูมีความรุนแรงก็จะยิ่งทำให้คนกาตาลันไม่รู้สึกสนิทใจกับคนสเปนเท่าเดิมอีกต่อไป

การรวมตัวบนความแตกต่างทางวัฒนธรรมยังมีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในสเปนจนถึงปัจจุบัน ดาบิดกล่าวว่า ถึงสเปนจะมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจาก 17 แคว้นรวมกันแต่ทั้งหมดก็อยู่ด้วยกันได้ แต่ว่าเราก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจกันเท่าไหร่ แต่ละที่มีอัตลักษณ์ของตัวเองและไม่ได้ต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับแคว้นอื่น การมีเอกลักษณ์ตนเองอย่างเหนียวแน่นก็ทำให้เข้ากับแคว้นอื่นได้ยากเหมือนกัน เพราะแคว้นกาตาลุญญาก็มีภาษาและวัฒธนธรรมของตัวเอง

ความรู้สึกเป็นกาตาลันที่มันจัดๆ ก่อนหน้าที่จะเกิดวิฤกติเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องที่เป็นประเด็นหลัก มิติด้านประวัติศาสตร์เป็นเพียงแรงผลักส่วนเล็กๆ หลัง 1978 กาตาลุญญาก็แฮปปี้ที่อยู่กับสเปน ครอบครัวอุปถัมภ์ (โฮสท์) ที่เป็นลูกครึ่งอันดาลูเซีย-กาตาลัน ในบาร์เซโลนาก็เกิดการรวมกันระหว่างสเปนกับกาตาลันพอสมควร คนกาตาลันไม่เข้าใจคนสเปนจริงไหม ก็เป็นไปได้ แต่ในบาร์เซโลนาก็มีการหลอมรวมอยู่ ถ้าหากจะมองกันจัดๆ คนกาตาลันมองว่าคนสเปนเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ในทางกลับกันสเปนก็มองกาตาลันว่าเห็นแก่ตัว รวยแล้วหยิ่ง ก่อนจะเดินทางไปสเปนในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนมีนักเรียนแลกเปลี่ยนสองคนคนหนึ่งไปมาดริดอีกคนไปบาร์เซโลนาไปเยือนสถานทูตในไทย มีเจ้าหน้าที่ทูตท่านหนึ่งออกมาพูดคุย แต่พอรู้ว่ามีคนไปบาเซก็หันไปบอกเจ้าหน้าที่ AFS ว่าระวังนะ อย่าส่งเด็กไปกาตาลุญญา ก็สะท้อนถึงความไม่เข้าใจหรือทัศนคติที่เกิดขึ้นอยู่

คนในยุโรปส่วนใหญ่ไม่ได้เอาประวัติศาสตร์มาผูกใจเจ็บ ไม่มีละครแบบรากนครา คนกาตาลันหลายๆ คนก็บอกว่าเป็นส่วนที่เขามองว่าตัวเองเป็นคนยุโรปมากกว่า มองไปในอนาคตว่าสิ่งที่อยู่ตอนนี้มันไม่โอเค แล้วยิ่งมีความรุนแรงเกิดขึ้นก็รู้สึกว่าไม่เอาแล้ว ออกจากสเปนดีกว่า แม้อนาคตจะดูริบหรี่ อนาคตจะดีกว่านี้ ความเป็นกาตาลันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด

4. วางถุงกาวแล้วตั้งสติ เปิดเงื่อนไขเศรษฐกิจ การเมืองใน-นอกประเทศว่าด้วยการแยกตัว

สมชายกล่าวว่า ถ้าหากกาตาลุญญาประกาศเป็นเอกราชย่อมเกิดการเผชิญหน้า ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับกันและกัน ถ้ารัฐบาลกลางใช้ไม้แข็งปลดรัฐบาลท้องถิ่นด้วยมาตรา 155 ก็จะมีปัญหา รัฐบาลกลางเองก็ไม่กล้าใช้เพราะรัฐบาลกลางประกอบด้วยสองพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับประชามติแต่ก็ไม่อยากให้รัฐบาลใช้มาตรา 155 ในการยึดอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นที่อาจจะมีความรุนแรงและก่อปัญหาคาราคาซัง  และถ้าหากใช้จริง กาตาลุญญาก็คงพยายามใช้โอกาสหาความชอบธรรมเพื่อให้ประเทศต่างๆ รับรอง

สอง ถ้ากาตาลุญญาแยกตัวก็จะหลุดจากสหภาพยุโรป (อียู) กรณีนี้ถ้าหยุดออกจากสเปนแล้วจะเข้าอียูใหม่ก็ต้องสมัครใหม่ 

หลายพรรครัฐสภายุโรปกังวลกาตาลุญญาแยกตัว ชี้ถ้าออกจากสเปนคือออกจากอียูด้วย

สาม ในแง่เศรษฐกิจ กาตาลุญญากับสเปนมีตลาดร่วมทั้งในทางสินค้า เงินทุนและแรงงาน เมื่อแยกประเทศจะมีปัญหาในทางกฎหมายเรื่องการส่งออก กาตาลุญญากับสเปนจะสูญเสียสิทธิประโยชน์เรื่องการนำเข้า-ส่งออกแบบไม่มีภาษี ทำให้เศรษฐกิจของทั้งสเปนและกาตาลุญญาได้รับผลกระทบ

ทางออกที่สองคือการเจรจา ทางกาตาลุญญาก็ต้องการให้อียูเป็นตัวกลาง แต่อียูไม่กล้าทำเพราะมันจะกลายเป็นตัวอย่างนำร่องของโมเดลการแยกดินแดน การเจรจาก็มีสองทาง นำไปสู่การเจรจาเพื่อทำประชามติอย่าเป็นทางการเปิดกว้างยุติธรรมในอนาคต หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 แล้วค่อยเจรจา แต่ถ้าแก้ไขแบบนั้นก็จะต้องมีผลกระทบกับแคว้นอื่นที่เหลือ ทางออกที่สาม จัดตั้งเป็นสหพันธรัฐสเปนไปเลย

ณภัทรกล่าวว่า ตัวของกาตาลุญญาเองก็เชื่อว่ารัฐบาลหรือคนที่สนับสนุนรัฐบาลก็ถอยหลังไม่ได้แล้ว เพราะถอยตอนนี้ก็จะเสียไปหมด เขาก็ต้องสู้ให้ถึงที่สุด มันมีสัญญาณบางอย่างที่ธนาคารหลายแห่งก็ย้ายตัวออกจาก กาตาลุญญาไปแล้ว เป็นสัญญาณว่าภาคเศรษฐกิจเชื่อว่าอาจมีบางอย่างเกิดขึ้นจริงๆ นอกจากนั้นธนาคารก็ต้องการความแน่นอนสูงสุดเพราะต้องรักษาลูกค้าในสเปนที่เหลือกว่า 30 ล้านคนก็ต้องถอยออกมา ถ้าประกาศเอกราชจริงๆ คนที่มองก็มองในระยะยาวว่ามันจะดีขึ้น แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ง่ายๆ โฮสท์พ่อที่ทำเรื่องเกี่ยวกับการเป็นเอกราชมาตั้งแต่ 2012 ก็เชื่อว่าเสรีภาพจะไม่ได้มาในระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่กาตาลุญญามีตอนนี้คือประชาชน การเกิดขึ้นตามรัฐใหม่ตามกฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติว่าต้องมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย แต่ว่ากาตาลุญญาตอนนี้ยังทำไม่ได้ขนาดนั้นกาตาลุญญาซวยนิดหนึ่งตรงที่ว่าตอนนี้โลกทั้งใบนิยมขวา เขาก็ไม่อยากสนใจเพราะประเทศตัวเองยังต้องกินต้องอยู่ ก็ตีความไปเป็นเรื่องภายในประเทศ

5. เทรนด์ขอแยกตัวด้วยประชามติกำลังมาแรง ของกาตาลุญญายังไม่เป็นที่ยอมรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้ประชามติถูกใช้เป็นเครื่องมือในความพยายามแยกตัวเป็นเอกราชของกลุ่มต่างๆ นอกจากประชามติของกาตาลุญญาแล้วเรายังเห็นประชามติขอแยกตัวของชาวเคิร์ดในอิรักเมื่อ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนในครั้งนี้ร้อยละ 72.61 ของผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั้งหมด มีคนลงคะแนนเห็นชอบกับการให้เขตกึ่งปกครองตนเองของชาวเคิร์ดเป็นอิสระมากถึง 3.3 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 92.73 อย่างไรก็ตามนับเป็นการลงประชามติในแบบที่ไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย

ผลโหวตประชามติชาวเคิร์ด ร้อยละ 92.73 เห็นชอบให้แยกตัวเป็นอิสระ

สกอตแลนด์เคยจัดทำประชามติขอแยกตัวกับสหราชอาณาจักรมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2557 ผลประชามติปรากฏว่าร้อยละ 55 ต้องการให้อยู่กับสหราชอาณาจักรต่อไป แต่นิโคลา สเตอร์เจียน นายกฯ สกอตแลนด์ก็ประกาศที่จะทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังสหราชอาณาจักรทำประชามติขอแยกตัวจากสหภาพยุโรป

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2560 มีรัฐทางตอนใต้ของบราซิลสามรัฐได้แก่รัฐปารานา รัฐซานตา กาตารินา และรัฐริโอ กรานเด โด โซล ทำประชามติขอแยกตัวจากบราซิล แต่ประชามติไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมาย ในปีที่แล้วก็มีประชามติในลักษณะนี้มาแล้วเมื่อเดือน ต.ค. มีผู้ไปออกเสียงเป็นจำนวนทั้งสิ้น 616,917 คน ร้อยละ 95 ของผู้มาออกเสียงเห็นด้วยกับการแยกตัว แต่สัดส่วนผู้มาออกเสียงนั้นเป็นเพียงร้อยละ 3 จากผู้มาออกเสียงทั้งหมด

สมชายกล่าวว่า ความชอบธรรมเมื่อแยกเป็นเอกราชสามารถมองได้สองแง่ กฎหมายระหว่างประเทศกับในประเทศ กรณีสกอตแลนด์และแคนาดา รัฐธรรมนูญแคนาดาอนุญาตให้ทำประชามติได้ กรณีอังกฤษก็เหมือนสเปน เป็นรัฐเดี่ยว แยกไม่ได้แต่อนุญาตให้แยกได้ถ้าการทำประชามติได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา สกอตแลนด์จึงถูกต้องตามกฎหมายเพราะรัฐสภานำโดยนายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมรอน อนุญาต แต่ในสเปนรัฐบาลและรัฐธรรมนูญไม่ได้อนุญาตให้ทำประชามตินี้

ตามกฎหมายระหว่างประเทศนั้น การจะเป็นประเทศจะต้องได้รับการยอมรับจากประเทศอื่นๆ มีกรณีการแยกประเทศได้แต่ไม่ได้รับการรับรอง เช่นไครเมีย การเมืองระหว่างประเทศก็มีส่วนเนื่องด้วยรัสเซียมีอิทธิพลในบริเวณนั้น นี่คือเหตุผลที่กาตาลุญญาไม่มีประเทศไหนยอมรับ เพราะถ้ายอมรับก็เท่ากับกติกาโลกเปลี่ยนไปหมด

ข้อมูลเพิ่มเติม
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net