Skip to main content
sharethis

ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี 'อภิชาต' ชูป้ายคัดค้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ 16 พ.ย.นี้ หลังปีที่แล้วศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่ ให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี

ภาพเหตุการณ์วันที่ 23 พ.ค.57 หน้าหอศิลปฯ

15 พ.ย.2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 พ.ย.60) เวลา 10.00 น. ณ ศาลแขวงปทุมวัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีความผิดต่อ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกและความผิดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง (คดีหมายเลขดำที่ 1097/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 9075/2559)  ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด กับ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์

สนส. รายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดคดีนี้ว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2557 หลังการรัฐประหารของ คสช. เพียงวันเดียว มีกลุ่มประชาชนจำนวนหนึ่งได้ออกมาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในพื้นที่บริเวณหน้าหอศิลป์ฯ เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ซึ่ง อภิชาต ก็เป็นหนึ่งในคนที่เข้าร่วมทำกิจกรรมดังกล่าว โดยชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารมีข้อความว่า “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” เขาเป็นคนแรกที่ถูกทหารจับกุมและควบคุมตัวด้วยกฎอัยการศึก 7 วัน  ต่อมาถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. 7/2557, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216 และมาตรา 368 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในวันที่ 28 เม.ย. 2558

ต่อมา ศาลแขวงปทุมวันมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2559  พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการสอบสวนไม่ถูกต้อง เนื่องจากคดีนี้เหตุเกิดและจำเลยถูกจับกุมในท้องที่ สน.ปทุมวัน แต่ตำรวจจากกองปราบเป็นผู้สอบสวน ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นถึงเขตอำนาจสอบสวน จึงถือว่าไม่มีการสอบสวนอย่างถูกต้อง

วันที่ 17 มี.ค. 2559  พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลแขวงปทุมวัน  ต่อมาวันที่ 11 ต.ค. 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นการปฏิบัติงานตาม ป.วิ.อาญา  พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม มีอำนาจสอบสวนเกี่ยวกับความผิดที่มีโทษทางอาญาทั่วราชอาณาจักร และตามคำสั่งที่ 145/2557 กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องแต่งตั้งพนักงานสอบสวนกรณีผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ซึ่งกำหนดให้ ร.ต.ท.ชลิต มณีพราว เป็นพนักงานสอบสวน  ฉะนั้นการสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมายและโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง  ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่

จนกระทั่ง วันที่ 19 ธ.ค. 2559 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาใหม่ว่า จำเลยมีความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 ให้พิจารณาโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก แต่เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ต่อมาทนายความของจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลแขวงปทุมวัน ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2560 แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เลื่อนการพิพากษาคดีไปเป็นวันที่ 16 พ.ย. 2560 เวลา 09.00 น. ณ ศาลแขวงปทุมวัน เนื่องจากศาลอุทธรณ์พิจารณาคดียังไม่แล้วเสร็จ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net