อีกกี่ ‘ก้าว’ จะถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (จบ) ระบบสวัสดิการทำให้ไม่สูญเสียความเป็นคน

เพราะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือระบบที่ช่วยให้มนุษย์ไม่สูญเสียความเป็นคน เป็นสวัสดิการที่รัฐต้องจัดหาและทำให้ยั่งยืน มิใช่บั่นทอนหรือแปรเปลี่ยนเป็นระบบสงเคราะห์ผ่านการพิสูจน์ความจน

ทำไมการบริจาคไม่ช่วยแก้ปัญหาในเชิงระบบ ซ้ำยังจะเพิ่มความชอบธรรมให้แก่รัฐในการลดทอนสวัสดิการของคนในประเทศ

ทำไมงบประมาณสาธารณสุขของไทยจึงเพิ่มในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ

ทำไมต้องมีบัตรคนจน

อะไรคือฐานคิดที่อยู่เบื้องหลังความพยายามบ่อนทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทำไมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงสำคัญและเป็นสิทธิที่ประชาชนควรได้รับจากรัฐ โดยที่รัฐไม่อาจบ่ายเบี่ยง

นั่นเพราะ “ระบบสวัสดิการที่ก้าวหน้าที่สุดคือระบบที่ทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นคนน้อยที่สุด” ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

1

“กลไกการบริจาคเพื่อเป็นสวัสดิการของประชาชน นอกจากไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ยังจะเป็นการทำให้เกิดผลที่แย่กว่าเดิม มองในมิติการรักษาพยาบาล มันไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ ก่อนมีระบบ 30 บาทรักษาทุกโรค เราผ่านระบบการสังคมสงเคราะห์ เป็นระบบผู้ป่วยอนาถา ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้การสงเคราะห์เป็นทางการ ถูกต้อง และได้รับการชื่นชม แต่สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ หายไปเมื่อประชาธิปไตยพัฒนา แต่ปัจจุบันเราเห็นแนวโน้มที่จะทำให้สิทธิถูกลดทอนและถูกทดแทนด้วยกลไกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือกระแสอาสาสมัครและการบริจาค สิ่งเหล่านี้จะทดแทนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือ ทุกคนก็ทราบว่าไม่ได้ แต่ความรู้สึกแบบนี้จะทำให้เกิดความชอบธรรมในการยกเลิกสวัสดิการต่างๆ และแปรสภาพสู่การบริจาคมากขึ้น”

2

“การจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล การบริจาคอย่างเดียว ต่อให้มีตูนเพิ่มอีกกี่สิบคน งบประมาณก็ไม่พอ เทียบบุคลากรทางการแพทย์ เรามีหมออยู่ 5 หมื่นคนทั้งประเทศ ไม่ขยับไปกว่านี้ จากปี 57 แต่ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ และยิ่งหมอเฉพาะทางก็อยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นปัญหาเชิงนโยบายที่ต้องได้รับการแก้ ถามว่าคนทั่วไปแก้ไขอะไรได้ ในเงื่อนไขในปัจจุบัน คือกดดันให้มีการเลือกตั้ง ผลักดันให้พรรคการเมืองมีนโยบายเหล่านี้”

3

“ยิ่งประเทศมีประชาธิปไตยมาก ความคาดหวังกับการบริจาคจะน้อยลง ลองเทียบดูสัดส่วนว่ายิ่งท้องถิ่นได้รับงบประมาณมาก รัฐบาลมีนโยบายตอบสนองต่อประชาชนมาก กระแสการบริจาคจะน้อยลง ในช่วง 5-6 ปีมานี้ต้องยอมรับว่ามีนโยบายที่ลงไปตอบสนองต่อประชาชนน้อย เกิดความรู้สึกว่าเราก็ทำได้ในส่วนเท่านี้ อีกด้านเห็นว่าเป็นการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม ทำให้รู้สึกเติมเต็มว่าชีวิตเราก็มีความหมาย ได้ช่วยเหลือดูแลกัน มันเป็นภาพของสังคมเสรีนิยมใหม่ สังคมทุนนิยมที่มีการแข่งขันเต็มที่ ชีวิตประจำวันของเราอยู่ได้ด้วยการรับผิดชอบชีวิตตนเอง 100 เปอร์เซ็นต์ การที่เราบริจาคและทำความดีเป็นการเติมเต็มคุณค่าศีลธรรมที่หายไป แต่มันเป็นการแก้ปัญหาไหม ยืนยันว่าไม่ใช่”

4

“การพยายามปรับลดสวัสดิการ การมีวินัยทางการคลัง มาจากกระแสเสรีนิยมใหม่ มันเกิดขึ้นทั่วโลก คุณหาเงินเท่าไรก็ต้องใช้เงินเท่านั้น ซึ่งในศตวรรษที่ 20 ไม่ได้เป็นแบบนั้น คุณจัดสวัสดิการก่อน รัฐบาลมีหน้าที่กระตุ้นให้คนมีชีวิตที่มั่นคง ให้หลักประกันแก่คน และคนจะไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่วนในศตวรรษที่ 21 รัฐบาลต้องลดบทบาทและเพิ่มบทบาทกลุ่มทุนมากขึ้น รัฐมีหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ทุน สามารถลงทุนได้ สร้างมูลค่าได้ เป็นเศรษฐกิจแบบไหลริน เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็ไม่ต้องทำอะไร”

5

“งบประมาณสาธารณสุขควรเพิ่มขึ้นทุกปีเพราะคนมีแนวโน้มอายุยืนมากขึ้น ปริมาณประชากรเพิ่มขึ้น แม้จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เมื่อพูดถึงตามสัดส่วนจีดีพี สวัสดิการสาธารณสุขควรเพิ่มขึ้นและควรถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นลำดับแรก แต่ที่เราเห็นคือให้ความสำคัญน้อยลง เพดานการอุดหนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องเพิ่มขึ้นๆ แต่เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อจะเห็นว่าอัตราการเพิ่มน้อยมาก ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ต่ำกว่าเงินค่าครองชีพในมิติอื่นๆ ถ้าเทียบกับงบประมาณส่วนอื่นๆ จะเห็นแนวโน้มอัตราการเพิ่มน้อยกว่า และมีความพยายามดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัด”

6

“เรื่องโรงพยาบาลเจ๊งเป็นปัญหาเทคนิคเรื่องการจัดการ เราต้องมองด้วยหลักคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เจ๊งไม่ได้ เทียบตัวอย่างจากนอร์เวย์ ไม่ใช่แค่เรื่องโรงพยาบาล แต่เป็นเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น มีกฎหมายว่าโครงการที่เขียนโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเจ๊งไม่ได้ เพราะมันคือจิตวิญญาณของประชาธิปไตยที่คนต้องมีอำนาจกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง เพราะฉะนั้นคุณขาดทุนเท่าไร แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ รัฐบาลต้องไปหามาเพิ่ม นี่คือหลักวิธีคิดของหลักประกันสุขภาพ”

7

“ถ้าตัดงบกลาโหมออกครึ่งหนึ่งจะสามารถจ้างหมอเพิ่มด้วยอัตราเงินเดือนที่สูงได้แทบจะทันที เราไม่ต้องเห็นภาพหมอเข้าเวรจนตาย จนเจ็บป่วย การที่หมอทำงาน 8 ชั่วโมง ดูแลคนไข้อย่างดีและเต็มที่ ซึ่งในเงื่อนไขปัจจุบันมันทำไม่ได้ มันกลายเป็นหมอต้องมาอุทิศตน เพราะผลประโยชน์จริงๆ ที่หมอต้องการคือค่าแรงที่เหมาะสม เชื่อว่าถ้าได้แปดหมื่นจริงๆ หมอก็คงไม่ต้องการไปนั่งคลินิก หมอมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงการกระจายตัวของแพทย์ก็จะดีขึ้นด้วย”

8

“ผมเคยเขียนงานชิ้นหนึ่งพูดถึงระบบสวัสดิการที่แบ่งระบบฐานคิดเป็น หนึ่ง-สวัสดิการแบบอภิสิทธิ์ชน คือคุณต้องเป็นคนเก่งคนดีคุณถึงจะได้ เป็นฐานความคิดของข้าราชการ สอง-ฐานความคิดแบบเพดานต่ำคือ ประกันสังคม คุณเป็นคนจนคุณก็จะได้แบบจนๆ และสาม-สังคมสงเคราะห์ ถ้าคุณจนมากๆ คุณก็พิสูจน์ความจนไป นี่คือสามขาหลักที่ทำลายสวัสดิการไม่ให้ก้าวหน้า”

9

“ถ้าเราพูดถึงในแง่อุดมการณ์ตั้งแต่สมัยของหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ที่ว่า คนจน คนด้อยโอกาสควรได้รับสิทธิ  เราไม่ควรทิ้งคนเหล่านี้ แต่สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันและชุดต่อๆ ไปพยายามจะยกขึ้นมาคือเราจะดูแลคนจนที่ควรได้รับสิทธิต่างๆ เหล่านี้ เชื่อว่าถ้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกทำลายไป ก็จะถูกใส่ในบัตรคนจนนี้ แต่มันก็ไม่ใช่สิทธิอีกต่อไป จะเป็นเรื่องของการสงเคราะห์”

10

“โจเซฟ สติกลิตซ์ตั้งข้อสังเกตว่า การกระจายเงินตรงไปที่คนจนลักษณะนี้ไม่ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง เผลอๆ งบประมาณที่ลงไปอาจสูญเปล่า ไม่ได้ทำให้สังคมพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น เปรียบเทียบกับประเทศร่ำรวยด้วยกัน สหรัฐฯ ใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลสูงมาก แต่การเข้าถึงกลับต่ำ เพราะงบประมาณไปอยู่กับกระบวนการการพิสูจน์ความจน รวมถึงการเอากลไกตลาดเข้ามา ทำให้ราคายาสูง งบบานปลาย แต่การเข้าถึงครอบคลุมแค่คนจนที่ต้องมานั่งพิสูจน์ความจน”

11

“ข้อสังเกตของ Gosta Esping Andersen นักวิชาการชาวเดนมาร์ก บอกว่านักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปแบ่งประเภทสวัสดิการตามลักษณะงบประมาณที่ใช้ แต่หัวใจของสวัสดิการจริงๆ คือดูว่ามันทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นคนมากน้อยแค่ไหนเมื่ออยู่ในระบบทุนนิยม ระบบสวัสดิการที่ก้าวหน้าที่สุดคือระบบที่ทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นคนน้อยที่สุด นั่นคือระบบที่ใช้ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย คือการมองว่าสวัสดิการเป็นสิทธิ คุณจะได้สิทธิเมื่อคุณเกิดในประเทศนี้ เป็นพลเมือง ไม่ใช่ว่าได้สิทธินี้เพราะไปทำงานและเก็บเงิน ไม่ใช่ว่าได้สิทธินี้เพราะเป็นเมียข้าราชการคนนี้ หรือทำงานในองค์กรนี้”

12

“รัฐคงอยู่เพื่อจัดสวัสดิการให้กับประชาชน คุณไม่ควรต้องตาย ถ้าในโลกใบนี้ยังมียาที่จะรักษาคุณได้ มันเป็นหน้าที่ของรัฐ เมื่อคุณมองแบบนี้เป็นจุดตั้งต้น สิ่งอื่นๆ ค่อยว่ากัน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ มันจะมาจากการดูแลคนในประเทศให้ดี ความเป็นมนุษย์ของเขามีอยู่อย่างเต็มที่ เราจะเห็นว่าประเทศพวกนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองต่ำ กลไกทางรัฐสภาสามารถจัดการได้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจสูงและคนสามารถสร้างนวัตกรรม คนไม่ต้องทำงานที่ตัวเองที่ไม่อยากทำ ปัญหาทางสังคมก็ต่ำ ปัญหาอาชญากรรมหรือปัญหาระหว่างเชื้อชาติก็ต่ำ ในสังคมทุนนิยมมีความขัดแย้งแตกแยกอยู่ แต่กลไกสวัสดิการเหล่านี้มันสามารถลดทอนปัญหาได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท