Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ผมเคยมีเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนักต้มตุ๋นทางตรรกะ วันหนึ่งเขาบอกผมขณะนั่งอ่านหนังสือว่า ไม่ว่าเอ็งจะอ่านไปสักกี่เล่ม ก็ไม่ถึงจุดศูนย์ ศูนย์ ศูนย์ ศูนย์ ฯ ฯ ฯ ฯ ฯ …หนึ่งของหนังสือที่มีในโลก พูดเสร็จเขาก็นั่งอมยิ้มอยู่อีกฝั่งหนึ่งของหลุมพรางที่ขุดล่อเอาไว้ เพราะรู้อยู่แล้วว่าผมจะกระโดดลงไป

ข้าไม่ได้คิดจะอ่านหนังสือทั้งโลกนี่หว่า ข้าอ่านเฉพาะที่ข้าอยากรู้

ถ้าอย่างนั้น สมมติให้เอ็งอ่านตั้งแต่บัดนี้จนวันตาย ความรู้ที่เอ็งได้มาก็เป็นเพียงกระผีกริ้นของความรู้ของโลก ที่ไม่มีใครสังเกตเห็นเลย ตรงกันข้าม หากเอ็งเริ่มตีปิงปองตั้งแต่วันนี้จนถึงวันตาย เอ็งจะเป็นนักปิงปองที่ทั่วทั้งโลกรู้จักและยอมรับ

แล้วเราก็กอดคอกันไปตีปิงปอง

อันที่จริง นอกจากผมแล้ว ผมเข้าใจว่าไม่มีใครสักคนทั้งโลกคิดจะอ่านหนังสือให้หมดโลก อย่าว่าแต่หมดโลกเลย หมดทุกเล่มในภาษาใดภาษาหนึ่งก็ไม่มี ถึงมีก็อ่านไม่ทันหนังสือใหม่

ผิดจากคำตอบของเด็กหนุ่มเพิ่งแตกพานอย่างที่ผมและเพื่อนคุยกัน เราไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อให้โลกสังเกตเห็นเรา แต่เราอ่านเพราะมันสนุก ได้รู้อะไรที่ไม่เคยรู้ หรือที่สำคัญกว่านั้นคือรู้ว่าที่เรารู้นั้นมีปัญหา เพราะมองจากมุมอื่นก็ได้ หรือมองให้ไกลไปกว่านั้นก็ได้ หนังสือไม่ได้ให้แต่ความรู้เท่านั้น ยังให้ความไม่รู้ด้วย ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่า หรืออาจจะมากกว่าความรู้

เหนือกว่าความรู้หรือความไม่รู้คือความสนุก หนังสือเป็นการสื่อความที่แสดงระเบียบวิธีคิดที่รัดกุมที่สุด กว่าสื่อทุกชนิดที่มีในโลก ทั้งยังต้องแสดงกระบวนการของระเบียบวิธีคิดไว้อย่างสลับซับซ้อน อย่างชัดเจนก็ได้ อย่างคลุมเครือเพื่อให้คิดเองก็ได้ อย่างสะเทือนอารมณ์จนทำให้คิดและรู้สึกอะไรอื่นได้อีก ยังไม่พูดถึงคำ, รูปประโยค และการลำดับความ ที่ทำให้การแสดงระเบียบวิธีคิดเป็นไปตามความตั้งใจของผู้เขียน อย่างมีศิลปะ, ประสิทธิภาพ หรืออย่างสะกดผู้อ่านเหมือนต้องมนต์

เคยใช่ไหมครับที่อ่านหนังสือบางเล่มแล้ว งันกับข้อถกเถียงจนคิดอะไรอื่นไม่ออก ต้องรอเวลาอีกหลายวันกว่าจะค่อยๆ ฟื้นสติกลับมาไตร่ตรองข้อสรุปของเขาได้กระจ่าง หรือนวนิยายบางเล่มที่สร้างอารมณ์ความรู้สึกท่วมท้นจิตใจจนไม่ทันเห็นนัยยะของอารมณ์ความรู้สึกนั้นได้กว้างเพียงพอ จึงไม่เห็น “ปัญหา” หรือ “ประเด็น” ที่ต้องใช้สติปัญญาในการไตร่ตรองด้วย ใช้แต่อารมณ์ความรู้สึกอย่างเดียวไม่เพียงพอ

นี่คือความสนุกที่ได้จากการอ่านหนังสือ เป็นความสนุกที่ไม่มีอะไรเทียบได้ แตกต่างจากการตีปิงปองซึ่งก็สนุก แต่สนุกไม่เหมือนกับการอ่านหนังสือ เอามาเปรียบกันหรือแม้แต่แทนกันก็ไม่ได้

ผมคิดว่า ที่เราประสบความล้มเหลวในการสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กของเราตลอดมาก็เพราะเหตุนี้แหละครับ คือไม่ให้ความสำคัญสุดยอดแก่ความสนุกในการอ่านหนังสือ ไปเน้นแต่ความรู้เพียงอย่างเดียว จึงทำให้หนังสือ “ศักดิ์สิทธิ์” กว่าความเป็นจริง การอ่านหนังสือกลายเป็นความเครียด จนหมดสนุก

เมื่อผมเป็นเด็ก โรงเรียนห้ามอ่านเสือใบ เสือดำ ที่เราติดกันงอมแงม ต้องแอบอ่าน และแอบซ่อนหนังสือด้วย ก็เหมือนโรงเรียนทั้งโลกนะครับ ส่วนใหญ่แล้วมีอันตรายต่อการเรียนรู้ของเด็ก มากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนประจำอย่างที่ผมผ่านมา ก็เป็นอันตรายครบร้อยเลย (ผมไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนไม่ให้อะไรที่ดีๆ เลย แต่ก็ให้ภัยอันตรายด้วย อยู่ที่ว่าใครจะเห็นว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม)

แต่คนที่อ่านหนังสือมากโดยไม่ได้รับรสสนุกจากการอ่านคงมี ที่ผมนึกออกทันทีคือคนมีอาชีพทางกฎหมาย นับตั้งแต่ทนายความ, อัยการ, ไปจนถึงผู้พิพากษา เคยได้ยินข่าวใช่ไหมครับว่า เอกสารบางคดีมีถึง 125 กล่อง ต้องใช้ปิกอัพในการขนส่งกันทีเดียว จะอ่านกันอย่างไร อัยการคงมีชั้นผู้น้อยแบ่งกันอ่านแล้วสรุปประเด็นเสนอให้อัยการสูงสุดตัดสินใจว่า จะส่งฟ้องหรือไม่ แต่ทนายความและผู้พิพากษาล่ะครับ จะหาใครมาช่วยอ่านได้

แม้แต่มีคนช่วยอ่านอย่างอัยการสูงสุด ก็ต้องตัดสินใจบนการวิเคราะห์ของคนอื่นมาทั้งนั้น และทุกคนคงทราบว่าเราไม่อาจวิเคราะห์อะไรได้โดยไม่มีบรรทัดฐานบางอย่างในใจ บางคนอาจอ้างว่าบรรทัดฐานดังกล่าวคือกฎหมาย แต่จะเป็นกฎหมายข้อไหน และแง่ไหน ต้องอาศัยวิจารณญาณของตนเองทั้งนั้น แม้แต่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ (ที่เก่งๆ) ยังยอมรับว่า มาจากมุมมองของนักวิทยาศาสตร์เองด้วย ไม่มองทิศนี้ก็ไม่เห็นอย่างนี้ โดยสรุปก็คือไม่มีบรรทัดฐานอะไรในโลกนี้ที่เป็นภววิสัยร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ส่วนหนึ่งก็เป็นคำง่ายๆ ที่ชาวบ้านใช้คือ “อคติ” ประกอบอยู่ด้วยเสมอ

ถ้ารอจนกว่าเราจะมีการวิเคราะห์หรือประเมินอะไรอย่างภววิสัยเต็มร้อย มนุษย์คงสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว เพราะพ่ายแพ้แก่สัตว์อื่นที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกที่ฝังอยู่ในสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว

ผมคิดว่านอกจากอาชีพทางกฎหมายแล้ว โลกปัจจุบันยังผลิตอาชีพอื่นๆ อีกมากที่ “อ่านไม่หมด” ในฐานะที่เคยเป็นครู-อาจารย์มานาน ก็อาชีพนี้อย่างหนึ่งล่ะครับ ผมสงสัยว่าส่วนใหญ่ของแพทย์ก็น่าจะใช่ เพราะวารสารทางการแพทย์ แม้แต่แพทย์เฉพาะทาง ออกมามากจนแพทย์ทั่วไปที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์น่าจะตามไม่ทัน แม้แต่ที่เป็นอาจารย์ก็เถอะ คงไม่ต่างจากอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วไปนักหรอก ดังนั้น จึงน่าจะรวมนักโน่นนักนี่ซึ่งทำงานด้านปฏิบัติวิชาชีพในหน่วยงานเอกชนและราชการทั่วไปด้วย

Ha-Joon Chang นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เล่าว่า (Economics : The User”s Guide) เขาได้เคยพบนายธนาคารคนหนึ่งที่สารภาพว่า ไม่เคยอ่านสัญญาซื้อขายตราสารอนุพันธ์ซึ่งมีความยาว 2-300 หน้าเลย แต่ก็อนุมัติเงินกู้หรือตัดสินใจให้ธนาคารลงทุนตลอดมา ผอ.ของฝ่ายความมั่นคงด้านการคลังของธนาคารชาติอังกฤษเคยกล่าวว่า นักลงทุนที่จะลงทุนกับ CDO (ตราสารอนุพันธ์ชนิดหนึ่งซึ่งเอาหนี้ที่มีหลักทรัพย์ประกันจำนวนหนึ่งมารวมเป็นก้อนเดียวกัน แล้วเอาไปขายต่อ) สักหน่วยหนึ่งอย่างปลอดภัย จะต้องอ่านข้อมูลเกี่ยวกับ CDO กองนี้ เป็นเอกสารประมาณหนึ่งล้านล้านหน้า ซึ่งไม่มีนายทุนหรือผู้บริหารกองทุนรวมคนไหนรวยเวลาพอจะทำได้ แต่ก็มีการซื้อขาย CDO กันเป็นมูลค่าหลายหมื่นหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐในตลาดเงินทั่วโลกอยู่ทุกวัน

แปลว่าเราอยู่ในโลกที่มีการตัดสินใจเรื่องสำคัญ (เสรีภาพหากเป็นคดีอาญา, เงินและทรัพย์สินหากเป็นธุรกิจการเงิน, ชีวิตหากเป็นเรื่องสุขภาพ, อนาคตหากเป็นเรื่องการศึกษา ฯลฯ) ทั้งเกี่ยวกับตัวผู้ตัดสินใจ หรือคนอื่นซึ่งไปซื้อบริการของเขา ด้วยข้อมูลที่ไม่พร้อม ไม่ใช่เพราะความขี้เกียจหรือไม่รับผิดชอบนะครับ แต่เพราะการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และประเมินให้พร้อมนั้น เกินขีดความสามารถของมนุษย์จะทำได้

พูดอีกอย่างหนึ่ง คืออ่านไม่หมด

แต่โลกก็ไม่พังนะครับ เราก็อยู่กันมาได้จนทุกวันนี้ แม้อย่างทุลักทุเลไม่น้อยไปกว่าบรรพบุรุษของเรา เสี่ยธนินท์, เสี่ยเจริญ ก็ยังเป็นเสี่ยเหมือนเดิม ตระกูลโสภณพนิช, จิราธิวัฒน์ หรือล่ำซำ ก็ยังไม่ได้มีรายได้และทรัพย์สินลดน้อยลง แสดงว่าความรู้รอบจนหมดเปลือก อาจไม่จำเป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ เพราะไม่มีใครรู้รอบจนหมดเปลือกหรืออ่านหนังสือหมดโลกเลย เราจึงไปสมมติให้หมอนั่นมีอิทธิฤทธิ์เกินคนธรรมดา เหมือนสร้างสวรรค์ขึ้นจากส่วนที่ไม่มีวันเป็นจริงของโลกมนุษย์

บางคนไม่ปลงตกง่ายๆ เหมือนผม แต่คิดหาทางเพิ่มสมรรถนะของมนุษย์ในการอ่าน วิชาอ่านเร็ว เป็นวิชาที่เสนอสอนในมหาวิทยาลัยอเมริกันหลายแห่ง ผมไม่เคยเรียนจากครูคนไหน แต่เคยลองเรียนด้วยตนเอง ตำราที่ผมใช้เขาสอนให้มองตรงกลางหน้ากระดาษเป็นแถบเล็กๆ แถบหนึ่ง แล้วอ่านจากบนลงล่าง จับความให้ได้จากประโยคที่ขาดวิ่นเหล่านั้น ก็ทำได้นะครับ แต่เหนื่อยเสียแทบขาดใจ เพราะต้องใช้สมาธิจนเครียดเกินกว่าจะอ่านได้ไม่กี่หน้า เลยไม่รู้ว่าจะอ่านไปทำไม หาความสนุกไม่ได้เลย ผมไม่ต้องการรู้ว่านาย ก. พูดอะไร แต่ผมอยากรู้และรู้สึกว่านาย ก. พูดอะไรและอย่างไร

ไม่นานมานี้เห็นนักอ่านเร็วอีกคนหนึ่ง ใช้นิ้วกวาดหนังสือไปทีละหน้า ไม่กี่นาทีก็อ่านจบเล่ม ถามเนื้อความก็ตอบได้หมด ดูน่าประทับใจ แต่ผมมีประสบการณ์ย่ำแย่กับเทคนิคการอ่านเร็วมาแล้ว จึงอดถามไม่ได้ว่า จะอ่านไปหาพระแสงอันใดวะ

แม้ด้วยสมรรถนะอ่านเร็วเช่นนี้ ผมก็ให้สงสัยว่า อย่างไรเสียก็อ่านไม่หมดอยู่นั่นเอง อย่างที่ ผอ.ของธนาคารชาติอังกฤษพูดแหละครับ อ่านเอกสารหนึ่งล้านล้านหน้า เพื่อตัดสินใจลงทุนกับ CDO หน่วยเดียว ชีวิตนี้ทำอะไรถึงจะพอกินล่ะครับ

ถ้าอย่างนั้น เราจะหวังจากเครื่องจักรเครื่องกลได้แค่ไหน

สักวันหนึ่งในอนาคต (อาจไม่ไกลนัก) คอมพิวเตอร์อาจอ่านข้อมูลหนึ่งล้านล้านหน้าแทนมนุษย์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว แล้วประมวลผลออกมาเป็นอินโฟกราฟิกไม่กี่หน้า มนุษย์เพียงแต่ดูอินโฟกราฟิกนั้นแล้วตัดสินใจ จะบอกการตัดสินใจนั้นแก่ปัญญาประดิษฐ์ก็ได้ เพราะมันจะเรียนรู้จนในภายหลังมันบอกเลยว่า กรณีอย่างนี้ต้องตัดสินใจอย่างไร

แต่ถึงเครื่องไม่ได้บอกเราให้ตัดสินใจอย่างไร เครื่องก็บังคับเราไปเกินครึ่งหนึ่งของการตัดสินใจแล้ว เพราะเพื่อจะทำอินโฟกราฟิก เครื่องต้องวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อมองหาความสัมพันธ์ว่า เรื่องนี้สัมพันธ์กับเรื่องโน้นอย่างไร แม้ว่าคนเขียนซอฟต์แวร์อาจเขียนความสัมพันธ์มาแล้วสักล้านอย่าง แต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถมองเห็นความสัมพันธ์ใหม่ได้ไม่สิ้นสุด ดังนั้น อินโฟกราฟิกที่เครื่องยื่นให้แก่มนุษย์ จึงจำกัดทางเลือกของการมองความสัมพันธ์แก่มนุษย์ไปพร้อมกับแก่เครื่อง

ผมไม่ทราบหรอกครับว่าปัญญาประดิษฐ์จะสามารถเรียนรู้และสร้างความสัมพันธ์ใหม่ได้หรือไม่ สมมติว่าได้และได้ดีกว่ามนุษย์ ผลที่สุดก็เหมือนกันคือ เครื่องกลายเป็นพระเจ้าที่ตัดสินใจแทนมนุษย์ เป็น The Brave New World ที่มนุษย์เคยใฝ่ฝันจะไปให้ถึง

หนังฮอลลีวู้ดมักแสดงว่าเครื่องจักรหลุดจากการควบคุมของมนุษย์ และกลายเป็นทรราชที่กดขี่มนุษย์เสียยิ่งกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง พระเอกและพรรคพวกคือคนที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปปิดเครื่องได้สำเร็จ แต่ที่น่ากลัวกว่าหนังฮอลลีวู้ดก็คือ มนุษย์เองนั่นแหละพร้อมใจกันที่จะไม่ปิดเครื่อง

เพราะมนุษย์เคยชินเสียแล้วที่จะไม่ต้องตัดสินใจ จึงเห็นการตัดสินใจของเครื่องจักรถูกต้องดีงามทุกทีไป และในยุคนั้น คงไม่มีใครอ่านอะไรอีกแล้ว เพราะการอ่านทำให้ต้องรวบรวมข้อมูลเอง, วิเคราะห์เอง และประเมินเอง อันเป็นสมรรถนะที่ไม่จำเป็นในชีวิตอีกเลย

 

 

ที่มา: www.matichonweekly.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net