Skip to main content
sharethis



ลี้–จิราพร แซ่ลี้ คือบัณฑิตหมาดๆ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘ตลาดน้อยสตอรี่’ สารคดีชนะเลิศรางวัลดุ๊ก รางวัลประเภทสารคดี ในเทศกาลหนังสั้น ซึ่งจัดโดยมูลนิธิหนังไทย ประจำปี 2560 โฮมวิดีโอเล่าเรื่องครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนขนาดใหญ่ของเธอเอง ที่อาศัยอยู่ในร้านค้าเหล็ก ณ ตลาดน้อยมายาวนาน ซึ่งมีตัวละครหลักในหนังคืออาม่าของเธอ

เช่นเดียวกับครอบครัวของใครอีกหลายคน ครอบครัวของลี้ไม่ได้สมบูรณ์ สารคดีของเธอถ่ายทอดทั้งมุมมองที่เจ็บปวดและอ่อนโยนของครอบครัวออกมาได้อุ่นกำลังดีและปวดร้าวในบางที

เมื่อรวมกับความสนใจในวรรณกรรมของเธอ สารคดีโฮมวิดีโอเรื่องนี้จึงเหมือนการเล่าประวัติศาสตร์ของครอบครัว ประวัติศาสตร์ของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้เป็นบุคคลยิ่งใหญ่ แต่บางร่องรอยก็อาจมีจุดเชื่อมโยงกับผู้ชมได้อย่างคาดไม่ถึง

วิธีเล่าเรื่องในช่วงต้นคือการเขียนเล่าภูมิหลังของครอบครัวเธอ ก่อนเข้าสู่ตัวหนังที่ถ่ายทอดกิจวัตรประจำวันภายในครอบครัว เรื่องราวการสูญเสีย การตาย การเกิด การเจ็บป่วย ความเปราะบางของห้วงอารมณ์ ทั้งสุขและเศร้า ทั้งรักและชัง

 

อาม่า

วันหนึ่ง วันที่ฉันกลับมาจากไปต่างประเทศสามเดือน ฉันเดินขึ้นบ้าน เจออาม่านั่งอยู่ที่เดิม โซฟาสีส้มอ่อนตัวเดิม พัดลมหมุนเหนือศีรษะ เสียงทีวีเป็นฉากหลัง วอลเปเปอร์ลายดอกไม้สีส้มมีปฏิทินได้รับแจกมาแขวนอยู่ รูปรับปริญญาลูกๆ ของอาม่าที่แขวนเต็มผนังคู่กับนาฬิกา ทุกอย่างเหมือนเดิม พออาม่าเห็นฉันโผล่ขึ้นมาเท่านั้นแหละ แกร้องเสียงหลง อาหนิงกลับมาแล้วๆ อาหนิงกลับมาแล้วๆ ปรบมือด้วย มือก็ดึงฉันไว้

อาม่าคนเดิม ตัวอ้วนท้วน เนื้อหนังเหยาะแหยะ ผิวเต็มไปด้วยกระจุดสีน้ำตาล ถุงใต้ตาใหญ่ แก้มสองข้างหย่อนคล้อย แววตาที่คงเหลือความเศร้า เหมือนเดิมเลย แล้วอาม่าก็ร้องไห้ออกมา ไหงคิดถึงแหนจะตาย แล้วก็พูดวน อาหนิงกลับมาแล้วๆ

ฉันก็อดร้องไห้ออกมาไม่ได้เลย

-บางส่วนจากสารคดี ตลาดน้อยสตอรี่

*ไหง = ฉัน, แหน = เธอ ภาษาจีนแคะ


ภาพจาก Doc Club Theater  

อาม่าของลี้ วัย 76 ปี คือคนสำคัญในครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของลี้และลูกหลานคนอื่น ผู้คุมกิจการการค้าของครอบครัวมายาวนานกว่า 30 ปี ก่อนจะให้ลูกหลานสืบทอดต่อ ขณะที่อากงของลี้เป็นอัมพฤกษ์เมื่อ 22 ปีก่อน

เมื่อไปเยี่ยมลี้ที่บ้าน อาคาร 4 ชั้น 2 คูหา ติดริมถนนโยธา เลี้ยวจากถนนเจริญกรุงเข้ามา ไม่ไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยา ชั้นล่างเป็นร้านขายเหล็กและอะไหล่ อาม่านั่งเฝ้าร้านอยู่ที่ชั้นล่าง ระหว่างที่ลี้ออกไปซื้อบัวลอยไข่ยางมะตูมเจ้าอร่อยที่ขายเพียงอาทิตย์เดียวในรอบหนึ่งปี อาม่าก็ชวนคุย ชี้ให้ดูรูปถ่ายครอบครัว มีลี้ตอนเด็กๆ นั่งอยู่ในภาพนั้น อาม่าเรียกลี้ว่า ‘อาหนิง’ ซึ่งเป็นชื่อเล่นจริงๆ ของเธอ แม้เธอจะชินกับการที่คนอื่นเรียกเธอว่า ‘ลี้’ ไปแล้วก็ตาม

“นั่นอะ อาหนิงอีตอนเด็กๆ พ่ออีเสียไปนานแล้ว อาโกว (ป้า) อาหนิงอีขอร้องทางนู้นให้หลานสาวอีมาอยู่ที่นี่

“อาหนิงอีไม่ค่อยพูด เป็นคนเฉยๆ ไม่ค่อยพูด น้องสาวอีพูดเก่ง”

อาม่าเล่าประวัติลี้สักพัก ลี้กลับมาพร้อมบัวลอยอร่อยสมคำร่ำลือ อาม่าบ่นว่าปวดเข่า ตั้งแต่ตกบันไดเมื่อ 2 ปีก่อน อาการปวดก็ไม่เคยหายไป ได้แต่ทายาบรรเทาอาการ

 

อาม่าเคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน ฉันเกิดไม่ทันหรือจำไม่ได้นี่แหละ ช่วงที่อาม่าป่วยมาก มีแค่เรื่องเล่าที่รับฟังมาว่า อาม่าเคยกระโดดแม่น้ำเจ้าพระยาหลังบ้าน มีคนไปเจอ เลยช่วยไว้ทัน พอถาม อาม่าบอกว่ามาว่ายน้ำเล่น!

- บางส่วนจากสารคดี ‘ตลาดน้อยสตอรี่’

 

ปัจจุบัน ยามว่างอาม่าชอบดูเปาบุ้นจิ้น ดูมาปีหนึ่ง ดูทุกวัน ดูแล้วดูอีก จั่นเจารูปหล่อ อาม่าบอก รู้สึกสบายใจทุกครั้งที่ได้ดู

โกวของลี้มาพอดีพร้อมข่าวคราวสารพัด ทั้งเรื่องบ่อนเปิดใหม่และอาเฮียที่รู้จักเปิดผับใหม่หลังจากที่ถูกสั่งปิดไป พร้อมจ่ายค่าต๋งไปมหาศาล เสียงตะโกนคุยงานเริ่มดังโช้งเช้ง

ลี้พาขึ้นไปชั้น 4 ของบ้าน เป็นระเบียงไว้ตากผ้า มองลงมาเป็นถนนกลางของย่านตลาดน้อย แต่เพราะสายมากแล้ว คนไม่ค่อยคึกคัก

ฉันมองลงมา ฟังลี้เล่าถึงชุมชนและครอบครัว ตระหนักได้ว่าประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล ประวัติศาสตร์ของครอบครัวธรรมดาครอบครัวหนึ่ง มีอะไรน่าสนใจและพร้อมจะเป็นเรื่องที่ดีในตัวมันเองได้ เมื่อใครสักคนในครอบครัว ใครสักคนที่รู้สึกและอินกับมัน หยิบยกขึ้นมาเล่า

 

ตัวตน ครอบครัว ตลาดน้อยสตอรี่ และความฝันต่อจากนี้

คืนหนึ่งฉันกลับมาจากโรงเรียน เหนื่อยก็วิ่งเข้าไปตากแอร์ในห้องอาม่า ล้มตัวลงนอนข้างๆ อาม่า อาม่ายังไม่หลับ ก็ถามฉันว่าฉันกลับมาแล้วเหรอ ใช่ ฉันตอบ อาม่านอนลืมตาโพลงในความมืดบอกกับฉันว่า อาม่าน้ำตาไม่ไหลมาปีกว่าแล้วนะ มันไหลออกไปหมดแล้ว แล้วอาม่าก็พูดต่อ พูดกับฉันเบาๆ ว่า อาม่ากำลังจะตายแล้วนะ

- บางส่วนจากสารคดี ‘ตลาดน้อยสตอรี่’
 

 

“ทำไมครอบครัวถึงมีอิทธิพลมาก?”

“เราไม่รู้ว่าคนอื่นโตมาไม่ใช่แบบนี้รึเปล่า แต่เราโตมากับเรื่องแบบนี้เป็นปกติ ถามว่าทำไม มันตอบยาก เราก็ถามตัวเอง ทำไมเราอินกับเรื่องครอบครัวมาก หรือคนอื่นก็จะมองว่าเรารักครอบครัว มันเหมือนเราโดนปลูกฝังมา และคนที่ปลูกฝังเขาก็ไม่รู้ด้วยซ้ำเพราะเขาก็โดนปลูกฝังมาอีกที แล้วมันก็เป็นไปด้วยระบบอัตโนมัติ เหมือนคุณค่าหลัก เราว่าน่าจะเพราะเราอยู่ในโครงสร้างแบบนี้ ตัวเราถึงเป็นแบบนี้”

“การจะทำหนังแบบนี้ได้ เหมือนกับเราต้องรักทุกคนในครอบครัวจริงๆ เพราะมันดูมีทุกคนอยู่ในหนังหมดเลย”

“เราก็ไม่ได้แฮปปี้กับทุกคนทุกเรื่อง การที่เราจะเลือกนำเสนอแบบฟีลกู้ด ไม่รู้ใช้คำนี้ได้ไหม มันคือความรักล้วนๆ เพราะมันคือการประนีประนอมกับตัวเราเองด้วย และกับทุกคนในบ้านด้วย เราเลือกที่จะไม่เสนอความจริงที่โหดร้าย หรือทำร้ายจิตใจใคร เราทำไม่ได้ เลยขอครึ่งๆ ที่เราจะแฮปปี้แซดของเราไป และเขาก็เฉยๆ อาชีพการงานมึงก็ทำไป เขาไม่เข้าใจหรอก แต่เขาก็ซับพอร์ตเราอยู่ดี”

“หนังเวอร์ชั่นอื่นเป็นไง?”

“เวอร์ชั่นดาร์กๆ ก็เคยมีนะ พูดเรื่องที่เราโกรธเรื่องนั้นเรื่องนี้มาก ไม่เหมือนในหนังเวอร์ชั่นนี้เลย แต่พอคิดดู ก็ไม่ดีกว่า เราทำไม่ได้ ทำไม่ได้ในการปะทะกันแรงๆ คนที่เราไม่ชอบเราก็อิ๊กนอร์ คือมันถูกซ่อนอยู่ข้างใต้ มีคนมาบอกว่าหนังน่ารักดี แต่ข้างใต้คือการที่เราต้องต่อสู้กับอะไรบางอย่างด้วย บางเรื่องเรารู้สึกด้านลบมากๆ แต่เราคิดว่าไม่เอาออกมาดีกว่า เพราะเราเป็นคนในครอบครัว เราทำได้แค่นี้”

“เราเพิ่งคิดได้ว่าข้อจำกัดของการทำหนังส่วนตัวสำหรับเรามันคือ ความรู้สึกเรามันเยอะมาก เป็นเหมือนน้ำแกลลอน แต่คนอื่นอาจจะเห็นแค่น้ำแก้วเดียว เพราะเราไม่เลือกที่จะนำเสนอความดาร์กนั้นออกมาด้วย”

“เราอาจเริ่มจากการทำหนังไปพร้อมกับการตั้งคำถามก็ได้ว่าทำไปเพื่ออะไร ช่วงระหว่างที่ทำหนังก็เหมือนเป็นการตอบคำถามไปในตัวด้วย กับอาม่าที่เป็นตัวละครหลักในเรื่อง ไม่แน่ใจใช้คำว่า tender กับอาม่าได้ไหม เราแสดงออกด้วยความรู้สึกที่มันซอฟต์ลง เราเคยไม่ชอบ เคยเบื่อบ้าง แต่พอทำหนังไปเราก็พบว่าการที่อยู่ในครอบครัวนี้มันก็มีความสุขนะ เรารักอาม่านะ เรารักทุกคนและเขาก็รักเรา เราเดินต่อไปได้นะ”

“ฟีดแบ็กเป็นไงมั่ง?”

“ตอนที่ให้ที่บ้านดูครั้งแรก ก็มีคนร้องไห้ แต่ตอนที่ฉายหนังครั้งแรก พี่ที่มาเป็นกรรมการเขาบอกว่าหนังไม่ผ่านความเป็นสารคดีเลย เอาง่ายๆ มันไม่เห็นในสิ่งที่ต้องเห็น เช่น เราพูดเรื่องอาม่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่ในหนังไม่เห็นตอนอาม่าเป็นโรคซึมเศร้า มันไม่เห็นในสิ่งที่ควรต้องให้คนเห็น ไม่ได้ลงลึกไปถึงด้านมืดของมนุษย์ หลายคนก็บอกว่าดูแล้วมันยังไม่ถึง”

“ตอนแรกเราเฟลมากที่โดนด่าหนัก หนังแม่งไม่ผ่านเลย ก็คุยกับครู ครูก็บอกว่า ก็เคยเสนอไปแบบอื่นแล้วแกก็ไม่เอาเอง จะให้มาเปิดเผยการเป็นโรคซึมเศร้าของอาม่าเยอะๆ เราก็ไม่เอา เราไม่ได้เลือกทางที่คนเขาอยากเห็น ทางที่มันโหดๆ มีการปะทะกันอย่างเรื่อง Mother ของพี่บิลลี่ (วรกร ฤทัยวาณิชกุล) ครูบอกว่า ก็เราเป็นคนแบบนี้ จะให้ทำแบบอื่นก็ทำไม่ได้ เราอ่อนแอเกินไปที่จะทำ”

“เราว่ามันก็จริงเลย เราทำไม่ได้ การทำให้หวือหวาต่อคนดู ทำให้นักวิจารณ์ชอบ สำหรับเรามันทำไม่ได้ เราทำได้แค่แบบนี้ เพราะเราเป็นห่วงความรู้สึกของครอบครัวและเราก็ไม่ได้เข้มแข็งแบบคนทำหนังคนอื่นๆ พอครูปลอบมาเราก็โอเค เข้าใจล่ะ”

“หนังที่ดีที่นักวิจารณ์ชอบ หรือคนมาตัดสินว่าเป็นหนังที่ดี เราพอแล้ว ตอนแรกเราไม่ได้ทำหนังเพื่อให้ได้รับคำชมด้วยซ้ำ แค่คนดูหนังเรา เราก็รู้สึกแปลกมากแล้ว การที่พี่มาสัมภาษณ์เรา เราก็รู้สึกแปลกมาก การที่มัน personal มาก แล้วให้คนดู เราคิดแค่ให้คนที่รู้จัก เพื่อน พี่ น้องๆ ที่เราไม่แคร์ในการพูดเรื่องส่วนตัวในระดับหนึ่ง คือจริงๆ เราก็มีระดับที่ เฮ้ย ไม่ต้องเข้ามาตรงนี้นะ”

“รู้สึกโป๊มากเวลาเห็นรูปครอบครัวตัวเองที่เป็นการโปรโมทหนังในอินเทอร์เน็ต การที่คนเห็นรูปครอบครัวเรา เห็นในบ้านเรา มันเป็นความรู้สึกที่แปลกดี หรืออย่างนักวิจารณ์เขียนถึงหนังในเฟสบุ๊ค ก็อ่านได้ แต่ไม่ได้ต้องการ ซึ่งมันไม่ดีเลยนะ รู้สึกว่าเราควรทำหนังแล้วก็ต้องรับฟีดแบ๊กมาด้วย แต่คงเป็นหนังเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องนี้”

“เห็นชอบอ่านวรรณกรรม และบอกว่าได้อิทธิพลจากหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวด้วย มันมีผลต่อการทำหนังยังไง?”

“เรามองว่ามันเป็นพระเจ้า แล้วเราก็เป็นสาวก มันเป็นอภิมหาเรื่องเล่า แล้วคนเล่าก็เล่าไปเรื่อยๆ อย่างนั้น แต่มันทรงพลังมาก มันเล่าทั้งหมดทั้งชีวิต เล่าทุกคน ครอบคลุมเวลาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำได้ไงอะ เราเลยพยายามเดินรอยตาม เราอยากเล่าทั้งหมดบ้าง อยากเล่าให้ครบทุกอย่าง ทุกคน แต่ตอนนี้ก็ยังทำไม่ได้

“แล้วทำหนังนี่เคยคิดอยากทำเรื่องอื่นนอกจากเรื่องครอบครัวมั้ย?”

“เคยคิดแหละ แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคย อาจารย์จะสั่งงานไหนมาก็จะคิดถึงเรื่องครอบครัว เหมือนมันหาเรื่องอื่นไม่ได้ มันเหมือนมีเรื่องนี้อยู่เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องที่ใหญ่สุดของเรา แต่ถ้าทำหนังเล่นๆ อะคิดนะ บางทีก็แบบ อยากทำหนังหว่องอะไรแบบนี้ หรืออยากทำหนังรักโง่ๆ บ้าง คือหลังจากนี้ก็คงทำแล้วแหละ เพราะเราก็คงคิดอะไรไม่ออกเกี่ยวกับครอบครัวแล้ว เพราะคิดกับมันมาเยอะแล้ว คือก็มีแหละ แต่พักบ้าง”

“เราชอบหนังฟิคชั่นมากๆ หนังที่ชอบก็หนังฟิคชั่น ผู้กำกับที่ชอบก็เป็นผู้กำกับฟิคชั่น สารคดีไม่ได้อินมากขนาดนั้น เลยอยากทำหนังที่เราได้กำกับ แล้วก็ชอบคิดตัวละครมาก แต่เรื่องครอบครัวมันก็ยังเป็นอิทธิพลสำคัญมาก อย่างเราทำหนังอย่างน้อยมันต้องมีคนแก่ หรือต้องมีเด็ก รู้สึกว่าเป็นตัวละครประเภทที่เราอินกับมันมาก เวลาดูหนังที่เป็นคนหนุ่มสาว หรือทำหนังเกี่ยวกับคนหนุ่มสาว หรือเอาตัวเราเป็นตัวละครหลัก ก็ไม่อิน ไม่อยากทำเรื่องพวกนี้”

“เราชอบดูหนังเอเชียเก่าๆ อย่างโหวเสี้ยวเสียน (Hou Hsiao-hsien) กำกับดีมาก เป็นธรรมชาติ คิดว่าถ้าทำหนังเราก็ต้องทำให้ได้แบบนี้ แต่ก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าจะทำได้ไหมนะ อยากรู้ว่าเขาทำได้ไง เขาได้นักแสดงที่เก่งมาก หรือนักแสดงคือคนธรรมดาที่ผู้กำกับกำกับเก่ง”

“ที่อยากทำต่อจากนี้”

“ตอนทำธีสิสรู้สึกมันเป็นเรื่องโชคดีของวัยเรียนมากในการทำสิ่งที่อยากทำ มีเวลาทุ่มได้เต็มที่ เงินก็มี ทุกอย่างมันสบายมาก ไม่ต้องกังวลเรื่องจะขอเงินได้ แต่ตอนนี้มันงง จะไปทางอาร์ตเลยแล้วจะพูดกับที่บ้านยังไง เลี้ยงกูต่อไป เราก็ไม่กล้าพูด หรือไปเรียนต่อ เราก็ยังพิสูจน์ไม่ได้เลยว่าเรียนจบแล้วมึงจะมีงานไหม มีเงินไหม”

“แต่กำลังคิดว่าจะหันเหไปทางคิดโปรเจกต์ คือคิดทิ้งไว้หลายๆ อัน แล้วค่อยไปขอทุน อีกอย่างคืออยากเป็นนักข่าว มีไอเดียแรกคือจะเอามาทำหนังนี่แหละ เพราะเราฝึกงานเขียนบท การเข้าถึงไอเดียหรือบทคือการสัมภาษณ์ ซึ่งความยากคือสัมภาษณ์แล้วได้อะไรมาทำหนัง ให้ได้อะไรพีคๆ การที่ถามจนได้อะไรพีคมันต้องใช้สกิล ใช้โชค ใช้อะไรมากมาย เอาเป็นเหตุการณ์หรือโมเมนต์หรือการกระทำมา หรืออะไรที่เห็นเป็นแบบภาพและเสียงมาให้ได้ แล้วมาจับจุดว่าอะไรควรเป็นหนัง เป็นรายละเอียด เป็นเมนไอเดีย ตอนนี้ก็ยังทำไม่ได้ การเป็นนักข่าวสำหรับเรามันก็คือการศึกษาคน เราว่ามันเป็นงานที่ท้าทาย”

 

ตลาดน้อยสตอรี่ จะฉายวันที่ 24-25 พ.ย. เวลา 17.00 น. ที่ Warehouse30 บัตรที่นั่งละ 100 บาท ซื้อได้ที่หน้าโรง และ วันที่ 19-21 ม.ค. 61 ที่หอภาพยนตร์อีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Doc Club Theater (https://www.facebook.com/docclubtheater/)




-  Behind the Scene -

 


ชุมชนตลาดน้อย

ลี้มองไปข้างล่าง ชี้ให้ดูรถขนอะไหล่ที่ไม่ค่อยได้เห็นที่ไหน เรายืนคุยกันริมระเบียง ท่ามกลางบทสนทนาที่ไหลไป ลี้เล่าให้ฟังถึงชุมชนตลาดน้อยในมุมมองของเธอ

“เราชอบถนนเส้นนี้มาก เวลามองลงไป เหมือนหนัง Always: Sunset on Third Street เลย”

“จริงๆ มันก็เหมือนซอยทั่วไปแหละ มอเตอร์ไซค์วิ่งสวนได้ แต่รถวิ่งได้ทางเดียว คนก็เดินไปเดินมา ฝรั่งก็มาเที่ยว อย่างเนี่ย 4 คนแล้ว” ลี้ชี้ให้ดูนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินลัดเลาะตามซอย

“เราว่าถ้าลองนับดูตกวันละร้อยเลย คือเยอะมาก เขาคงคิดว่าเป็นของแปลกสำหรับเขา แต่คือชุมชนก็ไม่ได้ปรับตัวเป็นเมืองท่องเที่ยว ไม่ได้มีของขายเอาใจฝรั่ง เขาก็อิ๊กนอร์ไป ไม่มีการพูดคุยหรือปฏิสัมพันธ์กัน เพราะคุยไม่ได้ แต่ว่ามีเกสต์เฮาส์เยอะ มีหน้าตลาด มีต้นซอย แล้วก็มีติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา”

“คนที่มาอยู่ตลาดน้อยเริ่มเยอะขึ้น บางทีคนนอกก็เข้ามาอยู่ ก็เป็นเรื่องปกติ เราว่าทุกอย่างมันก็ดีนะ เราเคยชินด้วยแหละ ความอะไหล่อะไรแบบนี้ มันก็ไม่ดีนะ มันดูสกปรก แต่มันเคยชิน”
 


“เหมือนชนบทในกรุงเทพฯ ในแง่ที่มันมีความเป็นชุมชน มีความรู้จักกันหมด คุยทักทาย ไม่ต่างคนต่างอยู่” แม้จะไม่เห็นประกายตาหลังแว่นของลี้ แต่ก็มั่นใจว่าลี้รู้สึกรักที่นี่จริงๆ

“อย่างคนนั้นรู้จักไหม?” ฉันชี้ให้ดูหญิงกลางคนที่ขายของที่รถเข็นริมทางเดิน

“คนนั้นไม่รู้จักนะ น่าจะเป็นคนนอกที่เข้ามา แต่ถ้าคนนี้รู้” ลี้ชี้ให้ดูหญิงอีกคนที่ขายของหน้าบ้านถัดมาประมาณ 3-4 หลัง “ส่วนคนนั้น” ลี้ชี้ไปที่อาม่าที่เดินอยู่ริมถนน “ก็เป็นอาม่าของบ้านหนึ่ง เคยเห็นๆ กันอยู่”

“แล้วแม่งก็สวยดีนะ หรือเพราะเราชอบ หรือเพราะเราติดอยู่กับที่นี่ เราเลยมองว่าทุกอย่างมันก็สวยดี”

“มาอยู่ตั้งแต่กี่ขวบ?”

“ก็เกิดแหละ ที่บอกว่ามันเป็นชุมชนเพราะมันจะมีข่าว อย่างเช่นลงไปข้างล่าง ถ้าเป็นลักษณะเฉพาะที่เราชอบคือข่าวว่าใครตาย บ้านนั้นตาย บ้านนี้มีคนตาย มันเป็นประเด็นที่ส่งถึงกัน ถ้าใครเป็นอะไรหรือมีอะไรก็จะรู้เรื่องกันหมด มันมีการส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว แต่จะไม่ค่อยมีประเด็นว่า ขยะเหม็นมาก ไปร้องเรียน ไม่เคยมี แต่ถ้าเรื่องชาวบ้านๆ คือแพร่กระจายมาก เคยมีเรื่องหนึ่งในตลาด ผัวมีเมียน้อย ก็เลยยิงกัน ติดคุกแล้วเขาก็ออกมา อย่างเราทำอะไรเราก็ยังรู้สึกว่าคนแม่งรู้หมดเลย”

“อย่างทำหนังเขาก็รู้?”

“ทำหนังเขาไม่ค่อยรู้ อะไรที่เกินความสนใจเขาก็จะไม่สน อย่างหนังมันก็อาร์ตไป แต่ที่เขาจะรู้ก็เช่น เรียนจุฬา เพิ่งจบ หรือแบบเป็นเด็กขี้เกียจ ที่บ้านชอบด่า เขาก็จะรู้กัน คือเขาขี้เม้าท์มาก”

 “แล้วทำไมถึงชอบฟังข่าวคนตาย?”

“เราว่ามันรู้สึกว่าเป็นข่าวของชุมชนนี้ดี ลงไปแล้วโกวพูดกับอาม่าว่าแบบ อาม้ารู้มั้ย บ้านอาสุ่ย อาเจ็กอีล้มลงตกบันไดตาย แล้วอาม่าก็จะแบบ เหรอ จริงเหรอ เพิ่งเห็นกันหลัดๆ อะไรยังงี้ คือมันก็แค่นี้แหละ แต่เจอบ่อย เฉลี่ยก็เดือนละครั้ง ก็เลยรู้สึกว่าการที่ใครเกิดใครตายมันสำคัญเฉยเลยโดยที่ไม่รู้ว่าทำไม

“เนี่ยเห็นมั้ย มีฝรั่งอีกแล้ว” ลี้มองลงไปข้างล่าง ชี้ให้ดูนักท่องเที่ยวขาจรอีกกลุ่ม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net