Skip to main content
sharethis

เตือนกรรมการคอนโดฯ หากทำงานไม่ดีมีสิทธิ์โดนปลด

นายธนันทร์เอก หวานฉ่ำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ เรียลตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด (IRM) และอดีตนายกสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันปัญหาการอยู่อาศัยร่วมกัน ในอาคารชุดยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าของร่วม (ลูกบ้าน) ด้วยกันเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของนิติบุคคลจะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าของร่วม (ลูกบ้าน) กับคณะกรรมการอาคารชุดถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารชุดและกำลังมีปัญหากับคณะกรรมการคอนโดฯ สามารถรวมกันตัวเพื่อถอดถอนกรรมการได้ โดยผ่านกระบวนการจัดประชุมวิสามัญ โดยหลักการจัดประชุมวิสามัญเพื่อปลดกรรมการนั้นผู้ที่จะสามารถดำเนินการได้คือ ผู้จัดการนิติบุคคล คณะกรรมการอาคารชุด และเจ้าของร่วม (ลูกบ้าน) โดยลูกบ้านจะต้องรวมตัวกัน 25% ทำหนังสือขอให้คณะกรรมการดำเนินการจัดประชุม หากคณะกรรมการไม่จัดประชุมให้ภายใน 30 วัน ลูกบ้าน สามารถจัดประชุมเองได้

ทั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกรรมการกับเจ้าของร่วมที่เกิดขึ้นนั้น ในบางกรณีเจ้าของร่วมหรือ ลูกบ้านจัดประชุมขึ้นเองโดยไม่ได้ผ่านกระบวนการร้องขอให้คณะกรรมการจัดประชุม เมื่อนำผลการประชุมไปยื่นที่สำนักงานที่ดินเจ้าหน้าที่จะต้องขอดูกระบวนการจัดประชุม หากเป็นการจัดประชุมเองโดยไม่ทำการร้องขอให้กรรมการจัดให้ เจ้าหน้าที่จะไม่รับจดทะเบียนเนื่องจากเป็นกระบวนการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้มติต่าง ๆ จากการประชุมนั้นไม่มีผลบังคับตามกฎหมายอาคารชุด ดังนั้นก่อนดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับ การจัดประชุมวิสามัญจะต้องศึกษาและเรียนรู้ข้อกฎหมาย หรือหาที่ปรึกษาด้านกฎหมายเป็นแนวร่วมในการจัดประชุม

ที่มา: ตลาดบ้าน ฉบับที่ 362 ตุลาคม 2560

กระทรวงแรงงาน เร่งนายจ้างพาแรงงานกัมพูชา ลาว เมียนมา ในกิจการประมงทะเล พิสูจน์สัญชาติวันนี้วันสุดท้าย

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าวันนี้ (31ต.ค. 2560) จะเป็นวันสุดท้ายของการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาวและเมียนมาในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งนายจ้างควรเร่งพาแรงงานมาดำเนินการให้ถูกต้อง โดยแรงงานกัมพูชาสามารถพิสูจน์สัญชาติได้ 3 แห่ง แรงงานเมียนมาพิสูจน์สัญชาติ 9 แห่ง และแรงงานลาวพิสูจน์สัญชาติ 1 แห่ง ซึ่งการพิสูจน์สัญชาติวันสุดท้ายคาดว่าจะมีจำนวนมากหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในพื้นที่กทม.ที่น่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 600 คน จากปกติ 100-300 คนต่อวัน

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ขอย้ำว่าจะไม่มีการขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติเพิ่ม พร้อมคาดว่าจะมีแรงงานหายไปจากระบบกว่าร้อยละ 30 แต่แรงงานกลุ่มนี้จะกลับเข้ามาในประเทศอีกครั้งแบบถูกกฎหมาย หรือ แบบ MOU ซึ่งไม่น่ามีผลกระทบกับตลาดแรงงาน หรือผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีแรงงาน 3 สัญชาติกลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำมาพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 93,089 คน เป็นประมงทะเล 33,867 คน และแปรรูปสัตว์น้ำ 59,222 คน

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 31/10/2560

จริงหรือ? เมื่อ 'องค์กรนายจ้าง' ระบุ 'แรงงานไทย' ขาดทักษะดันยอดตกงานสูงสุดใน 7 ปี

สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยเสนอรัฐยกเรื่องการศึกษาไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเร่งผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน หลังพบไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูงขั้นรุนแรง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนที่เข้าขั้นรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างแรงงานไทยที่มีในระบบไม่สอดรับความต้องการของตลาดในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ซึ่งมีแนวโน้มว่างงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากระบบการศึกษาไทยยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันส่งผลให้คนไทยว่างงานสูงสุดในรอบ 7 ปี

โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วงไตรมาสแรกปี 2560 ระบุแรงงานไทยตกงานเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 1.2 หรือตกงาน 4.73 แสนคน ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 7 ปี สะท้อนจากตัวเลขแรงงานในตลาดมีประมาณ 37.89 ล้านคน มีงานทำ 37.09 ล้านคน ส่วนข้อมูลของ jobsDB.com ระบุ 4 สายงานที่ขาดแคลนแรงงานมากที่สุดอันดับหนึ่งคือ การตลาดดิจิทัลร้อยละ 44 รองลงมาคือด้านไอที ร้อยละ 43 บัญชีร้อยละ 31 และวิศวกรรมร้อยละ 29

ด้านประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยกล่าวกับทีมข่าว TNN ช่อง 16 ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานคือ แรงงานขาดทักษะสูง ประกอบกับไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงอยากเสนอภาครัฐให้ยกเรื่องระบบการศึกษาไทยเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตแรงงานในอนาคต

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถาบันการศึกษาได้เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อให้สอดรับกับตลาดแรงงานในยุคดิจิทัลมากขึ้นเพื่อลดปัญหาการว่างงาน

ขณะที่นักศึกษาส่วนใหญ่ระบุว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เกิดอาชีพใหม่ทำให้แรงงานส่วนหนึ่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ว่างงานเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการความเป็นอิสระในการทำงานและมีความอดทนต่ำ

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก jobbkk.com ระบุในปี 2015 – 2025 ตำแหน่งงานเกี่ยวกับทางด้านการผลิตในโรงงานจะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่สิ่งเดียวที่มนุษย์จะไม่สามารถถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์คือความคิดสร้างสรรค์และพารพัฒนาความองค์ความรู้ที่สูงขึ้น ดังนั้นแรงงานรุ่นใหม่ต้องมีการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอบรับกับตลาดแรงงานยุคอินดัสทรี 4.0

ที่มา: TNN, 31/10/2560

ประกันสังคมยันปรับฐานคำนวณเงินสมทบ ไม่กระทบคนส่วนใหญ่

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงถึงกรณีการปรับฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน โดยระบุว่า เป็นการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพและสภาวะเศรษฐกิจและเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ที่ผ่านมาจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้วทั้งหมด 5 ครั้งใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเชิญชวนให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เห็นด้วยในการปรับฐานเพดานค่าจ้าง จาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท

สำหรับประเด็นที่ผู้นำแรงงานคัดค้าน อาจเป็นเพราะได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน เข้าใจผิดว่าผู้ประกันตนทุกคนจะได้รับผลกระทบ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมยืนยันว่า ยังคงเก็บเงินสมทบในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างเท่าเดิม

ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาท ยังคงจ่ายเงินสมทบเท่าเดิมและไม่มีผลกระทบใดๆ ส่วนของผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างสูงกว่า 15,000 บาท จะจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น เช่น ค่าจ้าง 16,000 จ่ายเงินสมทบ 800 บาท, ค่าจ้าง 17,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 850 บาท, ค่าจ้าง 18,000 บาท จ่ายเงินสมทบ 900 บาท, ค่าจ้าง 19,000 บาทจ่าย 950 บาท และค่าจ้าง 20,000 บาทขึ้นไป จ่ายเงินสมทบ 1,000 บาทต่อเดือน

ส่วนกรณีการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ ขณะนี้ดำเนินการประชาพิจารณ์ไปแล้ว 6 ครั้ง จากทั้งหมด 12 ครั้ง โดยในวันนี้ (31 ต.ค.2560) จัดครั้งที่ 7 ที่ จ.ขอนแก่น สำหรับข้อคิดเห็นทั้งหมด 12 ครั้ง สำนักงานประกันสังคมจะนำมาศึกษาวิเคราะห์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานปรับปรุงการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า วันที่ 4 พ.ย.2560 คปค.จะหารือร่วมกับเครือข่ายแรงงานต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการขยายอายุรับเงินบำนาญ การเพิ่มเงินสมทบ และการเลือกตั้งบอร์ด สปส. เนื่องจากเป็นประเด็นที่ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่

โดยการเลือกตั้งบอร์ด สปส. ถือเป็นทางเลือก เพราะจะทำให้ผู้ประกันตนได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในบอร์ดและมีโอกาสพูดถึงปัญหา โดย คปค.ได้เสนอแนวทางในการเลือกตั้งใหม่ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไปแล้ว ซึ่งทราบว่าขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของอนุกรรมการยกร่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งบอร์ด สปส.

ที่มา: ThaiPBS, 31/10/2560

กสร.เตือนนายจ้างห้ามให้ลูกจ้างหญิงทำงานบนนั่งร้านสูงเกิน 10 เมตร

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแรงงานหญิงเข้ามาทำงานในภาคแรงงานต่าง ๆ จำนวนมาก และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดลักษณะงานที่ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างหญิงทำ เช่น งานที่ต้องทำบนนั่งร้านที่สูงกว่าพื้นดินตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป งานผลิตหรือขนส่งวัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟ เป็นต้น กรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติก็จะมีความผิดตามกฎหมายโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายอนันต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้ความคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียมกัน แรงงานหญิงดังกล่าวหมายรวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย จึงขอให้นายจ้างศึกษาและปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 1/11/2560

ประกันสังคมเพิ่มช่องทางให้บริการรับชำระเงินสมทบจ่ายผ่านตู้บุญเติม

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า วันนี้กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ระหว่างสำนักงานประกันสังคม และธนาคารที่ให้บริการรับชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคม และผู้ให้บริการตู้บุญเติมของ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) โดยนายจ้างสามารถชำระเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน 8 ธนาคาร และผู้ประกันตนมาตรา 40 ผ่านตู้บุญเติม

ที่มา: สำนักงานประกันสังคม, 1/11/2560

แรงงานไทยกว่า 130 ราย ถูกลอยแพที่ดูไบร้องทนายสงกานต์ให้ช่วยเหลือหลังถูกบริษัทจัดหางานคนไทยและต่างชาติหลอกไปทำงาน

แรงงานไทย ที่ไปทำงานที่ดูไบ โดยผ่านบริษัทจัดหางานของคนไทยและต่างชาติชักชวนไปทำงานอ้างจะได้ค่าตอบแทนในอัตราที่สูงซึ่งแรงงานต้องมีค่าใช้จ่ายรายละ 50,000 ถึง 100,000 บาท

ทนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ เข้าร้องทุกข์กับ พลตำรวจโท สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หลังรับแจ้งจากภรรยาของแรงงานไทยซึ่งกำลังเดือดร้อน จึงรวมตัวเรียกร้องขอเงินคืน และเดินทางกลับประเทศไทย แต่หนังสือเดินทางถูกยึดไว้ หากใครต้องการเดินทางกลับจะต้องลงชื่อในหนังสือสัญญาว่าจะไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มนิติบุคคลและคู่สัญญา ซึ่งมีแรงงาน 2-3 ราย ที่ยินยอมและเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว

ทั้งนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้รับเรื่องไว้ตรวจสอบ หากอยู่ในอำนาจหน้าที่ก็พร้อมจะดำเนินการทางกฏหมาย

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 2/11/2560

ดีเดย์แล้ว! นายจ้างประมงทะเล ต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างผ่านธนาคารในอัตรารายเดือน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกประกาศกำหนดแบบสัญญาจ้างลูกจ้างในงานประมงทะเล พร้อมแจ้งนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในอัตรารายเดือนและต้องจ่ายผ่านธนาคาร เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2560

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร. ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดแบบสัญญาจ้างลูกจ้างในงานประมงทะเล ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ซึ่งประกาศฯฉบับนี้มีสาระสำคัญ เช่น การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างในอัตรารายเดือนโดยจ่ายไม่น้อยกว่าเดือนละครั้ง การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนให้กับลูกจ้างโดยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารโดยนายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการโอนเงิน การกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่จัดเครื่องมือหรืออุกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการทำงานบนเรือให้กับลูกจ้าง เป็นต้น ซึ่งประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป

นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปอีกว่า การออกประกาศฯดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ที่กำหนดให้นายจ้างจัดทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือที่มีข้อความถูกต้องตรงกันจำนวนสองฉบับโดยมอบให้ลูกจ้างเก็บไว้หนึ่งฉบับ เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบ โดยแบบของสัญญาจ้างให้เป็นไปตามที่อธิบดีกสร.กำหนด ทั้งนี้ การจัดทำสัญญาจ้างในงานประมงทะเลจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิลูกจ้างและหลักฐานในการปฏิบัติตามกฎหมายของนายจ้าง ซึ่งจะช่วยในการป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานในกิจการประมงทะเล หากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมเพิ่มเติมได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2246 8994 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1546

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/11/2560

กพร. ร่วมเอกชน ผลิตมนุษย์ไฟฟ้าและทำความเย็น เสริม Green Job

ก.แรงงาน ร่วมเอกชน เร่งผลิตมนุษย์ไฟฟ้าและทำความเย็น ในพื้นที่ภาคใต้ ภาคอีสานและภาคกลาง หวังต่อยอดรับ License ปัจจุบันช่างไฟฟ้ามี License แล้วกว่า 76,000 คน

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีช่างไฟฟ้าที่ได้รับ License แล้วกว่า 76,000 คน และสำหรับผู้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก จะได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐาน ระดับ 1 ไม่ต่ำกว่าวันละ 400 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 500 บาท และระดับ 3 ไม่ต่ำกว่าวันละ 600 บาท ซึ่งในปัจจุบันเครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นอุปกรณ์ใช้ในที่พักอาศัยและอาคารสำนักงานต่างๆ ประกอบกับตลาดแรงงานมีความต้องการช่างติดตั้งและการบำรุงรักษาอุปกรณ์ดังกล่าวจำนวนมาก ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันพัฒนาแรงงานไทยให้มีทักษะฝีมือ ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนช่างฝีมือที่มีความรู้ในการติดตั้งและบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง

นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า กพร. และบริษัท พานาโซนิค เอ.พี.เซลลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงร่วมมือกันในการพัฒนาช่างทั้งสองสาขา ให้มีความรู้ความสามารถและมีทักษะฝีมือสูงขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งสองหน่วยงานมีแผนดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้า ณ หน่วยงานในสังกัดกพร. 2 หลักสูตร ได้แก่ การฝึกยกระดับฝีมือ สาขาติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ (ระยะเวลาการฝึก 18 ชั่วโมง) จะดำเนินการฝึกใน 4 จังหวัด เขตภาคอีสาน 2 จังหวัดคือ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2560 และ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2560 เขตภาคใต้ 2 จังหวัดคือ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 11 สุราษฎร์ธานี ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ 2561 และ ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 สงขลา ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2561 สำหรับหลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือ สาขาการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (ระยะเวลาการฝึก 18 ชั่วโมง) ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2561 ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ รุ่นละ 20 คน รวม 5 รุ่น 100 คน อบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ พร้อมสอดแทรกความรู้ด้านเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Job) สนใจเข้ารับการฝึกอบรมติดต่อได้ที่ 0 2247 9420, 0 2245 1879

นอกจากนี้ ยังร่วมกันพัฒนาหลักสูตร สนับสนุนการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าให้แก่ครูฝึกกพร. เพื่อเป็นวิทยากรในการขยายผลการฝึกให้แก่ ผู้ที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงาน และคนทำงานในสถานประกอบกิจการ ให้ช่างดังกล่าวได้มาตรฐาน โดยบริษัทมอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ รวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาทเป็นอุปกรณ์การฝึกอบรม และบริษัทฯ ได้เตรียมขออนุญาตจัดตั้งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในสาขาอาชีพนี้ด้วย เพื่อให้บริการคนทำงานในอาชีพช่างไฟฟ้าและช่างเครื่องปรับอากาศได้รวดเร็วและสามารถดำเนินการขอรับ License ในลำดับต่อไปด้วย อธิบดี กพร.กล่าว

ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, 3/11/2560

แรงงานไทยในไต้หวันเมาขี่จักรยานไฟฟ้าแล้วยังฝ่าไฟแดง คนซ้อนถูกรถชนตายคาที่

ปัญหาการดื่มสุราเมาแล้วขับขี่ทั้งรถจักรยานแบบดั้งเดิมหรือจักรยานไฟฟ้า แล้วประสบอุบัติในกลุ่มคนงานไทย ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ทำให้เสียเงิน เสียสุขภาพ ยังอาจเสียชีวิตหรือไม่ก็ถูกจำคุก ส่งผลให้อนาคตหม่นหมอง ล่าสุดมีคนงานไทยที่เดินทางมาทำงาน WILLING IND. บริษัทผลิตรถจักรยาน ตั้งอยู่ที่เขตต้าเจี่ย นครไทจง จำนวน 2 คน ได้แก่นายทวีพัน มีปัญญา อายุ 38 ปี มาจากจังหวัดนครราชสีมา และนายชัยเดช โชตินอก อายุ 45 ปี มาจากนครราชสีมาเช่นกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมานี้ ทั้งสองชวนกันไปดื่มสุราที่ร้านอาหารไทยที่ย่วนหลี่เมืองเหมียวลี่ ซึ่งอยู่ติดกับเขตต้าเจี่ยของนครไทจง หลังจากที่เมาได้ที่ เมื่อเวลา 15.40 น. นายปัญญาขี่รถจักรยานไฟฟ้าพานายชัยเดชกลับโรงงาน ขณะที่ผ่านสี่แยก ฝ่าไฟแดงโดยไม่ได้จอดรอดูไฟสัญญาณจราจร ถูกรถเก๋งที่ชาวไต้หวันเป็นคนขับซึ่งแล่นมาทางขวามือเสยเข้าที่ช่วงท้าย ทำให้คนซ้อนคือนายชัยเดชถูกชนกระเด็นตายคาที่ ส่วนนายทวีพันล้มบาดเจ็บเล็กน้อย ตำรวจจับนายทวีพันเป่าลม เพื่อตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ พบว่าสูงถึง 0.69 mg/l ตั้งข้อหาเมาแล้วขับขี่ยานพาหนะ ฝ่าไฟแดง เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต และมีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสาธารณะ นอกจากปรับ 67,500 เหรียญไต้หวันแล้วในฐานะเมาแล้วขับ ยังมีโทษอาญาถึงขั้นจำคุก และวันต่อมา นายทวีพันให้การต่ออัยการ ยอมรับสารภาพว่า ตนได้ดื่มเบียร์ไป 3 กระป๋อง จากนั้นขับขี่รถจักรยานไฟฟ้าและฝ่าไฟแดง จนเป็นเหตุให้เพื่อนที่ซ้อนท้ายถูกรถชนเสียชีวิต

ทางด้านบริษัทจัดหางานที่รับผิดชอบดูแลคนงานไทยทั้งสองกล่าวว่า คนงานไทยทั้งสอง ทำงานดี ขยันและให้ความร่วมมือกับนายจ้างเป็นอย่างดี โดยนายชัยเดช ผู้ตาย เพิ่งจะทำงานครบสัญญา ได้รับการต่อสัญญาใหม่ที่ไต้หวันไปเมื่อไม่นานนี้ ส่วนนายทวีพันมาทำงานได้ 1 ปี 6 เดือน

แม้จะเป็นรถจักรยานไฟฟ้า ไม่ใช่รถจักรยานยนต์ ไม่ต้องใช้ใบขับขี่ก็ขับได้ แต่ดื่มสุราแล้วขับขี่รถจักรยานไฟฟ้า มีโทษเช่นเดียวกับเมาแล้วขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ เพราะถือว่าเป็นยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานกลและพลังงานไฟฟ้า

ที่มา: Radio Taiwan International, 3/11/2560

ธนาคารแห่ปิดสาขา พนักงานทั้งระบบลดลง 1,351 คน

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าตั้งแต่เดือนกันยายน 2559-กันยายน 2560 มีธนาคารพาณิชย์แจ้งปิดรวม 192 สาขา โดย 5 อันดับแรก ที่มีการปิดสาขามากที่สุด คือ กรุงไทย 79 สาขา,กสิกรไทย 73 สาขา,ธนชาต 69 สาขา,ทหารไทย 20 สาขา ,ไทยพาณิชย์ และซีไอเอ็มบี ไทย แห่งละ 9 สาขา

ซึ่งเมื่อเข้าไปดูในเชิงลึก เราก็พบสาเหตุการปิดสาขาเป็นการปรับตัวหลังลูกค้าหันไปใช้โมบายล์และอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนใช้บริการกว่า 35 ล้านบัญชี จากจำนวนลูกค้าเงินฝากทั้งระบบประมาณ 90 ล้านบัญชี นั่นหมายถึงลูกค้า 1 ใน 3 ใช้ออนไลน์แบงก์กิ้งแล้ว

แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การปิดสาขา ส่งผลให้จำนวนพนักงานธนาคารทั้งระบบลดลงด้วย โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 60 มีพนักงานทั้งระบบเหลือแค่ 153,139 คน หรือ ลดลง 1,351 คน

และภาพที่จะให้ดูต่อไปนี้ คือ สาขานำร่องต้นแบบของธนาคารธนชาต ที่ปรับรูปแบบสาขา ใช้พนักงงานเพียง 4 คนเท่านนั้น โดยจะเน้นให้บริการธุรกรรม โดยไม่มีเงินสดในสาขา หรือ Cashless Branch ลดการทำธุรกรรมผ่านเคาน์เตอร์และขยายผ่านตู้อัตโนมัติ หรือ Auto Machine แทน เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปใช้ดิจิทัลแบงกิ้ง และกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความคล่องตัว

ที่มา: ครอบครัวข่าว, 3/11/2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net