'กกต. สมชัย' โต้ 'มีชัย' อธิบายเกินกฎหมาย ปมให้ผู้ตรวจฯจัดเลือกตั้งท้องถิ่น

สมชัย ย้ำหากเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนระดับชาติ ต้องแก้กฎหมายตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ชี้เลือกตั้งท้องถิ่นมีร้องเรียนเหตุมาก อาจกระทบเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. ขณะที่ 'มีชัย' ชี้ต้องแก้กฎหมาย 6 ฉบับก่อนเลือกตั้งท้องถิ่น

  
แฟ้มภาพ เว็บไซต์ กกต.

 

14 พ.ย.2560 ความคืบหน้ากรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมปลดล็อคให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ล่าสุดรายงานข่าวระบุว่า สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)  กล่าวถึงกรณีที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บอกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นแม้ไม่มี กกต.จังหวัด แต่ กกต.สามารถใช้กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้ง มาทำหน้าที่สนับสนุนได้ นั้น เป็นการอธิบายที่เกินกฎมาย เพราะใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วย กกต. มาตรา 28 ระบุว่า การเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.แต่ละครั้ง ให้ กกต.จัดให้มีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างเวลาที่มีการดำเนินการเลือกตั้ง หากจะให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งในการเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องมีการออกกฎหมายรองรับ มิฉะนั้นไม่สามารถตั้งงบประมาณในการดำเนินการได้ เตือนไว้ก่อนว่าบรรดาการเลือกตั้งทุกประเภทที่ กกต.รับผิดชอบ การเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นการเลือกตั้งที่มีจำนวนเรื่องร้องเรียนสูงสุด มีอัตราการซื้อเสียงสูงสุด รูปแบบการซื้อเสียงและทุจริตการเลือกตั้งมีความหลากหลายและพลิกแพลงสูงสุด แข่งขันกันในพื้นที่ค่อนข้างรุนแรง การกำกับให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่

สมชัย ระบุว่า หากจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ อาจเป็นภาระของ กกต.ชุดใหม่ ที่ต้องจมตัวลงไปในคดีความ และข้อร้องเรียนต่างๆ จำนวนมาก อาจกระทบต่อประสิทธิภาพการจัดการสรรหา ส.ว. และการเลือกตั้ง ส.ส.ที่เป็นคิวถัดไป

สมชัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560  มีจำนวนสมาชิกและผู้บริหารที่ครบวาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวม 8,410 แห่ง  แยกเป็น ปี 2557  ครบวาระ 689 แห่ง ปี 2558  940 แห่ง ปี 2559 3,217 แห่ง และปี 2560  3,564 แห่ง  จากจำนวนจริงมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งประเทศ 7,853 แห่ง บางแห่งการครบวาระของสภาและผู้บริหารไม่พร้อมกันจึงนับเป็น 2 แห่ง ทำให้จำนวนรวมเกินกว่าจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560  มาตรา  224 (1) ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจ ในการ "จัด" หรือ "ดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้ง" ทั้งเลือกตั้ง  ส.ส.  ส.ว. สภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ

สมชัย กล่าวว่า พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มาตรา 27 วรรคสอง  ระบุให้ กกต.มีอำนาจดำเนินการให้ "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" หรือ "หน่วยงานของรัฐ" เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมดูแลของ กกต. ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  ซึ่งเป็นประเด็นที่ กกต.เห็นว่ากฎหมายลูกขัดกับรัฐธรรมนูญ   และมีปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ เพราะตัดประเด็นที่ให้ กกต.จัดเองได้ทิ้งไป และ กกต.กำลังจะนำประเด็นดังกล่าวสู่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

มีชัยชี้ต้องแก้กฎหมาย 6 ฉบับก่อน

ขณะที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการปรับแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า รัฐบาลต้องพิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ทีมีอยู่ 6 ฉบับ ประกอบด้วย กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบต. , เทศบาล , อบจ., พัทยา, กรุงเทพมหานคร และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นการปรับแก้ไขบางมาตราไม่ใช่การร่างกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุให้ยึดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครการเลือกตั้งท้องถิ่นเช่นเดียวกับ ส.ส. อีกทั้งกลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งท้องถิ่นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจึงต้องพิจารณาปรับแก้ไขให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ หากรัฐบาลปรับแก้ไขกฎหมายทั้ง 6 ฉบับแล้ว ก็จะสามารถส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทันที คาดว่ากระบวนการปรับแก้ไขกฎหมายของ สนช. จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือนและหากประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว คาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ภายในปี 2561 ส่วนกำหนดการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ชัดเจนนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาล

มีชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ กรธ. กับ รัฐบาล  กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการหารือปรับแก้กฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฉบับเดิมระหว่าง ซึ่งแนวทางการปรับแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น คณะกรรมการพัฒนากฎหมายชุดที่มี บวรศักดิ์  อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาดำเนินการ ซึ่ง กรธ. จะนำเสนอเรื่องนี้ให้รัฐบาล พิจารณาต่อไป

 

ที่มา เว็บไซต์วิทยุรัฐสภาฯ สำนักข่าวไทย และไทยรัฐออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท