เกรด (ต้องไม่) เป็นทั้งหมดของชีวิต (2)

‘อรรถพล’ ชี้ ปัญหาการศึกษาไทยต้องแก้ที่ต้นเหตุ ‘เป้าหมายการศึกษา’ ต้องชัด การเปลี่ยนแปลงโดยครูในระดับปัจเจกมีพลังน้อย ต้องรวมตัวสร้างเครือข่าย เกรดอาจไม่ใช่ตัวร้าย แต่การให้คุณค่ากับเกรดของไทยต่างหากที่กำหนดชี้ชะตาเด็ก แนะการสอนแบบ active learning ครูต้องพร้อมเรียนรู้ไปกับเด็ก

เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ที่ Warehouse 30 มีงานเสวนา “เกรดเปลี่ยนชีวิต” โดยมีวิทยากรคือ ทัศนวรรณ บรรจง จากมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท (FES) ปราศรัย เจตสันติ์ ครู รร.บางปะกอกวิทยาคม และอรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ดำเนินรายการคือโสภิดา วีรกุลเทวัญ นักเขียนอิสระ

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล MIDL Week 2017 : พลังพลเมืองดิจิทัล จัดโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส), ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center), Documentary Club และ Warehouse 30

เกรด (ต้องไม่) เป็นทั้งหมดของชีวิต

อรรถพล อนันตวรสกุล (ภาพจากเพจ แจ่ม)

เป้าหมายของการจัดการศึกษา

อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นว่า แม้จะเป็นการศึกษาฝรั่งเศส แต่มันสะท้อนมาถึงเราด้วย มีคำสำคัญหลายคำ เช่น การศึกษาต้องเริ่มจากสังคมมีความเชื่อเรื่องอะไรร่วมกันก่อน ไม่เฉพาะฝรั่งเศสแต่ทั่วโลกก็มีคำถามเดียวกันว่าเป้าหมายของการจัดการศึกษาคืออะไร ที่มาของเป้าหมายควรจะมาจากอะไร

มีงานวิจัยหลายชิ้นคุยเรื่องนี้ จริงๆ การศึกษาถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ 3 เรื่อง 1. ความคาดหวังของสังคม 2. วัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ 3. ความรู้เชิงวิชาการ ตอนนี้เวลาเราพูดเรื่องปัญหาการศึกษาเราไม่ค่อยถามเรื่องเป้าหมายการศึกษา เราไปติดภาพเฉพาะในห้องเรียน การเรียนในห้องเรียนเป็นปลายสุดของการออกแบบ เพราะมันมีกระบวนการขั้นตอนก่อนหน้านั้น

การเปลี่ยนแปลงโดยครูระดับปัจเจกมันเกิดขึ้นได้เฉพาะในห้องเรียนของครูคนนั้น เพราะฉะนั้นพลังค่อนข้างน้อย แต่อาจเริ่มต้นได้ด้วยพลังของครูที่มองว่าตัวเองเป็นเจ้าของห้องเรียน ออกแบบห้องเรียนให้ตรงตามเป้าหมายการศึกษาแท้จริงที่ตัวเองเชื่อ แต่ถ้าจะให้การศึกษาทั้งระบบมันเปลี่ยน มันจะต้องคิดภาพใหญ่ และต้องมีเครือข่ายครู หลายประเทศที่มาจากประเทศที่มีสหภาพอาจเคลื่อนไหวผ่านสหภาพครู เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน แต่บางประเทศที่มีบริบทคล้ายคลึงกับเราเช่น ญี่ปุ่น ครูก็เป็นข้าราชการเหมือนกับเรา เขาก็จะขัดนโยบายรัฐไม่ค่อยได้ แต่เขาสามารถทำเครือข่ายครูในโรงเรียนได้

บทเรียนของประเทศญี่ปุ่นที่ไทยเรียนรู้และเอามาทำอยู่ตอนนี้คือ PLC เครือข่ายครูชุมชนเรียนรู้ทางวิชาชีพ เขาบอกว่าเป็นการปฏิวัติเงียบทางการศึกษาของครู ที่ลุกขึ้นมารวมกลุ่มกันในโรงเรียนเดียวกันเพื่อทำให้โรงเรียนมีคุณภาพ และส่งเสียงสะท้อนกลับไปหาคนในกระทรวง ตอนนี้กระแสการปฏิรูปด้วยตัวเองของครูภายใต้ห้องเรียนกำลังไปทั่วทั้งญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ และมาที่เวียดนามกับอินโดนีเซียแล้ว บ้านเราก็เริ่มมี

เกรดอาจไม่ใช่ตัวร้าย แต่การให้คุณค่ากับเกรดของไทยต่างหากที่กำหนดชี้ชะตาเด็ก

อรรถพลกล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญเรื่องการพูดเรื่องเกรด อย่ามองว่าเกรดเป็นตัวร้าย เกรดมันเป็นตัวเลขไม่กี่ตัวที่จะบอกว่าคนคนนั้นเป็นยังไง แต่การให้คุณค่ากับเกรดต่างหากที่เป็นปัญหา และที่มาของการได้เป็นตัวเกรดต่างหากที่เป็นปัญหา ว่าเราเชื่อเรื่องการประเมินผลอย่างไร

ประเมินผลไม่ใช่แค่สรุปรวมว่าคนคนหนึ่งเป็นยังไง แต่ต้องดูพัฒนาการเขา ตอนนี้กระบวนทัศน์ใหม่เรื่องการประเมินผลก็จะเน้นเรื่องการประเมินเพื่อการเรียนรู้ มากกว่าประเมินผลของการเรียนรู้ เพราะเชื่อว่าการประเมินเพื่อการเรียนรู้ช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้ครูกับเด็กเดินไปพร้อมๆ กัน ครูทำหน้าที่ให้ข้อมูลป้อนกลับมาครูสังเกตเห็นอะไรบ้างจากการเรียนรู้ของเด็ก เขาจะได้เห็นตัวเองและชัดเจนกับตัวเองมากขึ้น

ถึงจุดหนึ่งตัวเลขเหล่านั้นก็จะเป็นแค่ตัวเลข วันหนึ่งก็จะไม่มีความหมาย แต่การให้คุณค่ากับตัวเลขตอนนี้ของสังคมไทยกำลังมีปัญหา เพราะมันกลายเป็นตัวชี้ชะตาชีวิตเด็ก พอเรียนได้คะแนนดีหน่อยก็มักจะถูกดันไปเรียนสายวิทย์กัน เพราะเชื่อว่าจะมีทางเลือกมากกว่า แล้วก็ทำให้เด็กหลงทางเยอะมาก

ตอนนี้กลายเป็นเด็กที่ผ่านระบบการศึกษาที่ตะแกรงร่อนขึ้นมาแล้วก็หลงทาง เด็กที่ถูกร่อนหล่นไปก็หลงทาง ตอนนี้เกรดกำลังเป็นปัญหาที่ปลายทาง แต่คำถามใหญ่ที่เราไม่ค่อยถามคือ เราจัดการศึกษาเพื่ออะไร แล้วที่มาของเป้าหมายการศึกษาเหล่านี้มันถูกกำหนดโดยใคร ใครควรจะได้เรียนรู้จากเรื่องเกรด คนสำคัญคือครู

 

การที่ครูตัดเกรดเด็กตกเยอะๆ ไม่ได้แปลว่าครูเก่ง แสดงว่าการเรียนรู้ของเด็กมีปัญหา แสดงว่าการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของครูยังไม่ดีเพียงพอ เพราะฉะนั้นเด็กคะแนนไม่ดีส่วนหนึ่งเป็นบทบาทครูต้องรับผิดชอบ คุณต้องแกะรอยให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในตัวเขา ทำไมพัฒนาการเขาถึงช้า ทำไมมีบางเรื่องเขายังติดขัดไม่เข้าใจ ครูก็ต้องเป็นคนหนึ่งที่เรียนรู้ผ่านกระบวนการประเมินผลด้วย ครูต้องเปลี่ยนมุมมองในการมองตัวเองไปเลย เราไม่ได้เป็นกูรูที่อยู่หน้าห้องอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องพร้อมเป็นเพื่อนเรียนไปกับเขาและเติบโตไปด้วยกัน

วิธีการรับมือกับห้องเรียนแบบ active learner ครูต้องมีวิธีการเตรียมตัวตอบคำถามเด็กอย่างไร

ทัศนวรรณ บรรจง จากมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท เล่าว่า ในฝรั่งเศสเมื่อเด็กถามมาแล้วครูอาจจะตั้งคำถามย้อนกลับไปว่า ทำไมคุณถามแบบนี้ อาจจะต้องชวนเขาคิดก่อนว่าทำไมเขามีคำถามแบบนี้ เราไม่ให้คำตอบเขาก่อน การเป็น active learner มาจากให้เด็กสะท้อนความคิดตัวเองได้ ทำไมตัวเองถึงคิดแบบนี้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เด็กถามว่าทำไมฉันต้องมาโรงเรียน ถ้าเราเป็นคนที่ต้องตอบ เราอาจจะชวนคุยว่า แล้วทำไมเธอคิดว่าเธอต้องไปโรงเรียน หลังจากนั้นก็มีการถามตอบกัน คิดว่านี้เป็นกระบวนการของ active learner และในทางเดียวกัน นี่เป็นทักษะ media literate หรือการรู้เท่าทันสื่อ ต้องเริ่มจากการไม่ยึดติดกับความจริงอันใดอันหนึ่ง ต้องตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้นตลอด

ปราศรัย เจตสันติ์ ครูสังคมศึกษา รร.บางปะกอกวิทยาคม กล่าวว่า เราจะต้องไม่รู้สึกว่าห้องเรียนคือจุดหาคำตอบของเด็กๆ แต่ห้องเรียนเป็นที่ที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเกิดกระบวนการคิดบางอย่างเพื่อนำไปสู่การตั้งคำถามอีกก็ได้ ไม่ใช่เด็กรู้สึกว่าถามแล้วรอฟังคำตอบจากครู เพราะคำตอบของครูคือสิ้นสุด เขาไม่ต้องถามต่อ แต่หัวใจของ active learner เราคุยกันโดยไม่ต้องสรุปก็ได้ เพราะคำตอบอาจหลากหลายก็ได้ในบริบทที่ต่างกัน

ในกระบวนการ active learning ครูเองก็ต้องเป็น active learner ไปกับเด็ก

อรรถพล อธิบายว่า active learning ไม่ใช่แค่มีกิจกรรม มีใบงาน มีการเล่น มีแต่การเร้าความสนใจแล้วจบ ไม่เกิดการเรียนรู้ active learning คือการกระตือรือร้น การมีแรงจูงใจในการจะพัฒนาตัวเองทั้งของครูและเด็ก

เวลาเราพูดเรื่อง active learning เราไม่ได้พูดในฐานะผู้เรียน หรือ active learner เท่านั้น ใน active learning คนสำคัญที่ต้องเป็น active learner คือครูต้องเรียนไปกับเด็ก แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ mind-set ครูเปลี่ยน เชื่อว่าตัวเองก็เป็นผู้เรียนคนหนึ่งในห้องเรียน เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก

ถึงวันนี้ต้องยอมรับแล้วว่าไม่มีความรู้อะไรที่ครูถูกเทรนด์มาจะพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์อีกต่อไปแล้ว ยิ่งโลกยุคที่สื่อนำพาข้อมูลมหาศาลผ่านโลกดิจิทัลมันยิ่งท้าทายครูว่า ครูนี่แหละคือคนที่ต้องมีทักษะพวกนี้ไม่น้อยไปกว่าเด็ก เพราะครูต้องวิ่งตามข้อมูลให้ทัน บางครั้งเราอาจรู้น้อยกว่าเด็กด้วยซ้ำ

 

อย่างผมเริ่มต้นชีวิตครูจากการสอนเด็กสาธิตฯ ผมก็จะอยู่กับเด็กที่ถามคำถามตลอดเวลา แล้วเขามาจากครอบครัวชนชั้นกลางระดับบนที่มีประสบการณ์ต่างประเทศ บางเรื่องเขารู้มากกว่าเราเยอะมาก มันทำให้ท้าทายตัวเองว่า ต้องยอมรับว่าเรารู้ไม่เท่าเขาหรอก เพราะครึ่งหนึ่งของลูกศิษย์ในโรงเรียนเป็นลูกหลานครูในมหาวิทยาลัยหมด เด็กทุกคนก็จะแอคทีฟมาก

จริงๆ ไม่ใช่แค่เด็กกลุ่มนี้หรอก เด็กทั่วไปเขาก็มาโรงเรียนด้วยความกระตือรือร้น แต่เขาถูกบรรยากาศโรงเรียนทำให้เขาอยากถามน้อยลงเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งเขาก็เลยจะไม่ถาม เขาจะเป็นผู้ฟังที่ดี แล้วพอวันหนึ่งเราอยากจะเปลี่ยนเขาให้เป็น active learner แต่ครูยังเป็นคนคอยบังคับเขาอยู่ ความอยากรู้ก็จะไม่เกิดขึ้น

และบางครั้งความรู้มันเกิดขึ้นเฉพาะกับเด็ก แต่ครูก็เอาความรู้เดิมที่มีมาสอนตลอดเวลา ทำหน้าที่เป็นกูรูถ่ายทอดตลอดเวลา มันก็ไปครอบความคิดเขา เพราะฉะนั้นในกระบวนการ active learning ที่สังคมไทยกำลังตื่นตัว ก็อยากให้มองบทบาทครูเป็นคนหนึ่งที่ต้องเรียนรู้

อย่างผมสอนคณะครุศาสตร์ วิชาที่เด็กทำโปรเจคท์ มีหลายเรื่องที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน แต่ผมเรียนรู้ไปกับเด็ก แล้วสนุกมากเพราะเราอ่านหนังสือไปควบคู่กับเขา เขาจะอ่านค้นแล้วมาคุยกับเรา เราก็อ่านค้นไปคุยกับเขา ต่างคนต่างกระตือรือร้นในการพัฒนาตัวเอง สุดท้ายเราคาดหวังว่าบรรยากาศที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ในโรงเรียนมันจะกลายเป็นวัฒนธรรม

 

PLC คืออะไร?

ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพหรือ PLC คือ การรวมตัว ร่วมใจร่วมพลัง ร่วมทำ และร่วมเรียนรู้ร่วมกันของครู ผู้บริหาร และนักการศึกษา บนพื้นฐานวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร มีวิสัยทัศน์ คุณค่า เป้าหมาย และภารกิจร่วมกัน โดยทำงานร่วมกันแบบทีม เรียนรู้ที่ครูเป็นผู้นำร่วมกัน และผู้บริหารแบบผู้ดูแลสนับสนุน สู่การเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพเปลี่ยนแปลงคุณภาพตนเอง สู่คุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่เน้นความสำเร็จหรือประสิทธิผลของผู้เรียนเป็นสำคัญและความสุขของการทำงานร่วมกันของสมาชิกในชุมชนการเรียนรู้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท