Skip to main content
sharethis

ระหว่างนี้ศาลสอบสวนคดีกบฏ ยุยงปลุกปั่น ใช้งบหลวงในทางมิชอบ ปุกเดมอนต์และพวกรวม 5 คน ที่เบลเยียมรับรู้แล้วว่ามีหมายแต่ยังไม่กลับ ผู้เชี่ยวชาญชวนดูรูโหว่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของอียู ชี้ ถ้าทีมกฎหมายเก่งสามารถยืดเยื้อ เตะถ่วงกระบวนการออกไปท่ามกลางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะตึงเครียดขึ้น

Audiencia-Nacional-141115.jpg

อาคารศาลสูงสเปน (ที่มา:วิกิพีเดีย)

เมื่อวานนี้ (2 พ.ย. 60) สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ของสหราชอาณาจักร รายงานว่า ผู้พิพากษาศาลสูงสเปนมีคำสั่งให้สมาชิกรัฐบาลท้องถิ่นประจำแคว้นกาตาลุญญาที่ถูกปลดออกไปหลังรัฐบาลกลางรวบอำนาจปกครองแคว้นมาอยู่ในมือด้วยมาตรา 155 ให้มารับการคุมขังเพื่อรอพิจารณาคดีหลังจากเป็นส่วนหนึ่งในการประกาศเอกราชของแคว้นกาตาลุญญาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

 

อาคารของรัฐบาลแคว้นกาตาลุญญา ที่เมืองกีโรนา ธงชาติสเปนถูกปลด และแทนที่ด้วยธงลา เอสเตลาดาของกาตาลุญญา

การ์เมน ลาเมลา ผู้พิพากษาศาลสูงสเปนสั่งฝากขังอดีตรัฐมนตรีของรัฐบาลแคว้นเก่าทั้ง 8 จาก 9 คน ในจำนวนนี้รวมถึงโอริโอล ฆุนเกราส รักษาการแทนประธานาธิบดีแคว้น การ์เลส ปุกเดมอนด์ ที่เดินทางไปอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาพร้อมรัฐมนตรีอีกสี่คน โดยระหว่างนี้จะทำการสอบสวนความผิดที่เป็นไปได้ตามข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก ข้อหากบฏ และการใช้งบหลวงไปในทางมิชอบ

ลาเมลาระบุว่ารัฐมนตรีคนที่เก้าที่ได้ลาออกไปก่อนที่รัฐสภากาตาลุญญาจะลงมติประกาศเอกราชเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาสามารถได้รับการประกันตัวได้ด้วยหลักประกันจำนวน 5 หมื่นยูโรหรือประมาณหนึ่งล้านเก้าแสนสามหมื่นบาท ทั้งนี้ ทนายความของผู้ต้องสงสัยระบุว่า ผู้ต้องสงสัยจะอุทธรณ์คำตัดสินของศาลเพราะเห็นว่าเป็นการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม เกินเหตุและเป็นคำตัดสินที่ตัดสินเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

ส่วนปุกเดมอนต์ที่ตอนนี้พำนักอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ก็ถูกศาลเรียกตัวมาเพื่อส่งมอบหลักฐานในช่วงวันพฤหัสบดีและศุกร์นี้ ในเอกสารคำร้องของโจทก์ที่ส่งให้กับลาเมลานั้นระบุว่าปุกเดมอนต์และสมาชิกรัฐบาลอีกสี่คนทราบแล้วว่ามีคำสั่งให้มาให้การแต่กลับเลือกไม่ที่จะไม่มา

ผู้นำกาตาลุญญาหลบหนีไปเบลเยียมแล้วหลังอัยการสูงสุดขอศาลฟ้องสามข้อหา

เอล กลาซิโกการเมืองระอุ รัฐบาลมาดริดปลดรัฐบาลและ ผบ.ตร.กาตาลุญญาแล้ว

5 เรื่องน่ารู้ เงื่อนไข ทางตันและทางออกก่อนกาตาลุญญาประกาศเอกราช

“มีความพยายามทั้งการส่งหมายเรียกตัวไปที่บ้านและโทรศัพท์หาอีกหลายครั้งแต่ทั้งหมดกลับไม่ได้รับการตอบรับ” “ในส่วนของปุกเดมอนต์นั้นได้แสดงเจตจำนงของตัวเองต่อสาธารณะแล้วว่าได้ตัดสินใจไม่ปรากฏตัวตามหมายศาลและได้เรียกร้อง...ให้ออกแถลงการณ์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์โดยไม่ให้ข้อมูลว่าตัวเองอยู่ที่ไหน” คณะอัยการที่ทำหน้าที่โจทก์กล่าว

ในวันอังคารที่ผ่านมา พอล เบเคิร์ด ทนายความชาวเบลเยียมของปุกเดมอนต์ได้กล่าวกับ VRT ที่เป็นสื่อของเบลเยียมว่าปุกเดมอนต์และสมาชิกรัฐบาลอีก 4 คนทราบแล้วว่ามีหมายเรียก ทั้งยังระบุว่าอดีตผู้นำแคว้นกาตาลุญญาจะยังคงอยู่ในเบลเยียมต่อไป

“ปุกเดมอนต์จะอยู่ที่นี่ต่อ เขาบอกว่าเขาจะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเบลเยียมอย่างเต็มที่ในระหว่างกระบวนการ” เบเคิร์ดกล่าว อย่างไรเสีย แหล่งข่าวจากศาลสเปนได้ออกมาระบุกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง

คำตัดสินฝากขังของลาเมลาที่มีขึ้นเพราะกลัวผู้ต้องสงสัยจะหลบหนีได้รับเสียงประณามจากนักการเมืองและกลุ่มภาคประชาสังคมในแคว้นกาตาลุญญาและที่อื่นๆ อากุสตี อัลโกเบโร รองประธานกลุ่มสมัชชาแห่งชาติกาตาลัน (เอเอ็นซี) กลุ่มที่ผู้นำของพวกเขา ฆอร์ดี ซานเชซ ถูกศาลสเปนสั่งจำคุกพร้อมกับฆอร์ดี กุยซาร์ต ประธานกลุ่มโอมเนียม คัลเจอรัลเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ออกมาระบุว่าเหล่าผู้นำที่ถูกจับตัวไปมีสถานะเป็นนักโทษการเมือง ทั้งยังทวีตผ่านทวิตเตอร์ว่า “(ถึง)รองประธานาธิบดีและเหล่ารัฐมนตรี พวกเราจะไม่หยุดจนกว่าพวกคุณจะได้รับเสรีภาพ”

อาดา โกเลา นายกเทศมนตรีบาร์เซโลนา เมืองหลวงของแคว้นกาตาลุญญากล่าวถึงการจับกุมดังกล่าวว่าเป็นวันที่มืดมนของกาตาลุญญา “รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาอย่างเป็นประชาธิปไตยตอนนี้อยู่ในคุก” เธอกล่าว “แนวรบที่(เรา)มีร่วมกันคือการทำให้นักโทษการเมืองเหล่านั้นได้รับเสรีภาพ”

ปุกเดมอนต์และพวก ผู้ร้ายข้ามแดน กับบททดสอบความเชื่อมั่นระหว่างสองชาติอียู

โอเวน โบว์คอตต์ นักข่าวด้านกฎหมายของเดอะ การ์เดียน รายงานว่า การปฏิเสธหมายเรียกของปุกเดมอนต์และการตัดสินใจที่จะอยู่เบลเยียมต่อไปอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างเบลเยียมและสเปนซึ่งอาจกินเวลายาวนานหลายเดือนไปจนถึงหลายปี

การ์เลส ปุกเดมอนต์ ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาที่เพิ่งถูกรัฐบาลสเปนปลดไป (ที่มาภาพ:วิกิพีเดีย)

คำขอของคณะอัยการที่ทำหน้าที่โจทก์ในการฟ้องร้องที่จะให้ปุกเดมอนต์ถูกควบคุมตัวภายใต้หมายจับของยุโรป (European arrest warrant-EAW) จะเป็นการเริ่มต้นกระบวนการเร่งรัดการส่งตัวผู้ต้องสงสัยระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างไรเสีย คำตัดสินใดๆ ก็ตามทีมาจากศาลระดับล่างของเบลเยียมสามารถถูกจำเลยอุทธรณ์อันจะนำไปสู่การเกิดกระบวนการทางกฎหมายที่ยืดเยื้อที่จะดำเนินไปบนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ตึงเครียด

เป้าหมายของระบบ EAW คือการขจัดการแทรกแซงทางการเมืองในกรณีผู้ร้ายที่จะถูกส่งตัวข้ามแดนเป็นผู้ร้ายในคดีที่เป็นที่ถกเถียง โดยเงื่อนไขการใช้กระบวนการดังกล่าวมีแค่โทษจำคุกสุทธิอย่างน้อยหนึ่งปีตามข้อหาของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กว้างมาก ทั้งกระบวนการดังกล่าวยังไม่มีเงื่อนไขทางกฎหมายล่วงหน้าว่าประเทศคู่กรณีจะต้องมีข้อหาในลักษณะที่คล้ายคลึงกันบัญญัติไว้ และไม่ได้ให้สิทธิผู้ต้องสงสัยที่จะปฏิเสธการส่งตัวในกรณีที่เจ้าตัวมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ระบบ EAW อนุญาตให้ประเทศปฏิเสธการส่งตัวผู้ต้องสงสัยหากการตามหาตัวเกิดจากเหตุผลด้าน “เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ชาติพันธุ์ สัญชาติ ภาษา ความเห็นทางการเมืองและรสนิยมทางเพศ”

กระบวนการ EAW จะต้องผ่านการรับรองจากผู้พิพากษาของเบลเยียมเสียก่อนว่าการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้นมีความได้สัดส่วนกับข้อหาและต้นทุนของการนำตัวปุกเดมอนต์และพวกกลับไป

แอนดรูว สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากสำนักกฎหมายคอร์เกอร์ บินนิง ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นว่า สองโจทย์ที่สำคัญของศาลเบลเยียมคือหนึ่ง การพิจารณาว่าการขอตัวปุกเดมอนต์และรัฐมนตรีอีกสี่คนกลับนั้นมีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ สอง ทางการสเปนมีการกระทำที่ดูเป็นอันตรายหรือไม่

“ความไว้วางใจต่อกันเป็นแกนกลางการทำงานของระบบ EAW ระหว่างชาติสมาชิกอียู แต่ว่ากรณีอันโดดเด่นนี้เหมือนจะเป็นเครื่องทดสอบขีดจำกัดของความเชื่อใจ” แอนดรูว กล่าว

ในทางเทคนิค หากปุกเดมอนต์และพวกมีทีมกฎหมายที่มีความคิดสร้างสรรค์ดี กระบวนการทางกฎหมายสามารถถูกเตะถ่วงได้จากการยื่นอุทธรณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก จูเลียน อาซซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีคส์ก็สามารถปกป้องตัวเองจากหมายจับยุโรปเป็นเวลาเกือบสองปีขณะที่อยู่ในสหราชอาณาจักรก่อนที่เขาจะหลบหนีไปอยู่ที่สถานทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงลอนดอนจนถึงทุกวันนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ภายใต้บริบทของสหราชอาณาจักรที่ตอนนี้ยังไม่ได้ตกผลึกจุดยืนของตัวเองต่อระบบ EAW ภายหลัง ‘เบร็กซิท’ จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่าผู้ลี้ภัยชาวกาตาลันในอนาคต

เหตุการณ์ในปัจจุบันมีชนวนจากการที่รัฐสภากาตาลุญญาประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปนฝ่ายเดียว โดยอ้างผลประชามติเรื่องการแยกตัวเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมาที่มีผู้ออกมาออกเสียงร้อยละ 43 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด ท่ามกลางการปิดกั้นการออกมาลงคะแนนเสียงด้วยไม้กระบองและกระสุนยางของตำรวจจากส่วนกลางที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บราว 750 คน รวมถึงการประกาศจากรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดว่าการประชามติไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ผลปรากฎว่าร้อยละ 90 ของผู้มาออกเสียงเห็นสมควรว่าต้องแยกตัวจากสเปน

เมื่อ 10 ต.ค. เหล่าผู้นำท้องถิ่นในแคว้นลงนามในคำประกาศเอกราช การ์เลส ปุกเดมอนต์ ประธานาธิบดีแคว้นกาตาลุญญา ณ ขณะนั้น ประกาศเอกราชในวันเดียวกัน แต่ยังไม่บังคับใช้เนื่องจากต้องการให้มีการเจรจากับรัฐบาลสเปนในเรื่องการแยกตัว รัฐบาลสเปนตอบโต้ท่าทีดังกล่าวด้วยการใช้อำนาจตามมาตรา 155 เข้าปกครองแคว้นกาตาลุญญาโดยตรงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ล่าสุด มีคำสั่งจากรัฐบาลกรุงมาดริด ปลดรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลันทั้งชุด รวมถึงผู้บัญชาการกองตำรวจท้องถิ่นหรือตำรวจโมสโซสด้วย ทั้งยังประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 21 ธ.ค. นี้

ปัจจุบัน กาตาลุญญาถูกสเปนปกครองโดยตรงตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้วหลังวุฒิสภาสเปนอนุมัติให้รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฮอย ใช้อำนาจตามมาตรา 155 แห่งรัฐธรรมนูญสเปนได้ โดยมาตรา 155 ให้อำนาจรัฐบาลกลางบริหารระบบราชการพลเรือน กองกำลังตำรวจ การเงินและสื่อสาธารณะของกาตาลุญญาได้

หลายพรรครัฐสภายุโรปกังวลกาตาลุญญาแยกตัว ชี้ถ้าออกจากสเปนคือออกจากอียูด้วย

กาตาลุญญาถึงไทย: เข้าใจการเมืองเรื่องแคว้น บทเรียนของไทยจากสังคมที่โตแล้ว

คนหนุนกาตาลุญญาอยู่กับสเปนต่อ 3 แสนคนชุมนุมในบาร์เซโลนา

เปิดโผ 11 แข้งตัวจริง 'กระทิงดุ-กาตาลุญญา' หากแยกประเทศสำเร็จ

แปลและเรียบเรียงจาก

Spanish judge jails eight members of deposed Catalan government, The Guardian, October 2, 2017

Will Belgium hand Carles Puigdemont over to Spain?, The Guardian, October 2, 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net