Skip to main content
sharethis

ชี้การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดในสถานการณ์การเมืองปกติ เหตุการเมืองไม่ปกติไม่มีความชอบธรรมพอที่จะหาเสียงสนับสนุนเพื่อขับเคลือน ชี้ปฏิรูปตำรวจที่นำโดยทหารอาจกลายเป็นเพียงกลไกการควบคุม มากกว่าเปลี่ยนแปลง  เสนอสร้างตำรวจอาชีพและการควบคุมโดยพลเรือน

18 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ต.ค.60) โรงแรม เดอะ สุโกศล หลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดเสวนา เรื่อง ปฏิรูปตำรวจ – เสียงคนนอกและคนในองค์กร โดยในงานดังกล่าว มี สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อดีตคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) บรรยายพิเศษ เรื่อง การปฏิรูปตำรวจ 

ปฏิวัติ-ปฏิรูป 

สุรชาติ กล่าวว่า ในทางรัฐศาสตร์ ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นใน 2 รูปแบบคือ 1 การปฏิวัติ (Revolution) 2 การปฏิรูป (Reform) ความเปลี่ยนแปลงสองรูปแบบนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งรูปแบบ เนื้อหา และตัวแสดงที่เกี่ยวข้อง ถึงที่สุดก็คือ นักปฏิวัติแตกต่างจากนักปฎิรูปโดยสิ้นเชิง แม้จุดสุดท้ายที่พวกเขาต้องการเห็นคือความเปลี่ยนแปลง แต่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีกระบวนการ ขั้นตอน และจุดจบที่ไม่เหมือนกัน

การปฏิวัติคือการเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน นักปฏิวัติจึงมีความชัดเจนที่จะต้องกวาดล้างสิ่งเก่า เพื่อสร้างสิ่งใหม่ หรือกล่าวในทางอุดมคติก็คือ สังคมใหม่จะเกิดขึ้นได้ต้องทำลายสังคมเก่าให้หมดสิ้นไป สงครามของนักปฏิวัติจึงมีความชัดเจนในตัวเอง ความยากลำบากก็คือ พวกเขาจะต้องต่อสู้กับฝ่ายรัฐด้วยการทำสงครามปฏิวัติ และหลักประกันของความสำเร็จก็คือการเข้าร่วมของมวลชนอันไพศาล ดังคำกล่าวของประธานเหมาเจ๋อตุงที่ว่า สงครามปฏิวัติคือสงครามของมวลชน ถ้ามองจากประวัติศาสตร์แล้ว ปีนี้เตือนใจเราให้รำลึกถึงเหตุการณ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกคือ ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 100 ปีของการปฏิวัติรัสเซียThe Bolshevik Revolution ในปี 1917 และในเส้นทางสายนี้เรายังเห็นถึงการปฏิวัติในจีน ในคิวบา ในเวียดนาม และผลพวงของการปฏิวัติเช่นนี้ เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนเพื่อการสร้างสิ่งใหม่

แต่สำหรับนักปฎิรูปนั้น พวกเขาต่อสู้อยู่ภายในระบบเดิม สังคมใหม่ที่พวกเขาฝันถึงจึงไม่ได้เกิดจากการทำลายล้างเช่นการปฏิวัติ แต่พวกเขาจะต้องสร้างจากระบบเดิมที่เป็นอยู่ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางส่วน และขณะเดียวกันก็หวังว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะมีเวลาพอรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้น และก็จะต้องประคองไม่ให้สังคมที่กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายนั้นล้มลงเสียก่อน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการที่ชนชั้นนำต่างๆเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามแล้ว เกิดความตระหนักรู้ว่า สังคมไม่อาจอยู่อย่างเดิมได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง และพวกเขาพร้อมที่เป็นผู้ผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเอง แทนที่จะต้องรอแรงกดดันจากปัญญาชนและชนชั้นล่าง หรือจากปัจจัยภายนอก ตัวอย่างของการปฏิรูปใหญ่ของเอเชียที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น หรือ The Meiji Restoration 1867 หรือการปฏิรูปโดยราชสำนักสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

ในสภาวะเช่นนี้ ปัญหามักจะเกิดจากชนชั้นนำที่มีอำนาจแต่ขาดวิสัยทัศน์ และไม่เข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลง  พวกเขาไม่เพียงแต่ไม่สนับสนุนการปฏิรูป หากแต่พยายามทำลายความหวังของการปฏิรูปที่แท้จริงอีกด้วย สุดท้ายแล้วคำตอบในประวัติศาสตร์ก็คือ ความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของประเทศ เมื่อพระนางซูสีไทเฮาตัดสินใจล้มการปฏิรูปร้อยวันของจักรพรรดิกวางสูในปี 1908 แล้ว สิ่งที่รอคอยอยู่ข้างหน้าก็มีแต่เพียงประการเดียวคือ การปฏิวัติของ ดร. ซุนยัตเซ็นในปี 1911 นั่นเอง แตกต่างจากความสำเร็จของราชสำนักที่โตเกียวและที่กรุงเทพอย่างมาก

นักปฎิรูปจอมปลอม

สุรชาติ กล่าวว่า ตนเปิดประเด็นเช่นนี้ก็เพื่อเตือนใจท่านทั้งหลายว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องยาก จนกล่าวกันว่าความสำเร็จของการปฏิรูปในประวัติศาสตร์นั้นแทบจะไม่เกิดขึ้น คำอธิบายที่ชัดเจนก็คือ การปฏิรูปยากกว่าการปฏิวัติ นักปฎิรูปจะต้องมีความสามารถทางการเมืองมากพอที่จะทำให้ความฝันของเขาเกิดเป็นจริงได้ภายใต้ความล้มเหลวของโครงสร้างเดิม หรืออีกนัยหนึ่งคือ นักปฏิรูปจะต้องมีทักษะทางการเมืองมากกว่านักปฏิวัติ เพราะเขาต้องทนทานพอที่จะไม่ถูกทำลายจากอำนาจของปีกอนุรักษ์นิยมขวาจัดที่ต่อต้านความเปลี่ยนแปลง และเข้มแข็งพอที่จะไม่ถูกยั่วเย้าให้หลงไปกับอำนาจและทรัพย์สินจากผู้ปกครองเก่า และขณะเดียวกันก็จะต้องเก่งกล้าพอที่เล่นกับเกมแห่งอำนาจ และสามารถพอที่จะควบคุมความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเช่นนี้ได้อีกด้วย ถ้าไม่เช่นแล้วการปฏิรูปจะล้มเหลวตั้งแต่เริ่มตั้งไข่ อายุ 100 วันของการปฏิรูปจีนในปี 1898 เป็นข้อเตือนใจที่ดีเสมอ เพราะความล้มเหลวเช่นนี้ตอบด้วยศรีษะของนักปฎิรูป 6 คนกลางตลาดกรุงปักกิ่ง

ความเลวร้ายอีกส่วนที่ต้องเผชิญก็คือ การประกาศตัวของนักปฎิรูปจอมปลอมที่มาในคราบของผู้สนับความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เช่นตัวอย่างของนายพลหยวนซื่อข่าย ที่สุดท้ายแล้วเป็นเพียงนายพลผู้ฉวยโอกาส ขุนศึกนักปฎิรูปจอมปลอมมีให้เราพบเห็นได้เสมอทั้งในประวัติศาสตร์และปัจจุบัน และในอีกด้านหนึ่งเพื่อบิดเบือนการปฏิรูป สาระสำคัญของการปฏิรูปจึงเป็นเพียงการสร้างภาพ การหาเสียง และการหลอกลวง ไม่ต่างจากเมื่อครั้งพระนางซูสีไทเฮาพยายามนำการปฏิรูปเอง หลังการโค่นล้มการปฏิรูปของฮ่องเต้กวางซูแล้ว ผลที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึงก็คือ การขาดความเชื่อถือจากประชาชน และจบลงดวยการสิ้นสุดของระบอบการปกครองในจีนในปี 1911

ปฏิรูปที่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนคือจุดเรื่มต้นความล้มเหลว

สุรชาติ กล่าวต่อว่า ตนหยิบประวัติศาสตร์มาเป็นข้อเตือนใจท่านทั้งหลายว่า การปฏิรูปไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งข้อเสนอการปฏิรูปครั้งนี้เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต้องการล้มระบบการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2014 ภายใต้ข้อเสนอ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง การปฏิรูปที่เกิดขึ้นจึงไม่ต่างอะไรกับละครการเมือง และไม่ชัดเจนว่าแท้จริงแล้ว พวกเขาต้องการการปฏิรูปหรือต้องการล้มการเลือกตั้ง แต่คงต้องตระหนักเสมอว่า การปฏิรูปที่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือจุดเรื่มต้นของความล้มเหลว

ข้อเรียกร้องของการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ก็อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว และชัดเจนมากขึ้นว่า กลุ่มที่เรียกร้องเรื่องนี้ เริ่มต้นด้วยความโกรธแค้นและเกลียดชัง จนไม่ชัดเจนว่าพวกเขาอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในองค์กรตำรวจ หรือต้องการทำลายองค์กรตำรวจให้สะใจสาสมกับการที่ตำรวจไม่เข้าร่วมขบวนการล้มรัฐบาลพลเรือนกับพวกเขา ข้อเตือนใจที่สำคัญก็คือ การปฏิรูปที่เริ่มต้นด้วยความเกลียดชังมักจะจบลงด้วยความแตกแยกและล้มเหลวเสมอ

ปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริง ต้องเกิดในสถานการณ์การเมืองปกติ 

สุรชาติ กล่าวถึงข้อน่าคิดประการสำคัญด้วยว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้จริงจะต้องเกิดในสถานการณ์การเมืองปกติ เพราะการเมืองที่ไม่ปกติไม่มีความชอบธรรมพอที่จะหาเสียงสนับสนุนเพื่อขับเคลือนการปฎิรูป เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิรูปตำรวจที่นำโดยทหารอาจจะกลายเป็นเพียงกลไกของการควบคุม มากกว่าจะเป็นกลไกผลักดันความเปลี่ยนแปลงใดๆได้ และอาจเป็นเพียงอีกส่วนหนึ่งของละครการเมืองน้ำเน่าในปัจจุบัน

ตำรวจอาชีพ - ทหารอาชีพ และการควบคุมโดยพลเรือน

สุรชาติ มองว่า ถ้าการปฏิรูปตำรวจจะเกิดขึ้นจริงก็มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะก่อให้เกิด ตำรวจอาชีพ professional police ไม่แตกต่างจากการปฏิรูปกองทัพที่ต้องการให้เกิด ทหารอาชีพ professional soldiers ในขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างให้เกิดประสิทธิภาพ ความรับผิดชอบต่อชุมชน การปฎิบัติที่อยู่ในกรอบของความเป็นนิติรัฐ rule of law และการเคารพสิทธิมนุษยชน อีกทั้งในรายละเอียดแล้วจะต้องสร้างระบบการเลื่อนยศ ปรับย้ายที่เป็นธรรม ต้องขจัดส่วยโยกย้ายให้ได้เพื่อเป็นจุดเริ่มของการจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นในองค์กรตำรวจ ตลอดรวมถึงการสร้างระบบสวัสดิการที่แท้จริงในด้านต่างๆให้กับกำลังพล ไม่ใช่กำลังพลตำรวจต้องซื้ออาวุธปืนพกประจำกายด้วยงบประมาณของตนเอง

แต่ข้อถกเถียงแบบไทยๆในเรื่องนี้กลับพันอยู่เพียงตกลงการแต่งตั้งตำรวจจะอยู่กับนักการเมือง ผู้นำทหาร ผู้บังคับบัญชาตำรวจ (ในฐานะ กตร. ชุดพิเศษ คือชุดที่ถูกยุบโดยคณะรัฐประหาร เรื่องนี้มีประเด็นและข้อสังเกตหลายประการครับ) แต่สิ่งที่จะต้องรำลึกไว้เสมอก็คือ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือตำรวจในระบอบประชาธิปไตยล้วนอยู่ภายใต้หลักกที่สำคัญเดียวกันก็คือ การควบคุมโดยพลเรือน civilian control เราตอบได้ดีในสถานการณ์ปัจจุบันได้ว่า หลักการนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ชนชั้นนำและผู้นำทหารไทย

หรือข้อถกเถียงจะมีเพียง อำนาจการสืบสวนจะอยู่กับใคร หรือจะกระจายอำนาจก็ไม่ชัดเจนว่าจะกระจายอย่างไร หรือเราจะทำตามคนที่สร้างโรงพักให้เรา แต่สร้างไม่เสร็จ หรือเราจะปฎิรูปไปตามข้อเสนอของอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่อกหัก หรือจะเดินไปกับผู้นำทหารที่มีอำนาจ แต่ไม่รู้เรื่องตำรวจ หรือทั้งหมดกำลังบอกเราว่า เราไม่เคยคิดถึงเรื่องการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจังและเป็นไปตามหลักทางวิชาการ เราแทบไม่เคยเห็นข้อเรียกร้องในเชิงหลักการเลยว่า แล้วเราอยากเห็นตำรวจไทยเป็นเช่นไร เราจึงมีเพียงคำด่าทอ คำวิพากษ์กับปัญหาตำรวจบางส่วน แน่นอนว่าเราปฏิเสธพฤติกรรมเชิงลบเช่นนี้ของตำรวจบางนายไม่ได้ แต่โจทย์ชุดนี้ต้องมากกว่าการด่าและความเกลียดชัง และหัวใจของโจทย์ที่สำคัญก็คือ เราจะสร้างตำรวจในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ไม่ใช่ตำรวจในระบอบเผด็จการทหาร

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องรำลึกถึงเป็นหลักการเสมอก็คือ การด่าไม่ช่วยให้สมองเราเปิดกว้าง เท่าๆ กับที่ความเกลียดชังไม่ช่วยให้ใจเราเปิดกว้าง ดังนั้นการปฏิรูปที่เริ่มต้นด้วยความปิดของสมองและความแคบของใจแล้ว คำตอบสุดท้ายก็คือความล้มเหลว หรือถ้าจะตอบจากบทเรียนของการปฏิรูปในมิติทางประวัติศาสตร์ก็คือ จุดจบของพระนางซูสีไทเฮานั่นเอง พระนางคับแคบและไร้วิสัยทัศน์เกินกว่าที่นำประเทศจีนฝ่าข้ามภัยคุกคามของโลกสมัยใหม่ในขณะนั้นไปได้ ประวัติศาสตร์บทนี้เตือนเราเสมอว่า นักปฏิรูปที่คับแคบและไร้วิสัยทัศน์ไม่เคยประสบความสำเร็จ

สุรชาติ กล่าวทั้งท้ายด้วยว่า คงไม่มีอะไรเป็นอื่น นอกจากขอให้ท่านทั้งหลายที่ตัดสินใจเป็นนักปฎิรูป มีแรงที่ฝ่าฟันอุปสรรคของการปฏิรูปไปให้ได้ เพราะการปฏิรูปนั้นมีความยากในตัวเองเสมอ และยิ่งเป็นบริบทของสังคมไทยแล้ว นักปฏิรูปที่แท้จริงจะต้องอดทนและเข้มแข็ง ยืนหยัดอยู่ท่ามกลางแรงกดดันที่เกิดขึ้นรอบด้านให้ได้ แม้จะไม่มีหลักประกันว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นในยุคสมัยของเราหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยวันนี้ เรามีคำตอบที่ชัดเจนว่า สังคมไทยไม่แข็งแรงพอที่จะเดินไปในอนาคตโดยปราศจากการปฏิรูป และแน่นอนว่าเราต้องการการปฏิรูปทุกด้าน หรือในความเป็นจริงแล้ว เราอาจจะต้องคิดถึงการปฏิรูปภาคความมั่นคงทั้งระบบ Security Sectors Reform มากกว่าจะเป็นเพียงเรื่องปฏิรูปตำรวจเท่านั้น โจทย์เช่นนี้ท้าทายต่อวิสัยทัศน์ของสังคมไทยในการเดินทางสู่โลกในวันข้างหน้าอย่างยิ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net