Skip to main content
sharethis

จากกรณี ฮาร์วี่ย์ ไวน์สไตน์ ผู้อำนวยการสร้างชื่อดังของวงการฮอลลีวูดเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ส่งผลสะเทือนไปถึงคริสตจักรแห่งอังกฤษซึ่งสมาชิกระดับสูงคนหนึ่งของศาสนจักรเปิดโปงว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมากในทุกระดับชั้นแม้แต่ในสถาบันที่ดูมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำมาตรฐานทางศีลธรรมในสังคมอย่างศาสนจักรก็ตาม

The Church of England logo Version 2 (full colour)

โลโกของคริสตจักรแห่งอังกฤษ (ที่มา:Church of England)

3 พ.ย. 2560 มีนักบวชหญิงและบุคคลทั่วไปที่ทำงานในคริสตจักรแห่งอังกฤษ (Church of England หรือ C of E) พากันเปิดเผยเรื่องราวการถูกล่วงละเมิดทางเพศพร้อมติดแฮชแท็ก #MeToo ผ่านทางทวิตเตอร์ รวมถึง โจ ไบลีย์ เวลส์ บิชอปแห่งดอร์คิง พวกเธอยังเรียกร้องให้มีปฏิบัติการในเรื่องนี้อย่างเป็นอิสระเพื่อตอบสนองต่อกรณีการกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดและทารุณกรรมทางเพศ พวกเธอบอกอีกว่าการเปลี่ยนวัฒนธรรมและการปรับปรุงตัวเองของศาสนจักรมีความสำคัญกว่าการพยายามปกป้องชื่อเสียงของศาสนจักรเอง

เรเชล ทริวีค บิชอปแห่งกลูเชสเตอร์ บิชอปหญิงคนแรกที่ได้นั่งในสภาขุนนางของอังกฤษระบุว่าในขณะที่มีการพูดถึงกรณีการล่วงละเมิดทางเพศกันอย่างกว้างขวางพวกเขาเองก็ควรจะต้องพูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในหมู่ศาสนจักรเองด้วย การคิดว่าเรื่องพวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นใน C of E เลยถือเป็นเรื่องอันตราย ทริวีคจึงสนับสนุนให้มีคนเปิดเผยเรื่องนี้และควรมีการรับฟังอย่างจริงจัง

เจย์น โอซานน์ สมาชิกระดับสูงของสภาสงฆ์คริสตจักรแห่งอังกฤษเขียนจดหมายถึงสื่อเดอะการ์เดียนระบุว่าถ้าหากโครงสร้างอำนาจในศาสนจักรยังเป็นแบบเดิมรวมถึงถ้ายังห่วงแต่การปกป้องชื่อเสียงตัวเองก็จะไม่มีการแก้ไขปัญหาการใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศได้ และการก่อเหตุแบบนี้เกิดขึ้นในทุกลำดับขั้น มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงในศาสนจักรมากขึ้นแต่พวกเธอก็ไม่ได้รายงานเรื่องนี้

โอซานน์ยังเปิดเผยเรื่องราวของเธอเองว่าเธอก็เคยถูกนักบวชล่วงละเมิดทางเพศในช่วงราว 20-30 ปีก่อนหน้านี้แต่บิชอปก็แนะนำเธอว่าอย่ารายงานเรื่องนี้ เธอก็เชื่อตามและด้วยความรู้สึกอับอายกับความรู้สึกผิดก็ทำให้เธอปิดเงียบเรื่องนี้มาหลายปี

บาทหลวงชาร์ลอตต์ แบนนิสเตอร์-ปาร์กเกอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเชิร์ชออฟเซนต์มารีเดอะเวอร์จินในอ็อกฟอร์ดกล่าวว่ามีผู้หญิงที่เล่าเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศให้เธอฟังด้วยน้ำตา ในฐานะที่ศาสนจักรเป็นผู้นำมาตรฐานศีลธรรมในสังคมควรจะเป็นผู้นำในการยอมรับและแก้ปัญหานี้

มีหญิงที่ใช้นามสมมุติว่า "เฮเลน" เปิดเผยว่าเธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนักบวช 2 คน และรู้จักนักบวชอีกคนหนึ่งที่ล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงจำนวนหนึ่งมาเป็นเวลาหลายปี อาจจะมีอีกจำนวนมากนอกจากนี้ เธอะบุว่าจากประสบการณ์และการสังเกตในศาสนจักรเองก็มีคนแบบไวน์สไตน์อยู่ มีตั้งแต่นักบวชที่พูดจาแทะโลมผู้หญิงอย่างไม่เหมาะสมในแบบที่ทำให้พวกเธอรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะเข้าร่วมพิธีกรรม บางครั้งก็มีการแตะเนื้อต้องตัวโดยไม่ได้รับการยินยอม ไปจนถึงกรณีการล่วงละเมิดหรือข่มขืน มีการฉวยโอกาสล่อลวงคนที่ชีวิตกำลังอยู่ในช่วงย่ำแย่และล่วงละเมิดทางเพศคนเหล่านั้น

นอกจากผู้หญิงแล้วเฮเลนยังบอกอีกว่าแม้แต่ผู้ชายจำนวนมากก็ต้องเผขิญปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน และเธอก็ได้เข้าใจว่าเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดถูกปฏิบัติแย่ๆ โดยผู้คนพยายามทำให้พวกเธอ "ก้าวข้ามมันให้ได้" แต่พวกเธอไม่เคยรู้สึกแบบนั้นเลย

โฆษกทีมคุ้มกันระดับชาติของ C of E กล่าวว่าพวกเขาจะดำเนินการในเรื่องที่มีการกล่าวหานี้อย่างจริงจังและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มตวามสามารถ แม้ว่าจะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นถึงเป็นรายกรณีได้แต่พวกเขาก็มีพันธะในการทำให้ศาสนจักรเป็นพื้นที่ปลอดภัยและจะรับฟังข้อเสนอที่จะช่วยพัฒนาพวกเขาได้ พวกเขายังแนะนำว่าถ้าหากมีกรณีการล่วงละเมิดทางเพศอย่างร้ายแรงควรมีการติดต่อขอความช่วยเหลือทางทางแพทย์และมีการแจ้งความกับตำรวจด้วย

เรียบเรียงจาก

Church of England urged to tackle sexual abuse within its ranks, The Guardian, 01-11-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net