Skip to main content
sharethis

เปิดอาชีพแนะนำของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อน้ำท่วมแนะให้ทำประมง เมื่อราคาข้าวตกแนะให้ปลูกหมามุ่ย เมื่อราคายางตกแนะปลูกมังคุด และเมื่อยามน้ำแล้งแนะให้เลี้ยงจิ้งหรีด-ปลูกถั่ว

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจชาวบ้านที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยนอกจากการกล่าวถึงแผนการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดไปหาอาชีพเสริมในช่วงฤดูกาลน้ำท่วมให้กับประชาชนเพื่อมีรายได้ด้วย เช่น อาชีพของการประมง ด้วย จนต่อมาเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมกับข้อเสนอดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตามตลอดเวลากว่า 3 ปี ของการบริหารรัฐบาลทหารนี้ มีความพยายามจัดการพื้นที่เกษตรหลายประการ เช่น การโซนนิ่งใช้น้ำ การพยายามผลักดันการค่าใช้น้ำด้านเกษตร เลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุดหนุนธุรกิจปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้เมื่อเผชิญปัญหานอกจากน้ำท่วมแล้ว ยังเผชิญกับภาวะภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ พล.อ.ประยุทธ์ มีข้อเสนอประกอบอาชีพหรือปลูกพืชอื่นอีก 

ทุเรียน-มังคุด

เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา จากกรณีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากล่าวว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องยอมรับว่า ปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งของไทยคือ ยังคงมีพื้นที่ปลูกยางมากเกินไป และยังพบว่ามีการปลูกในพื้นที่บุกรุกถึง 3 ล้านไร่ แต่รัฐบาลคงไม่สามารถสั่งให้หยุดปลูกได้ทั้งหมด เพราะจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเดือดร้อน อยากให้เกษตรกรลดพื้นที่การปลูกยางลงและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ทุเรียน และมังคุดที่มีราคาสูง เพราะหากไม่เปลี่ยนแปลง ราคายางก็คงไม่สามารถขยับสูงไปมากกว่านี้ได้ 
 
ทั้งนี้ การปลูกพืชทดแทนนั้น ข้อวิจารณ์คือนอกจากต้องใช้เวลาในการปลูกเพื่อรอรับผลผลิตแล้ว ชื่อหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ แนะนำให้ปลูกทำแทนคือ 'มังคุด' โดยในวันเดียวกัน ช่อง 8 และมติชนออนไลน์ รายงานว่า 11 ก.ค.60 ธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาฯ ได้เข้าพบ วิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อยื่นหนังสือขอให้แก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ เป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ หลังราคามังคุดลงต่ำลงอย่างมาก ซึ่งเป็นราคาไม่คุ้มต้นทุนการผลิต เช่นเดียวกับที่ จ.ตราด ที่ศาลา 100 ปี ตราดรำลึก หน้าศาลากลางจังหวัดตราด เกษตรกรชาวสวนมังคุด ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยแก้ดังกล่าวเช่นกัน

หมามุ่ย

และ หากย้อนกลับไป พล.อ.ปะยุทธ์ เคยแนะนำการปลูกพืชทดแทนเช่นกัน เมื่อครั้งที่มีปัญหาราคาข้าว 8 ก.ค.58 ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้แนะนำชาวนา ว่า "ขณะเดียวกันวันนี้เราขายหมามุ่ยได้ก.ก.ละกว่า 800 บาท และเมื่อส่งไปประเทศอินเดียแล้วมีการแปรรูปกลับมาเป็นยา เป็นอะไรต่างๆ ราคาได้กลายเป็นก.ก.ละ 8 หมื่นบาท แล้วเหตุใดเรายังโง่ปลูกอย่างอื่นที่มีกำไรเพียงพันบาทหรือไม่กี่บาท แต่เราก็ต้องควบคุม อย่างไรก็ตามขณะนี้ข้าวของเรายังดีอยู่ ในส่วนที่เสียก็เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นความคิดที่ไม่ถูกวิธีเพราะเราต้องทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่าถ้าจะทำให้คนเข้มแข็งต้องสอนวิธีการตกปลาให้เขา แต่ไม่ใช่ให้ปลาเขาไปกิน เรากำลังสอนให้เกษตรกรมีการเรียนรู้ เข้าถึงเครื่องจักรทางการเกษตร และที่ผ่านมารายได้มันต่ำจึงต้องกู้เงิน แล้วไร่นาก็ถูกยึด"

ต่อมา 14 ม.ค.59  ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ที่ จ.อำนาจเจริญ ได้มี สุนทร ลำงาม อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 47 ม. 9 ต.คำโพน อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ และเพื่อนเกษตรกรอีก 3 คน ได้เข้าพบผู้สื่อข่าวไทยรัฐเพื่อร้องทุกข์ผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ช่วยแก้ปัญหาหมามุ่ยที่พวกตนได้ปลูกทดแทนยางพาราที่ราคาตกต่ำตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้หมามุ่ยที่ปลูกสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว แต่ไม่มีตลาดรองรับ กล่าวคือปลูกได้ผลผลิตแล้วแต่ขายไม่ได้ จึงวอนให้นายกฯ หรือรัฐบาลหาตลาดให้ ตามที่เคยแนะนำเกษตรกรไว้

เลี้ยงจิ้งหรีด-ปลูกถั่ว

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.58พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ถึงการ แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ช่วงนั้น โดยแนะชาวนาให้เลิกปลูกข้าว และให้ปรับปลูกพืชที่เหมาะกับน้ำน้อยทดแทน 

"ผมก็บอกว่าให้มีการปรับการปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพอากาศ แล้วก็พื้นที่ด้วยนะ วันนี้ฝนตกฝนน้อยไม่เท่ากัน ระบบการส่งน้ำของชลประทานส่งได้ไม่เพียงพอ น้ำต้นทุนไม่มีนะ ท่านก็ต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชน้ำน้อย มีหลายพื้นที่นะครับ ผมเห็นเลี้ยงจิ้งหรีดก็มีปลูกอะไรล่ะ ปลูกถั่ว ปลูกผัก ปลูกอะไรเยอะแยะไปหมด แล้วก็มีรายได้ดีกว่าปลูกข้าวด้วยซ้ำไป เพราะบางทีมันปลูกข้าวแล้วมันก็ตาย ใช่ไหม พอน้ำมันขาด ตอนจะออกรวงก็ไม่ออก ไม่มีน้ำ มันก็ไม่ออก ก็แห้งตาย มันก็เป็นอย่างนี้ทุกปี แล้วเสร็จแล้วก็ต้องเยียวยา ช่วยเหลือ ท่านต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยนะครับ ถ้าท่านรู้ว่าท่านทำต่อไปแล้วเป็นหนี้เป็นสินเยอะๆ ท่านก็ต้องมาหาความรู้ เราไม่สามารถจะไปเดินบอกทุกบ้านได้ ทุกครอบครัวได้ ท่านต้องฟังนะครับ เพราะงั้นผมถึงบอกไง นี่คือสิ่งที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จะต้องเข้าในนโยบายของรัฐบาล แล้วก็นำไปบอกเล่ากัน ในการประชุมประจำเดือนของแต่ละตำบลแต่ละหมู่บ้าน หน้าที่ของกำนันผู้ใหญ่บ้าน หน้าที่ของสมาชิกต่างๆ นะครับ อบท. นี่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ถ้าท่านไม่มีความรู้ ถ้าท่านไม่เอาสิ่งที่เป็นนโยบาย กำลังถ่ายทอดอยู่นี้ กำลังทำอยู่นี่ ไปสู่การปฏิบัติให้ได้ สร้างความเข้าใจประชาชนไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาอยู่แบบนี้  วันหน้าความเดือดร้อนก็กลับมาใหม่อีก แล้วเกิดปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมมาตลอดนะ งั้นขอความกรุณาเถิดครับ ผมขอตรงนี้ ก็คงจะต้องร่วมมือกันต่อไปนะครับ อย่าไปขัดแย้งกันอีกเลยนะ เรื่องน้ำ เรื่องท่า การปล่อยน้ำ นี่ไม่ใช่ต้องให้ทหารไปดูทุกเรื่องนะ มันดูเหมือนต้องใช้อำนาจตลอดเลยในการทำงานไม่ได้นะครับ ก็ต้องช่วยกันนะ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวขณะนั้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net