Skip to main content
sharethis

 

แรงงานฟุ้งปี 2560 ยอดจ้างงานขยายตัว 2.45%

นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การจ้างงานในตลาดแรงงาน เดือนตุลาคม 2560 ว่า อัตราการจ้างงานในระบบประกันสังคม มีผู้ประกันตน (มาตรา 33) จํานวนทั้งสิ้น 10,695,748 คน เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ปี 2559 พบว่ามีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 2.45 สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.3 เมื่อวิเคราะห์ประมาณการว่างงานเดือนพฤศจิกายน 2560 จะลดลงเหลือร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้เปิดช่องทางให้นักศึกษาจบใหม่หรือผู้ที่กำลังหางานทำ เข้าใช้บริการหางานทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านทาง Mobile Application “Smart Job Center” ซึ่งผู้สมัครงานและนายจ้างสามารถส่งข้อความโต้ตอบหากัน เพื่อนัดสัมภาษณ์งานได้ด้วยตนเอง อันเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สมัครงานและนายจ้าง ที่ทำให้การหาคนและหางานรวดเร็วยิ่งขึ้น

ส่วนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ (ต.ค.59 – 60) มีจำนวนทั้งสิ้น 114,984คน แบ่งเป็น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ได้แก่ ประเทศอิสราเอล, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, คูเวต, กาตาร์ และบาห์เรน จำนวน 16,540 คน กลุ่มประเทศแอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้, แอลจีเรีย, มาดากัสการ์, ซูดาน และโมซัมบิก จำนวน 3,511 คน กลุ่มประเทศเอเชีย ได้แก่ ไต้หวัน, สาธารณรัฐเกาหลี, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย และสิงคโปร์ จำนวน 80,186 คน กลุ่มประเทศอเมริกาและอื่นๆ จำนวน 4,014 คน แรงงานมีรายได้ส่งกลับผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 125,731 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะบูรณาการร่วมกับองค์กรเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แต่ละจังหวัด รวมถึงการประสานความร่วมมือกับผู้นำชุมชน ในการสำรวจความต้องการด้านอาชีพ เพื่อดำเนินการฝึกทักษะอาชีพแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้ตรงกับความต้องการ และมีกำหนด Kick-Off พร้อมกันทั่วประเทศ วันที่ 14 ธันวาคม 2560 เป้าหมาย 61,840 คน ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งยังดำเนินกิจกรรมสร้าง “ช่างชุมชน” จิปาถะ ต่อยอดโครงการสานสร้างศูนย์ช่างประจำชุมชน เทิดไท้องค์ราชัน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางให้บริการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่คนในชุมชนที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

“ส่วนนโยบายด้านคุ้มครองแรงงานในปีงบประมาณ 2561กระทรวงแรงงานจะขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยในการทำงานตามนโยบาย Safety Thailand ซึ่งจะเน้นย้ำเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การสร้างจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้เกิดมาตรการเชิงป้องกัน สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายผ่านกลไกประชารัฐ รวมทั้งการขับเคลื่อนความปลอดภัยในการทำงานสู่แรงงานนอกระบบ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เน้นการทำงานเชิงรุก เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับ รวมไปถึงการส่งเสริมการจัดสวัสดิการแบบยืดหยุ่น ผลักดันให้สถานประกอบกิจการจัดทำ GLP TLS การพัฒนา e - service และการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น นำสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงาน”นางเพชรรัตน์ฯ กล่าว

ที่มา: คมชัดลึก, 18/11/2560

เตือน ! ระวังถูกหลอกทำงานก่อสร้างอ้างรายได้ดีที่พม่า

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้ตรวจสอบพบว่ามีกลุ่มบุคคลในนามตัวแทนบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายหนึ่งที่จดทะเบียนพาณิชย์ในประเทศไทย มีพฤติกรรมรับสมัครงานคนหางานตามจังหวัดต่าง ๆ โดยอ้างว่าจะพาไปทำงานก่อสร้างที่เมืองทวาย ประเทศพม่า มีรายได้ดี โดยได้รับงานโดยตรงจากบริษัทที่ประเทศพม่า ดังนั้นจึงต้องการรับสมัครคนหางานไปทำงานในตำแหน่งคนขับรถสิบล้อ รถแทรคเตอร์ รถไถ รถคีบ รถแมคโคร คนเลื่อยไม้ และเก็บเศษไม้ รายได้เดือนละ 10,000 – 15,000 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 500 – 800 บาท จำนวน 1,100 อัตรา โดยจะได้รับสวัสดิการบ้านพัก และอาหารฟรี หากผู้ใดสนใจให้สมัครงานผ่านหัวหน้าสายงานของตนที่ประจำอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ อาทิ จังหวัดอุทัยธานี ตราด กาญจนบุรี พิษณุโลก นครราชสีมา และอุตรดิตถ์ เป็นต้น ซึ่งอ้างว่าจะไม่มีการเก็บค่าสมัครหรือค่านายหน้าและไม่ต้องทำหนังสือเดินทาง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าบริษัทดังกล่าวมิได้แจ้งขออนุญาตพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศแต่อย่างใด ซึ่งหากมีการส่งไปทำงานในประเทศดังกล่าวจริงจะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายอนุรักษ์ กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันมิให้คนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานในต่างประเทศจนเสียทรัพย์สินหรือต้องไปตกระกำลำบากในต่างประเทศ จึงอย่าหลงเชื่อผู้ใดที่อ้างว่าสามารถส่งไปทำงานหรือฝึกงานในต่างประเทศได้โดยไม่ผ่านกรมการจัดหางาน หรือไม่ต้องทำหนังสือเดินทาง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โทร.02 254 6763 หรือสายด่วน 1694

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 17/11/2560

ลูกจ้าง รพ. ร้องไม่ได้ค่าตอบแทนตามประกาศ ฉ.11 ก่อนได้เฮ สธ.ชี้เข้าเกณฑ์ให้จ่ายคืนย้อนหลัง

(15พ.ย. 2560) ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุบลราชธานี นายสมชาย จันทอก อายุ 38 ปี พนักงานช่วยเหลือคนไข้โรงพยาบาลเขมราฐ จ.อุบลราชธานี พร้อมตัวแทนพนักงานลูกจ้างโรงพยาบาลประจำอำเภอต่างๆจำนวนกว่า 25 แห่ง เข้าร้องเรียนกรณีไม่ได้รับเงินค่าสนับสนุนทางการแพทย์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีมติให้สั่งจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 11 ตามโรงพยาบาลของรัฐตามอายุงานตั้งแต่ 600-1,500 บาท เพิ่มจากเงินเดือนปกติ และมีคำสั่งออกมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2559

แต่ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ในกลุ่มที่ 1-4 ซึ่งเป็นแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และฝ่ายสนับสนุนอื่นๆ ที่ให้บริการกับผู้ป่วยได้รับไปหมดแล้ว เหลือเพียงเจ้าหน้าที่ในกลุ่มที่ 5 ซึ่งเป็นกลุ่มพนักงานลูกจ้างในหน่วยสนับสนุนคือ เป็นพลเปล คนขับรถพยาบาล แม่บ้าน และอื่นๆ ยังไม่ได้รับเงินเพิ่มค่าปฏิบัติงานดังกล่าว จึงได้สอบถามไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี รวม 3 ครั้ง ได้รับคำตอบอยู่ระหว่างการตีความระเบียบข้อปฏิบัติ และทำหนังสือหารือไปยังกระทรวงสาธารณสุขว่า พนักงานลูกจ้างเหล่านี้เข้าหลักเกณฑ์ได้รับเงินเพิ่มดังกล่าวด้วยหรือไม่

กระทั่งมีพนักงานลูกจ้างบางรายได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังกระทรวงสาธารณสุขว่า ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2560 ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีหนังสือตอบกลับมายังจังหวัดและลูกจ้างที่ร้องเรียนว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้คำสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินเพิ่มดังกล่าวแก่พนักงานลูกจ้างแต่อย่างใด จึงให้ชี้แจงผู้ร้องเรียนและดำเนินการเบิกจ่ายเงินนี้แก่ลูกจ้างตามสิทธิด้วย

แต่จนถึงปัจจุบันกลุ่มลูกจ้างเหล่านี้ ที่มีอยู่จำนวนหลายพันคนกระจายอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับเงินเพิ่มดังกล่าว จึงรวมตัวมาร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาสั่งให้มีการจ่ายเงินให้กับกลุ่มพนักงานลูกจ้างเหล่านี้ด้วย

ต่อนายอดิศักดิ์ ชามาตย์ หัวหน้างานตรวจสอบภายในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางมาพบกับกลุ่มพนักงานลูกจ้างที่ศูนย์ดำรงธรรม พร้อมชี้แจ้งว่า เบื้องต้นต้องตีความคำสั่งสามารถจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่กลุ่มใดได้บ้าง แต่หลังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีหนังสั่งการให้สามารถเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนดังกล่าวแก่พนักงานลูกจ้างได้

จึงมีหนังสือลงวันที่ 24ต.ค.แจ้งไปยังโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งให้ดำเนินการจ่ายเงินค่าตอบแทนย้อนหลังให้แก่กลุ่มพนักงานลูกจ้างในกลุ่มที่ 5 ซึ่งยังไม่ได้รับเงินตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข มีหนังสือสั่งการเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ให้ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามสิทธิแล้ว

เมื่อพนักงานลูกจ้างยังไม่ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มดังกล่าว จะได้นำข้อร้องเรียนแจ้งให้นายแพทย์จิณณพิภัทร ชูปัญญา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี มีหนังสือสั่งการย้ำไปตามโรงพยาบาลทุกแห่งให้ทำการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนดังกล่าวให้กับลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับให้เสร็จภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ทำให้กลุ่มผู้ร้องเรียนพอใจพากันแยกย้ายกันเดินทางกลับไปทำงานตามปกติต่อไป

ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16/11/2560

เร่งดึงนักเรียน นศ.เข้าเป็นสมาชิก กอช.หลังพลาดเป้ามีผู้สมัครแค่ 500,000 คน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน มหกรรมการลงทุนครบวงจร (SET in the City 2017) ครั้งที่ 13 โดยกล่าวว่ากระทรวงการคลังมีแนวคิดจะดึงตลาดทุน เช่นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้ามาร่วมในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ในเฟส 2 ซึ่งเป็นการบ้านที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2560 โดยต้องการให้ตลาดทุนเข้ามายกระดับผู้มีรายได้น้อยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ควบคู่กับการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาให้ผู้มีรายได้น้อยได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนเทียบเท่ากับนักลงทุนทั่วไป และ ผู้บริหารต่าง ๆ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน ( บลจ.) ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับผู้มีรายได้น้อยด้วย ซึ่งได้ฝากการบ้านไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯให้คิดรูปแบบ

นายสมชัย ยังกล่าวถึงการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช.ว่าขณะนี้มีผู้สมัครน้อยมากเพียง 500,000 คน จากเป้าหมาย 18 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นความล้มเหลว ดังนั้นต้องปรับแผนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ต้องเข้มข้นมากกว่านี้ และให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งคลังจังหวัดลงพื้นที่ และให้บริการรับฝากเงินเข้ากองทุน อำนวยความสะดวกให้สมาชิกที่ไม่สามารถเดินทางมาฝากเงินที่ธนาคารทั้ง 4 แห่ง

นอกจากนี้จะเร่งดึงนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการออมให้เข้ามาเป็นสมาชิก เพราะปัจจุบันมีสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 5 จากเป้าหมายที่ต้องการให้นักเรียน นักศึกษาทุกคนเข้าร่วม แต่เนื่องจากนักเรียน นักศึกษา ไม่มีรายได้ จึงจะเสนอโครงการแปลงขยะให้เป็นเงิน , โครงการส่งเสริม การปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ทำงาน และ มีรายได้ นำเงินเข้าสู่การออม

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าแนวโน้มองตลาดหุ้นไทยปีหน้ายังเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมมาช่วยด้านการลงทุนที่สะดวกรวดเร็วและมีข้อมูลวิเคราะห์การลงทุนได้แม่นยำมากขึ้น ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวม หรือ มาร์เก็ตแคปของตลาดหลักทรัพย์ไทย เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 17.5 ล้านล้านบาท และ ปีหน้าคาดว่าจะมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนใหม่ หรือ ไอพีโอจำนวน 30 บริษัท มูลค่าตลาดรวม 400,000 ล้านบาท ขณะที่จำนวนผู้ลงทุนที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นผ่านระบบออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนสูงถึง 1.8ล้านบัญชี หรือร้อยละ 87 จากจำนวนบัญชีซื้อขายหุ้นทั้งสิ้น 2.1 ล้านบัญชี ส่วนบัญชีกองทุนรวม 5 ล้านบัญชี และ บัญชีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3 ล้านบัญชี

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 16/11/2560

นายจ้าง-ลูกจ้างแห่ร้อง "ประกันสังคม" กว่า 6,039 เรื่อง ร้องเรียนรพ.-คลินิกมากสุด เหตุไม่พอใจ จนท.

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ในปี 2560 สถิตินายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และผู้เกี่ยวข้องในระบบประกันสังคม ที่ยื่นเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559-30 ก.ย.ที่ผ่านมา เข้าสู่ระบบสำนักงานประกันสังคมจำนวน 6,533 เรื่อง เจ้าหน้าที่ สปส. สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเสร็จภายใน 25 วันทำการ จำนวน 6,039 เรื่อง คิดเป็น 92.44%จากจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด

ส่วนที่เหลือได้ทยอยแก้ปัญหาได้ลุล่วงไปตามลำดับ โดย สปส.ได้วางระบบปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่ดำเนินเรื่องให้ผู้ร้องได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้อย่างด่วนภายใน 7 วัน แต่หากเป็นเรื่องที่ซับซ้อนให้ดำเนินการตอบกลับภายใน 25 วัน

นายสุรเดช กล่าวต่อว่า ประเภทเรื่องที่มีการร้องเรียน หรือแจ้งปัญหาอุปสรรคในการรับบริการสูงที่สุด 6 อันดับแรก ได้แก่ 1.ร้องเรียนสถานประกอบการ 3,212 เรื่อง คิดเป็น 49.17% 2.ร้องเรียนการให้บริการของเจ้าหน้าที่ และระบบของสำนักงานประกันสังคม 1,152 เรื่อง คิดเป็น 17.63% 3.ร้องเรียนสถานพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม 1,070 เรื่อง คิดเป็น 16.38% 4.การขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม 939 เรื่อง คิดเป็น 14.37% 5.ปัญหาอื่น ๆ เช่น มิจฉาชีพแอบอ้างใช้สิทธิแทนผู้ประกันตน การใช้สิทธิซ้ำซ้อน 30 เรื่อง หรือ 1.99% และ 6.การขอรับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน 30 เรื่อง หรือ 0.46% จากเรื่องที่รับร้องเรียนทั้งหมด

สำหรับประเด็นที่มีการร้องเรียนสถานพยาบาลส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้บริการของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะการสื่อสารเรื่องข้อมูลการรับบริการ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้ประกันตนร้องเรียนเรื่องคุณภาพมาตรฐานการรักษาพยาบาลและเรื่องค่าใช้จ่ายน้อยมาก เนื่องจาก สปส.มีระบบติดตามตรวจสอบคุณภาพการรักษาพยาบาลให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลคู่สัญญาจึงตระหนัก ในเรื่องนี้ อีกทั้งระบบประกันสังคมยังดูแลค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเจ็บป่วยตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสิ้นสุดการรักษาไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ประกันตน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 15/11/2560

คลังเล็งแจกซิมเน็ตพ่วงสมาร์ทโฟน ให้ผู้ถือบัตรคนจน หวังเข้าถึงความรู้ สร้างอาชีพ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การแจกซิมอินเตอร์เน็ตฟรี ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียน 11.67 ล้านคนในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน คลังมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ เพราะจะทำให้ผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ การประกอบอาชีพต่างๆ ทั้งที่เป็นข้อมูลทั่วไป และข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพรัฐจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งหากผู้มีรายได้น้อยมีช่องทาง มีความรู้เพิ่มขึ้น สามารถประกอบอาชีพ พัฒนาฝีมือแรงงานได้ ในระยะยาวก็จะหลุดพ้นจากการเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

ส่วนกรณีที่หากมีการแจกซิมอินเทอร์ เน็ต ฟรีให้กับผู้มีรายได้น้อย และพบว่ามีปัญหา เพราะผู้มีรายได้น้อยบางรายไม่สามารถซื้อสมาร์ทโฟน หรือเครื่องมือที่จะใช้กับซิมได้ กระทรวงการคลัง จะต้องมีการแจกสมาร์ทโฟน พ่วงซิมอินเทอร์ เน็ตฟรี ด้วยหรือไม่ รมว.คลัง กล่าวว่า จะต้องดูอีกที แต่เบื้องต้นซิมอินเตอร์ เน็ต จะมีการจ่ายค่ารายเดือนให้ด้วย โดยจะให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมโครงการ เนื่องจากคงไม่สามารถไปทำสัญญากับบริษัท เอไอเอส ดีแทค หรือ ทรูมูฟ ได้ เพราะจะถูกมองว่าเป็นการไปเอื้อให้เอกชนอีก

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่ามาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรคนจนในระยะแรก เช่น การช่วยค่าครองชีพรายละ 200-300 บาท การอุดหนุนค่าเดินทาง เป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งแต่ละคนจะรับการช่วยเหลือไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายในบางรายการหากมีความจำเป็นต้องใช้ก็ใช้ได้ ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องใช้ รัฐบาลไม่ได้บังคับให้ใช้ทั้งหมด แต่ในระยะที่สองจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มดังกล่าวหลุดพ้นจากเส้นความยากจน ซึ่งก็ต้องมีงาน มีการให้ความรู้ รัฐบาลจะต้องช่วยให้คนกลุ่มนี้หางานได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแจกซิมอินเทอร์เน็ตอาจจะมีการเสนอพร้อมมาตรการแพ็กเกจช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อยให้ฝึกอาชีพที่จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือน ธ.ค.นี้ โดยเบื้องต้นยังไม่มีการสรุปงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินงาน เพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษารายละเอียด

ที่มา: ข่าวสด, 15/11/2560

เตรียมรับมือแรงงานต่างด้าว 2 หมื่นคนเข้ามาตัดอ้อย 1 ธ.ค. 2560

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมดอกแก้ว ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว ได้มีการประชุมพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2559 ครั้งที่ 6 /2560 เพื่อรองรับฤดูการตัดอ้อยปี 2560/61 ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป โดยมีนายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัด, นายสิทธิศักดิ์ ธารนัย แรงงานจังหวัด, นายวสันต์ ปาลาศ จัดหางานจังหวัด, เจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังบูรพา, มณฑลทหารบกที่ 19, กอ.รมน.สระแก้ว, ตำรวจตระเวนชายแดน, หัวหน้าสถานีตำรวจและตัวแทนทั้ง 9 อำเภอ, บริษัทเอกชน, นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 40 คน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอข้อมูลการปฏิบัติงานในปี 2559 ซึ่งพบว่า ประสบปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาในทางปฏิบัติชัดเจน เนื่องจากทางราชการตั้งเป้าว่า จะต้องนำแรงงานเข้าสู่ระบบที่หน่วยงานราชการกำหนดให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์คือ แรงงานมีบอร์ดเดอร์พาสตามกฎหมายและเข้ามาทำงานชั่วคราวได้เพียง 3 เดือน แต่สามารถนำแรงงานเข้าสู่ระบบได้เพียง 3,177 คน จากจำนวนตัวเลขที่สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพาแจ้งว่า มีการใช้แรงงานจริง 17,013 คน หรือคิดเป็น 18.67 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้มีการถกเถียงถึงขั้นตอนและวิธีการเพื่อให้การนำเข้าแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา มาเพื่อตัดอ้อยในฤดูกาลนี้ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.60 นั้นไม่เกิดปัญหาอีก โดยหน่วยทหารและหน่วยความมั่นคงเป็นห่วงในขั้นตอนการอนุโลมฯ จะส่งผลให้มีแรงงานที่ยังไม่เข้าสู่ระบบเล็ดลอดเข้าสู่ตลาดแรงงานชั้นใน ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า ขั้นตอนการปกติที่ผ่านมา ซึ่งมีการอนุโลมให้ชาวไร่อ้อยที่ต้องการใช้แรงงานกัมพูชาตัดอ้อยในแต่ละปี จะต้องไปขึ้นทะเบียนที่สมาคมฯและติดต่อนำแรงงานเข้ามาเพื่อทำเอกสารที่สมาคมฯพร้อมนำไปพักไว้พักกับนายจ้าง รอขั้นตอนการส่งเอกสารไปยังด่าน ตม.ปอยเปต ประเทศกัมพูชา และด่านผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ก่อนนำแรงงานกลับไปผ่านแดนตามขั้นตอน และเข้าสู่กระบวนการขอโควต้าจากจัดหางานจังหวัดและตรวจโรคตามกฎหมาย ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ส่งผลให้เกิดการแออัดอย่างมาก ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ เพราะแต่ละปีต้องใช้แรงงานมากถึง 20,000 คน ซึ่งปีที่แล้วมีตัวเลข 17,013 คน ไม่รวมผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานอีก 5,713 คน หากสามารถเปิดด่านผ่านแดนถาวรแห่งที่ 2 บ้านเขาดินได้ทันเวลา ก็จะลดขั้นตอนและเวลาดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

นายพรพจน์ เพ็ญพาส ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดรายงานว่า มีพื้นที่เพาะปลูกปี 60/61 เพียง 371,964 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 2.51 ล้านตัน มีเกษตรกร 66,579 ครัวเรือน ขณะที่โรงงานมีการหีบอ้อย 3.46 ล้านตัน จากเนื้อที่ 370,000 กว่าไร่ คาดว่า ปีนี้จะมีอ้อยมากถึง 4 ล้านกว่าตัน และผลการดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวก็ไม่มีปัญหา มีแรงงานหลบหนีเล็กน้อย แต่มีปัญหาอยู่ที่การนำเข้าแรงงานเพื่อเข้าสู่ระบบได้ไม่ถึงร้อยละ 50 ประกอบกับปี 2651 พรก.แรงงานต่างด้าว จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.60 ดังนั้น ปีนี้ที่ประชุมจึงเห็นด้วยที่จะไม่มีการอนุโลมต่อไป และสามารถปรับวิธีการปฏิบัติที่ต้องใช้เวลา 7-10 วันให้สั้นลงได้หรือไม่

ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวอีกว่า สรุปว่าทางสมาคมเกษตรกรฯ ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมาย จึงได้เสนอแนะเพื่อขอให้มีการพูดคุยกับทางกัมพูชาเพื่อหารือในประเด็นการอนุญาตเข้ามาทำงานร่วมกันอีกครั้ง หลังจากนั้นทางหน่วยงานราชการไทยจะมาร่วมกันบูรณาการเพื่อให้กระบวนการสั้นลง หากสามารถดำเนินการได้แบบวันสต๊อปเซอวิส โดยขอความร่วมมือส่วนราชการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถดำเนินการวันเดียวได้แบบจบกระบวนการต่อไป ทั้งนี้ ได้กำชับว่า จะต้องไม่มีปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์และใช้แรงงานเด็กแฝงมากับการใช้แรงงานตัดอ้อย พร้อมทั้งเตรียมนัดพิจารณาร่วมกันกรณีนี้อีกครั้งในวันที่ 21 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม จัดหางานจังหวัดได้รายงานตัวเลขปัจจุบันว่า มีการนำแรงงานกัมพูชาเข้ามาในกิจการเกษตรทุกประเภทในปัจจุบันแล้ว จำนวน 14,000 คน

ที่มา: NationTV, 15/11/2560

จ๊อบไทยเผยความต้องการแรงงานในพื้นที่นิคมฯแถบชลบุรี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากโครงการ EEC

น.ส.แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) รายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงานในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดชลบุรี พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 3,535 อัตรา โดย 5 อันดับ นิคมอุตสาหกรรมที่มีการเปิดรับสมัครงานมากที่สุด ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีจำนวนงานที่เปิดรับ 1,974 อัตรา คิดเป็น 55.84%, นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีจำนวนงานที่เปิดรับ 297 อัตรา คิดเป็น 8.4%, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 1) มีจำนวนงานที่เปิดรับ 249 อัตรา คิดเป็น 7.04%, นิคมอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ (ศรีราชา) มีจำนวนงานที่เปิดรับ 231 อัตรา คิดเป็น 6.53% นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 2) มีจำนวนงานที่เปิดรับ 194 อัตรา คิดเป็น 5.49%

อย่างไรก็ตาม พื้นที่จังหวัดชลบุรีนอกจากจะโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นฐานที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมและฐานการผลิตที่สำคัญหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ ประกอบกับทำเลที่ตั้งมีความได้เปรียบเนื่องจากถูกเชื่อมโยงด้วยโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่สะดวก เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง แหล่งขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศที่สำคัญของประเทศไทย อีกทั้งจังหวัดชลบุรี รวมถึงจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดระยอง เป็นพื้นที่บนแผนการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจรวมถึงความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสต์, 14/11/2560

สภาอุตฯเผยแรงงานต่างด้าวตกสำรวจอีก 6-7 แสนคน ชี้ กม.ไม่เอื้อเมื่อไหร่แรงงานเถื่อนทะลักอีก

วันที่ 11 พ.ย. 2560 เวลา 13.45 น. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) มีการเสวนาโครงการติดตามเศรษฐกิจไทยครั้งที่ 12 (Thammasat Economic Focus-TEF12) หัวข้อ “เเรงงานต่างด้าว ช่วยจริงหรือวุ่นวาย” ที่ห้อง 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมเเห่งประเทศไทย มองว่า สถานการณ์เเรงงานต่างด้าวในปัจจุบันสิ่งที่เป็นปัญหาไม่ใช่เรื่องของจำนวน เเต่เป็นเรื่องของภาคเเรงงาน โดยเฉพาะเเรงงานประเทศไทย ขณะนี้เรามีเเรงงานต่างด้าวในประเทศไทยกว่า 3,750,000 คน เเละยังมีเเรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้สำรวจอีกกว่า 6-7 เเสนคน โดยเเรงงานไทยในปัจจุบันไม่ทำงานประเภทเสี่ยงอันตราย สกปรก เช่น ประมง จำเป็นต้องใช้เเรงงานต่างด้าวเข้ามาทำจำนวนสูงมาก

“ในส่วนของภาคเอกชน หากถามว่าเราต้องการใช้เเรงงานต่างด้าวหรือไม่ จริงเเล้วไม่มีใครอยากใช้เเรงงานต่างด้าว เเรงงานต่างด้าวที่ทำงานเปิดเผยเข้ามาอย่างถูกกฎหมายจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน เฉลี่ยคนละเกือบ 2 หมื่นบาท การที่มีคนบอกว่าใช้เเรงงานต่างด้าวเเล้วต้นทุนถูกลงนั้น ไม่เป็นความจริง เเต่ด้วยความจำเป็นก็ต้องใช้เพราะเเรงงานไทยไม่ทำ” นายสุชาติกล่าว

สำหรับการเปิดกว้างให้มีการใช้เเรงงานต่างด้าวมากขึ้นหรือไม่นั้น นายสุชาติ กล่าวว่า ถ้าจำเป็นจะต้องใช้เเรงงานมากก็ต้องใช้ หากกฎหมายไม่สามารถอำนวยความสะดวกในการนำเข้าเเรงงานต่างด้าวเมื่อไร ก็จะมีปัญหาการลักลอบนำเเรงงานต่างด้าวเข้ามา

ด้านผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาเเละทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเปรียบเทียบปัญหาเเรงงานต่างด้าวก็เหมือนกับ “ขนมชั้น” เพราะมีประเภทของเเรงงานต่างด้าวหลายรูปแบบ หากไปถามเจ้าหน้าที่บางครั้งก็ยังตอบไม่ได้ นั่นทำให้การตรวจสอบเเละการออกมาตรการ one size fit all มีปัญหา โดยข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเเรงงานต่างด้าว (ก.ย.2560) โดยกรมการจัดหางาน พบว่า เเรงงานประเภททั่วไปมีทั้งสิ้น 103,132 คน, นำเข้าตาม MOU 500,440 คน, พิสูจน์สัญชาติ 1,062,829 คน, ตามฤดูกาล 18,646 คน, ชนกลุ่มน้อย 58,663 คน, ส่งเสริมการลงทุน 45,013 คน เเละยังมีเเบบผิดกฎหมายที่ยังไม่ทราบตัวเลขที่เเน่ชัด

จำนวนเเรงงานต่างด้าวในประเทศไทยจำเเนกตามการเข้าประเทศ (กุมภาพันธ์ 2560) พบว่ามีเเรงงานต่างด้าวทั้งหมด 2,711,439 คน โดยมีเเรงงานกึ่งฝีมือ/ฝีมือ รวม 149,721 คน เเละเเรงงานฝีมือต่ำ/ไร้ฝีมือจำนวน 2,561,718 คน ทั้งนี้เเนวโน้มสถานการณ์เเรงงานต่างด้าว (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ตั้งเเต่ปี 2540-2560 เเม้จะมีตัวเลขที่ขึ้นๆลงๆ เพราะความไม่เเน่นอนของนโยบายไทย เเต่อัตราการจ้างเเรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นตลอด

ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวต่อว่า เเรงงานต่างด้าวจะทำให้ประเทศไทยมีทางเลือกในการใช้ทรัพยากรมนุษย์ บรรเทาผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุ เเละปัญหาการเลือกงานของคนไทย ทั้งนี้เกิดคำถามที่ว่าเเรงงานต่างด้าวเเย่งอาชีพคนไทย อาทิ งานบางอย่างอาจอันตราย สกปรก คนในอเมริกาทำเนื่องจากมีค่าตอบเเทนที่สูง เเต่ในเมืองไทยไม่ได้เกิดเเบบนั้น

“งานบางงานคนไทยไม่ทำ ถูกตีค่าว่าเป็นงานราคาถูก มีทัศนคติว่าต้องใช้ต่างด้าวทำ เเต่การทำเเบบนั้นคือการเอาต่างด้าวราคาถูกมาทำงานนั่นเอง”นักวิชาการเศรษฐศาสตร์กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ในส่วนของต้นทุน ทั้งทางตรงเเละทางอ้อม ภาพธุรกิจอาจะใช้เเรงงานที่ถูกลงจากการมีเเรงงานต่างด้าว เราชอบพูดกันว่า เเรงงานต่างด้าวมาใช้สวัสดิการของบ้านเรา ถามว่าจริงไหม มันคือความจริง เเต่เขาต้องจ่ายภาษีเช่นเดียวกับเเรงงานไทย เเต่ไม่ได้อยู่ในรูปของภาษีเงินได้นิติบุคคล

ส่วนการเข้ามาทำงานเเบบถูกกฎหมายก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเเรงงาน นายจ้างจะต้องพาเขาไปเข้าสู่ระบบประกันสังคม เเต่จะถูกหักเงินเดือนเข้าประกันสังคม ซึ่งทำให้เเรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับคนงานไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ การเสียชีวิต การรักษาพยาบาล เเต่เขาก็มีบางข้อที่ไม่ได้รับ เช่น ชราภาพ ที่ระบุว่าเมื่อทำงานจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

กรณีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ตั้งเเต่ 23 มิ.ย. 2560 นั้น ผศ.ดร.ศุภชัย มองว่า สาระสำคัญของพรก.นี้คือการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเป็นไปอย่างมีระบบ เเละมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศเเละการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งผลกระทบเชิงสังคมด้านบวกคือ เเสดงให้เห็นถึงการเเก้ปัญหาการค้ามนุษย์เเละการป้องปรามการค้ามนุษ์ที่เป็นธรรมมากขึ้น การรวมกฎหมายดังกล่าวยังทำให้เกิดการบูรณาการเพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้านลบคือ ขาดการประเมินผลกระทบ รวมถึงการสื่อสารที่ไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลต่อการตืนตระหนกของนายจ้างเเละเเรงงาน

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น หากเกิดผลกระทบขึ้นจริงๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะชะงักไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประเมินว่าจะไม่กระทบต่อภาคการเกษตรมากนัก เพราะเชื่อว่าเหตุการ์ดังกล่าวจะอยู่เพียงระยะสั้นเท่านั้น เมื่อเเรงงานต่างด้าวกลับไปทำเอกสารที่ประเทศตนเรียบร้อยก็น่าจะกลับมาทำงานที่ประเทศไทยอย่างปกติ”ผศ.ดร.ศุภชัยกล่าว และว่า ความล่าช้าของระบบการขออนุญาต ที่พอนายจ้างพาเเรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนต้องใช้เวลา จึงควรลดเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนลง

ขณะที่ รศ.ดร.ยงยุทธ เเฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเเรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์เเละการเปลี่ยนเเปลงที่สำคัญในปัจจุบันคือ โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนเเปลงไป มีผู้สูงอายุมากขึ้น วัยเเรงงานลดลง ทำให้ขาดเเคลนเเรงงานในประเทศ เเต่เศรษฐกิจยังใช้เเรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะเเรงงานที่ทักษะน้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีการกล่าวในเรื่องเเรงงานไทยไม่ทำงาน 3D คืองานสกปรก (Dirty), งานอันตราย (Dangerous) เเละงานเเสนลำบาก (Difficult) ส่งผลให้เเรงงานต่างด้าวเข้ามาทดเเทนเเรงงานไทยเพิ่มขึ้น ทั้งที่ถูกกฎหมายเเละผิดกฎหมาย เพราะพวกเขายอมทำงานเหล่านี้

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ในอดีตจะเห็นปัญหาการกำกับดูเเลเเรงงานต่างด้าวไม่สามารถเเก้ปัญหาได้ดีเท่าที่ควร เนื่องจากงบประมาณที่จำกัดเเละไม่มีอำนาจในการตัดสินใจนโยบายที่เเท้จริง มีความล้มเหลวในเรื่องระบบการลงทะเบียนเมื่อปี 2554 อีกทั้งความไม่ต่อเนื่องของนโยบายการรับลงทะเบียน ความไม่เเน่นอน วิธีเเละเอกสารที่ไม่เเน่ชัด ขาดการบังคับใช้ที่จริงจัง ทำให้เกิดการทุจริตในที่สุด

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวถึง พ.ร.ก.การการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ว่า พ.ร.ก. ดังกล่าวมีทั้งข้อดีเเละข้อเสีย ข้อดีคือจะมีระบบนายจ้างมีสัญญาต่อลูกจ้าง หากลูกจ้างเปลี่ยนนายจ้างต้องทำเรื่องภายใน 5 วัน ถือเป็นการหยุดการจ้างงานเเบบผิดกฎหมาย รวมถึงการค้ามนุษย์เเรงงาน ส่วนเเผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเเรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560-2564 นั้นจะต้องจัดหาเเรงงานต่างด้าวให้เพียงพอต่อความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ ลดจำนวนเเรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบทางลบต่อคนไทย พัฒนาให้เกิดการคุ้มครองเเรงงานต่างด้าวให้ได้มาตรฐานสากล จัดให้มีองค์กรหรือหน่วยงาน เพื่อการบริหารจัดการเเรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงดำเนินการติดตามเเละประมวลผลการปฏิบัติงานทั้งระบบให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด นำไปสู่การรับรองอนุสัญญาองค์การเเรงงานระหว่างประเทศ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/11/2560

กลุ่มผู้ใช้แรงงาน มอบหลักฐานเอาผิดบริษัทจัดหางานหลอกไปดูไบ

กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ถูกนายจ้างในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยกเลิกสัญญาจ้างงานและถูกส่งตัวกลับประเทศ เข้ามอบหลักฐาน และให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ สตม. เกี่ยวกับพฤติกรรมของบริษัทนายหน้าจัดหางาน ที่ข่มขู่ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ยินยอมลงลายมือชื่อยกเลิกสัญญาจ้าง แลกกับการคืนหนังสือเดินทางที่ยึดไว้เป็นประกัน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และค้ามนุษย์ โดยหนึ่งในหลักฐานที่นำไปมอบให้เจ้าหน้าที่ เป็นคลิปวิดีโอการโฆษณาชวนเชื่อของนายหน้าบริษัทจัดหางาน ที่อ้างว่าแรงงานที่ไปทำงานจะได้ค่าจ้างอัตราสูง พร้อมที่พักและอาหาร

พลตำรวจตรีอิทธิพล อิทธิสารรณชัย รักษาราชการแทน รองผู้บัญชาการ สตม. เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รับหลักฐานไว้ตรวจสอบ และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความผิดในฐานต่างๆ เพื่อส่งเรื่องให้ไปทำการสืบสวนสอบสวนต่อ นอกจากนี้ จะตรวจสอบประวัติการเดินทางเข้าออกประเทศของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากพบว่า บางรายเดินทางออกไปหลายครั้ง และอาจเป็นการยินยอมไปทำงาน ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจถูกหลอกลวง ซึ่งในเบื้องต้น จะดำเนินการในส่วนของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงไปจริงๆ ก่อน ส่วนกลุ่มที่ไปโดยสมัครใจ จะดำเนินการเป็นลำดับถัดไป

ที่มา: ch7.com, 13/11/2560

สำนักงานประกันสังคม เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรจากเดิม 400 บาท เป็น 600 บาท

สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรให้แก่ผู้ประกันตน จากเดิม 400 บาท เป็น 600 บาทต่อบุตรหนึ่งคน ที่อายุไม่เกิน 6 ปี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ สำนักงานประกันสังคม ประกาศใช้อัตราเงินสงเคราะห์บุตรในอัตรา 400 บาทต่อเดือน มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นมา โดยไม่มีการปรับเงินเพิ่มมานานหลายปี ปัจจุบันมีผู้ประกันตนรับเงินสงเคราะห์บุตรเฉลี่ย 1,324,848 คนต่อเดือน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2560) จ่ายเงินปีละ 6 พันล้านบาทเศษ ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI พบว่า จำนวนบุตรของผู้ประกันตนมีอัตราการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของเด็กเล็กอยู่ที่ 579 – 812 บาทต่อเดือนสูงขึ้นเล็กน้อย หากปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรขึ้นเป็น 600 บาทต่อเดือน ในปี 2561 จะเป็นเงินประมาณการ จำนวน 3,036 ล้านบาท ซึ่งไม่กระทบต่อเสถียรภาพกองทุนประกันสังคมและจะเป็นปริมาณเงินเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ได้มีมติคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ครั้งที่ 18/2560 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร จากเดิม 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน ปรับเพิ่มเป็น 600 บาท ต่อบุตรหนึ่งคน อายุไม่เกิน 6 ปี

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการของผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 โดยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน และต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น ซึ่งบุตรมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์ 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ทั้งนี้ กฎเกณฑ์ของกฎหมายยังเป็นอุปสรรคอยู่บ้างในบางกรณี เช่น ผู้ประกันตนเมื่อออกจากงานสิทธิสงเคราะห์บุตรจะขาดไป ทั้งที่การออกจากงานเพราะถูกเลิกจ้างเป็นความเดือดร้อนและบุตรก็ยังมีค่าใช้จ่าย ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้ปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งดำเนินการก่อนประกาศใช้ต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ยังได้มีมติให้สำนักงานประกันสังคม เร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เสร็จสิ้น และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2561 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ผู้ประกันตนในปี 2561 จะเห็นได้ว่า การปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร มีความสอดคล้องกับผลการศึกษาด้านอาหารเด็กเล็กที่มีอัตราสูงขึ้นและสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน อันจะนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืน

ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 12/11/2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net