Skip to main content
sharethis
เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 คดี 'อภิชาต' ชูป้ายคัดค้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ไป ม.ค.ปีหน้า  เหตุคดีซับซ้อนและมีคนให้ความสนใจ พร้อมเปิด 6 ประเด็นอุทธรณ์คดีชี้ไม่ผิดเหตุ ประยุทธ์ ไม่ได้อยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ประกาศ คสช.ไม่มีผลเป็นกฎหมาย

ภาพเหตุการณ์วันที่ 23 พ.ค.57 หน้าหอศิลปฯ
 
16 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ศาลแขวงปทุมวันเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี 'อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร' เป็นครั้งที่ 2 โดยเลื่อนไปเป็นวันที่ 31 ม.ค. 2561 

คดีดังกล่าว (คดีหมายเลขดำที่ 1097/2559 คดีหมายเลขแดงที่ 9075/2559) เป็นคดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด กับ อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ในข้อหาคดีความผิดต่อ พ.ร.บ.กฎอัยการศึกและความผิดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง จากการชูป้ายคัดค้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ 23 พ.ค. 2557 หลังการรัฐประหารของ คสช. เพียงวันเดียว
 
 
สำหรับคดีดังกล่าว สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เป็นทนายให้ อภิชาต โดยผู้สื่อข่าวประชาไท สอบถาม บัณฑิต หอมเกษ ผู้ประสานงานและรณรงค์ของ สนส. บัณฑิต เปิดเผยว่า ทางศาลไม่มีหนังสือแจงถึงเหตุผลที่เลื่อนอ่านคำพิพากษา ศาลเพียงนั่งบัลลังก์และบอกว่าเลื่อน พร้อมกล่าวว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีคนให้ความสนใจ รวมทั้งเป็นคดีที่มีประเด็นที่ซับซ้อน ศาลอุทธรณ์จึงแจ้งมายังศาลแขวงว่าพิจารณายังไม่แล้วเสร็จจึงต้องเลื่อนไปก่อน
 
บัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า คดีนี้ในตอนแรกศาลแขวงพิพากษายกฟ้องโดยยกเรื่องกองปราบไม่มีอำนาจสอบสวน อัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลจึงยกฟ้องด้วยเหตุนี้ จากนั้นอัยการได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงระบุว่ากองปราบฯ มีอำนาจสอบสวนอยู่ จึงย้อนสำนวนนี้ไปให้ศาลแขวงปทุมวันพิจารณาคดีใหม่ เมื่อให้ศาลแขวงปทุมวันพิจารณาคดีใหม่ จึงมีคำพิพากษาออกมาว่า อภิชาตทำผิดจริงตามฟ้องพร้อมลงโทษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ให้จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และต่อมาทนายความของจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว
 
ผู้ประสานงานและรณรงค์ของ สนส. เปิดเผยว่า อภิชาตได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวม 6 ประเด็น ดังนี้

1.       ประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เนื่องจากการสอบสวนในคดีนี้มิชอบด้วยกฎหมาย  

2.       พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้อยู่ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่นำมาฟ้องจำเลยจึงไม่มีผลเป็นกฎหมายซึ่งจะนำมาบังคับใช้กับจำเลยได้

3.       การประกาศกฎอัยการศึกโดยกองทัพบกในวันที่ 20 พ.ค.2557 และโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติในวันที่ 22 พ.ค.2557 เป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

4.       ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ไม่มีผลบังคับแล้ว เพราะได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ มีลักษณะเป็นคุณต่อจำเลย โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อห้ามมิให้มั่วสุมหรือเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำเลยจึงไม่ต้องผูกพันในการแก้ข้อกล่าวหาใดๆ ดังกล่าวอีก

5.       ปากคำพยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ และจำเลยมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย  และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองรับรองไว้  

6.       จำเลยไม่ได้มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป  เพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง  พยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ  จำเลยต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการทำรัฐประหาร  ซึ่งเป็นการได้อำนาจการปกครองประเทศมาโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตใจและเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net