นักข่าวพลเมือง: "เราต่อสู้กับความไม่แยแสของสังคม"

พูดคุยกับสองนักข่าวพลเมือง เมื่อข่าวกระแสหลักผลิตซ้ำข้อมูลชุดเดิม ฝังความเชื่อหลักในสังคม ส่งผลถึงนโยบายรัฐ นักข่าวพลเมืองจึงต้องนำเสนอความจริงรูปแบบอื่นจากประสบการณ์ตรง ย้ำการสร้างเครือข่ายสำคัญไม่อาจทำเพียงคนเดียว เผยปัญหาถูกคุกคามจากรัฐอ้างภัยความมั่นคง และ  "ไม่ใช่แค่ความมั่นคงของรัฐ แต่เราต่อสู้กับความไม่แยแสของคนในสังคม"

เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.) ที่ Warehouse 30 มีงานเสวนา “พลังของสื่อพลเมืองกับการสร้างสังคมที่เป็นธรรม” โดยมีวิทยากรคือ  ธีรมล บัวงาม บรรณาธิการมูลนิธิสื่อประชาธรรม และชัชวาล สะบูดิง กลุ่ม Selatan Nature จ.ปัตตานี และพิธีกรคือศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

หลังเสวนามีการฉายภาพยนตร์สารคดี City of ghost ซึ่งเรื่องราวระหว่างกลุ่มนักข่าวพลเมือง ที่ต่อสู้กับกลุ่ม ISIS โดยใช้สื่อออนไลน์ในการนำเสนอและโดนตามไล่ล่า งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล MIDL Week 2017 : พลังพลเมืองดิจิทัล จัดโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส), ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center), Documentary Club และ Warehouse 30

จากซ้ายไปขวา ชัชวาล สะบูดิง ธีรมล บัวงาม และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

จุดเริ่มต้นของนักข่าวพลเมือง

ธีรมล บัวงาม บรรณาธิการมูลนิธิสื่อประชาธรรม กล่าวว่า การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่านักข่าวพลเมืองหรือการสื่อสารที่ประชาชนลุกขึ้นมาสื่อสารด้วยตัวเอง หลายๆที่เริ่มต้นจากการประสบปัญหาหรือเผชิญความไม่เป็นธรรมบางอย่าง และพบว่าพื้นที่ข่าวของรัฐหรือเอกชนมันมีข้อจำกัดบางอย่าง

ประชาธรรมตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 พยายามส่งเสริมให้มีข่าวสารของภาคประชาชน ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อนภูมิทัศน์สื่อไม่เป็นแบบในปัจจุบัน ถ้าอยู่ต่างจังหวัดก็จะมีแค่ช่อง 7 ที่รับสัญญาณได้ดี ข่าวส่วนใหญ่มักจะเป็นข่าวของคนกรุงเทพ ส่วนข่าวที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้าน ข่าวเรื่องน้ำท่วม เรื่องราคาพืชผล ไม่ค่อยถูกนำเสนอ ส่วนถ้าชาวบ้านก่อม็อบเพราะราคาพืชผลไม่ดีก็จะถูกนำเสนอในแง่ที่คนเหล่านี้มาสร้างปัญหา ก่อความวุ่นวาย ทั้งที่ปัญหาอาจเกิดมาจากรัฐบาลไปเซ็น FPA กับจีน ปัญหาพวกนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การศึกษาไม่พอ ทุนในการเข้าถึงไม่เท่ากัน

ขณะที่ชัชวาล สะบูดิง กลุ่ม Selatan Nature จ.ปัตตานี  เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ว่า 13 ปีของการเกิดเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 47 เกิดเหตุกรือเซะ-ตากใบ ถึงปัจจุบัน ถูกปลูกฝังว่าเป็นชายแดนใต้เป็นพื้นที่อันตราย สื่อกระแสหลักจะโจมตีว่าเป็นพื้นที่โหดร้าย แต่ในสามจังหวัดก็มีพื้นที่ที่ดีด้วยเช่นกัน เราจึงพยายามพูดถึงพื้นที่ดีที่มีอยู่ แต่คนมักจะเสพแต่สื่อที่บอกว่าวันนี้มีการฆ่า วันนี้มีระเบิด ส่วนสื่อที่มีเรื่องของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในแง่ดีๆ เสนอแหล่งท่องเที่ยว หรือความโดดเด่นทางพหุวัฒนธรรม ทั้งจีน พุทธ มุสลิม คนมักไม่ค่อยสนใจ

"ตัวผมเองเวลาเข้าด่านทหารผมมักโดนตรวจค้น เรียกไปพูดคุย คุณเป็นใคร มาจากไหน จะไปทำอะไร ทหารเหล่านี้บางส่วนเป็นทหารมาจากพื้นที่อื่น มีความระแวงคนในพื้นที่ เห็นคนหน้าตาแปลก มีหนวดเครา ใส่เสื้อโต๊บ เขาก็ระแวงไปหมดทุกอย่าง คนในพื้นที่จะรู้ว่านี่คือทหารใหม่ เพราะเขาเห็นความระแวง ซึ่งเหล่านี้มันเกินกว่าสภาพปัญหาจริงๆ

หรือตอนผมยังเรียนอยู่แล้วขึ้นมากรุงเทพฯ อาจจะใส่ชุดนักเรียกที่แปลกกว่าที่อื่น ผมไปซื้อของแล้วเจอคำถามว่า มาจากไหน ผมตอบว่า มาจากนราธิวาส เขาถามกลับมาว่า เอาระเบิดมารึเปล่า

หรือเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ที่มีข่าวจับกุมกลุ่มนักศึกษาที่อยู่แถวรามฯ แล้วบังเอิญเจอเครื่องข้าวยำ แต่คิดว่าเป็นวัตถุระเบิด ซึ่งหมายความว่าเขาตั้งอคติไว้ตั้งแต่ต้น ด้วยการสะสมของเคสต่างๆ ทำให้คนเกิดอคติ และเลือกปฏิบัติกับเขา" ชัชวาลกล่าว

ความยากในการนำเสนอความจริงอีกชุดที่ต้องปะทะกับข้อมูลเดิมที่คนมีอยู่ตลอดเวลา

ธีรมลอธิบายว่า

สิ่งที่สื่อพลเมืองทุกพื้นที่ทั้งโลกพยายามบอกคือ มันยังมีความหมายในการอธิบาย มันยังมีความเข้าใจอื่นๆ ที่หลงหายไป ตรงนี้คือวิธีการสู้ของสื่อพลเมือง มันคือการไม่ยอมรับความหมายที่สังคมยอมรับ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องถูกผลิตซ้ำ ความหมายพวกนี้มันไปส่งผลต่อแนวนโยบายของรัฐ ทางการเงิน การทหาร ความมั่นคง หรือแม้กระทั่งทัศนคติของสังคมส่วนรวม

สื่อพลเมืองเราต้องทำการให้คนรู้ทัน รู้ธรรม และรู้ทำ รู้ทันคือรู้โครงสร้างของสื่อ อย่างคลื่น Broadcasting มันก็จะถูกผูกขาดอยู่ในหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานของรัฐ ที่เป็นเอกชนมีค่อนข้างน้อย เพราะแบบนี้มันถึงถูกผลิตซ้ำๆ ย้ำๆ และสร้างอำนาจ รู้ธรรมก็คือการให้ความเป็นธรรมโดยให้พื้นที่ข่าวแก่อีกฝ่าย และรู้ทำคือลุกขึ้นมาทำของตัวเอง

ชัชวาลกล่าวว่า เป็นความท้าทายของเราที่จะนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่คนอื่นไม่ได้ทำ การนำเสนอความจริงเราต้องเตรียมตัวจากการคุกคาม ซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่จากรัฐ แต่อาจจะมาจากกลุ่มอื่นด้วย เราควรมีแผนหรือมีอะไรบางอย่างรองรับเรา หาคนมาเป็นแบคกราวด์ในการปกป้องเรา

ความเสี่ยงของนักข่าวพลเมือง

ธีรมลเห็นว่า ปัญหาที่เราพบคือจะทำยังไงให้คนอ่าน ให้คนเห็นคุณค่า หรือที่เขาใช้ว่า “มันไม่เซ็กซี่” คนก็ไม่อ่าน มันมีการประยุกต์ ปรับเปลี่ยน ใช้วิธีการต่างๆ มากมาย อันนี้เป็นกระบวนการที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้รับสารในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่สื่อพลเมืองทำได้และสำคัญอย่างหนึ่งแต่คนไม่ค่อยเห็นเพราะมันอยู่หลังฉากคือการสร้างเครือข่าย สิ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้งานมันสร้างแรงสั่นสะเทือนและเกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้ เพราะน้อยครั้งมากที่เราทำข่าวชิ้นหนึ่งแล้วมันจะเปลี่ยนแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน พวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำไปเรื่อยๆ

ตอนแรกประชาธรรมทำงาน เราก็บอกว่าประชาชนเป็นผู้ถูกกระทำจากโครงการของรัฐ เป็นเหยื่อของการพัฒนา เราก็นำเสนอชาวบ้านในมุมที่ดราม่านิดหน่อย ให้เห็นความมนุษย์ ต่อมาความเป็นมนุษย์มันเริ่มขายไม่ได้แล้ว เริ่มเฝือ เพราะมันถูกใช้มาตลอด และมันเริ่มซ้ำ เป็นพล็อตคลีเช่ เขาเดาได้ว่าเรื่องจะเป็นแบบนี้ และสุดท้ายก็จะนำเสนอแบบนี้ มันก็เลยไม่ต้องอ่าน เพราะยังไงคุณก็พูดเรื่องเดิม

เรื่องที่สัมพันธ์กันด้วยคือสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเสรีภาพการแสดงออก สังคมไทยถูกจำกัดและควบคุมเรื่องเหล่านี้ "ความมั่นคงของรัฐ" มันใหญ่โตครอบคลุมมาก แม้กระทั่งทรงผม มีหนวดเครา ก็อาจมีปัญหากับความมั่นคงของรัฐได้ หรือแม้กระทั่งภาษาถิ่นที่ไม่ใช่ภาษากลางของรัฐ คนที่ทำสื่อพลเมืองนอกจากว่าจะทำยังไงให้น่าสนใจแล้ว ยังต้องเผชิญหน้ากับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และพอนำเสนอหลายคนถูกข่มขู่คุกคาม และกลไกการตรวจสอบของรัฐ

จากประสบการณ์ที่ผมเจอมา หลายคนถูกยิง หลายคนถูกขู่ หลายคนถูกตั้งข้อกล่าวหา เรียกไปปรับทัศนคติ โทรหา ใครก็ตามในพื้นที่ทำสิ่งที่ขัดกับที่รัฐกำลังบอก ก็จะถูกอธิบายว่าขัดต่อความมั่นคงของรัฐ โครงสร้างแบบนี้ทำให้ ไม่เฉพาะสื่อพลเมือง สื่อท้องถิ่น สื่อมวลชนทุกคนได้รับผลกระทบหมด และทุกคนก็ต้องเรียนรู้ที่จะสร้างความปลอดภัยทางดิจิทัลของตัวเองขึ้นมา ดังนั้นเรื่องความปลอดภัยทางดิจิทัลก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้

ด้านชัชวาลเล่าเรื่องในสามจังหวัดชายแดนใต้ว่า มีข่าวบางข่าวที่เราพยายามจะนำเสนอ เช่น มีคดีที่คนถูกฆ่า ข่าวกระแสหลักและบางสื่อออกข่าวมาในมุมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ความเป็นจริงการฆ่าครั้งนี้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่ทุกอย่างโยงไปเข้ากับความไม่สงบ ถ้าเราจะเลือกนำเสนอในเรื่องความรุนแรงหรือความขัดแย้ง ทุกครั้งที่มีการฆ่ากันตายในกรุงเทพ เอาไปผูกโยงกับเรื่องการก่อการร้าย กรุงเทพก็จะเป็นเมืองที่ดูไม่สงบขึ้นมาทันทีเช่นกัน

นอกจากนี้ชัชวาลยังให้ความเห็นว่า ข่าวที่ออกมาจาก 3 จังหวัดในความรู้สึกส่วนตัวมักเป็นการด่วนสรุป และไม่มีการติดตามต่อ ปัจจุบันค่อนข้างดีขึ้น มีเรื่องที่ดีออกมาบ้าง การจะออกเป็นข่าวสักข่าวก็มีการกรองมากขึ้น

ความยากของคนรับสารในปัจจุบัน การแยกสื่อที่มีจรรยาบรรณหรือสื่อที่ปั่นความขัดแย้ง

ธีรมลแสดงความเห็นว่า ส่วนที่สังคมไทยขาดคือความคิดเชิงวิพากษ์ที่มันอยู่ในกระดูกสันหลังของเรา ผมโตมาพร้อมกับคำสอนว่าต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ สังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์ไม่เป็น ถ้าเราโต้แย้งจะโดนหาว่าก้าวร้าว หัวรุนแรงทันที แต่จริงๆ แล้วเรายังเคารพอยู่ เราแค่โต้แย้งทางความคิดเฉยๆ

คือตอนนี้เรายอมรับความหลากหลายเฉพาะว่า อย่ามายุ่งกับกู กูมีชีวิตของกู แต่เราไม่ยอมรับความหลากหลายคนอื่น เราเรียกร้องให้คนอื่นมายอมรับสิทธิของเรา เราอยากจะทำแบบนี้ แต่เราไม่แคร์คนอื่น ความเคารพตัวเองและเคารพความคิดคนอื่นมันหายไป ผนวกกับความคิดเชิงวิพากษ์ที่หายไป มันเลยทำให้ความพยายามในการส่งเสริมการเท่าทันสื่อมันน้อย เพราะน้อยคนจะตื่นตัว คนที่จะมากดรีพอร์ทมาเพจนั้นเพจนี้ว่ามันไม่โอเคจึงมีน้อย

ในส่วนองค์กรสื่อ ข้อเสนอธีรมลคือ

สิ่งที่เราพยายามจะต่อสู้ไม่ใช่แค่ความมั่นคงของรัฐ แต่เราต่อสู้กับความไม่แยแสของคนในสังคม

เช่น ในเฟซบุ๊ค เรารู้สึกว่าเราเปิดรับข้อมูลข่าวสาร เราเข้าถึง แต่จริงๆ มันมีคนอีกครึ่งประเทศที่ยังไม่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ช่องว่างทางดิจิทัลมันยังเป็นปัญหาในสังคม โครงสร้างพวกนี้ยังไม่เท่าเทียม

"ทุกวันนี้มันมีคนลุกขึ้นมาเล่าเรื่องของตัวเองเยอะแยะมากมาย แต่ลองจินตนาการว่าคนเหล่านี้เป็นแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งหมดในประเทศเท่านั้น แล้วอีก 50 เปอร์เซ็นต์อยู่ไหน ถ้าคนกลุ่มนี้เข้ามาในโลกอินเทอร์เน็ตด้วย และมาช่วยสร้างโลกอินเทอร์เน็ตอีกแบบหนึ่งล่ะ มันจะมันส์มากเลยนะ" ธีรมลกล่าว

บรรณาธิการมูลนิธิสื่อประชาธรรมเสนอต่อว่า เราอยู่ในระบบที่เราเชื่อว่าเราเปิดกว้างรับรู้ แต่จริงๆ แล้วอยู่ในฟิลเตอร์บับเบิ้ล อยู่ในฟองน้ำของเรา ก็ยิ่งทำให้การรับรู้เราจำกัด เพราะฉะนั้นทำยังไงให้ทุกคนอ่าน หรือแชร์ข่าวตู้มหนึ่งแล้วเป็นกระแส ผมคิดว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่สิ่งที่เราต้องทำคือกัดไม่ปล่อย สร้างฐานข้อมูลที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยง สามารถค้นได้ เช่น สมมติวันหนึ่งลูกหลานเราอยากรู้เหตุการณ์กรือเซะ-ตากใบ เขาก็ควรได้เห็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ ไม่ใช่ว่าทำแล้วก็ปล่อยหาย หรือคาดหวังว่าข่าวชิ้นหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงสังคม มันไม่มีทาง

"ที่สำคัญคือการสร้างเครือข่ายที่ตื่นตัว หากใครถูกอุ้มหาย ถูกจับกลุ่มเพราะนำเสนอข่าว เราก็ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ทำให้คนทำงานในพื้นที่ไม่รู้สึกว่ากำลังสู้อย่างโดดเดี่ยว ผมคิดว่าเราต้องการสังคมที่เอื้ออาทรและตื่นตัวมากกว่านี้มันถึงจะทำให้คนที่ทำงานอยู่ตอนนี้มีพลังใจและทำต่อไปได้" ธีรมลกล่าว

ส่วนชัชวาลกล่าวเสริมว่า

คนมักจะรับข้อมูลข่าวสารที่ตัวเองสนใจเท่านั้น ทั้งที่โลกนี้เป็นพลวัตร ทุกสิ่งมีส่วนเกี่ยวเนื่องกัน สำคัญคือจะทำยังไงให้คนรู้สึกรับผิดชอบร่วมการ และทำยังไงให้มีตัวเชื่อมระหว่างความจริงสองชุดที่แตกต่าง มีเวทีในการถกเถียงพูดคุยเพื่อให้เกิดประเด็น

 

เราจะสร้างเครือข่ายได้อย่างไร?

ศิโรตน์ในฐานะพิธีกรในงานและคนที่ทำงานในองค์กรสื่อกระแสหลักเล่าว่า "ความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันของพลเมือง" นั้น เป็นสิ่งที่สื่อกระแสหลักไม่ได้คิด ศิโรตน์ตั้งคำถามว่า แต่ในความจริงคนระดับรากฐานของประเทศนี้ทุกกลุ่มมันมีความทุกข์คล้ายๆ กัน หากเราคอนเนคกันได้มันเปลี่ยนประเทศนี้ได้ แต่ในความเป็นจริงคนไม่คอนเนคกัน ไม่ต่อติดกัน จะแก้ปัญหานี้ยังไง

ธีรมลให้ความเห็นว่า ช่วงหลังลองมาจับประเด็นเรื่องเมืองหรือ urbanization พยายามจะหาจุดร่วมกันของคนในเมือง อย่างประชาธรรมทำปัญหาเรื่องชาวบ้านในชนบท เรื่องทรัพยากร น้ำป่า ทำมาเยอะมาก แต่ตอนนี้เราพูดถึง "พลเมือง" ในสมัยใหม่ ความเป็นพลเมืองมันไม่ใช่แค่มีบัตรประชาชน แต่คำว่า "พลเมือง" มันมีพลวัตรที่เยอะมาก

ยกตัวอย่างเช่น เชียงใหม่สมัยก่อนความเป็นพลเมืองคือคนที่อู้กำเมือง แต่ตอนนี้เมืองเชียงใหม่มีนักท่องเที่ยว มีคนจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ที่เกษียณแล้วย้ายมาอยู่ หรือคนต่างประเทศที่มาทำงานในไทย หรือแรงงานข้ามชาติ ทั้งหมดนี้เราจะนับว่าเป็นพลเมืองของเชียงใหม่ได้ไหม

"ถ้าภูมิทัศน์ของทั้งโลกมันเปลี่ยน ภาคธุรกิจรู้ว่างานแบบนี้ไม่มีใครทำ ต้องเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่เมืองมันไม่ได้รองรับเขา เมืองบอกว่าคุณต้องเป็นคนไทย หรือต้องเป็นต่างชาติที่เข้ามาแบบถูกกฎหมาย เรากำลังพูดถึงพลเมืองในสังคมที่ความเป็นพลเมืองมันเริ่มไร้เส้นพรมแดน ขอบเขตเดียวที่มีอยู่ตอนนี้สำหรับผมคือภาษา" ธีรมลกล่าว

บรรณาธิการประชาธรรมกล่าวต่อว่า ผมพยายามจะใช้ประเด็นความเป็นเมือง ประเด็นที่เราต้องมาอยู่ด้วยกัน มาแชร์ทรัพยากรร่วมกัน

คนเมืองอยู่ไม่ได้ถ้าขาดแคลนเกษตรกรที่ปลูกข้าวในชนบท ส่วนเขาไม่มีน้ำ เขาก็ปลูกข้าวไม่ได้ ปัญหาน้ำแล้งในชนบทจึงไม่ใช่แค่ปัญหาของเกษตรกร แต่คือปัญหาของคนเมืองด้วย ประเด็นพวกนี้ผมพยายามดึงขึ้นมาแล้วตั้งคำถามว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้ยังไง เราจะดีไซน์ความเป็นเมืองร่วมกันได้ยังไง อันนี้เป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาจากความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่ผ่านมาด้วย

เราต้องยอมรับก่อนว่า ความขัดแย้งมีอยู่จริง เราไม่ได้รักกัน เราไม่ได้ปรองดอง แต่เราจะอยู่ด้วยกันได้ยังไง

ประเด็นทางเศรษฐกิจก็โอเค แง่ว่าเราจะแชร์และกระจายทรัพยากรกันได้ยังไง แต่ว่าสิทธิของการกำหนดล่ะอยู่ที่ใครบ้าง สองสามปีที่ผ่านมาผมพยายามรวมคนกลุ่มต่างๆระหว่างคนที่เป็น active citizen และคนกลุ่มต่างๆ ที่อาจจะไม่ได้มองเห็นประเด็นเหล่านี้ ให้พวกเขาลองมาคุยกัน

ซี่งจริงๆ ข้อค้นพบของผมคือ นายทุนก็ไม่ได้เป็นคนโหดร้าย นายทุนก็ไม่ได้ขูดรีดแรงงานอย่างเดียว จริงๆ คือเขาต้องการความมั่นคงทางการผลิตของเขา เพียงแต่จะจัดการยังไงร่วมกัน ผมคิดว่าบทสนทนาเหล่านี้แหละจะเป็นสิ่งที่ทำให้พลังของงานสื่อสารของภาคพลเมืองมันไปได้ ประเด็นที่ผมพยายามจะเน้นคือการสร้างด้วยเครือข่าย เราพูดเรื่องนี้คนเดียวไมได้ ต้องหาเพื่อน อาจจะพูดไม่ใช่ภาษาเดียวกัน มีคนละแบบ และต้องเข้าใจว่าเขามีผลโยชน์ยังไง เราจะมาเจอกันตรงไหน มันยากมาก แต่ก็ต้องทำ

ต้องสร้างข้อถกเถียงเชิงสร้างสรรค์ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลายเป็นเราไปขวางทางเรือที่กำลังไปตามกระแส และมันจะมีผลกระทบอยู่แล้วกับเรา แต่เราต้องมีศิลปะในการสื่อสาร บอกยังไงให้เขาไม่เสียหน้า ไม่รู้สึกรังเกียจในประเด็นนี้ เช่นช่วงที่มีกระแส PC แรงมาก เช่น คำว่าโสเภณีก็ควรใช้คำว่าหญิงบริการมากกว่า บางคนมองว่ามันมากเกินไป แต่ผมคิดว่ามันเป็นความสนุกของสังคม มันก็ต้องอยู่ร่วมกันแบบนี้แล้วสร้างข้อถกเถียงกันไปแบบนี้

ธีรมลเห็นว่า นักข่าวพลเมืองไม่ใช่เรื่องเฉิ่มเชย ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศโลกที่สาม ถ้าลองไปเสิร์ชดูจะเห็นว่าทั่วโลกก็มีการเทรนนิ่งนักข่าวพลเมือง อเมริกาก็ทำ ทั่วโลกทำ เพราะเกิดสภาวะพื้นที่ทางการสื่อสารไม่เท่ากัน  การเท่าทันสื่อและเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารมันเป็นสิ่งที่ต้องฝังลงไปในการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น บางคำพูดที่เกิดมาจากการดูถูกประเทศอื่น เรานึกถึงคำเหล่านี้โดยอัตโนมัติเมื่ออยากจะพูด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องรื้อถอนมันออกมา แน่นอนว่ามันจะสร้างความวุ่นวาย แต่เป็นความวุ่นวายที่สร้างสรรค์

ด้านชัชวาลเล่าวิธีการทำงานของเขาว่า สิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ตอนนี้คือการใช้ วิทยปัญญา หรือ wisdom ทุกอย่างมันมีความเกี่ยวพันกันหมด และมีความเป็นไป สิ่งสำคัญคือเราต้องยอมรับความแตกต่างได้ เข้าใจ และไม่กีดกัน เริ่มจากตัวของเราเองก่อน เราต้องมองคนในภาพรวมว่าคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน หลังจากเราพัฒนาตัวเองได้ เราค่อยๆ ขยับเครือข่าย มีโครงการที่ผมทำกับเด็ก สิ่งที่ผมพบจากเด็กๆ คือเขาอยากทำดี แม้กระทั่งเด็กที่เรามองว่าเกเร เป็นเด็กแว๊นซ์ ถ้าเรามองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราก็จะปฏิบัติกับเขาในอีกแบบหนึ่ง หรือแรงงานข้ามชาติ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ เราก็รู้สึกต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน

การเป็นพลเมืองในโลกทุกวันนี้อาจต้องเหนื่อยมากในการกรองข่าว แยกแยะข้อมูล เป็นเรื่องเล่าหรือยาพิษที่สอดแทรกเข้ามา ความเป็นพลเมืองต้องมีอะไรบ้าง?

ธีรมล แสดงความเห็นว่า ความเป็นพลเมืองในทุกวันนี้มันยาก การจะเท่าทันสื่อมันยากมาก หนึ่งคือต้องมีตังค์จ่ายค่าเน็ต มีตังค์จ่ายค่าหนังสือความรู้ต่างๆ มีตังค์พาตัวเองมาในวงเสวนาแบบนี้ ต้องมีโอกาส ต้องมีต้นทุน แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไม่มีโอกาสไม่มีทางเป็นพลเมืองที่ตื่นตัว เราต้องเข้าใจว่าคนมีความเหลื่อมล้ำ เราต้องคิดว่าทำยังไงให้มีโครงสร้างที่ทุกคนมีสิทธิเท่ากันก่อน มันมีข้อจำกัดเช่นเรื่องการให้บริการอินเตอร์เน็ตฟรีของกสทช. ก็ยังเป็นความเร็วต่ำ

"สิ่งหนึ่งที่ทำให้ปัญหาในสังคมไทยไม่ถูกมองอย่างแท้จริงคือ ปัญหาทั้งหมดมันยังไม่ถูกวางในระนาบเดียวกัน ถ้าเรามีอินเทอร์เน็ตเราอาจใช้สื่อโซเชียลในการโวยวายปัญหาของเรา แต่คนที่เขาไม่มีจะทำยังไง ผมคิดว่าถ้าเราให้โอกาสทุกคนเท่ากัน จะทำให้เขาเรียนรู้และเห็นในพลังอำนาจของตัวเองและเข้ามามีส่วนร่วมในวงของการสื่อสาร เมื่อมีคนมาร่วมมากขึ้นก็จะมีเสียงสนับสนุนหรือคัดค้านมากขึ้นเช่นกัน" ธีรมลกล่าว

ชัชวาลกล่าวเสริมว่า ผมคิดว่าเราควรเริ่มที่ตัวเราเอง ถ้าสิ่งที่เขาพูดเรารู้ว่ามันไม่เป็นความจริง เราก็พูดความจริงแบบของเราออกมา เราคงไม่สามารถไปวิพากษ์ในทุกเรื่องได้ แต่เริ่มจากสิ่งที่เราเห็นก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท