Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เขื่อนหัวนาเป็น 1 ในจำนวน 22 เขื่อนของโครงการ โขง ชี มูล ได้รับการอนุมัติโดยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุนหะวัน ในคราวการประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2532 ภายใต้การดำเนินการก่อสร้างโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทวรงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างมีปัญหาจึงทำให้การเปิดใช้งานเขื่อนหัวนาล่าช้าออกไป (เปิดใช้งานหลังเขื่อนราษีไศล) ! 

เดือนตุลาคม 2540 ขณะที่มีการจ่ายค่าชดเชยเขื่อนราษีไศล ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอราษีไศลซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนราษีไศล ซึ่งเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนหัวนา ได้มีการรวมตัวกัน และต่อเนื่องกันนั้นชาวบ้านจากพื้นที่อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอยางชุมน้อย อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์ ได้เริ่มจับกลุ่มกัน รวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา ยื่นเสนอต่อนายอดิศร เพียงเกษ รมช.วิทยาศาสตร์ ฯ โดยมีแกนนำชื่อนายชวลิต ศิลารักษ์ (พี่ชายของผมเอง) และผมได้เข้าไปให้คำแนะนำการดำเนินการบ้างในบางครั้ง !

การเรียกร้องเริ่มต้นจากการขอพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา แต่แล้วชาวบ้านเหล่านั้น ก็พบว่าที่ดินจำนวนมากในพื้นที่ “ทุ่งหนองอึ่ง” และ “กุดเต๋อ” และ “ทามรังแร้ง” ถูกทางราชการประกาศเป็นที่ นสล.คลุมพื้นที่ไว้หมดแล้ว ซึ่งชาวบ้านมองว่าเป็นเจตนาของทางราชการ ที่ “มัดมือชก” ออก นสล.คลุมพื้นที่เพื่อจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเขื่อนหัวนา ชาวบ้านจึงได้เพิ่มข้อเรียกขึ้นอีก ด้วยการเสนอให้ “เพิกถอน นสล.” ขณะที่ผมก็เข้าไปช่วยให้คำแนะนำบ้างในบางครั้ง แต่อยู่ห่าง ๆ เช่นเดิม !


ภาพชาวบ้านที่ยืนถือเอกสารสิทธิ์ (โฉนดที่ดิน) อยู่หน้าแปลงที่ดิน ที่อยู่ในแนวเขตระดับ 114 ม.รทก. บริเวณที่นา บ้านโนนสังข์ ตำบลโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ // จุดที่ยืนคือแนวปักหมดระดับน้ำ 114 ม.รทก ของชลประทาน // ด้านหลังคือสภาพของที่ดิน ของชาวบ้าน

ปี 2543 (ผ่านมา 3 ปี) ขณะที่สมัชชาคนจน ชุมนุม “ปฏิบัติการดาวกระจาย” หรือที่ทราบกันคือ ยุคการชุมนุมของ “หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน” (หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 ตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2542 ที่สันเขื่อนปากมูน หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 ก่อตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม 2542) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มกรณีปัญหาบางส่วนของสมัชชาคนจน จำนวน 15 กรณีปัญหา (รวมถึงกรณีปัญหาเขื่อนห้วยละห้าด้วย) ในช่วงนั้นผมจึงได้ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนา จัดชุมนุมขึ้นที่สันเขื่อนหัวนา (แต่ไม่ได้ตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนเช่นที่อื่น) และนำข้อเรียกร้องของชาวบ้านเขื่อนหัวนา เข้าร่วมกับขบวน รวมเป็น 16 กรณีปัญหาของสมัชชาคนจน !

วันที่ 25 กรกฎาคม 2543 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ รวม.กระทรวงวิทยาศาสตร ฯ ในยุครัฐบาลชวน 2 ซึ่งกำกับเขื่อนราศีไศล และเขื่อนหัวนา จึงได้นำข้อเรียกร้องเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติ (นำมาเฉพาะเขื่อนหัวนา) ดังนี้ 1.) เห็นชอบให้ระงับการก่อสร้างโครงการทั้งหมดไว้ก่อน จนกว่าการศึกษาผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมและสังคม จะแล้วเสร็จ 2.)ให้เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 3.)ให้ตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรที่คาดว่าจะเสียหายจากฝาย ดังกล่าวร่วมกับราษฎร ต่อมาปี 2545 เขื่อนหัวนาได้โอนมาสังกัดกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนถึงปัจจุบัน !

การตรวจสอบทรัพย์สินที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา มีปัญหาข้อขัดแย้ง เรื่อง “แนวเขตระดับน้ำ” มาตลอด ทำให้การปักขอบเขตระดับน้ำท่วมถึงไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนกระทั่งปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้ “เขื่อนหัวนาดำเนินการเก็บกักน้ำที่ระดับ 112 ม.รทก. ให้จ่ายค่าชดเชยที่ระดับ 114 ม.รทก. (จ่ายเพิ่มจากระดับเก็บกักน้ำอีก 2 เมตร)” ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีนี้ ทุกฝ่ายยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน !

วันที่ 14 มิถุนายน 2556 รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเขื่อนหัวนา โดยมี นายยุคคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุมมีมติที่ประชุม ดังนี้ “ให้จ่ายค่าชดเชยที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนหัวนาในระดับ 114 ม.รทก. กรณีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้ชดเชยในราคาไร่ละ 45,000 บาท” (กรณีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ยังไม่มีการกำหนดราคาค่าชดเชย) ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน !

แล้วทำไม ปัญหาไม่จบสักที...นี่คือคำถามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย...ซึ่งผม (เป็นความเห็นส่วนตัว) พอประมวลสรุปประเด็นข้อขัดแย้งได้ ดังนี้ 1.) ระดับ 114 ม.รทก. ซึ่งเห็นไม่ตรงกัน โดยฝ่ายคนทามกล่าวหาชลประทานว่า ปักหมุดไม่ถูกต้อง ส่วนชลประทานก็ยืนยันว่าปักหมุดถูกต้อง โดยมีสัญลักษณ์แทนของแต่ละฝ่ายคือ เส้นสีแดง ของทีมคนทาม เส้นสีเขียว คือของชลประทาน ซึ่งเรื่องนี้เถียงกันมาตั้งแต่ปี 2552 หรือกว่า 8 ปี ที่ผ่านมา ในปัจจุบันยังเถียงกันไม่จบ !


ภาพ ชาวบ้านโนนสังข์ นำเอกสารสิทธิ์ (โฉนดที่ดิน) ซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในระดับ 114 ม.รทก. ไปยื่นต่อนายเมธี สุวรรณฝ่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเขื่อนหัวนา.
//เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา

ปีนี้ (2560) ชาวบ้านโนนสังข์ ตำบลโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา ส่วนหนึ่งมีที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ และอีกส่วนหนึ่งมีที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยที่ดินดังกล่าวอยู่ในขอบเขตระดับ 114 ม.รทก โดยมีหลักเขตของชลประทานปักไว้อย่างชัดเจน และเป็นไปตามกรอบที่ มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 เมษายน 2553 กำหนดไว้ ได้มาขอร้องให้ “ป้าย บูรพาไม่แพ้” เข้าไปช่วยผลักดันให้ด้วย (มาอ้อนวอนผลหลายครั้งมากจนผมใจอ่อน) เพราะได้รับผลกระทบมานานหลายปี !

วันที่ 12 ตุลาคม 2560 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการเขื่อนหัวนา ได้จัดประชุมการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านโนนสังข์ ซึ่งมีคุณสมบัติและเป็นไปตามกรอบของมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 เมษายน 2553 แต่ถูกทักทวงจากทีมคนทามอย่างหนัก ด้วยว่ายังไม่มีข้อยุติเรื่องเส้นระดับน้ำว่าจะใช้สีเขียว หรือสีแดง แต่สำหรับชาวบ้านโนนสังข์ ไม่ได้สนใจว่าจะเส้นสีอะไร เพื่อโดยหลักการแล้วเมื่อ ครม.กำหนดให้จ่ายที่ระดับ 114 ม.รทก. ซึ่งทุกฝ่ายก็ยอมรับ จึงเป็นข้อยุติที่ตรงกันส่วนที่แตกต่างจากนี้ไป เป็นข้อขัดแย้งที่เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย ที่จะต้องไปหาข้อยุติเฉพาะส่วนไป ไม่ควรนำมาผูกรวมกัน !

การจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านโนนสังข์ จะเป็นหลักการใช่หรือไม่...ผมตอบได้เลยว่า...ใช่...ซึ่งในความเป็นจริงหลักการนี้มีอยู่แล้ว ตามกรอบของมติ ครม. 27 เมษายน 2553 ซึ่งทุกฝ่ายก็ยอมรับร่วมกัน ดังนั้นจะอธิบายความชอบธรรมของชาวบ้านโนนสังข์ ที่มี และความเป็นธรรมที่ชาวบ้านโนนสังข์จะได้รับ นี้ว่าไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลประการใด ????

ในทางข้อเท็จจริงในเรื่องผลกระทบซึ่งมีรายละเอียดที่ต่างจาก “เกณฑ์” (มติ ครม.) เป็นเรื่องที่ผมเองยอมรับ เพราะสภาพพื้นที่แต่ละแห่งในทางกายภาพมีความต่างกัน ซึ่งมีพื้นที่จำนวนไม่น้อย อยู่สูงกว่าระดับ 114 ม.รทก. แต่ถูกน้ำล้อมรอบ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “เกาะ” และในหลายแห่งที่เป็น “เวิ้ง” “เว้า” น้ำเอ่อเข้าท่วม แต่ไม่ท่วมขังถาวร แต่มีความเสี่ยงในการผลิต พื้นที่เหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบที่รัฐบาลควรรับผิดชอบด้วยเช่น แต่การอธิบายสภาพปัญหาก็ต้องหยิบยกขึ้นมาให้ชัดเจน เมื่ออธิบายไม่ชัดเจนก็ถูกมองว่า “ตีรวน” !

หลักการ กับรายละเอียด...มีความสับสนกันมานานกว่า 8 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ มีความเดือดร้อน ได้ตก “เป็นตัวประกัน” ซึ่งในที่นี้ผมเห็นว่า ข้อยุติที่เห็นร่วมกันคือ ทุกฝ่ายยอมรับมติ ครม. 27 เมษายน 2553 (เก็บน้ำ 112 จ่าย 114) ตรงนี้คือ “หลักการ” แต่สภาพผลกระทบเช่น ที่เป็นเกาะ ที่เป็นเวิ้ง ตรงนี้เป็นรายละเอียดประกอบที่จะนำขึ้นสู่การถกเถียงว่าลักษณะพื้นที่เช่นนี้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร และหากจะบอกว่า “ชลประทานโกง” ปักหลักหมุดต่ำกว่าระดับ 114 ม.รทก. ซึ่งบิดเบือน “หลักเกณฑ์” ที่ ครม.กำหนดไว้ ก็เพียงแค่ไปชี้ที่หลักเขตใด ก็ได้ว่า ชลประทานโกง บิดเบือน ซึ่งชลประทานก็จะมีความผิดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้...ดังนั้น “หลักการ” กับ “รายละเอียด” ก็ต่างกันดังที่กล่าวมานี้ !

เมื่อหลักเกณฑ์ ชัดเจนขนาดนี้ และที่สำคัญทุกฝ่ายก็ยอมรับ การจ่ายค่าชดเชย ก็ควรเร่งดำเนินการด่วนด้วย เพื่อให้ความทุกข์ยากที่สั่งสมมากว่า 23 ปี ได้บรรเทาลง !

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net