โอริสะ ฮิราตะ: จาก Tokyo สู่ Bangkok Notes “หน้าที่เราไม่ได้ทำละครเพื่อสั่งสอนคนดู”

1.

“คนในภาพวาดของเฟอร์เมียร์ ทุกคนหันหน้าเข้าหาหน้าต่าง แสงที่สาดจากหน้าต่างทำให้เรามองเห็นสิ่งในห้องเท่าที่แสงส่องถึงเท่านั้น บางทีมันก็เหมือนกับชีวิตเรานี่แหละ มีทั้งที่แสงส่องถึง และส่องไม่ถึง”

นี่คือบทสนทนาตอนนึงของละครเรื่อง “Bangkok Notes สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ”

ลองจินตนาการว่าคุณกำลังนั่งอยู่ในหอศิลป์สักแห่งที่กำลังจัดแสดงผลงานของเฟอร์เมียร์ (Vermeer) จิตรกรชาวดัทช์ที่คุณเองก็ไม่ค่อยคุ้นหูเท่าแวนโก๊ะ หรือปีกัสโซ่ พื้นที่นั่งคอยในโถงนั้นหนาวเย็นเล็กน้อย อันที่จริงคุณไม่ได้สนใจผลงานศิลปะเท่าใดนัก แต่คนที่คุณมาด้วยเขาพาคุณเข้าไปยังโลกนั้น โลกที่คุณไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเข้าไป

เมื่อคุณพิจารณาภาพเหล่านั้น ก็น่าแปลกที่คุณกลับเข้าใจมัน อาจเพราะประสบการณ์ชีวิตที่เพิ่งผ่านมาของคุณ มันไม่ได้ทำให้คุณเป็นคนมีแต่ความสดใส ไร้เดียงสาอีกต่อไป คุณรู้ว่าในหัวใจของมนุษย์ทุกคนล้วนมีที่ที่แสงส่องไปไม่ถึง ที่ที่อยากปกปิด

คุณยิ้มสดใสให้กับเรื่องตลกขำขันที่คนอื่นเล่าให้ฟังในโถงของหอศิลป์นั้น ท่ามกลางเสียงแว่วดังมาของผู้คนที่คุยกันเรื่องสงครามในแถบยุโรปเป็นระยะ คุณแทบไม่ได้ใส่ใจ ในความรู้สึกคุณ สงครามนั้นอยู่ห่างไกลจากตัวคุณมากเกินไป จนคุณไม่อาจเข้าใจว่าเพราะเหตุใดคนหนุ่มบางคนถึงตื่นเต้นและอยากเข้าร่วมนัก หรือทำไมบางคนที่เคยอยู่ในชมรมเพื่อสันติภาพก็ละทิ้งถอนตัวออกจากความยึดมั่นในอุดมการณ์นั้นไป เพราะแก่เกินไป หรือไม่ก็เพราะเห็นโลกมามากเกินไป คุณไม่อาจแน่ใจ

แต่แน่ล่ะ สิ่งที่ดึงดูดความสนใจจากคุณได้มากที่สุดตอนนี้ก็คือปัญหาชีวิตของคุณเอง คุณมาถึงจุดที่ต้องเลือกว่าจากนี้จะตัดสินใจอย่างไรต่อไป และไม่ว่าทางเลือกไหนก็ดูจะโหดร้ายกับคุณไปทั้งหมด

และแม้กระทั่งคุณกำลังนั่งดูละครเรื่องนี้อยู่ เป็นผู้ชมร่วมบรรยากาศในฉากโถงจัดแสดงงานของหอศิลป์แห่งหนึ่ง ใจของคุณก็อาจจะไม่ได้จดจ่ออยู่กับละครตลอดทั้งเรื่อง คุณอาจเผลอคิดไปถึงปัญหาของคุณเองในชีวิตจริงที่คุณต้องเผชิญนอกโรงละครบ้างสักแวบหนึ่งในใจ แม้คุณจะรู้ว่าละครเรื่องเรียกร้องให้คุณต้องจดจ่ออยู่กับมันอย่างมาก

มีตัวละครทั้งหมด 21 คน และแต่ละคนอาจไม่มีปฏิสัมพันธ์กันเลยทั้งเรื่อง เพียงแต่อยู่ในเวลาเดียวกัน สถานที่เดียวกัน แต่คุยในเรื่องที่ต่างกัน คุณอาจเริ่มสับสนว่าควรจะฟังคนกลุ่มไหนพูดถึงเรื่องอะไรดี จนจบเรื่องคุณก็ยังรู้สึกว่ารายละเอียดมันเยอะเสียจนคุณเก็บไม่หมด แต่หลังจากนั้นคุณจะเริ่มตั้งคำถาม และบางประโยคที่ตัวละครพูดก็จะยังดังก้องอยู่ในหัวของคุณ— แม้ไม่ใช่ประโยคเป๊ะๆแบบที่ตัวละครพูดก็ตาม

“ในเรื่องเจ้าชายน้อย เขาพูดเรื่องการใช้หัวใจมอง สุนัขจิ้งจอกบอกเจ้าชายน้อยว่า สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา แต่จริงๆแล้วหัวใจคนเรามองได้ด้วยเหรอ หัวใจไม่ได้เกิดมาเพื่อการมองนี่ คนเราจะเห็นสิ่งต่างๆ จากการใช้ใจมองจริงเหรอ ในเมื่อใจคนเราก็ยังไม่เหมือนกันเลย”

 

2.

เมื่อละครจบ นักแสดงออกมาโค้งขอบคุณ เหล่าผู้ชมแยกย้ายออกจากโรงละคร ถึงคิวของนักแสดง และทีมงาน รวมตัวประชุมเพื่อฟังคอมเมนต์ของผู้กำกับ โอริสะ ฮิราตะ

แม้ฉันจะมาทันแค่ช่วงท้ายๆ ของการคอมเมนต์ แต่ก็ทันฟังการคอมเมนต์ละเอียดยิบเกี่ยวกับคิวนักแสดง ไปจนถึงการพูดประโยคต่างๆ ของนักแสดง ให้เสียงเบาลง หรือดังขึ้นกว่าเดิม รวมถึงเห็นถึงความละเอียดอ่อนของอาจารย์ฮิราตะ เมื่อเขาบอกทีมงานว่า ก่อนหน้าที่จะเริ่มแสดง เมื่อผู้ชมนั่งดูฉากว่างเปล่าไร้นักแสดง ให้เปิดแอร์จนผู้ชมรู้สึกหนาวประมาณ 10 นาที และเมื่อนักแสดงหลักเข้ามาแล้ว ขอให้ดับแอร์ไปประมาณ 20 นาที ก่อนเปิดใหม่อีกครั้ง

เป็นประสบการณ์แรกที่ทำให้ฉันเห็นการกำกับทุกอย่างในโรงละครแม้กระทั่งอุณหภูมิ

หลังจากอาจารย์ฮิราตะคอมเมนต์นักแสดงและทีมงานเสร็จ เรานั่งคุยกันพร้อมกับล่ามแปลภาษา ในหัวของฉันยังปั่นป่วนกับละครที่เพิ่งจบลงไป ผสมรวมกับการพยายามเตรียมคำถามที่สงสัยใคร่รู้เท่าที่เป็นไปได้ในตอนนั้น เป็นเวลาสี่ทุ่มกว่าแล้ว ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังยินดีตอบทุกคำถามด้วยรอยยิ้มใจดีบนใบหน้าของเขา

โอริสะ ฮิราตะ

บริบทในละครทำไมถึงต้องเป็นช่วงที่มีสงครามในยุโรป?

ตอนเขียนบทครั้งแรกคือปี 1994 ก่อนหน้านั้นก็มีสงครามอ่าวเปอร์เซีย และสงครามกลางเมืองที่บอสเนีย ซึ่งตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ดูการถ่ายทอดสดสงครามผ่านทีวี รู้สึกเป็นประสบการณ์ที่ช็อคมากๆ มันคือการที่เราได้ดูสงครามที่เกิดขึ้นในที่ไกลๆ ณ ขณะเดียวกับที่มันเกิดขึ้น ก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสงครามรูปแบบใหม่ รู้สึกว่าระยะห่างระหว่างตัวเองกับสงครามมันเปลี่ยนไป ตอนแรกมันก็เข้าใจยาก แต่ทำให้ผมรู้สึกอยากบรรยายความรู้สึกนั้นผ่านผลงาน

ในละคร ความรู้สึกของคุณที่มีต่อสงครามก็ยังเป็นระยะห่างอยู่ดีรึเปล่า เพราะในละคร แม้สงครามถูกพูดถึงบ้าง แต่ก็ยังทำให้เรารู้สึกห่างไกลจากสงครามนั้นอยู่ดี?

ก็รู้สึกเหมือนกันว่าสงครามในยุคปัจจุบันก็เป็นลักษณะนั้น ในความเป็นจริงถ้าเราไม่ได้อยู่ในสมรภูมิสงครามนั้นจริงๆ เราก็ยังใช้ชีวิตแบบปกติอยู่ดี ซึ่งผมรู้สึกว่านั่นเป็นจุดที่น่ากลัวนะ โดยเฉพาะตอนสงครามกลางเมืองของบอสเนีย สงครามกระจุกตัวอยู่ที่เดียวในเมืองเดียว แต่พอออกไปนอกเขตนั้นทุกคนก็ใช้ชีวิตปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพวกเราเองจะกลายไปอยู่ในสภาวะแบบนั้นเมื่อไหร่ ก็อาจจะคล้ายๆ เมืองไทยที่มีสงครามเวียดนามในตอนนั้น

แต่ในละครก็มีทั้งคนหนุ่มที่อยากเข้าร่วมสงคราม และมีคนที่ดูเหมือนจะรักสันติภาพแต่ก็ไม่จริงจังนัก?

จริงๆ ตอนนี้ความเกี่ยวข้องของแต่ละคนต่อสงครามมันก็ซับซ้อนมากๆ โดยเฉพาะในหมู่รัฐอิสลามที่มีสงครามเกิดขึ้น มันแทบแยกไม่ออกแล้วว่าใครเป็นศัตรูใครเป็นพันธมิตร ใครดีใครไม่ดี มันแยกไม่ออกแล้ว หรือบางครั้งกองกำลังสันติภาพของยูเอ็นเขากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องรึเปล่าเราก็ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำ

สิ่งที่ผมทำมันคือมุมมองที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรถูกอะไรผิด อย่างตอนสงครามเวียดนามเราอาจเห็นชัดว่ามีกลุ่มที่ต่อต้านการออกทัพของกองกำลังอเมริกา แต่ตอนนี้ความคิดก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้นที่เราจะไปต้านอะไรเป็นขาวดำ คู่ที่ปะทะกับเราไม่ได้เป็นประเทศใดประเทศหนึ่ง มันแปรเปลี่ยนเป็นกองกำลังต่างๆ กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ มันก็เลยยิ่งยาก

โดยส่วนตัว หน้าที่ของผมในฐานะคนเขียนบทและคนทำละคร มันไม่ใช่หน้าที่เราที่ทำละครออกมาเพื่อสั่งสอนคนดูว่าสงครามเป็นสิ่งไม่ดี ในทางกลับกันผมคิดว่าหน้าที่ของคนที่ทำบทละครและทำละครคือการสร้างภาพให้เห็นว่าสิ่งที่เป็นสงครามมันจะเป็นแบบนี้ แล้วมันจะมาหาเราแบบนี้นะ

 

เวลาเราถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิทัล ภาพในกล้องดิจิทัลมันเป็นการรวมจุดออกมาเป็นภาพหนึ่ง ยิ่งมีจุดเยอะก็ยิ่งทำให้เห็นภาพชัด แต่บางครั้งเราไม่สามารถทำอะไรชัดเจนขนาดนั้นได้ เราต้องทำอะไรที่คลุมเครือ บางครั้งการเถรตรงเกินไปมันเสพยาก คนดูจะผลักมันออก เราต้องทำอะไรให้มันคลุมเครือเพื่อให้คนรับเข้าไปได้มากขึ้น

เป็นปกติที่เวลาคนดูจบจะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจบางอย่าง หน้าที่คนทำละครคือการทำให้คนเห็นอะไรบางอย่างที่ปกติเราจะไม่เห็นหรือไม่อยากรับรู้

 

คิดไหมว่าตอนที่เขียนบทเมื่อปี 1994 มันจะยังทันสมัยมาจนทุกวันนี้?

ตอนเขียนครั้งแรกก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันจะสามารถร่วมสมัยมาถึงทุกวันนี้ได้ ซึ่งจริงๆ ตอนแรกที่ผมเขียนก็ยังไม่ได้ออกไปต่างประเทศเท่าไหร่ ไม่คิดเหมือนกันว่าผลงานชิ้นนี้จะถูกนำไปปรับและแสดงในหลายๆ ที่ทั่วโลก

บริบทความเป็นครอบครัวที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Tokyo Story (1953) ว่าด้วยเรื่องของลูกๆ ที่เกี่ยงกันดูแลพ่อแม่ในยามแก่ ดูจะเป็นปัญหามาตั้งแต่ในยุคนั้น จนผ่านมา 60 กว่าปี เมืองไทยก็ยังอินกับเรื่องนี้ได้ และที่ญี่ปุ่น รวมถึงที่อื่นๆ ที่นำละครเรื่องนี้ไปดัดแปลงก็เป็นแบบนี้ด้วยหรือเปล่า?

Tokyo story ของ ยาสึจิโร โอสุ (Yasujiro Ozu)  ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่และทำหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้ไม่ได้รับการตอบรับจากต่างประเทศสักเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ มันเกิดจากโปรดิวเซอร์ญี่ปุ่นเองที่คิดว่าด้วยบริบทของหนังโอสุซึ่งมีความญี่ปุ่นสูง ถ้าไปขายในต่างประเทศต้องขายไม่ออกแน่ๆ เป็นสิ่งที่โปรดิวเซอร์คิดไปเอง ฉะนั้นช่วงปี 50 60 หนังที่มีซามูไร อย่างของคุโรซาว่า ก็จะถูกขายออกไปต่างประเทศมากกว่า แต่จริงๆ เรื่องของครอบครัวมันเป็นเรื่องมนุษย์มากๆ ซึ่งมันทำให้สั่นคลอนใจของคนได้ทั่วโลก กลายเป็นกลับกันตอนนี้โอสึได้รับความนิยมมากว่าคุโรซาว่าในแถบยุโรป ซึ่งพอถูกทำออกมาเป็นบรรดาโน้ตส์ต่างๆ เรื่องใครจะดูแลพ่อแม่ หรือความต่าง ระยะห่างระหว่างเมืองหลวงกับเมืองต่างจังหวัดเป็นเรื่องที่ไม่ว่าประเทศไหนก็เข้าถึงได้ เข้าใจได้

จุดมุ่งหมายในการนำประเด็นเรื่องสงครามกับครอบครัวมาไว้ด้วยกันคืออะไร?

คนเรา แน่นอนว่าปัญหาระดับโลกมันมีผลกระทบต่อตัวเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แต่ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์คนหนึ่งนั้นสิ่งที่อยู่ในใจเรามีความละเอียดยิบย่อยกว่านั้นมาก เช่นปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน ผมคิดว่าในการทำละครออกมาให้เข้าถึงได้ทุกที่ในโลก ผมจะเน้นเรื่องการสร้างโครงสร้างสองชั้นนี้ให้มันอยู่ด้วยกัน Tokyo Story ถึงแม้จะพูดถึงเรื่องครอบครัวเป็นเส้นเรื่องหลักอย่างเดียว แต่เซทติ้งของเขาเกิดหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามประมาณ 9 ปี ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแบคกราวด์จึงเป็นสภาพสังคมที่สงครามเพิ่งจบไป

ทำไมจึงนำภาพวาดเฟอร์เมียร์มาเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของเรื่อง?

ส่วนหนึ่งคือผมชอบเฟอร์เมียร์ ตัวศิลปินอาจไม่ได้เป็นศิลปินที่เด่นดังเท่าแวนโก๊ะ ซึ่งประจวบเหมาะที่การใช้ผลงานของเฟอร์เมียร์ก็ง่ายต่อการจัดเซทติ้งว่ามีทั้งคนรู้จักและไม่รู้จัก เฟอร์เมียร์เป็นศิลปินประเภทที่ถ้าคนที่รู้จักและเข้าใจผลงานเขาก็อยากจะอธิบายให้คนที่ไม่รู้จักเข้าใจ สิ่งที่เชื่อมโยงกันระหว่างภาพของเฟอร์เมียร์กับเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่อง จริงๆ ตัวละครก็อธิยายไว้แล้วบ้างว่า

ภาพของเฟอร์เมียร์มันมีทั้งส่วนที่แสงส่องถึงและไม่ถึง บางครั้งเราก็จะเลือกมองแค่ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนที่เป็นเรื่องสงคราม ความยากจน หรือปัญหาอะไรก็แล้วแต่ บางครั้งเราก็เลือกที่จะเก็บมันเอาไว้ในที่มืด

 

เพราะแบบนั้นเลยต้องเลือกเล่าเซทติ้งที่เป็นแกลเลอรี?

จริงๆ เป็นความคิดแรกก่อนหน้าทั้งหมด ว่าอยากใช้พื้นที่นั่งพักในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ อยากทำละครที่มีฉากแบบนี้

ก่อนหน้าที่จะคิดเรื่องครอบครัว เรื่องสงครามอีก?

ในหนัง Tokyo Story จะมีฉากหนึ่งที่ตัวละครไปเที่ยวห้างกัน ซึ่งสมัยก่อนเวลาคนต่างจังหวัดมาโตเกียวก็จะพากันไปเดินห้างกัน พอในยุคที่เขียนเรื่องนี้คนก็ไม่ได้เดินไปเที่ยวห้างกันแล้ว ผมเลยไปสัมภาษณ์หลายๆ คนว่าเข้าเมืองแล้วจะไปไหนกัน ก็เลยได้ไอเดียว่าเซ็ทติ้งคือหอศิลป์ เลยคิดเป็นพล็อตแรกคือพี่สาวชอบงานศิลปะแต่อยู่ต่างจังหวัด และทุกๆปีจะเข้าเมืองเพื่อมาเจอพี่น้อง

 

ทำงานกับคนไทยเป็นยังไงบ้าง?

ผมมีโอกาสได้ทำงานมาหลายประเทศทั่วโลก โดยหลักๆ จะดูว่าแต่ละประเทศทำงานยังไง แล้วผมก็จะมีการทำงานแบบของผม เหมือนผสมผสานการทำงานไปด้วยกัน สิ่งด้วยหน้าที่ของผู้กำกับส่วนใหญ่ก็คือการกำกับ แต่สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารและพูดกันให้เข้าใจถึงที่สุด

ข้อดีข้อเสียของคนไทย?

จริงๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าอะไรเป็นข้อดีข้อเสีย แค่บางอย่างมันมีวิธีการทำงานที่ต่างกัน

ในเมืองไทยดูเหมือนคนจะสนใจข่าวในแง่ของการเมืองหรือสังคมมากกว่าข่าวด้านศิลปะ ที่ญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้าง และจริงๆแล้วข่าวหรือเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมยังจำเป็นต่อคนเราอยู่ไหม?

จริงๆ ที่ญี่ปุ่นก็ไม่สนใจศิลปะและวัฒนธรรมเท่าการเมืองและสังคม แต่ตอนนี้ปัญหาสังคมที่หนักหนาที่สุดของญี่ปุ่นก็คือเด็กเกิดน้อย ประชากรลดลง ผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะตามต่างจังหวัด ทางภาครัฐต้องหามาตรการอะไรบางอย่างที่จะทำให้แรงงานที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงกระจายกลับสู่ท้องถิ่น และสิ่งที่จะดึงดูดคนเหล่านี้คือวัฒนธรรมและการศึกษา

ถ้าเป็นความคิดคนที่ล้าสมัยหน่อยก็จะบอกว่า ถ้าไม่มีแรงงานในพื้นที่ก็สร้างโรงงานสิ คนจะได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด แต่จริงๆ มันไม่เวิร์ค และพอเขารู้ว่ามันไม่เวิร์ค แทนที่เขาจะสร้างโรงงานเขาก็เลยสร้างโรงละครบ้าง มหาวิทยาลัยบ้าง ที่ยุโรปก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่าในพื้นที่ที่เขาผลิตศิลปะมาเยอะๆ จะเป็นพื้นที่ที่เคยรุ่งเรืองทางอุตสาหกรรม แต่สิ่งเหล่านั้นก็ได้ตายหายจากไป สิ่งที่จะมาทดแทนก็คือศิลปะ

ในเมืองไทยเองก็กำลังเติบโตไปในแง่อุตสาหกรรมในเชิงนั้น แต่เวลาเราก้าวไปเป็นประเทศพัฒนาเราก็ไม่รู้ตัวหรอกว่าหนทางมันจะเป็นยังไงต่อ มันอาจเป็นคำตอบที่สิ้นหวังนิดนึง แต่บางเคสที่ไม่เป็นแบบนั้นก็มีอยู่ เช่นประเทศเกาหลีในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วก็เป็นประเทศที่มีงบประมาณด้านศิลปวัฒนธรรมมากที่สุดประเทศหนึ่ง ประเทศเกาหลีใต้การพัฒนาเศรษฐกิจของเขาจะอยู่ที่ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นการเติบโตมันใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้ว

ประเทศเกาหลีใต้ได้ศึกษาวิจัยช่วง 25 ปีของญี่ปุ่นที่มีเศรษฐกิจที่โตขึ้นๆๆ จนถึงจุดสูงสุดแล้วก็ตกลงมา เขาพบว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นขาดไปและทำให้ตกลงมาคือการขาด Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) คนที่วิจัยเขาเลยบอกรัฐบาลเกาหลีว่าลองดูว่าประเทศญี่ปุ่นถูกนำด้วยคุณลุงที่คิดแต่เรื่องการเมืองเศรษฐกิจ จนมันโตขึ้นๆ แล้วตกลงมา เราควรจะเรียนรู้ตรงนี้และอัดฉีดสิ่งที่เป็นศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นขาดหายไปเราจะได้ไม่เป็นแบบนั้น       

 

3.

“Bangkok Notes” หรือในชื่อภาษาไทย “สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ” เป็นการร่วมงานกันระหว่างเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และโครงการศิลปะการละครนานาชาติ (World Performances @ Drama Chula) ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทและกำกับการแสดงโดย โอริสะ ฮิราตะ (Prof. Oriza Hirata) นักการละครผู้มีอิทธิพลต่อวงการละครญี่ปุ่นและทั่วโลก นอกจากนี้ “สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ” ยังเป็นกิจกรรมในวาระครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์การทูตไทย-ญี่ปุ่น และได้รับเกียรติจากเครือข่ายละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Network) ให้เป็นการแสดงเปิดเทศกาลละครกรุงเทพ 2560 (Bangkok Theatre Festival 2017: “Sharing Moments”) ในวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมลอีกด้วย

ละคร “สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ” (“Bangkok Notes”) ดัดแปลงบทจาก “Tokyo Notes” (“โตเกียว โน้ตส์”) โดย สาวิตา ดิถียนต์ นักเขียนบทละครเวทีและโทรทัศน์ และอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ปรับบริบทเรื่องราวและบทสนทนาให้มีความเป็นละครเวทีไทย โดยมีนักแสดงทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่จากหลากหลายคณะละคร เช่น สุมณฑา สวนผลรัตน์ (จุ๋ม) เจ้าของรางวัล IATC Thailand Award สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ปี 2555 ดวงใจ หิรัญศรี (เพียว) คณะละครอนัตตา ธีรวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ) ผู้ก่อตั้งคณะละคร B-Floor เจ้าของรางวัล Bangkok Theatre Festival Award สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม ปี 2557 ณัฐ นวลแพง ผู้ก่อตั้งคณะละครเสาสูง และ วรัฏฐา ทองอยู่ (แอน) เจ้าของรางวัล IATC Thailand Award สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม ปีที่แล้ว เป็นต้น

ละครบรรยายให้ผู้ชมเห็นการค่อยๆ สลายตัวของความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมไปถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม ผ่านการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่ง ละครเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมจากทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ทั้งในญี่ปุ่นและนานาชาติ  “Tokyo Notes” (“โตเกียว โน้ตส์”) ได้รับการแปลมาแล้ว 10 ภาษา และจัดแสดงมาแล้ว 23 เมือง ใน 16 ประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโครงการละครความร่วมมือระหว่างประเทศมาแล้ว 4 โครงการ ได้แก่ “Seoul Notes” ณ ประเทศเกาหลีใต้ในปี 2546 “Taipei Notes” ในเทศกาล Taipei Arts Festival ประเทศไต้หวัน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา (บัตรจำหน่ายหมดทุกใบภายใน 2 ชั่วโมง) “สงคราม ภาพวาด ผู้คน ฯลฯ” (“Bangkok Notes”) ในเทศกาลละครกรุงเทพปีนี้ และ “Manila Notes” ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ในปีหน้า

 

รายละเอียดเกี่ยวกับการแสดง

[วันและเวลาที่แสดง]

วันพฤหัสบดีถึงวันเสาร์ที่ 2 – 4 และ 9 -11 พฤศจิกายน 2560

เวลา 19.30 น. (วันเสาร์เพิ่มรอบบ่ายเวลา 14.00 น.)

[สถานที่]

ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[ราคาบัตร]

บุคคลทั่วไป 600 บาท

นักเรียน นักศึกษา 300 บาท

ศิลปินและผู้ชมอายุไม่เกิน 27 ปี 400 บาท)

[วิธีจองบัตร]

จองบัตรที่ www.BangkokTheatreFestival.com

หรือ 08 1559 7252 และ 0 2218 4802

*แสดงเป็นภาษาไทย มีคำแปลภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษฉายประกอบ*

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท