ผี ขวัญ คน: ความสัมพันธ์ของชีวิตและความหมายของคนไทใหญ่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

1. เกริ่นนำ

งานเรื่อง Imagining the Course of Life: Self-Transformation in a Shan Buddhist Community[1] ของ Nancy Eberhardt วางอยู่บนงานภาคสนามในหมู่บ้านของชาวฉาน (ไทใหญ่)ในภาคเหนือของไทย ได้นำเสนอความคิดของชาว “ไทใหญ่” ว่าด้วยตัวตนและบุคคลในเรื่องเส้นทางชีวิตที่เชื่อมกับโครงสร้างท้องถิ่น ในกระบวนการดังกล่าว เธอได้ดึงความสนใจไปที่ตัวแบบที่ขัดแย้งกันในประเพณีของอเมริกัน-ยุโรป เรื่องปัจเจกบุคคลและใช้ชุดคำอธิบายที่เป็นสากลซึ่งอยู่บนวิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม แต่ต้องใช้แนวทางการศึกษาที่เรียกว่า Ethnopsychology เพื่อทำความเข้าใจว่าคนไทใหญ่ มีโลกทัศน์/จักรวารทัศน์ในการอธิบายการพัฒนาตัวตนให้ถึงพร้อมสมบูรณ์ในช่วงชีวิตได้อย่างไร และจากการศึกษาชุมชนชาวไทใหญ่ ณ บ้านกองมู จ. แม่ฮ่องสอน Eberhardt ก็ค้นพบว่าทฤษฎีการพัฒนาตัวตนของคนไทใหญ่นั้นวางอยู่บนความเชื่อเรื่องขวัญ ผี และพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่สัมพันธ์กับชีวิตของชาวไทใหญ่ในแต่ละช่วงของชีวิต

การศึกษานี้ใช้วิธีการทางมานุษยวิทยาโดยการลงภาคสนามอย่างเข้มข้นและนำมาสู่ข้อถกเถียงเรื่องการศึกษาการพัฒนาของตัวตนให้สมบูรณ์ของมนุษย์ (human development) ในช่วงชีวิต (course of life) รวมทั้งนำเอางานงานภาคสนามในเชิงของจิต-มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา รวมถึงอธิบายกระบวนการพัฒนาตัวตนของบุคคลตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บและตาย ของคนไทใหญ่นั้นไม่สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีจิตวิทยาแบบตะวันตกที่มองว่าการพัฒนาตัวตนและชีวิตของบุคคล แต่การอธิบายดังกล่าวต้องวางอยู่ที่บริบทของพื้นที่ โดย Eberhardt ศึกษาพัฒนาการชีวิต และการมองโลกของชาวไทใหญ่ผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของชีวิตมนุษย์ในช่วงเวลาต่างผ่านความเชื่อเรื่องขวัญ ผี คน และพุทธศาสนา

2. ขวัญ ชีวิต ตัวตน คน ผี และพุทธศาสนา: สิ่งประกอบสร้างตัวตนของชาวไทใหญ่

ชาวไทใหญ่มีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีขวัญ ที่สถิตอยู่ท่ามกลางร่างกายของมนุษย์ โดยขวัญจะสถิตอยู่ตามอวัยวะของมนุษย์ ขวัญเป็นสิ่งที่อยู่ในร่างกายทุกคน ขวัญมีลักษณะเบา เคลื่อนไหวได้ ไม่อาจเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ ขวัญแฝงอยู่ในคน สัตว์และสิ่งของ เมื่อใดที่ขวัญอ่อนลงหรือหย่อนจะทำให้สภาวะของร่างกายและจิตใจของเจ้าของขวัญจะรู้สึกเสียใจ ตกใจ ท้อใจ เมื่อเจ้าของขวัญมีขวัญดีจะรู้สึกสุขสบายใจและกล้าหาญ มีพลังเต็มเปี่ยม  เพราะก่อนที่จะเกิดมาเป็นคนต้องมีขวัญมาสู่ร่างของแม่ก่อน แล้วเด็กที่มาเกิดจะมีความเชื่อมโยงกับคนในอดีต ที่เคยเป็นบรรพบุรุษ  หรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ส่วนคนที่ตายไม่แล้วจะมีขวัญ เพราะขวัญได้แตกออกจากร่างไป เพื่อหาที่สิงสถิตใหม่ หรือเกิดมาเป็นเด็กใหม่นั้นเอง พูดอีกอย่างได้ว่า คนไทใหญ่มีความเชื่อโลกหลังความตาย ที่คนไม่ได้ไปไหน แต่ได้เวียนว่ายตายเกิดมาเป็นคนใหม่ ซึ่งหากคนเราไม่มีขวัญก็จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้


รูปที่ 1 งานส่างลองวัดกู่เต้า จ. เชียงใหม่ (Cr: เกรียงไกร จินะโกฎิ)

ส่วนผี คือ คนที่ตายและขวัญออกจากร่างกายแล้ว ซึ่งอาจมีทั้งร้ายและดี การตายที่ไม่ปกติก็อาจทำให้คนๆ นั้นกลายเป็นผีที่คนหวาดกลัว ส่วนผีที่ดีก็จะดลบันดาลหรือปัดเป่าทุกข์สุขให้คนได้ อย่างความเชื่อเรื่องผีเจ้าเมืองที่ไทใหญ่จะให้ความเคารพ เป็นที่บนบานสานกล่าว ซึ่งผีอาจเป็นตัวทำให้ขวัญ หรือคนที่มีชีวิตอยู่เจ็บไข้ได้ป่วย จึงมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อสร้างหรือลดความไม่พอใจของผี ผ่านพิธีกรรมเซ่นสรวง หรือการเลี้ยงผี

ความเชื่อเรื่องขวัญจึงเป็นความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติและอยู่นอกเหนือความเข้าใจของมนุษย์ ขวัญเป็นสิ่งไร้ตัวตนแต่มีพลังอำนาจสามารถให้คุณและให้โทษแก่ชีวิตมนุษย์โดยที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ และไม่สามารถทำความเข้าใจในสิ่งนี้ได้ จึงทำให้เกิดมีพิธีกรรมเรียกขวัญเข้ามามีบทบาทหน้าที่สำคัญในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจ เป็นการรักษาผู้ป่วยให้หายจากความเจ็บไข้ ซึ่งวิธีการรักษานี้มิใช่การรักษาทางร่างกายแต่เป็นการรักษาเยียวยาทางจิตใจ  ช่วยทำให้บุคคลที่ได้รับการทำขวัญได้ผ่อนคลายความรู้สึกวิตกกังวล หรือความรู้สึกกลัวภายในจิตใจ ให้กลับมีพลัง มีกำลังใจเข้มแข็งขึ้น สามารถต่อสู้กับโรคภัยและเคราะห์ร้ายต่าง ๆ ได้  แต่ถ้าเมื่อใดที่ขวัญออกจากร่างกายไปแล้วถูกผีหน่วงเหนี่ยวจับไว้ หรือไปหลงอยู่ตามที่ต่าง ๆ จนกลับเข้าร่างเดิมไม่ได้ ผู้เป็นเจ้าของขวัญก็จะมีอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ชาวไทใหญ่ยังเข้าใจว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเยียวยารักษามานานก็ยังไม่หาย ก็เนื่องด้วยขวัญมีอันเป็นไปในทางที่ไม่ดี จึงต้องพึ่งพาผู้มีวิชา หรือคนข่าม[2] เข้ามาช่วยในการเรียกขวัญให้คืนมา โดยมีเครื่องเซ่นสังเวยเพื่อให้ขวัญพึงพอใจ

คนในวัยเด็กจะเป็นกลุ่มคนที่มีขวัญอ่อน หรือสามารถเสียขวัญได้ง่าย ชาวไทใหญ่เชื่อว่าเด็กเป็น “ภาวะก่ำกึ่ง” ระหว่างคนกับผี นำมาสู่การปฏิบัติต่อเด็กที่จะมีอภิสิทธิ์มากกว่าผู้ใหญ่ ไม่ได้ถูกควบคุมมากนัก


รูปที่ 2 ส่างลอง (เณร) วัดกู่เต้า จ. เชียงใหม่ (Cr: เกรียงไกร จินะโกฎิ)

การที่เด็กจะก้าวผ่านมาเป็นผู้ใหญ่เด็กผู้ชายอาจผ่านการบวชเป็น “ส่างลอง” โดยชาวไทใหญ่เชื่อว่า “เด็ก” เป็นผู้ที่มี “ความบริสุทธิ์” มากกว่าผู้ใหญ่ การบวชจึงทำให้ได้บุญกุศลมากกว่า การบวชเป็นส่างลองจึงเป็นการก้าวผ่านสู่ความเป็นผู้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันผู้หญิงกับไม่สามารถเข้าสู่ร่มผ้าเหลืองได้ ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทในการอุปถัมภ์ส่างลอง หรือเป็นแม่ข่าม เพื่อปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ชายเป็นผู้ที่เข้าถึงศาสนาได้ แต่ผู้หญิงมีบทบาทเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพุทธศาสนา[3]

การทำบุญเพื่อให้เกิดมาในชาติหน้าดีกว่าชาตินี้เป็นความเชื่อ/โลกทัศน์ของชาวไทใหญ่ ที่เชื่อว่าการที่เราเกิดมาในชาตินี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราทำในชาติก่อน ฉะนั้นในชาตินี้จึงต้องสร้างกุศลเพื่อให้เกิดมาดีกว่าในชาติหน้า ผ่านพิธีการอ่าน หรือฟัง “ลิกธรรม” เพื่อให้ได้อานิสงส์ผลบุญ ซึ่งความเชื่อเรื่องบุญ/กรรม เป็นโลกทัศน์/จักวารทัศน์ที่ทำให้เกิดการจัดตำแหน่งแห่งที่ของคน โดยคนที่เกิดมาดี รวย หรือมีความสุขล้วนเกิดจากการกระทำในอดีต ส่วนคนที่เกิดมาทุกข์ จน ก็เกิดจากการกระทำในอดีต ทำให้นัยหนึ่งเป็นการยอมรับชะตากรรม ไม่ต่อสู้ จำยอม และหวังแก้ตัวในชาติหน้า ชาตินี้เป็นเพียงเวลาการเปลี่ยนผ่านต้องทำกุศลเพื่อให้เกิดใหม่ชาติหน้า หรือพูดได้ว่าสามารถแก้ตัวได้ในชาติหน้า

นอกจากนี้ความเชื่อทางพุทธศาสนาของชาวไทใหญ่ยังมีความสัมพันธ์กับความเชื่อพื้นถิ่น (ขวัญ ผี) ควบคู่กัน แม้ว่าจะเชื่อว่าศาสนาพุทธทำให้หลุดพ้น แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต ขวัญ/ผี ก็มีอิทธิพลที่จะดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้   พุทธในที่นี้จึงเป็นพุทธแบบอุษาคเนย์ที่ปะปนด้วยตัวตนของคนท้องถิ่น 

คน ขวัญ ผี และพุทธศาสนาจึงมีความสำคัญกับชาวไทใหญ่เป็นเทคโนโลยีที่ประกอบสร้างความเป็นตัวตนของชาวไทใหญ่ที่เชื่อมสัมพันธ์โลกนี้กับโลกหน้า และโลกภายนอก เป็นการผนวกเอาโลกที่มองไม่เห็นมาอยู่ภายใต้ตัวตน อันนำมาสู่ปฏิบัติการผ่านพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพระหว่างโลกของคน ขวัญ และผี

3.  ใต้ตัวตนของคนไทใหญ่ 

คนไทใหญ่สร้างตัวตนผ่านพิธีกรรมต่าง ๆงานของ Eberhardt แสดงให้เห็นว่าในชีวิตคนไทใหญ่ เป็นการประกอบสร้างตัวตนผ่านความเป็นปัจเจกผ่านการรับเอาขวัญเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งมีส่วนคล้ายกับงานของ ชิเกฮารุ ทานาเบ้[4] ที่ศึกษาความเชื่อเรื่องขวัญ ผี กับการประกอบสร้างตัวตนคนเมือง โดยขวัญหรือคน มีการปรับเปลี่ยนเลื่อนไหลไปใต้สถานการของความเปลี่ยนแปลง คนจึงให้ความหมายต่อตนเองและโลกที่ที่ปรับเปลี่ยนไป ในกรณีนี้ทานาเบ้ได้ใช้คนทรงที่เป็นเทคโนโลยีบำบัดอารมณ์เพื่อสร้างสมดุลระหว่างคนกับโลกภายนอก

ในส่วนงานของ Eberhardt ได้ศึกษาพิธีกรรมต่าง ๆ ของไทใหญ่อย่างละเอียดเพื่อเข้าใจตัวตน พัฒนาการทางชีวิตของชาวไทใหญ่จากวัยเด็กที่เป็นการเรียนรู้เพื่ออยู่ในโลก และวัยชราที่ปลีกตัวออกจากโลกเพื่อเข้าใจตนเองผ่านการเข้าวัด ซึ่งในโลกของตะวันออกให้ความหายต่อความแก่เฒ่าในแง่ของผู้มีประสบการณ์ป่านโลกมามาก เป็นผู้รู้ แตกต่างจากตะวันตกที่ทำให้เห็นว่าความแก่เฒ่าเป็นภาระ เป็นวัยที่มีอรรถประโยชน์น้อย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการให้คุณค่าของชีวิต และมุมมองต่อโลกระหว่างตะวันออกและตะวันตก ซึ่ง Eberhardt ต้องการแสดงให้เห็นผ่านพิธีกรรมและความเชื่อของชาวเท่าไทใหญ่  ภายใต้โลกทัศน์และจักรวาลทัศน์ผ่านพิธีกรรมอย่างละเอียด เพื่ออธิบายว่าตัวตนของคนสามารถมองภายใต้ปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน และเป็นเรื่องพื้นที่ที่ไม่อาจเหมือนกันในพื้นที่ต่าง ๆ งานชิ้นนี้เป็นการเก็บข้อมูลภาคสนามอย่างเข้มแข็ง ทำให้เห็นรายละเอียดในชีวิตของคนไทใหญ่ในช่วงต่าง ๆ เป็นการผสมผสานวิธีการมานุษยวิทยาและจิตวิทยา และสร้างวิธีการศึกษาแบบ Ethnopsychology ที่เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านชีวิต จิตใจ และตัวตนของคนนั้น ๆ

 

เชิงอรรถ

[1] Eberhardt, Nancy.  Imagining the course of life : self-transformation in a Shan Buddhist community.  Honolulu : University of Hawaii Press, c2006

[2] คนที่มีวิชาอาจเกิดจากการที่เคยป่วยมาก่อนแล้วหายในภายหลัง และสามารถรับรู้ติดต่อกับสิงศักดิ์สิทธิ์ได้ และได้กลายมาเป็นผู้รักษาคนอื่น เช่น การฝันเห็นคาถาอาคม หรือวิธีการช่วยคนเป็นต้น

[3] ดูเพิ่มใน อานันท์  กาญจนพันธุ์ และชัยพงษ์  สำเนียง. (2559).  “พื้นที่ชีวิตแรงงานข้ามชาติไทใหญ่: การสร้างตัวตนและความเป็นพลเมืองในพื้นที่วัฒนธรรม”. วารสารสังคมศาสตร์ (ม.ค.-มิ.ย. ปีที่ 28 เล่มที่ 1).

[4] ชิเกฮารุ ทานาเบ.  พิธีกรรมและปฎิบัติการ ในสังคมชาวนาภาคเหนือของประเทศไทย.  กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2555, (น. 141-169).

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท