Skip to main content
sharethis
เล่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง พระเจ้าอยู่หัวกับรัฐประหาร ระบุเป็นการทำให้รัฐบาลถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมา โดยไม่มีทางเลือก ทิ้งท้ายหวังปลุกประชาธิปไตยที่แท้จริงกับนักศึกษา สงสัยไล่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์หายไปไหน

14 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 ต.ค.60) ช่วงเช้า ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดําเนินกลาง มีการจัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จากนั้นมีปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2560 "ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 14 ตุลา" โดย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อายุ 88 ปี ในฐานะนายตำรวจราชสำนักประจำ มีบทบาทการดูแลความสงบในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นสถานที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) ช่วงเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 โดย พล.ต.อ.วสิษฐ ทำหน้าที่ติดต่อกับแกนนำผู้ชุมนุม และเป็นผู้อัญเชิญพระบรมราโชวาทของ ร.9 มาอ่านกับผู้ชุมนุมในวันที 14 ต.ค.16

พระเจ้าอยู่หัวกับรัฐประหาร 

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเลี่ยงการเมืองไม่พ้น เพราะเหตุว่าท่านเป็นกษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ แล้วก็เป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของท่านกับรัฐบาลขณะนั้น ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามปกติ เป็นเรื่องบังคับที่เลี่ยงไม่ได้” พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

“ท่านผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของไทยคงจะจำได้ว่าบ้านเรานั้น แม้จะปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยก็มีอุบัติเหตุการเมืองที่มีการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนมากรัฐประหารซึ่งเป็นการยึดอำนาจก็ทำโดยผู้ถืออาวุธ คือทหาร ทหารผลัดขึ้นมาปกครองบ้านเมือง จนกระทั่งแทนที่บ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้า บ้านเมืองก็ย่อยยับไป เป็นครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละครั้งที่เกิดรัฐประหารขึ้น ผู้ที่ยึดอำนาจนั้นเพื่อที่จะได้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้เป็นรัฐบาลที่ถูกกฎหมายก็จะต้องรีบไปหาพระมหากษัตริย์ ซึ่งในนี้คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่าก็ต้องเป็นผู้ที่ทำให้รัฐบาลนั้นถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมา โดยไม่มีทางเลือก มักจะมีผู้ที่ไม่เข้าใจแสดงความข้องใจสงสัยเสมอว่า เมื่อรัฐบาลยึดอำนาจแล้ววิ่งเข้าไปหา แล้วถ้าหากท่านไม่พระราชทานความถูกต้องตามกฎหมายให้รัฐบาลนั้น รัฐบาลนั้นก็เจ๊งใช่หรือเปล่า ซึ่งมันไม่ง่ายอย่านั้นครับ เพราะคนที่วิ่งเข้าไปขอความถูกต้องนั้นเป็นคนถืออาวุธ ถ้าหากว่าท่านปฏิเสธก็แน่นอนเหลือเกินว่ามันจะต้องเกิดการต่อสู้ปะทะกันขึ้นเขาชนะอยู่แล้ว เพราะยึดอำนาจไปเรียกร้อย” พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวต่อว่า ใครจะต่อสู้ ท่านเองไม่มีทหารอยู่ในมือ ท่านดำรงตำแหน่งเป้นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการบังคับบัญชาไม่มี นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหลังจากรัฐประหารแล้ว รัฐบาลที่เกิดขึ้นด้วยการรัฐประหารจึงเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเสมอ เมื่อเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลก็ค่อนข้างตึกเครียด รัฐบาลทหารยุคต้นๆ ยึดอำนาจได้ เกือบจะไม่เห็นความสำคัญของพระมหากษัตริย์เลย ตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะให้ความเคารพ แต่ก็เป็นการเคารพแต่ปาก ในทางปฏิบัตินั้นปรากฏว่ามีการกระทบกระทั่งกัน

มาถึง ร.9 ที่รัฐบาลเริ่มจะฟังพระเจ้าแผ่นดินมากขึ้น โดย ร.9 ทรงเห็นการณ์ไกลสามารถประนีประนอมกับรัฐบาล ขณะเดียวกันท่านก็เข้ามามีบทบาทในเรื่องการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม มากขึ้นๆ จนะกระทั่งเป็นที่ยอมรับกันว่า 70 ปี ของการครองราชย์ เป็นมหาราชที่ทำความเจริญมั่นคงให้แก่บ้านเมือง และทำให้ประชาชนมีความสุข

ข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

พล.ต.อ.วสิษฐ ดล่าวด้วยว่า ขณะนั้นบ้านเมืองนอกจากปัญหาภายในแล้ว มันมีปัญหาภายนอกคือการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ที่ทำให้เกิดคอมมิวนิสต์ขึ้นในเมืองไทย เพราะสหรัฐฯ เป็นศัตรูกับโซเวียตและจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ ระบอบนี้ทำท่าว่าจะขยายไปในประเทศต่างๆ สหรัฐกลัวและดำเนินนโยบายเป็นปฏิปักษ์กับคอมมิวนิสต์ นโยบายนี้เองที่รัฐบาลประเทศเล็กๆ รับเอามาหรือถูกบังคับให้รับเอามา ให้เป็นฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายรัฐบาลเป็นแบบนี้ รวมทั้งไทยด้วย เริ่มปราบคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ตอนต้นๆ เลย เรามีกฎหมายที่ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะ เมื่อรัฐบาลเป็นเผด็จการ การปราบปรามจึงบ่อยและรุนแรง นักการเมืองที่ถูกสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์มักถูกจับบ้าง ถูกคุมขังบ้าง ช่วงปี 16 มีผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์ จำนวนมาก แม้เป็นการออกเอกสารหรือพูดความเป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาล รัฐบาลก็เหมาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 มีนักศึกษาออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาล เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านั้น รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจรได้จับนักศึกษาไปเป็นผู้ต้องหา แต้ข้อหาเป็นการกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์เช่นกัน

เล่าเหตุการณ์ 14 ตุลา

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า เมื่อถูกจับก็เริ่มมีนักศึกษาชุมนุม โดยการนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ก็เริ่มชุมนุมตั้งแต่จำนวนพันเป็นจำนวนหมื่น การชุมนุมมีมากขึ้นจนเป็นแสน รัฐบาลกลับใช้ไม้แข็งเตรียมปราบนักศึกษาที่ชุมนุมกัน ตนไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนวันเกิดเหตุ แต่เดินทางกลับมาในวันที่ 13 ต.ค.16 เมื่อมาถึงจึงทราบว่ามีการชุมนุมและคาดว่าเหตุการณ์จะบานปลาย ตนพร้อมด้วยตำรวจออกไปดูเหตุการณ์ และพบผู้นำนักศึกษาขณะนั้น การชุมนุมเคลื่อนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ตอนนั้นไม่คิดว่าเหตุการณ์จะบานปลายอะไร เพราะคิดว่าผู้ชุมนุมโดยสงบ จะไม่สบายใจก็เพียงมีนักเรียนอาชีวะที่มีไม้เป็นท่อนๆ ติดมือกันบ้าง ในตอนเที่ยงวันที่ 13 ต.ค.16 ได้รับคำสั่งให้ไปรับผู้แทนที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ตอนนั้นทราบว่าทรงกรุณาให้เฝ้า จึงไปรับและคอยอยู่ตั้งแต่เที่ยง จนกระทั่งบ่าย 2 มี นักศึกษาจำนวนหนึ่งมาที่ประตูแต่มาไม่ครบและคอยคนที่ยังมาไม่ถึง จนกระทั่งถึงบ่าย 4 โมง แล้วขาด เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ไป 1 คน ตนจึงนำตัวแทนนักศึกษาที่มาไปคอยที่ศาลาดุสิดาลัย ซึ่งคุยกันอยู่เกือบ 2 ทุ่ม จนกลับออกมาในระหว่างคุยตนไม่ได้อยู่ด้วย แต่ทำหน้าที่พาตัวแทนนักศึกษากลับ

ก่อนที่จะออกนั้น ตนได้ยินผู้นำนักศึกษาที่อยู่ขณะนั้นพูดว่าถูกหักหลัง เสกสรรค์ที่อยู่ข้างนอก ทำผิดข้อตกลง เนื่อจากเคลื่อนขบวนมา ทำให้ผู้แทนก็ไม่ยอมออกจากวัง ตนก็รับหน้าที่ตามหาตัวเสกสรรค์ เข้ามาในวัง ตอนนั้นตนอาจจะนึกไม่ออก แต่จำได้ว่าใช้รถตำรวจกองปราบและนำเอาผู้แทนนักศึกษาจำนวนหนึ่งไปรับเสกสรรศ์ เมื่อออกไปถึงที่หมายที่ลานพระราชวังดุสิต ได้ตัวเสกสรรค์ ซึ่งขณะนั้นพูดเกือบไม่รู้เรื่อง เสียงไม่มีเลย เพราปราศรัยมาหลายวัน นำตัวเข้าวัง เมื่อเข้าไปแล้วพบกับ ธีรยุทธ บุญมี ซึ่งเป็นผู้แทนนักศึกษาอีกคนที่เข้ามาก่อน ทั้ง 2 คนเถี่ยงกัน เมื่อรู้ว่าเข้าใจผิดเรื่องไหน เราก็ชี้แจงให้เข้าใจ ลงท้ายกูพูดกันรู้เรื่อง

ขณะที่พูดรู้เรื่อง ข้างนอกไม่รู้ ผู้แทนนักศึกษาที่อยู่ข้างนอกมีคนไปกระซิบว่าพวกที่อยู่ข้างในถูกจัดการหมดแล้ว เพราะข่าวนี้ทำให้คนที่ชุมนุมอยู่ลานพระบรมรูปทรงม้าไม่ยอมอยู่ที่เก่า แต่เคลื่อนมาที่หน้าประตูวังสวนจิตรลดา เป็นครั้งแรกที่คนเป็นจำนวนแสนมาชุมนุมที่หน้าวัง เมื่อเห็นแบบนั้นตนก็ขอร้องให้พวกนักศึกษาที่อยู่ด้านในวังไปเจรจากับด้านนอก พระเจ้าอยู่หัวพระทานพระราชกระแสลงมาว่ารัฐบาลยอมแล้ว ที่จะปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ยังมีข้อตกกันระหว่างผู้แทนรัฐบาลกับผู้แทนนักศึกษาในวังลายลักษณ์อักษร รวมทั้งรัฐธรรมนูญจะได้ภายใน 20 เดือน แทนที่จะเป็น 3 ปี อย่างที่รัฐบาลพูดไว้แต่เดิม เมื่อขอร้องให้ผู้แทนนักศึกษาออกไปชี้แจงด้านนอก ผู้แทนก็บอกว่าเดี๋ยวเขาไม่เชื่อ ก็อยากได้คนในวังให้ออกไปพูดด้วย เพราะเป็นคนที่น่าเชื่อถือกว่า ตอนนั้นมีผู้ใหญ่ 3 คน คือ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ อีกคนเป็นนายทหารราชองครักษ์ และตน คนที่พาตนออกไปคือ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เวทีที่ชุมนุมเป็นรถสองแถว ตนปีนไปเพื่อพูดกับเรื่องขยายเสียงและเอา พระราชดำรัสของในหลวงที่มีการบันทึกไว้อ่าน เมื่อตนพูดจบที่ประชุมก็ปรบมือ แล้วใครไม่ทราบให้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี คนแสนคนร้องเพลงกัน ขณะนั้นตนคุกเข่าลงร้องไห้ เพราะเหตุการณ์ยุติ

แต่ก็ได้สักครู่ ตอนแยกย้ายกันกลับ เนื่องจากมีระเบิดขวดจากนักเรียนอาชีวะพกมามันระเบิด ต่อมาอีกไม่นานก็เกิดเสียงระเบิดแก๊สน้ำตาตามมา เหตุการณ์เกิดหลังจากผู้ชุมนุมแยกย้ายกลับ ผู้ที่เกิดเหตุปะทะกันขึ้นเกิดจากเดินทางกลับ ทราบภายหลังว่าตำรวจได้รับคำสั่งให้สกัดไม่ให้ผ่านทาง ผู้ที่สั่งคือ พล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร เป็นทหารที่มีตำแหน่งตำรวจด้วย เป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ ส่วนผู้รับคำสั่งคือ พล.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น สกัด สุดท้ายเกิดการปะทะกัน ตำรวจใช้ตะบองกับแก๊สน้ำตาเป็นอาวุธ เกิดการตีกันขึ้นที่หน้าวัง ข่าวก็บอกต่อๆ กันไป ว่า ขณะนี้ตำรวจฆ่านัศึกษาที่หน้าวัง จนเกิดการจลาจและกระจายตัวออกไป นั่นคือที่มาของความมหาวิปโยคที่เปิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค.16

เมื่อเกิดการตีกันขึ้น ตนขอร้องให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูให้ การปะทะเป็นไปอย่างรุนแรง มีนักศึกษาเข้ามาที่ประตู แล้วขอให้เปิดประตูรับ และในหลวงรับสั่งให้เปิดเข้ามานักศึกษาเข้าไปในสวนจิตรลดามี 2 พันคน บางคนเข้าไปถึงก็ต่อว่าตนว่าหลอกให้ไปถูกตี ตนก็ยืนยันว่าไม่ทราบเรื่อง จากนั้นในหลวงทรงเยี่ยมผู้ที่เข้าไปในวัง ขณะที่ข้างนอกมีการปะทะต่อสู้ มีประชาชนและตำรวจได้รับบาดเจ็บ เมื่อเหตุการณ์เป็นแบบนั้น เราก็ให้ฝ่ายทหารระงับเหตุภายนอก ซึ่งเป็นที่สังเกตว่าทหารไม่เต็มใจทำหน้าที่ นักศึกษาจึงรับอาสาเพื่อไปชี้แจงผู้ชุมนุมข้างนอก ในที่สุดการจลาจลก็ดำเนินไปถึงรุ่งเช้า ถึงซาลง  เมื่อมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์นำเครื่องส่งเข้าไปในวัง พระราชดำรัสชี้แจงและแจงว่ารัฐบาล ปล่อยผู้ต้องหาและให้รัฐธรรมนูญแล้ว ตนคิดว่าสิ่งนี้ทำให้เหตุการณ์สงบ นักศึกษาที่อยู่ในวัง ทางวังได้จัดรถส่งกลับตามที่นักศึกษาต้องการ แต่ก็มีเรื่องข่าวลือประหลาดๆ เช่นว่า วันนั้นผู้นำนักศึกษาหญิง ที่เข้าไปวังแล้วขึ้นรถออกไปด้วย แต่ก็มีคนบอกว่า คุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ (แกนนำนักศึกษา) ถูกยิง แต่ความจริงออกไปกับรถ

ผู้แทนนักศึกษาอยากให้ ตนอยู่ด้วย เพื่อเป็นตัวกลางในการเจรจา นักศึกษา วังและทหาร อย่างไรก็ตามผู้แทนนักศึกษาแม่อ้างตนมาจากในวัง ชี้แจงกับคนข้างนอก เขาก็ไม่เชื่อ แต่ก็ค่อยๆ คลี่คลายเริ่มจากในกรุงเทพ แต่ต่างจังหวัดก็ยังไม่สงบ เช้าวันที 15 ต.ค. มีนักเรียนประจำจังหวัดสมุทรปราการไปล้อมสถานีตำรวจ จนถูกยิงได้รับบาดเจ็บ จึงมีการขอให้ผู้แทนนักศึกษาจากกรุงเทพไปปากน้ำ รวมทั้งตนไปด้วย ตอนแรกพูดกันไม่รู้เรื่องเพราะผู้แทนนักศึกษาก็ไม่รู้จักกับนักเรียนที่นั่น สุดท้ายนำข่าวและคำปราศรัยของพระเจ้าอยู่หัว ไปเปิดให้นักเรียนที่นั่น เหตุการณ์ก็สงบลง

เหตุการณ์ที่ยังเหลืออยู่เป็นเรื่องของทางการเมือง นึกว่าตนไม่เกี่ยว แต่ก็เกี่ยว หลังจาก รัฐบาลจอมพลถนอมลาออก พร้อมด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง พระเจ้าอยู่หัวใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตั้ง อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายก เบื้องต้น อ.สัญญา ทำความเข้าใจผู้แทนนักศึกษาจนมีการตกลงหลายประการ เช่น เรื่องการอภัยโทษให้นักศึกษาและรัฐธรรมนูญเรื่องค่าเสียหายให้ผู้บาดเจ็บล้มตาย ตนก็เป็นตัวกลางในการเจรจาด้วย

ตอนหน้าสิ่วหน้าขวาน ช่วงรอยต่อระหว่างรัฐบาลถนอม กับสัญญา คือ ตำรวจขณะนั้นก็ไม่กล้าทำงาน กลัวนักศึกษา เพราะฉะนั้นศนท. จึงตั้งเจ้าหน้าที่ติดต่อทุกโรงพักให้สามารถเข้ากันได้กับชาวบ้าน คนสำคัญคือ คุณกนก วงษ์ตระหง่าน ขณะนั้นเป็นนิสิตจุฬาฯ ออกทีวีและใช้คำที่แรงไปหน่อย บอกว่ขณะนี้ให้นกศึกษาคุมโรงพัก คนก็ตกใจพวกตนก็ล้อขณะนั้นว่า เป็นอธิบดีกนก

หวังปลุกประชาธิปไตยที่แท้จริงกับนักศึกษา สงสัยไล่ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์หายไปไหน

“หวังที่ประชุมนี้จะมีการปลุกกระแสความรู้สึกที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดขึ้นในหมู่นิสิตนักศึกษา ผมสังเกตเห็นว่าเมื่อมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นตอนหลังมานี้บทบาทของนักเรียนนิสิตนักศึกษาไม่มีเลย ที่พูดอย่างนี้พูดจากประสบการเพราะว่าตอนที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ (ชินวัตร) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ซึ่งผมเป็นผู้หนึ่งที่มาชุมนุมด้วย ผมไม่เห็นมีเด็ก มีก็มีจำนวนน้อยมาก” พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net