Skip to main content
sharethis

ริชาร์ด เอ รูธ ผู้ศึกษาเรื่องบทบาทของไทยในสงครามเวียดนาม ชี้ถึงการอ้างความชอบธรรมจากศาสนาพุทธที่มีผลต่อการมองว่าตัวเองเป็น 'ฝ่ายดี' ในสงครามเวียดนาม และการที่ไทยมักจะแสดงความภาคภูมิใจในการร่วมรบเนื่องจากได้รับผลประโยชน์หลายระดับจากการเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ แต่ก็ยังมีกลุ่มคนตัวเล็กๆ บางกลุ่มรวมถึงการสูญเสียของทหารชั้นผู้น้อยที่มักจะไม่ค่อยถูกพูดถึงเวลาไทยรำลึกสงครามเวียดนาม

ที่มา: บล็อกช่างภาพสงครามเวียดนาม/ความหลังจงอางศึก บันทึกชีวิตจริง  โดย พ.อ.ทวี วุฒิยานันท์ นายทหารประชาสัมพันธ์ จงอางศึก จาก วารสารเสนาสาร ธันวาคม พ.ศ. 2510


อนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกเวียดนาม จังหวัดกาญจนบุรี
ภาพจาก https://armytour.go.th/

13 พ.ย. 2560 ซีรีส์บทความ "เวียดนาม '67" ของนิวยอร์กไทม์ รวบรวมบทความจากกลุ่มนักประวัติศาสตร์ นักข่าว และผู้ที่เคยผ่านศึกสงครามเวียดนามย้อนรำลึกว่า สงครามในครั้งนั้นเปลี่ยนแปลงสหรัฐฯ ไปอย่างไรบ้าง บทความหนึ่งระบุถึงบทบาทของประเทศไทยในสงครามเวียดนามว่า ขณะที่เวียดนามและสหรัฐฯ มองสงครามเวียดนามเป็นโศกนาฏกรรม แต่ทำไมไทยถึงดูจะภูมิใจในสงครามครั้งนี้นัก

ริชาร์ด เอ รูธ ผู้ช่วยศาตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากโรงเรียนนายเรือสหรัฐฯ ผู้เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับบทบาทของทหารไทยในสงครามเวียดนามระบุถึงการที่ไทยเคยส่งหน่วยรบพิเศษไทยจำนวนมากไปร่วมรบที่เบียนฮหว่า ประเทศเวียดนาม ร่วมกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ไทยดูจะภาคภูมิใจในเรื่องนี้ขณะที่ทั้งสหรัฐฯ และเวียดนามมองว่ามันเป็นโศกนาฏกรรม

รูธบอกว่า เขาเคยสัมภาษณ์ทหารไทยที่ผ่านศึกสงครามเวียดนามกว่า 60 คน พวกเขามักจะพูดเน้นถึงประสบการณ์และผลประโยชน์ทางวัตถุที่ได้รับและบอกว่าพวกเขาสกัดกั้นไม่ให้ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่มายังไทยได้สำเร็จ พวกเขาประหลาดใจกับการเปลี่ยนแปลงของไทยในช่วงที่มีสงคราม และถึงแม้ว่าจะรับรู้เรื่องผลกระทบด้านแย่ๆ ของสงครามนี้ที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกับเพื่อนทหารพวกเขาบางคน แต่ทหารผ่านศึกเหล่านี้ก็ยังบอกว่ามันเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาและต่อประเทศชาติอยู่ดี

แต่สิ่งที่ทำให้รูธมองว่าโดดเด่นออกมาจากความคิดเห็นเหล่านี้คือการที่ทหารไทยซึ่งผ่านสงครามเวียดนามมีความภูมิใจมองภาพของตัวเองเป็น "ทหารชาวพุทธ" ทหารไทยในสงครามเวียดนามมักจะห้อยพระเครื่องหลายองค์ไปในการรบ และพูดถึงสรรพคุณการปกป้องคุ้มกันภัยให้ทหารอเมริกันฟัง และให้พวกเขายืมถ้ามีคนขอ บ้างก็รู้สึกว่ามันมีอิทธิฤทธิ์เหนือกว่าเครื่องรางไม้กางเขนแบบคริสต์ ทหารบางคนอ้างว่าพระเครื่องเหล่านี้ทำให้พวกเขาเพ่งสมาธิกับการสู้รบและสร้างขวัญในการสู้กับทหารฝ่ายตรงข้ามที่มองว่าเป็น "มาร" โดยไม่ตื่นกลัววิ่งหนีไปเสียก่อน

รูธระบุว่าทหารไทยในตอนนั้นมีการใช้สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาผูกโยงด้วยในหลายๆ เรื่องทั้งในแง่พิธีกรรมทางศาสนาใหญ่โตช่วงก่อนออกไปรบ หรือในแง่การอ้างคำสอนเรื่อง "เมตตา" มาใช้กับภารกิจช่วงกลางวันของทหารไทยในเวียดนามที่จะทำความสะอาดและบูรณะซ่อมแซมวัดในเวียดนาม พวกเขามองตัวเองว่าเป็นนักรบชาวพุทธเถรวาทที่เข้าไปช่วยเหลือเพื่อนบ้านชาวพุทธนิกายมหายาน

นอกจากนี้ ในแง่ทัศนคติจากสังคมในยุคสมัยนั้นระหว่างสหรัฐฯ กับไทยยังแตกต่างกันด้วย ในช่วงปี 2510-2512 ประชาชนชาวอเมริกันเริ่มต่อต้านสงครามมากขึ้นเรื่อยๆ ใขณะที่ไทยยังเน้นรายงานถึงความสำเร็จในการรบ รวมถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงประทานของกำนัลให้กับผู้บาดเจ็บจากสงคราม การรบที่เบียนฮหว่าในยุคนั้นก็ประสบความสำเร็จจนทหารผ่านศึกหลายคนเล่าว่าแม้แต่นายพลฝั่งสหรัฐฯ ก็ชื่นชมพวกเขา

รูธมองว่าความภาคภูมิใจเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม การที่ประเทศหนึ่งเข้าร่วมอะไรบางอย่างในเวทีโลกก็ทำให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจเช่นที่เวลาทหารไทยพูดย้อนไปถึงสมัยสงครามเวียดนาม พวกเขาจะบอกว่ามันเป็นโอกาสที่จะได้สังเกตการบริโภคนิยมแบบอเมริกัน พวกเขาเริ่มรู้จักและสามารถเข้าถึงสินค้าต่างๆ ที่เป็นอเมริกันไม่ว่าจะเป็นกล้อง SLR โทรทัศน์ สเตอริโอ ตู้เย็น วิสกี้ นิตยสารเพลย์บอย แต่การที่ทหารไทยพยายามซื้อสินค้าเหล่านี้ถูกนำเสนออย่างลบๆ ในสื่อต่างประเทศ มีแม้กระทั่งเรื่องที่ทหารไทยนำของเหล่านี้ไปขายต่อในตลาดมืดของไซง่อน สื่อต่างประเทศในยุคนั้นยังขนานนามกองทัพไทยว่าเป็น "ทหารรับจ้างให้อเมริกา" ด้วย

การกล่าวอ้างเรื่องนี้ไม่ได้ห่างไกลจากความเป็นจริงนัก เพราะไทยได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากการร่วมมือกับสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้สหรัฐฯ ให้เงินช่วยเหลือ 1,100 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและการทหารแก่ไทย องค์กรด้านการพัฒนานานาชาติของสหรัฐฯ ก็ให้เพิ่มอีก 530 ล้านดอลลาร์ ทั้งหมดนี้แลกกับการที่ไทยซึ่งการเมืองถูกครอบงำโดยกองทัพต้องเอื้อประโยชน์ส่วนหนึ่งต่อสหรัฐฯ เช่นการให้ที่ตั้งฐานทัพอากาศแก่สหรัฐฯ 7 แห่ง เพื่อปฏิบัติการในภูมิภาค

ฝ่ายนายทุนไทยยุคสมัยนั้นที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลก็หาประโยชน์จากการสร้างธุรกิจรองรับทหารและคนที่ทำงานให้กองทัพสหรัฐฯ ราว 50,000 นาย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร หรือบาร์ ซึ่งหน่วยจีไอก็สร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจไทยไปด้วย ทำให้ประเทศราชอาณาจักรพุทธแห่งนี้ถูกทำให้เป็นสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว

การถูกสื่อต่างประเทศกล่าวหาเรื่องเป็น "ทหารรับจ้าง" ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับภาพลักษณ์ภายในประเทศยุคนั้นนัก พวกทหารผ่านศึกเวียดนามมีแต่จะสร้างอนุสาวรีย์อวดโอ่เกียรติภูมิจากสงคราม ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึกเวียดนามที่กาญจนบุรี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หรือการจัดแสดงที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ กองทัพไทยก็อ้างว่าสงครามเวียดนามเป็นสิ่งที่พวกเขาภาคภูมิใจที่สุดในยุคคริสตศตวรรษที่ 20 เช่นกัน

ผลกระทบจากสงครามในครั้งนั้นยังส่งผลเลวร้ายต่อเวียดนามทำให้เกิดปัญหาผู้ลี้ภัย รวมถึงประสบปัญหาความยากจนและการถูกโดดเดี่ยว ในขณะที่ไทยมีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นและสหรัฐฯ ก็เข้ามาช่วยสร้างทางหลวงเชื่อมชนบทกับกรุงเทพฯ และหัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว กระนั้นก็ยากจะปฏิเสธว่าไทยเองมีราคาที่ต้องจ่ายให้กับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในยุคนั้นด้วย


ราคาอันเจ็บปวดที่ต้องจ่ายให้สงครามเวียดนาม

ทว่า สิ่งที่ไม่ค่อยถูกนำเสนอเกี่ยวกับแง่มุมของสงครามเวียดนามคือสิ่งที่ไทยต้องสูญเสียไป นอกจากทหารที่เสียชีวิตในสงคราม 351 นาย และบาดเจ็บอีก 1,351 นาย แล้ว ทหารอาสาที่ส่งไปที่ลาวในปฏิบัติการที่เรียกว่า "สงครามลับ" ก็เสียชีวิตในสภาพที่ย่ำแย่ สงครามเวียดนามและการมีอยู่ของกองกำลังสหรัฐฯ ยังมีบทบาทต่อความรุนแรงทางการเมืองอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 ด้วย

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ย่านโคมแดงในกรุงเทพฯ ที่รองรับนักท่องเที่ยวตะวันตกมีต้นกำเนิดมาจากการรองรับกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามเวียดนาม มีทหารอเมริกันบางส่วนที่ทำผู้หญิงไทยท้องทิ้งไว้จากความสัมพันธ์แบบชั่วคราว เด็กหลายคนที่เกิดจากครอบครัวเหล่านี้เติบโตขึ้นมาในภาวะยากจนและถูกอัปเปหิออกจากสังคม แต่ความทรงจำส่วนนี้ก็ถูกมองข้ามจากการเขียนประวัติศาสตร์และรำลึกความทรงจำในแบบของทางการไทย

 

เรียบเรียงจาก

Why Thailand Takes Pride in the Vietnam War, RICHARD A. RUTH, New York Times, 07-11-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net