Skip to main content
sharethis

อุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น ปรับ 'ทนายอานนท์' 1,000 บ. ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฐานไม่แจ้งจัดการชุมนุมกิจกรรม 'ยืนเฉยๆ' ร้องปล่อย 8 แอดมินเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” เจ้าตัวยันยื่นฎีกาต่อประเด็นจับกุมที่ไม่ชอบ พร้อมจ่อร้องศาล รธน.วินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้วย

อานนท์ (คนกลาง) ร่วมกิจกรรม 'ยืนเฉยๆ' เมื่อวันที่ 27 เม.ย.59

7 พ.ย. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้(7 พ.ย.2560) ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี “ยืนเฉยๆ” ที่ อานนท์ นำภา ทนายความ ถูกฟ้องในข้อหาไม่แจ้งจัดการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการทำกิจกรรม 'ยืนเฉยๆ' ที่วิคตอรี่พ้อยท์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2559 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว แอดมินของแฟนเพจ “เรารักพล.อ.ประยุทธ์” ทั้ง 8 คน ศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับ 1,000 บาท ตามศาลชั้นต้น

ผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม อานนท์ เพิ่มเติมถึงแนวทางการต่อสู้คดี อานนท์ เปิดเผยว่า จะยื่นฎีกา ภายใน 1 เดือน

อานนท์ เปิดเผยอีกว่า จะฎีกาประเด็นการจับกุมที่ไม่ชอบ เพราะตนเห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับกุมได้ทันทีโดยไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  คือขออำนาจศาลก่อน เป็นการตีความที่ทำให้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เกี่ยวกับขั้นตอนการให้ยุติการชุมนุมไม่มีผลบังคับใช้ เป็นการตัดอำนาจศาลในการพิจารณาว่าการชุมนุมนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งทีมทนายกำลังปรึกษาว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของ พ.ร.บ.นี้ด้วย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ว่า พิจารณาใน 2 ประเด็น คือการจับกุมตัว อานนท์ นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้จำเลยได้อุทธรณ์ว่าตามที่พยานตำรวจผู้จับกุมได้ให้การไว้ในศาลชั้นต้นว่าได้ทำการจับกุมจำเลยเพราะเห็น่วาเป็นความผิดซึ่งหน้า โดยไม่ได้มีการประกาศเตือนให้เลิกการชุมนุมและไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมและไม่ได้ประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ควบคุมก่อน จำเลยจึงเห็นว่าการปฏิบัติงานของตำรวจไม่ได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 21, 23 และ 24 และการแจ้งสิทธิและข้อกล่าวหาแก่จำเลยยังทำที่สน.พญาไทหลังการจับกุมแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสองอีกด้วย โดย ประเด็นนี้ศาลพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดซึ่งหน้าการจับกุมของเจ้าหน้าที่จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ประเด็นต่อมาการที่จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นการตรา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่ยังไม่ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเนื่องจากเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2557 เป็นเพียงฉบับชั่วคราว และการจัดกิจกรรมของจำเลยเป็นไปโดยสงบและเป็นการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

อีกทั้งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายยังให้การแจ้งจัดการชุมนุมก่อนการชุมนุมยังเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกและรักษาความปลอดภัยของประชาชนแต่พยานฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่าทราบจากเฟซบุ๊กของจำเลยว่าจะมีการจัดชุมนุมแล้วและได้มีการจัดกำลังมาในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้มาเพื่อการดูแลความสะดวกแก่ประชาชน กลับกลายเป็นการมาเพื่อจับกุมจำเลยไม่ให้ชุมนุม จึงเป็นการขัดขวางและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของจำเลยและประชาชน

ศาลพิจารณาว่าหากจำเลยเห็นว่ากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ต้องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่และยังไม่มีการเพิกถอน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ และในการตรา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็ออกมาโดยชอบแล้ว

ในส่วนของประเด็นอื่นๆ ที่จำเลยอุทธรณ์เป็นเพียงรายละเอียดปลีกไม่ได้เป็นสาระแก่การเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์จึงพิจารณาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

นอกจากคดีนี้ อานนท์ ยังถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกัน จากกิจกรรม 'ยืนเฉยๆ' เมื่อวันที่ 19 เม.ย.59 เพื่อเรียกร้องให้ทหารปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข ที่ถูกคุมตัวในค่ายทหารขณะนั้น อานนท์ ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเดียวกัน  ต่อมาศาลพิพากษาปรับ 1,000 บาท และ อานนท์ได้ยื่นอุทธรณ์ไปนั้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ 21 ธ.ค.นี้ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net