Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

มีเพื่อนชาวมุสลิมบางคนเข้ามาแสดงความเห็นทางเฟซบุ๊กของของผมว่า

“อำนาจเผด็จการ(ในนามศาสนา)ลงโทษ ทำร้ายคนที่เปลี่ยนศาสนาด้วยการปาหิน การแขวนคอ ตัดมือ ประหารชีวิตคนรักร่วมเพศ ทำสงครามกับต่างศาสนา และระหว่างนิกายศาสนา ก่อการร้ายฆ่าผู้บริสุทธิ์เพื่อพระเจ้า......สิ่งที่กล่าวมานั้นมิได้หมายความว่ามาจากศาสนาเท่านั้นดอกครับ.....ลองอ่านรัฐธรรมนูญบ้างหรือยังครับ....ในนั้นมีแต่บทลงโทษมากมายสำหรับผู้กระทำผิด...เพื่อเป็นกรอบในการบริหารบ้านเมือง...เพื่ออะไรละครับ? หากไม่ใช่เพื่อการค้ำจุน.... การฆ่าเพื่อศาสนาคงมิต่างอะไรกับการเกณฑ์ทหารไปตายเพื่อชาติครับ”

ข้อโต้แย้งนี้น่าสนใจ ผมจึงอยากนำมาอภิปรายต่อ ขอเริ่มจากคำถามที่ว่า “ทำไมเราจึงกังวลใจเมื่อศาสนาใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์?” ในหนังสือ “ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์” ของริชาร์ด ฮัลโลเวย์ โดยฮัลโลเวย์เริ่มอธิบายคล้ายกับข้อโต้แย้งข้างบนว่า ปกติมนุษย์ก็ใช้ความรุนแรงในมิติอื่นๆ อยู่แล้ว เช่นกฎหมายสหรัฐอนุญาตให้บุคคลมีอาวุธไว้ป้องกันตัวได้ รัฐบาลสหรัฐใช้ความรุนแรงเข้าแทรกแซงทางการเมืองของประเทศอื่นๆ และกฎหมายของหลายประเทศมีก็โทษประหารชีวิต เป็นต้น แล้วทำไมเราจึงมีปัญหามากเป็นพิเศษกับความรุนแรงในนามศาสนา ฮัลโลเวย์ตอบคำถามนี้ด้วยการอ้างเหตุผล 2 ประการ (โดยสรุป) คือ

เหตุผลประการแรก เมื่อศาสนาเข้าร่วมในความขัดแย้ง มันจะกลายเป็น “การเมืองเรื่องอัตลักษณ์” ที่ยากจะหาทางประนีประนอม มักจะกลายเป็นความขัดแย้งยาวนานหลายศตวรรษ และมีการเติมพิษแห่งความรุนแรงลงไปชนิดที่ไม่พบในความขัดแย้งแบบอื่นๆ เพราะ “ถ้าพวกเขาปักใจว่าทำเพื่อสนองพระประสงค์ของพระเจ้า โอกาสที่พวกเขาจะปราณีและออมมือเมื่อมีข้อขัดแย้งย่อมมลายหายไป” ฮัลโลเวย์ยกตัวอย่างสงครามศาสนาในสก๊อตแลนด์ช่วงศตวรรษที่ 17 ที่เรียกกันว่า “ยุคห้ำหั่น” (Killing Times) ซึ่งกึกก้องด้วยเสียงร้องปลุกใจในสนามรบว่า “เพื่อพระเจ้า เราไม่ไว้ชีวิต” ขณะที่ในสงครามความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวมุสลิมในตะวันออกกกลาง ย่อมมีเสียงสรรเสริญอัลลอฮ์ขณะยิงจรวดใส่กัน

ฉะนั้น ที่เราขยาดความรุนแรงในนามศาสนา เป็นเพราะมันนำความตึงเครียดไร้เหตุผลเข้ามาสู่ข้อขัดแย้งของมนุษย์ “เพื่อพระเจ้า เราไม่ไว้ชีวิต” แปลว่า ไม่ปราณีและไม่ประนีประนอม

เหตุผลประการที่สอง คือ “ความย้อนแย้ง” (paradox) ในแก่นความเชื่อพื้นฐานของศาสนาเอง เพราะในเมื่อศาสนายืนยันความเชื่อพื้นฐานว่า “มนุษย์ทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้า” ดังพันธสัญญาใหม่กล่าวว่า “เรามีชีวิตและไหวตัว และเป็นอยู่ในพระเจ้า” แต่เหตุใดพระเจ้าจึงบัญชาให้บุตรของพระองค์ฝ่ายหนึ่งขัดแย้งและฆ่าบุตรของพระองค์อีกฝ่าย? เหตุใดพระองค์ทรงรักบุตรชาวยิวโดยการทำร้ายบุตรชาวปาเลสไตน์ของพระองค์เอง? เหตุใดพระองค์จึงสั่งให้บุตรชาวมุสลิมผู้บูชาพระองค์ในฐานะพระเจ้าเพียงองค์เดียวคุกคามบุตรนอกรีตผู้บูชาเทพเจ้าหลายองค์? เหตุใดจึงมีการกดขี่และความรุนแรงมากมายในประวัติศาสตร์ศาสนาจากน้ำมือของผู้ที่อ้างว่าพระเจ้าอยู่ข้างพวกเขา?

ฮัลโลเวย์ฝากคำถามให้คิดว่า ถ้าเราไม่พร้อมที่จะเชื่อว่า พระเจ้าทรงลำเอียง หรือเป็นทรราชผู้วิกลจริต เราจะมีทางออก หรือมีคำอธิบายต่อข้อเท็จจริงของปัญหาดังกล่าวอย่างไร

จะอย่างไรก็ตาม ฮัลโลเวย์มองว่า ความรุนแรงบางอย่างในนามศาสนาก็อธิบายได้ว่า “มีความชอบธรรม” ตัวอย่างเช่น โมเสสพาชาวยิวหนีจากความเป็นทาสแรงงานของฟาโรห์แห่งอียิปต์อพยพสู่ทะเลทราย ย่อมจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงช่วย แต่การใช้ความรุนแรงเพื่อปลดปล่อยทาสผู้ถูกปฏิบัติเสมือนไม่ใช่มนุษย์และพร้อมจะถูกเขี่ยทิ้งเหมือนเศษสวะได้ตลอดเวลา เราย่อมเข้าใจได้ว่ามีความชอบธรรม

เมื่อศาสนาในความหมายที่เป็น “พลังแห่งการปลดปล่อยจากการถูกกดขี่” แบบโมเสสและเยซูถูกนายทาสที่เป็นคนผิวขาวนำมาสอนทาสชาวแอฟริกัน บรรดาทาสเหล่านั้นย่อมซึมซับความหมายของศาสนาคริสต์ราวกับเป็น “เรื่องราวของพวกเขาเอง” ขณะที่นายทาสกลับมีวิถีชีวิตของผู้กดขี่ซึ่งตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความหมายของศาสนาที่พวกตนสอน

ศาสนาของนายทาสถูกใช้เป็น “ยาฝิ่น” บรรเทาความเจ็บปวดของบรรดาทาสชาวแอฟริกันจากการถูกเฆี่ยน ถูกกดขี่บังคับให้ทำงานหนักอย่างทารุณอยู่นาน ต่อมาศาสนาได้ถูกแปรเป็นพลังในการต่อสู้ปลดปล่อยทาสในอเมริกัน และส่งต่อพลังดังดังกล่าวมาสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมของคนผิวดำ โดยนักเทศน์ผู้มีวาทะปลุกเร้าความเท่าเทียมอย่างทรงพลัง นามมาร์ติน ลูเทอร์ คิง

ประวัติศาสตร์จึงแสดงให้เราได้เห็นว่า เมื่อศาสนาอยู่ข้างผู้ถูกกดขี่ ศาสนาย่อมงดงามและเปี่ยมพลังแห่งการปลดปล่อย ไม่ว่ากรณีของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง, มหาตมะ คานธี หรือพุทธศาสนาในศรีลังกา, พม่า, ที่เคยเป็นพลังในการต่อสู้กับการกดขี่ของประเทศเจ้าอาณานิคม เราย่อมเห็นได้ถึงด้านที่งดงามและคุณค่าทางการเมืองของพลังทางศาสนา

ทว่าเมื่อศาสนามีอำนาจทางการเมือง ย่อมมีความหมายที่ต่างออกไป จริงอยู่ แม้จะฟังดูมีเหตุผลดังที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในตอนท้ายบทความ “ความแปลกหน้าของมุสลิม” (https://www.matichonweekly.com/featured/article_58920 ) ว่า

“ ผมควรกล่าวด้วยว่า หากศาสนามีความสำคัญแก่ผู้คนในสังคมมากอย่างเช่นสังคมอิสลาม จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้นำทุกฝ่ายย่อมอ้างศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งนั้น ทั้งฝ่ายที่ครองอำนาจและฝ่ายที่อยากจะแย่งอำนาจ อันที่จริงศาสนิกอื่นก็ทำอย่างเดียวกัน เพียงแต่สิ่งที่อ้างไม่เกี่ยวกับ ‘ศาสนา’ เท่านั้น เช่น อ้างคอมมิวนิสต์, อ้างชาตินิยม, อ้างเสรีภาพและประชาธิปไตย, อ้างทุนนิยม, อ้างความเป็นไทยหรือความเป็นอเมริกัน, อ้างเสาหลัก ฯลฯ แล้วก็จับอาวุธฆ่ากันอยู่เสมอ ”

แต่ความจริงที่ต้องพูดต่อจากนิธิคือ เมื่อศาสนามีอำนาจทางการเมืองเสียเอง ย่อมกลายเป็นปัญหาที่ยากยิ่ง เพราะเมื่อเราเผชิญกับอำนาจทางการเมืองในนามศาสนา เราไม่เพียงแต่ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจของมนุษย์ด้วยกัน หากแต่เรากำลังเผชิญหน้ากับ “อำนาจของพระเจ้า” หรือ “อำนาจของธรรม” ในองค์สมมติเทพที่แตะไม่ได้

อันที่จริง เราควรจะย้อนไปพิจารณาเหตุผลของฮัลโลเวย์ว่า ทำไมเราจึงขยาดความรุนแรงในนามศาสนา แม้ว่าเราจะยอมรับความจริงว่ามันมีความรุนแรงเกิดขึ้นในมิติอื่นๆ ดังที่กล่าวข้างต้นและดังที่นิธิชี้ให้เห็น และเราควรจะพูดให้ชัดลงไปว่า การอ้างศาสนาเข้าสู่อำนาจทางการเมืองแบบที่นิธิกล่าวถึงนั้น มันคือการอ้างภายใต้ระบบการเมืองการปกครองที่สถาปนาขึ้นโดยศาสนา ซึ่งเราก็ได้บทเรียนมาแล้วว่า อำนาจทางการเมืองที่ศาสนาสถาปนาขึ้นในยุคกลางในยุโรป หรือรัฐนาฏกรรมในเอเชีย รวมทั้ง “รัฐศาสนา” ในปัจจุบันนั้น อย่าว่าแต่จะมีสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองและทางอื่นๆ เลย แม่แต่ “เสรีภาพทางศาสนา” แบบสังคมโลกวิสัยก็ไม่สามารถจะมีได้

ดังนั้น การอ้างเสรีภาพและประชาธิปไตยในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง จึงมีความหมายต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับการอ้างศาสนาเข้าสู่อำนาจทางการเมือง และการลงโทษผู้กระทำความผิดบนหลักสิทธิมนุษยชนก็ย่อมต่างอย่างสิ้นเชิงกับการลงโทษตามหลักศาสนา ด้วยการปาหิน ตัดมือ ประหารชีวิตคนรักร่วมเพศ ฯลฯ ตามที่ผมยกข้อโต้แย้งมาให้เห็นข้างต้น จริงอยู่ การตัดมือและประหารชีวิตก็ผ่านกระบวนการพิจารณาของศาล แต่ศาลตามกฎหมายศาสนาก็ต่างอย่างสิ้นเชิงกับศาลที่ใช้กฎหมายบนหลักสิทธิมนุษยชน นี่เป็นความต่างทาง “หลักการพื้นฐาน” ที่ชัดแจ้ง

การเปลี่ยนระบบการเมืองการปกครองและเรื่องสาธารณะอื่นๆ จากอำนาจศาสนา จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้ที่ยาวนาน ผ่านการสูญเสียมหาศาล และมีบทเรียนชัดเจนแล้วว่า เมื่อศาสนามีอำนาจทางการเมืองแบบยุคกลาง มักจะนำมาซึ่งการกดขี่และความรุนแรง แม้แต่พุทธศาสนาที่ไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองเต็มที่แบบคริสต์และอิสลาม แต่เมื่อเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่และมีบทบาทชี้นำทางการเมืองสูงแบบพุทธศรีลังกา,พม่า, ไทย ก็มักจะนำไปสู่ความรุนแรงได้เช่นกัน

หรือแม้แต่พุทธแบบธิเบตที่นำโดยทะไลลามะองค์ปัจจุบัน ถ้าเราลอง “สมมติ” ให้ทะไลลามะเป็นองค์จักรพรรดิจีน (โดย “สมมติ” ต่ออีกว่าจีนยังเป็นระบบกษัตริย์) เราย่อมจะจินตนาการเห็นบทบาทศาสนาของทะไลลามะต่างออกไปจากบทบาทอันสวยงามด้วยสำนึกการปลดปล่อยอย่างที่เห็นได้ในปัจจุบัน

ดังนั้น หลักการของแนวคิดโลกวิสัย (Secularism) ที่ยืนยันการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายใต้หลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นการปกครองด้วยหลักการทางโลก จึงถูกต้องดังที่ฮัลโลเวย์กล่าวว่าเป็น “การถอดเขี้ยวเล็บ” ของศาสนา เพราะถ้าให้ศาสนายังมีเขี้ยวเล็บคือมีอำนาจทางการเมืองแบบที่เคยมีมา เสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนย่อมเกิดไม่ได้

ผมไม่ได้มองว่าสิทธิมนุษยชนคือ “ศาสนา” เพื่อนต่างศาสนาของผมมักจะบอกว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้น ไม่อาจเทียบได้กับบทบัญญัติของพระเจ้า” แต่ผมมองตามข้อเท็จจริงว่า หลักสิทธิมนุษยชนไม่ได้ขัดแย้งกับคำสอนสำคัญของศาสนา ในส่วนที่ถือว่าทุกคนคือบุตรของพระเจ้าเท่าเทียมกัน พระเจ้าให้เจตจำนงเสรีแก่มนุษย์ พระองค์รักมนุษย์ และมนุษย์รักพระองค์ ผู้ยืนยันหลักสิทธิมนุษยชนไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับคำสอนศาสนาเกี่ยวกับเรื่องความรัก ความเมตตากรุณา การให้อภัย ความอดกลั้นต่อความเชื่อที่แตกต่าง หรือประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาที่ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคล

แต่หลักสิทธิมนุษยชนจะขัดแย้งโดยเฉพาะกับคำสอนศาสนาใดๆ ที่ไม่เคารพสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ การยอมรับระบบทาส การใช้อำนาจเผด็จการและความรุนแรงในนามพระเจ้า,ธรรมะ หรือความเชื่อใดๆ ที่ละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคล เสรีภาพทางศาสนา สิทธิ และเสรีภาพทางการเมือง

แน่นอน ผู้ยืนยันหลักหลักสิทธิมนุษยชน ย่อมไม่มีปัญหาใดๆ กับการอ้างศาสนาเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ถ้าหากพระเจ้าหรือธรรมะของศาสนาใดๆ สามารถให้หลักประกันได้ว่า ผู้ใช้อำนาจทางการเมืองในนามศาสนา จะไม่มีทางละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ประวัติศาสตร์และความเป็นจริงในปัจจุบันยืนยันชัดแจ้งว่า พระเจ้าและธรรมะไม่เคยสามารถให้หลักประกันดังกล่าวได้จริง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net