Skip to main content
sharethis

คสช.เตรียมปลดล็อคท้องถิ่นทำกิจกรรมได้ สนช. ขานรับ เตรียม กมธ.ศึกษาข้อ กม. ขณะที่ประธาน กรธ.พร้อมให้ความเห็นแก้กฎหมายเปิดทางเลือกตั้งท้องถิ่น  ยัน กกต. มีอำนาจจัดเอง ด้าน ประธาน กกต. ชี้ ปัญหา ม.27 พ.ร.ป.กกต. ให้ อปท.จัดเลือกตั้ง อาจขัด  รธน.  เตรียมส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 

13 พ.ย.2560 ความคืบหน้ากรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) นั้น

โดยในวันนี้ รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการปลดล็อคคำสั่ง คสช. ให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ว่า คงปลดล็อคในส่วนของท้องถิ่นก่อนเพื่อให้หาเสียงได้ตามระบบ 

“แต่การหาเสียงจะต้องไม่โจมตีคสช.หรือสร้างความขัดแย้งทางการเมือง ส่วนการปลดล็อคคำสั่งคสช.ให้พรรคการเมือต้องรอดูเวลาที่เหมาะสม” พล.อ.ประวิตร กล่าว

สนช. ขานรับ เตรียม กมธ.ศึกษาข้อ กม.

ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึง การพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยยืนยันว่า จะไม่กระทบกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับ คือร่าง  พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะส่งมายัง สนช. ช่วงปลายเดือนนี้  อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น และจะตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎหมายที่รัฐบาลจะเสนอเข้ามาแก้ไข ให้สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้  ยืนยันว่า สนช.มีความพร้อมในการพิจารณากฎหมายได้ทันเวลา

ประธาน กรธ. เผยเตรียมแจง ก.ม.เกี่ยวเลือกตั้งท้องถิ่น

มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ วิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้เชิญ กรธ. ให้ความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ภายหลังจากที่ คสช.เตรียมจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นบางพื้นที่ก่อนการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า กรธ. ได้ส่ง ศ.ชาติชาย  ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นตัวแทนในการชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่ามีมาตราใดของรัฐธรรมนูญที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ และหากมีผลกระทบรัฐบาลจะต้องปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ส่วนตัวเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นกับสมาชิกท้องถิ่น และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งท้องถิ่นที่ยังไม่สอดคล้องกับหลักการของรัฐธรรมนูญ

ส่วน กรณีที่ ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาระบุว่า ยังมีประเด็นข้อขัดแย้งที่ กกต. อยู่ระหว่างยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ตามมาตรา 27 ที่บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัด โดย กกต.เป็นผู้ควบคุมให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่ง กกต.เห็นว่ากฎหมายยังขัดแย้งกันอยู่ นั้น  มีชัย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิดของ กกต. เพราะ กรธ.เขียนระบุไว้ในกฎหมายแล้วให้สอดคล้องกัน ไม่ได้จำกัดอำนาจของ กกต. ซึ่ง กกต. สามารถมอบหมายให้ อปท.เป็นผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งแทนได้อยู่แล้ว โดย กกต.ทำหน้าที่กำกับดูแล หรือ กกต.จะจัดการเลือกตั้งเองก็สามารถได้ แม้ว่าขณะนี้จะไม่มี กกต. จังหวัดแล้ว ก็ไม่มีปัญหา เนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ยังคงมีอยู่ ซึ่งช่วงที่มีการจัดการเลือกตั้งกกต. จะมอบหมายให้ปลัดท้องถิ่นเป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการยึดตามโครงสร้างเดิม ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และกฎหมายไม่ได้ห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหวสนับสนุนผู้สมัครการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่เนื่องจากขณะนี้ คสช. ยังไม่มีคำสั่งปลดล็อคพรรคการเมือง ดังนั้น จำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขของ คสช. ว่าจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมได้มากน้อยเพียงใดเนื่องจากคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 57/2557 ยังมีสภาพบังคับเพราะมีสถานะเป็นกฎหมาย หากจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องออกคำสั่ง คสช. หรือออกเป็นกฎหมาย ส่วนการที่ กกต. มีการออกระเบียบเกี่ยวกับพรรคการเมืองนั้น มีบางเรื่องที่พรรคการเมืองสามารถทำได้ตราบใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง เช่น การตรวจสอบบัญชีสมาชิก เป็นต้น

มีชัย กล่าวว่า ส่วนตัวคาดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะยังไม่เกิดขึ้นภายใน 1-2 เดือนนี้ เพราะรัฐบาลต้องปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน และรัฐบาลกับ กกต. ต้องหารือร่วมกันว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่ง กกต. ชุดปัจจุบันยังคงมีอำนาจในการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องรอ กกต. ชุดใหม่ เพราะขณะนี้กฎหมายลูกว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่ง กกต.สามารถจัดทำระเบียบมารองรับได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

เตรียมส่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้ อปท.จัดเลือกตั้ง อาจขัด รธน.

สำหรับรายละเอียดเพิ่ิมเติม ประธาน กกต.ระบุว่า ยังมีประเด็นข้อขัดแย้งที่ กกต. อยู่ระหว่างยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ตามมาตรา 27 ที่บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัด โดย กกต.เป็นผู้ควบคุมให้การเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่ง กกต.เห็นว่ากฎหมายยังขัดแย้งกันอยู่ นั้น ศุภชัย ประธาน กกต.ระบุว่า กกต.เห็นว่า กฎหมายยังขัดแย้งกันอยู่ และมีการทักท้วงตั้งแต่ในชั้นกรรมาธิการฯ    แต่ไม่ได้มีการแก้ไข  กกต.จึงมอบหมายให้สำนักงานยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  โดยอยู่ระหว่างการตวจสอบข้อกฎหมาย และจะมีการเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยเร็ว  เพื่อให้ได้บทสรุปที่ชัดเจน ก่อนที่ คสช.จะปลดล็อคให้เลือกตั้งท้องถิ่นได้   ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาการฟ้องร้องในภายหลังแล้ว อาจทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นโมฆะ   

“แต่ถ้ายังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วมีการเลือกตั้งท้องถิ่นไปก่อน กกต.ก็จะทำหน้าที่ควบคุมตามกฎหมายลูก   ซึ่งหากมีปัญหาในภายหลังก็เป็นเรื่องของ คสช.” ศุภชัย กล่าว

สำหรับกรณีที่รัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 5  ฉบับ  เพี่อรองรับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ศุภชัย กล่าวว่า ยังไม่มีการติดต่อมาที่ กกต.เพื่อไปให้ความเห็น ส่วนการที่นักการเมืองจะเข้าไปสนับสนุนนักการเมืองท้องถิ่นนั้น ต้องยอมรับว่านักการเมืองท้องถิ่นคือหัวคะแนนของนักการเมืองระดับชาติ การจะไปสนับสนุน ก็อย่าให้ผิดกฎหมาย  

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย (1, 2) และเว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา (1, 2)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net