สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 15-21 ต.ค. 2560

ก.แรงงานขอธุรกิจหยุดให้ร่วมพระราชพิธี 26 ต.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอความร่วมมือนายจ้าง สถานประกอบกิจการอนุญาต ให้วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2560 เป็นวันหยุดงาน เพื่อให้ลูกจ้างทั้งไทยและต่างด้าวได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีถวายดอกไม้จันทน์ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปวงชนชาวไทย รวมทั้งเป็นการร่วมใจกันถวายความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ตามสถานที่ที่กำหนดใกล้บ้านพร้อมกันทั่วประเทศ

ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขต 1-10 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ หรือโทรสายด่วน 1546

ที่มา: โลกวันนี้, 16/10/2560

สภาองค์กรนายจ้างหวั่นเทคโนโลยีใหม่ทำคนตกงาน-แบงก์ปิดสาขา

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผย สถานการณ์การจ้างงานว่า ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2560 มีจำนวนการว่างงานประมาณ 476,000 คน คิดเป็น 1.22% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ดี ถือว่าต่ำ ในอาเซียนหลายประเทศมีการว่างงานกว่า 3-4%

อย่างไรก็ตาม ทิศทางแรงงานในอนาคตถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากภาคเอกชนปรับตัวการนำเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติมาปรับใช้ในภาคธุรกิจเร็วกว่าที่คาด ไม่ใช่เฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น ยังรวมถึงภาคบริการด้วย ส่งผลต่อการจ้างแรงงานใหม่ และการเลิกจ้างงาน

โดยภาคธุรกิจที่น่าเป็นห่วง เช่น ภาคธนาคาร เริ่มปิดสาขาอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากสถิติของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าช่วง 7 เดือน ของปีนี้ ปิดสาขาแล้วทั้งสิ้น 126 สาขา ซึ่งปัจจุบัน ผู้บริโภคหันไปใช้ธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ หันมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์, ธุรกิจที่เกี่ยวกับคอลล์เซ็นเตอร์ต่างๆ หันมาใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ

ขณะที่ภาครัฐยังปรับตัวช้า โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ยังปรับหลักสูตรการศึกษารองรับความต้องการแรงงานใหม่ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนี้ ควรหารือร่วมกับแต่ละภาคอุตสาหกรรมว่ามีความต้องการแรงงานอย่างไร จะปรับตัวรองรับนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0

"แรงงานที่น่าเป็นห่วง คือ แรงงานที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยปรับตัวรองรับเทคโนโลยีซึ่งไม่นับรวมการใช้เฟซบุ๊ค ไลน์ ฯลฯ" นายธนิต กล่าว

ที่มา: แนวหน้า, 16/10/2560

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงานยื่นหนังสือถึงนายกฯ เรียกร้องเร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ต่อ สนช.

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน พร้อมด้วย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย(อรท.)ร่วมกับ เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) สภาองค์การลุกจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงาน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดยขอให้เร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเป็นของขวัญกำลังใจให้กับผู้ใช้แรงงาน และให้มีผลบังคับใช้ในปี 2560 ซึ่งมีสาระสำคัญที่ลูกจ้างทั่วประเทศให้ความสนใจอย่างมาก และมองว่าหากร่างดังกล่าวประกาศใช้จะไม่กระทบผู้ประกอบการ SME เพราะ SME ไหนที่มีการจ้างงาน 20 ปีขึ้นไปถือว่ามีเสถียรภาพและเป็น SME ขนาดใหญ่แล้ว

นอกจากนี้ อยากให้มีตัวแทนของแรงงานเข้าไปร่วมในคณะกรรมาธิการ ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ในอนาคตด้วยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความสมดุลในการพิจารณา และได้รับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมากที่สุดซึ่งอัตราที่เหมาะสมคือควรมีภาคส่วนแรงงานในคณะกรรมาธิการ 2-3 คน

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 16/10/2560

เตือนแรงงานไทย 'ไต้หวัน' จำกัดสิทธิแรงงานต่างชาติที่ฝ่าฝืนกฎหมายเข้าประเทศ

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานกล่าวว่า กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของไต้หวันกำหนดจำกัดสิทธิห้ามเข้าไต้หวันต่อแรงงานต่างชาติที่กระทำผิดกฎหมายในกรณีต่างๆ เช่น กรณีหลบหนีนายจ้างหรือลักลอบทำงานผิดกฎหมายจะถูกจำกัดสิทธิห้ามเข้าไต้หวัน 3 ปี แต่หากกลับเข้าทำงานกับนายจ้างเดิมภายใน 1 เดือน และได้รับการยินยอมจากนายจ้างให้ทำงานต่อไป แรงงานต่างชาติมีสิทธิยื่นถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้หลบหนีกับกระทรวงแรงงานและสำนักตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันได้โดยไม่ถูก Blacklist 3 ปี กรณีพำนักในไต้หวันไม่เกิน 1 ปี ห้ามเข้าไต้หวัน 1 ปี พำนักเกิน 1 ปี ห้ามเข้าตามระยะเวลาที่พักเกินสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ส่วนกรณีเป็นบุคคลที่เคยถูกดำเนินคดีต้องโทษ อาทิ ถูกศาลตัดสินจำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปห้ามเข้าไต้หวัน 8 ปี จำคุกน้อยกว่า 1 ปี ห้ามเข้า 5 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุกในสถานกักกันหรือถูกโทษปรับแต่รอลงอาญา ห้ามเข้า 2 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เสพยาเสพติดแล้วมีคำสั่งศาลให้รับการบำบัดจะถูกห้ามเข้า 5 ปี และเมื่ออัยการยืนยันแล้วว่าผู้เสพเป็นผู้ที่ไม่มีแนวโน้มจะเสพติดอีกและได้รับการยกฟ้องจะถูกห้ามเข้า 3 ปี

นายวรานนท์กล่าวว่า แรงงานไทยที่จะไปทำงานในไต้หวันควรศึกษากฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับให้รอบคอบเพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะได้ไม่ถูกจำกัดสิทธิดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศต้องคำนวณรายรับ-รายจ่ายให้ดีว่าหากเดินทางไปทำงานแล้วจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปหรือไม่ และขอให้เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะให้ระมัดระวังนายหน้า

จัดหางานเถื่อน เพราะอาจถูกหลอกลวงต้องเสียเงินฟรีไม่มีงานให้ทำ หรือทำงานไม่ตรงตามที่ตกลงไว้ และขอย้ำว่าการจะไปทำงานต่างประเทศจะต้องผ่านด่านตรวจคนหางาน และยื่นแบบแจ้งการเดินทางต่อเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง หากผู้ใดไม่ผ่านด่านตรวจคนหางานถือว่าถูกหลอกแน่นอน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 16/10/2560

สปส. แนะผู้ประกันตนจาก 3 รพ.ที่ยกเลิกเลือกใหม่ภายใน 31 ต.ค.นี้

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2561 มีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมทั่วประเทศจำนวน 238 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลรัฐบาล 159 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 79 แห่ง ทั้งนี้รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนสมัครเข้าใหม่ในปี 2561 อีก 2 แห่ง ที่สามารถรองรับผู้ประกันตนได้ และมีสถานพยาบาลที่ไม่เข้าร่วมโครงการประกันสังคมจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลยันฮี กรุงเทพฯ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี และโรงพยาบาลศรีระยอง จ.ระยอง

โดยขณะนี้ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เพื่อเลือกสถานพยาบาล ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 นี้ หากไม่เลือกมาภายในกำหนด สำนักงานประกันสังคมจะจัดสถานพยาบาลให้ผู้ประกันตน ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมขอย้ำในกรณีผู้ประกันตนเจ็บป่วยยังสามารถใช้บริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่งดังกล่าวได้จนถึง 31 ธันวาคม 2560

อย่างไรก็ดีสำหรับสถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์ทดแทน ขณะนี้ได้รับแจ้งจากสถานพยาบาล โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ที่อยู่ในพื้นที่การให้บริการใกล้เคียงกันกับโรงพยาบาลยันฮี ยินดีรับผู้ประกันตนเพิ่มได้รวมแล้วไม่เกิน 30,000 คน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยังได้กล่าวอีกว่า การร่วมมือของสถานพยาบาลของรัฐบาล เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมในเขตพื้นที่ใช้สิทธิการรักษาในสถานพยาบาลที่ตัวเองพึงพอใจ ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมยังคงเดินหน้าปฏิรูปบริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ บูรณาการงานด้านการแพทย์ที่เหมาะสมอย่างเท่าเทียมมีคุณภาพ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ

ที่มา: Sanook Money, 17/10/2560

ธุรกิจบริการ ค้าปลีก ก่อสร้าง ยังต้องการแรงงานสูง

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เปิดเผยข้อมูลคาดการณ์ตลาดแรงงานของประเทศไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560 พบว่า มี 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจบริการ 9,529 อัตรา ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 8,915 อัตรา ธุรกิจค้าปลีก 7,293 อัตรา ธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ 6,449 อัตรา และธุรกิจก่อสร้าง 6,248 อัตรา โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับไตรมาสสุดท้ายเป็นช่วงที่ประชาชนเริ่มหันมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามเทศกาลต่างๆ รวมทั้งผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ เช่น โครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น ทำให้ตลาดแรงงานกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว บริการ อาหาร-เครื่องดื่ม และค้าปลีก

ส่วนธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นธุรกิจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีฐานการผลิตที่สำคัญหลายแห่งกระจายอยู่ตามนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จึงมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก รวมถึงเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ที่การขยายตัวของการผลิตรถยนต์ในประเทศสูงแต่ยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญบางประเภทได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย จึงส่งผลดีต่อภาคการส่งออก

เช่นเดียวกับธุรกิจก่อสร้าง ที่มีความต้องการแรงงานสูงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2561 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าทางคู่ 5 เส้นทาง การขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดมิเนียมตามเส้นรถไฟฟ้าสายสีส้ม เหลือง และชมพู ขณะเดียวกันยังมีองค์กรต่างๆ ที่มาลงประกาศรับสมัครงานบนจ๊อบไทยดอทคอม เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1-3 อีกด้วย

สำหรับตัวเลขประมาณการประเภทงานที่มีแนวโน้มเปิดรับสมัครมากที่สุด 5 อันดับแรก ในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดข้างต้น ได้แก่ 1) งานขาย อยู่ที่ประมาณ 17,500-18,000 อัตรา 2) งานช่างเทคนิค 9,400-10,000 อัตรา 3) งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 7,100-7,500 อัตรา 4) งานวิศวกรรม 6,400-7,000 อัตรา และ 5) งานบริการลูกค้า 5,400-6,000 อัตรา

สะท้อนได้ว่างานที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดก็ยังหนีไม่พ้นงานขาย เพราะเป็นหัวใจสำคัญของทุกบริษัท แต่น่าสังเกตว่าเมื่อลองดูข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่างานผลิต/ควบคุมคุณภาพ มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะไต่ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 32 คาดว่าเป็นผลมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ รวมถึงโครงการที่สำคัญต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีผลต่อกำลังแรงงานในอุตสาหกรรม และด้วยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จ๊อบไทยดอทคอม จึงคาดว่าในไตรมาส 4 ตลาดแรงงานน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 ประมาณร้อยละ 1-3

ที่มา: VoiceTV, 18/10/2560

เปิดแล้ว! 3 แห่ง "ศูนย์ตรวจสัญชาติกัมพูชา"

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางการกัมพูชาเปิดศูนย์ตรวจสัญชาติแรงงานกลุ่มที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง (ใบจับคู่) และกลุ่มบัตรสีชมพู โดยเน้นให้บริการกลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่1พฤศจิกายน 2560 ก่อน จำนวน 3 แห่ง

ศูนย์ตรวจสัญชาติกัมพูชา ทั้ง 3 แห่ง มีดังนี้ 1.กรุงเทพมหานคร ที่อิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว ชั้น 4 เลขที่ 2539 ถนนลาดพร้าว แขวงคลองเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง 2.จังหวัดระยอง ที่ มายอง โอทอป เลขที่201หมู่7ต.มะขามคู่ อ.นิคมพัฒนา 3.จังหวัดสงขลา ที่ตลาดฟุกเทียน เลขที่ 99 หมู่ 3 ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ การตรวจสัญชาติแรงงานต่างด้าวเป็นการดำเนินการของประเทศต้นทาง

ขณะเดียวกันทางการไทยก็พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว แต่อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดในการดำเนินการซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา

โดยศูนย์ที่จังหวัดระยองและสงขลาจะมีหน่วยงานฝ่ายไทยเข้าไปดำเนินการในกระบวนการต่อเนื่องจากทางการกัมพูชาในรูปแบบศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) มีขั้นตอนการให้บริการคือ 1.แรงงานรับการตรวจสัญชาติจากเจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชา เมื่อผ่านการตรวจสัญชาติแล้วจะได้รับเอกสารเดินทาง (Travel Document : TD) 2.ขอรับการตรวจลงตรา (Visa) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) และประทับตราให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 31มีนาคม 2561จากสํานักงานตรวจคนเข้าเมือง 3.ขอรับการตรวจสุขภาพและการประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข 4.ขอรับใบแทนใบอนุญาตทํางานจากกรมการจัดหางาน

ส่วนศูนย์ฯกรุงเทพมหานครนั้นมีข้อจำกัดเรื่องสถานที่ ดังนั้นจึงไม่สามารถให้บริการแบบ OSS ได้ โดยแรงงานฯที่เข้ามาที่ศูนย์ฯ กรุงเทพฯ เมื่อได้เอกสาร TD แล้วจะต้องกลับไปตรวจลงตรา (VISA) ตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ และขอใบอนุญาตทำงานในจังหวัดที่แรงงานกัมพูชาทำงานอยู่

นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า สำหรับค่าใช้จ่ายใน3ศูนย์ฯมีจำนวน 4,400 บาท เป็นค่าธรรมเนียมเอกสารTD 2,350บาท ค่าตรวจลงตรา (VISA) 500บาท ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท ค่าประกันสุขภาพ500บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทํางาน 550 บาท โดยขณะนี้มีแรงงานกัมพูชากลุ่มบัตรสีชมพูในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่1พฤศจิกายน 2560 นี้ จำนวนกว่า 13,000 คน และกลุ่มใบจับคู่ จำนวน 200,000 คน

"ผมจึงขอย้ำเตือนให้รีบมาดำเนินการตรวจสัญชาติภายในกำหนดระยะเวลาโดยด่วน โดยเฉพาะกลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ เพราะหากเกินกำหนดจะไม่มีการต่ออายุอีก และหากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องเข้ามาในรูปแบบ MOU สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ โทร.สายด่วน 1694" นายวรานนท์ กล่าวในที่สุด

ที่มา: คมชัดลึก, 18/10/2560

มนุษย์เงินเดือนซีด สปส. ชง กม.รีดเงินประกันสังคม สูงสุด 1,000 บาท อ้างผลสำรวจคนเห็นด้วย

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการเตรียมขยายเพดานเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมว่า ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งร้อยละ 81 เห็นด้วยกับการขยายเพดานการเก็บเงินสมทบ จาก 15,000 เป็น 20,000 บาท โดยเก็บร้อยละ 5 ของค่าจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท เช่น คนที่ได้เงิน 16,000 บาท เก็บ 800 บาท เงินเดือน 17,000 บาท เก็บ 850 บาท คือสูงสุดเก็บไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนผู้ที่มีฐานเงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไป จะเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน 1,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการ สปส. ได้ทำเป็นร่างกฎกระทรวง เสนอกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาเสนอเข้าครม. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป คาดว่าน่าใช้ได้จริงภายใน 3 เดือนนี้

ส่วนที่มีหลายฝ่ายเห็นว่าไม่เป็นธรรมเนื่องจากขยายการเก็บเงินสมทบเพิ่มแต่เรื่องเงินชราภาพกลับมีเงื่อนไขมาก ที่สำคัญ เมื่อผู้ประกันตนที่เสียชีวิตไปแล้วเงินนั้นไม่ตกแก่ทายาท นพ.สุรเดช กล่าวว่า ยืนยันว่าสปส.ไม่ได้เอาเปรียบผู้ประกันตน เรื่องการจ่ายบำนาญชราภาพให้ทายาทผู้ประกันตนนั้น คณะกรรมการได้หารือกันว่าอาจจะปรับเปลี่ยนการจ่ายให้กับทายาทได้ เช่น กรณีที่เดือดร้อน มีความจำเป็น ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นในเรื่องเหล่านี้

เลขาธิการ สปส.ส่วนที่เรียกร้องให้จ่ายให้โดยไม่มีเงื่อนไขสุดท้ายหากสังคมต้องการอย่างนั้นก็จ่ายให้ได้ แต่สิ่งอยากจะบอกคือถ้าเราคิดแต่เรื่องกำไรส่วนตัว การดูแลสังคมร่วมกันก็จะไม่เกิดขึ้น เรื่องความคิดต่อส่วนรวมตั้งช่วยกันสร้าง

ที่มา: ข่าวสด, 20/10/2560

สหภาพแรงงาน ขสมก. ชี้แจงขอเสียสละค่าล่วงเวลาพนักงานสมัครใจเอง

หลังจากมีรายงานว่า ขสมก. หารือกับสหภาพแรงงานฯ ขสมก. ขอความร่วมมือพนักงานทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 26 ต.ค. 2560 ไม่รับค่าโอทีและเบี้ยงเลี้ยง ซึ่งทาง ขสมก. จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าเช่ารถเพื่อบริการประชาชนฟรีทุกเส้นทาง ทางสหภาพแรงงานฯ ขสมก. ได้ออกหนังสือชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวว่า หลังจากได้สอบถามข้อมูลจากพนักงานทราบข้อเท็จจริงว่า มีพนักงานจำนวนหนึ่งเขียนคำร้องไม่ขอรับค่าจ้างในวันหยุดและค่าล่วงเวลา เพื่ออุทิศตนถวายเป็นพระราชกุศล ในวันที่ 26 ต.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ และอีกประการหนึ่งสหภาพแรงงานฯเองไม่มีอำนาจที่จะสั่งให้พนักงานที่มาปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงพนักงาน เป็นการทำผิดต่อกฎหมายแรงงาน ซึ่งเบี้ยเลี้ยงถือเป็นสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543

ที่มา: VioceTV, 20/10/2560

กระทรวงแรงงาน อนุญาตให้แรงงานเพื่อนบ้านเป็นล่ามได้

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวเปิดให้แรงงานกัมพูชา ลาว และเมียนมา กลุ่มบัตรสีชมพู ทำงานตำแหน่งผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาว หรือเมียนมาได้ เพิ่มจากงานที่อนุญาต คือ งานกรรมกร งานรับใช้ในบ้าน และช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล แต่ผู้ว่าจ้างต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ ประกาศรับสมัครและว่าจ้างคนไทยเข้าทำงานก่อน อย่างน้อย 15 วัน หากพ้นเวลาดังกล่าวไม่มีคนไทยสมัครงาน นายจ้างจึงสามารถจ้างคนต่างด้าวเป็นผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาว หรือเมียนมา ได้ 1 คน ต่อการจ้างคนต่างด้าว 100 คน ส่วนกรณีนายจ้างเป็นหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ หรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหากําไรในทางเศรษฐกิจ หรือเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ให้จ้างได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

ที่มา: ch7.com, 20/10/2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท