Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ประท้วงกลางวงเสวนา ยก 10 เหตุผลขอรัฐบาลถอน ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ....ออกจาก สนช. ชี้ขัดต่อเจตนารมณ์ เอื้อนักการเมืองข้าราชการประจำและอดีต รวมถึงนายทุนนักธุรกิจนั่ง กก.ชุดต่างๆ 

9 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (9 พ.ย.60) เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. ที่ ห้อง Le lotus 1 โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด (รัชดาฯ) ช่วงถามตอบวงเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “อนาคตรัฐวิสาหกิจไทย กับ ร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ” ซึ่งจัดโดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมีวิทยากรทั้งนักวิชาการ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่ออภิปรายถึง ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ..." (ร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ) ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการร่างกฎหมายนี้เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และจะพิจารณาออกกฎหมายอีกไม่นานนี้นั้น (รับชมวิดีโอเสวนา)

ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ลุกขึ้นอภิปราย พร้อมผู้เข้าร่วมจาก สรส. ในห้องเสวนาประมาณ 50 คน รวมกันชูป้ายข้อความคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างฉบับนี้ออกมา โดยให้เหตุผลประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ขัดต่อเจตนารมณ์ และหลักการของร่างกฎหมายโดยสิ้นเชิง โครงสร้างของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ล้วนมาจากนักการเมือง ข้าราชการประจำและอดีต รวมถึงนายทุนนักธุรกิจ

สรส. ระบุด้วยว่า การตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ในการถือหุ้นแทนกระทรวงการคลังเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานเต็มศักยภาพมีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์  เป้าประสงค์ของรัฐวิสาหกิจที่เปลี่ยนจากบริการประชาชนไปเป็นเพื่อการพาณิชย์ การค้าขาย การลงทุน โครงสร้างและอำนาจคณะกรรมการชุดต่าง  ๆ แล้ว ก็ปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นของสังคมหรือแม้กระทั่งบุคคลในองค์กรนั้น ๆ  ขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 23 (4) ที่บัญญัติว่าทุกคนมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานและมีสิทธิเข้าร่วมกับสหภาพแรงงาน และตามหลักการพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ 
 
รวมทั้งประเด็นที่อ้างว่า กระทรวงการคลัง ยังคงถือหุ้นในบรรษัทอยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หลายมาตราที่กล่าวมา ที่จะกำหนดสัดส่วนการถือหุ้น จำหน่ายหุ้น กำหนดให้บรรษัทลดสัดส่วนการถือหุ้นจนพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจได้  เป็นต้น
 
รายละเอียดตามแถลงการณ์ที่ สรส.แจกในวงเสวนา ดังนี้ :
 

เหตุผลที่ขอให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ....ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ตามที่รัฐบาลได้นำร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและร่างดังกล่าว สภา สนช. ได้พิจารณาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2560 ซึ่งได้ผ่านวาระแรกไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ข้ออ้างของรัฐบาลนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ คือต้องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ปลอดจากการเมืองเข้ามาแทรกแซง ให้บริการแบบโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล ให้เกิดประสิทธิภาพ ให้บริการที่ดีแก่ประชาชน และเพื่อเป็นกลไกของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการลงทุน โดยคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้  ฟังแล้วดูดี แม้กระทั่งชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ....” แต่เมื่อพิจารณาในสาระในรายมาตราแล้ว กลับไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวอ้างตั้งแต่ต้น และขบวนการร่างกฎหมายฉบับนี้ ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กล่าวคือ

1.      หลักการร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... แต่เหตุผลขัดต่อ เจตนารมณ์ และหลักการของร่างกฎหมายโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ

1.1 โดยที่รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกของรัฐในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศ รวมถึงเป็นผู้ให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป และสอดคล้องกับมาตรการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลซึ่งครอบคลุมการกำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจ และรัฐวิสาหกิจ ให้ชัดเจน ตลอดจนให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ รัฐวิสาหกิจที่เป็นช่องทางในการส่งผ่าน นโยบายของภาครัฐ ไปยังรัฐวิสาหกิจให้มีความชัดเจน และโปร่งใส รวมทั้งให้มีการเปิดเผย ข้อมูล การประเมินผลการดำเนินงาน และการกำหนดกระบวนการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้ง เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นประสบการณ์และความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ อันนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดทำบริการสาธารณะ ที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

1.2 และสมควรจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ทำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เป็น

บริษัทแทนกระทรวงการคลังเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพ ในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ และสามารถดำเนินการได้เต็มศักยภาพ โดยคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้

จะเห็นว่าเหตุผลขัดกันโดยสิ้นเชิง คือ ข้อที่ 1.1 กล่าวถึงการพัฒนารัฐวิสาหกิจ การกำกับดูแล การตรวจสอบ การให้บริการที่ดี และให้รัฐวิสาหกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน แต่ในข้อ 1.2 ให้มีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ “แต่ไม่ได้เป็นบรรษัท “รัฐ” วิสาหกิจแห่งชาติ คำว่ารัฐหายไป” และบริษัททำหน้าที่ในฐานะผู้ถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท และบริษัทมหาชนจำกัด แทนกระทรวงการคลังเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ ซึ่งในบางมาตรา ที่กำหนดให้กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นและลดสัดส่วนการถือหุ้นจนพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจได้ เช่น มาตรา 3, 11, (4) (6) (8) มาตรา 45, 47, 49, 57 (3) เป็นต้น

2.      ประเด็นที่อ้างว่าให้ปลอดจากการเมืองแทรกแซง แต่เมื่อพิจารณาแล้ว จากโครงสร้างของ คณะกรรมการชุดต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจ คณะกรรมการคัดสรรผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกลั่นกรองบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ที่ล้วนมาจากนักการเมือง ข้าราชการประจำและอดีต รวมถึงนายทุนนักธุรกิจ เช่นผู้แทนจากสภาหอการค้า ผู้แทนจากตลาดหลักทรัพย์ ผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรม ทั้งหมดล้วนมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี โดยปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นของสังคมมาตรา 6, 15, 16, 35, 52, 63

3.      ประเด็นที่อ้างว่าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพย้อนหลังไป 10 ปี จนถึงปัจจุบัน สินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจจากประมาณ 5 ล้านล้านบาท 14 ล้านล้านบาท รายได้รวมจาก 1.5 ล้านล้านบาทเป็น 5 ล้านล้านบาท ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน คงไม่มีหน่วยงานไหนมีความมั่นคง แข็งแกร่ง อย่างรัฐวิสาหกิจ แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งรายได้เข้ารัฐแต่ละปีเกือบ 2 แสนล้านบาท และมีงบประมาณการลงทุนขยายงานเพิ่มเพื่อบริการประชาชน โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐบาลเกือบ 5 ล้านล้านบาท

4.      ประเด็นที่อ้างว่าเพื่อให้เกิดการบริการที่ดีแก่ประชาชน ต้องทราบว่ารัฐวิสาหกิจทุกแห่งจะถูกควบคุมโดยรัฐบาล ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้หากกระทรวงต้นสังกัด และรัฐบาลไม่อนุมัติแผนวิสาหกิจแต่ละแห่งก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน และได้ทำงานสนองนโยบายของประเทศ ของรัฐบาลแต่ละยุคสมัยแต่ละแห่งก็ได้พยายามพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีมาตราไหนที่เป็นรูปธรรมที่จะกำหนดให้เกิดการบริการที่ดีแก่ประชาชน ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่เห็นได้ชัดคือ “การตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ในการถือหุ้นแทนกระทรวงการคลังเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินงานเต็มศักยภาพมีความพร้อมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์” เป้าประสงค์ของรัฐวิสาหกิจที่เปลี่ยนจากบริการประชาชนไปเป็นเพื่อการพาณิชย์ การค้าขาย การลงทุน แล้วประชาชนจะได้อะไร

5.      ประเด็นที่อ้างว่า คงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นเต็มตามจำนวน แต่ในสาระรายมาตราของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ให้อำนาจ ทั้ง ครม. คนร. และบรรษัทในการโอนหุ้น ขายหุ้น ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบรรษัท จนพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจได้กำหนดให้บรรษัทวิสาหกิจไม่เป็นราชการและรัฐวิสาหกิจ เป็นเพียงหน่วยงานของรัฐ ความหมายก็คือ จะยกเลิกกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน แต่จะไปใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎมายเอกชน และยิ่งกว่านั้น การขายหุ้นก็สามารถกระทำการได้โดยเสรีไม่ได้กำหนดสัดส่วนว่าจะขายจำนวนเท่าใดซึ่งสามมารถขายทั้งหมดก็ได้ ซึ่งเมื่อขายไปแล้ว กระทรวงการคลังก็ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้อีกต่อไป ก็จะทำให้รัฐวิสาหกิจพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจไปหากขายเกินกว่าร้อยละ 50 ซึ่งหากรัฐวิสาหกิจนั้นมีบริษัทลูกก็จะทำให้บริษัทลูกเหล่านั้นพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งในตลาดทุนตลาดหุ้นเป็นที่ทราบกันว่า คนไทยต่างชาติก็สามารถซื้อได้ และรัฐวิสาหกิจอื่น นอกจาก 11 แห่ง ก็สามารถดำเนินการตามกระบวนการโอนหุ้นให้บรรษัทนำไปขายได้ เพียงแต่ต้องทำให้รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นเป็นบริษัทเสียก่อน เช่น มาตรา 11 (4) (6) (8) มาตรา 45, 47, 49, 57 (3) เป็นต้น

6.      ประเด็นที่อ้างว่าให้มีการบริหารอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งพิจารณาจากโครงสร้างและอำนาจคณะกรรมการชุดต่าง  ๆ แล้ว ก็ปราศจากการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นของสังคมหรือแม้กระทั่งบุคคลในองค์กรนั้น ๆ ที่เข้าใจเชี่ยวชาญในภารกิจของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ และที่ยิ่งกว่านั้น บรรษัทวิสาหกิจไม่ต้องผ่านการตรวจสอบงบการเงิน บัญชีจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้ตรวจสอบงบการเงินงบดุลทางบัญชี ที่มีสินทรัพย์อย่างมหาศาล ดำเนินการตรวจสอบ “โดยการแต่งตั้งของกระทรวงการคลัง” มาตรา 79, 80

7.      เป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ บรรษัทวิสาหกิจเป็นหน่วยงานของรัฐไม่เป็นหน่วยงานราชการไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ กำหนดให้สถานะสิทธิของพนักงานรัฐวิสาหกิจยังคงมีอยู่ต่อไป “ตราบเท่าที่บรรษัทยังคงถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจนั้นเกินกว่าร้อยละ 50” ซึ่งหากบรรษัทขายหุ้นเกินร้อยละ 50 รัฐวิสาหกิจนั้นจะพ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ สถานะพนักงาน สิทธิต่าง ๆ ก็หมดตามไปด้วยและไม่สามารถรวมตัวจัดตั้งองค์กรสหภาพแรงงานของลูกจ้างได้ทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และ สหภาพแรงงานเอกชน บรรษัทเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่น หน่วยงานดังกล่าวเป็นอะไร ที่สำคัญหน่วยงานต้องมีพนักงานหรือลูกจ้างทำให้ไม่สามมารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ เพราะไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจและไม่ได้เป็นเอกชน ซึ่งเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อย่างรุนแรง จึงไม่เป็นไปตามหลักการสากลที่เขียนไว้ในเหตุผลร่างกฎหมาย เพราะขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 23 (4) ที่บัญญัติว่าทุกคนมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานและมีสิทธิเข้าร่วมกับสหภาพแรงงาน และตามหลักการพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)

8.      ประเด็นที่อ้างว่า กระทรวงการคลัง ยังคงถือหุ้นในบรรษัทอยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หลายมาตราที่กล่าวมา ที่จะกำหนดสัดส่วนการถือหุ้น จำหน่ายหุ้น กำหนดให้บรรษัทลดสัดส่วนการถือหุ้นจนพ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจได้ ก็ยังมองไม่เห็นว่า กระทรวงการคลังจะถือหุ้นเต็มจำนวนได้อย่างไร อาจจะมีเพียง 100 ล้านหุ้นมูลค่าหุ้นละ 10 บาท เป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ที่กำหนดให้กระทรวงการคลังถือไว้ห้ามโอนและเปลี่ยนมือ มาตรา 47

9.      ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราที่ 56 ที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน และในกิจการที่เป็นโครงพื้นฐาน โครงข่ายโทรคมนาคมรัฐจะให้เอกชนดำเนินการเกินกว่าร้อยละ 51 ไม่ได้ ซึ่งเป็นที่ทราบทั่วกันว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่งในอนาคตเมื่อรัฐวิสาหกิจทั้งหลายสิ้นสลายไป ภารกิจในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนก็จะหายไป หลักประกันในการดำเนินชีวิตที่มั่นคงก็จะหายไป

และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77  ที่กำหนดให้ตรากฎหมายต้องรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากประชาชน รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย และต้องเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและผลการวิเคราะห์ต่อประชาชนด้วย แต่ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... มิได้ดำเนินการใด ๆ ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ และสิ่งที่กล่าวอ้างของกรรมการ คนร. บางคนที่รับผิดชอบในการร่างกฎหมายฉบับนี้ที่บอกว่า “รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและสหภาพแรงงานแล้วนั้น” มิได้เป็นไปตามคำกล่าวอ้างแต่ประการใดเป็นเพียงเวทีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์จัดแล้วเชิญผู้แทนภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายฉบับนี้มาให้ข้อมูลเท่านั้น มาตรา 84 ความว่า “รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชน” มีความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ การจัดทำบริการด้านสาธารณะ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจ รัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน”

10.  ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ มีแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี เพื่อกำหนดเป้าหมาย นโยบายและทิศทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังไม่แล้วเสร็จจึงมีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินให้เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิมตั้งแต่ต้น และที่นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เป็นการปฏิรูปโดยไม่มีการแปรรูปโดยเด็ดขาด”

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์กรสมาชิกจึงขอให้รัฐบาลเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายฉบับนี้ ขอให้ “ถอนร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” แล้วหลังจากนั้นจึงมาเริ่มกระบวนการ ขั้นตอนการร่างกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยการมีส่วนร่วมจากประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและสหภาพแรงงาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน ตามที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามเน้นย้ำเสมอมา

และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) พร้อมให้ความร่วมมือในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งจากนี้ไป สรส. จะดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงานเครือข่ายของ สรส. ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมกับหาแนวทางเพื่อให้รัฐบาลได้ทราบเจตนาที่แท้จริง และจะประสานความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่แท้จริงรวมไปถึงร่วมกันยับยั้ง ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ต่อไป

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net