รายงาน: ความรันทดของสื่อ ประชาชนเมื่อเสรีภาพออนไลน์ถูกรัฐและเฟสบุ๊คตีกระหนาบ

เปิดรายงานเสรีภาพอินเทอร์เน็ตพบไทยไร้เสรี เกาะกลุ่มจีน อิหร่าน รัสเซีย ซาอุฯ พม่า เวียดนาม ติดหนึ่งในหกประเทศที่ให้เอกชนเปิดช่องทางให้รัฐเข้าถึงข้อมูลได้ แนวรบเอกชนตีกระหนาบหลังเฟสบุ๊คใช้ประเทศเล็กๆ ทดลองนิวส์ฟีดใหม่ทำสื่อเดือดร้อน โอดคนเข้าถึงข้อมูลยากขึ้น

ทัศนคติที่เชื่อว่าโลกอินเทอร์เน็ตนั้นไร้พรมแดนและอิสระเสรีกำลังถูกท้าทายอย่างหนักจากทั้งแนวรบระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เล่นแร่แปรธาตุกับการเข้าถึงข่าวสารและข้อเท็จจริงของประชาชน

หนึ่งในตัวชี้วัดภาพการลิดรอนเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตคือรายงานเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของ Freedom House องค์กรติดตามตรวจสอบเสรีภาพทางประชาธิปไตย และการแสดงความคิดเห็นของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่สำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนใน 65 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นประชากรร้อยละ 87 ของประชากรโลกที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ระบุว่า ระหว่างเดือน มิ.ย. - พ.ค. 2560 ราวครึ่งหนึ่งของประเทศกลุ่มที่ทำการสำรวจมีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตลดลง

รายงานชิ้นดังกล่าวจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “ไร้เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต” ได้คะแนน 67 จาก 100 คะแนน (เกณฑ์คะแนนยิ่งสูงยิ่งมีเสรีภาพน้อย) อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับจีน รัสเซีย อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย พม่า และเวียดนาม ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ที่เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนอยู่ในกลุ่ม “มีเสรีภาพบางส่วน” ในขณะที่จีนครองแชมป์การละเมิดเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดเป็นปีที่สาม ตามมาด้วยซีเรียและเอธิโอเปีย

ภาพดัชนีเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ตปี 2560 ประเทศไทยอยู่ในระดับไม่เสรี (ที่มา: Freedom House)

อีกข้อสังเกตคือ ดัชนีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของไทยถูกลดระดับลงเรื่อยๆ หลังรัฐประหารในปี 2557 โดยถูกให้คะแนน 62 63 66 และ 67 คะแนนตามลำดับ Freedom House ระบุเพิ่มเติมว่าการเซ็นเซอร์เพิ่มขึ้นหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในปี 2559 ข่าวสารเกี่ยวกับการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูลถูกควบคุมอย่างหนัก ข่าวจากต่างประเทศถูกบล็อค ทั้งยังกล่าวถึงการจับกุมจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดินกรณีแชร์ข่าวของสำนักข่าวบีบีซีด้วย

ประเทศไทยถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในอย่างน้อยหกประเทศที่มีการออกกฎหมายให้บริษัทเอกชนและปัจเจกปลดล็อคการเข้ารหัสข้อมูล (encryption) เพื่อให้ทางการสามารถเข้าดูเนื้อหาการสื่อสารต่างๆ ที่เป็นความลับจากระบบหลังบ้าน (backdoor access) อีกห้าประเทศคือจีน ฮังการี รัสเซีย สหราชอาณาจักรและเวียดนาม โดยการปลดล็อกรหัสเพื่อเข้าถึงนั้นเป็นดาบสองคมที่ด้านหนึ่งก็ปกป้องความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันแม้แต่ประเทศประชาธิปไตยก็มองว่าระบบการเข้ารหัสเช่นนี้ถูกใช้ในปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายและอาชญากร

ราชกิจจาฯ ประกาศ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 แล้ว เริ่มใช้ พ.ค.นี้

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ) เป็นหนึ่งในกลไกของรัฐบาลไทยที่สะท้อนถึงการเอาประเด็นด้านความปลอดภัยและการก่อการร้ายบนโลกไซเบอร์เป็นเครื่องมือในการออกกฎหมายมาสอดส่องกลุ่มนักกิจกรรมและสื่อมวลชน การแก้ไข พ.ร.บ. คอมฯ ล่าสุดในมาตรา 18 (7) ที่ให้อำนาจรัฐ “ถอดรหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ของบุคคลใด หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสลับของข้อมูลคอมพิวเตอร์ ทำการถอดรหัสลับ หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการถอดรหัสลับดังกล่าว” เป็นข้อที่น่ากังวล

เฟสบุ๊คกระหน่ำซ้ำ ใช้ประเทศเล็กเป็นห้องทดลองนิวส์ฟีดใหม่ สื่อทางเลือกโอดกระทบยอดวิว คนเข้าถึงข้อมูลยากขึ้น

ในแนวรบด้านเอกชน ผู้ให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์กยังคงไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการรับมือกับการนำเข้าข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือที่หลายคนเรียกขานหรือเคยได้ยินในนามข่าวปลอม (Fake news) ประกอบกับการทดลองแพลตฟอร์มต่างๆ ของโซเชียลเน็ตเวิร์กเองก็ส่งผลกับเสรีภาพและการเข้าถึงพื้นที่โซเชียลในหลายพื้นที่

ศ.เดวิด เคย์ ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติในประเด็นการสนับสนุนและปกป้องสิทธิเสรีภาพด้านการแสดงออกและการแสดงความเห็นกล่าวกับประชาไทในเรื่องนี้ว่า “ในภาพรวม อินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลผ่านการค้นหาและพาตัวเองออกไปเชื่อมต่อกับคนอื่นได้มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ปัญหามีอยู่สองข้อ หนึ่ง รัฐบาลพยายามปิดกั้นการแสดงออกในพื้นที่โซเชียลมีเดีย ประชาชนถูกดำเนินคดีจากการโพสท์เฟสบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์ หรืออะไรก็ตามแต่ สอง ตัวบริษัทที่ควบคุมพื้นที่ดังกล่าวก็มีกฎของพวกเขาเองว่าผู้ใช้งานพูดอะไรได้หรือไม่ได้ บางครั้งกฎดังกล่าวก็ไม่ชัดเจน ความไม่ชัดเจนรวมไปถึงระบบการลบเนื้อหาโดยอัตโนมัติด้วย ปัจจัยทั้งสองสร้างสภาวะที่ผู้ใช้ไม่ค่อยแน่ใจว่าอะไรพูได้หรือไม่ได้ บริษัทที่ดูแลพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นมีความรับผิดชอบในการคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวจากการสอดส่องของรัฐรวมถึงการเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงออกด้วย”

คุยกับผู้รายงานพิเศษ UN ปัญหา แนวทาง เป้าหมายอาเซียนกับเสรีภาพการแสดงออก

สเตวาน ดอจซิโนวิช บรรณาธิการจาก KRIK สื่ออิสระในเซอร์เบีย เขียนบทความในเดอะนิวยอร์กไทม์ ระบุว่าเฟสบุ๊คมีการทดลองกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานนิวส์ฟีดในประเทศขนาดเล็ก ได้แก่ เซอร์เบีย กัวเตมาลา สโลวาเกีย โบลิเวียและกัมพูชา โดยทดลองให้มีนิวส์ฟีดแยกกันระหว่างนิวส์ฟีดโพสท์ของคนที่เพื่อนกันในเฟซบุ๊ค กับนิวส์ฟีดสาธารณะที่แสดงโพสท์จากเพจ ซึ่งออกแบบมาให้เป็นส่วนแยกและต้องกดเข้าไปดู จากเดิมที่ผู้เล่นเฟสบุ๊คจะมีเพียงนิวส์ฟีดเดียวที่ผู้ใช้จะเห็นตั้งแต่เปิดใช้งาน ทำให้ให้การเข้าถึงข่าวสารในเฟสบุ๊คลดลง ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับองค์กรข่าวของดอจซิโนวิชที่เป็นสำนักข่าวอิสระ ทำข่าวเจาะลึกที่พึ่งพาเฟสบุ๊คเป็นหน้าร้านเพื่อเสนอข่าวให้กับแฟนข่าวของพวกเขาจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของแฟนข่าวทั้งหมด

“เมื่อเดือนที่แล้ว (เดือน ต.ค. 2560) ผมพบว่าข่าวของพวกเราไม่ปรากฏบนเฟสบุ๊คเหมือนแต่ก่อน ผมพูดอะไรไม่ออกเพราะว่าแหล่งส่งข้อมูลข่าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเราให้กับคนจำนวนเกินครึ่งของยอดวิวเพจถูกทำให้ง่อยเปลี้ยลง” ดอจซิโนวิชระบุ

บทความยังระบุด้วยว่าการแทนที่ระบบนิวส์ฟีดแบบเดิมที่ง่ายดายด้วยการมีคลิกแยกเพิ่มไปอีกแค่คลิกเดียวก็สามารถสร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงเพราะหนึ่งคลิกที่เพิ่มขึ้นหมายถึงหนึ่งขั้นตอนการเข้าถึงความจริงของสังคมและผู้นำของพวกเขาที่ถูกเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งขั้น

อดัม มอซเซรี หัวหน้าฝ่ายนิวส์ฟีดของเฟสบุ๊คระบุถึงเป้าหมายของการทดลองในแถลงการณ์ว่า

“เป้าหมายของการทดลองคือการทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานชอบระบบนิวส์ฟีดแยกกันระหว่างฟีดส่วนตัวกับฟีดสาธารณะหรือไม่เพื่อจะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปในอนาคต ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีดำริที่จะขยายการทดลองไปยังประเทศอื่น และจะยังไม่มีการเรียกเก็บเงินกับเพจเฟสบุ๊คในการเผยแพร่ข้อมูลในนิวส์ฟีดใหม่”

เซอร์เบียเพิ่งหลุดพ้นจากระบอบเผด็จการของสโลโบดาน มิโลเชวิชในปี 2543 แต่ก็ยังไม่สามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ ปัจจุบันพรรคของประธานาธิบดีอเล็กซานดาร์ วูชิช กุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งในสภาและระบบการเมืองทั้งหมดอย่างไม่มีสถาบันใดตรวจสอบและคานอำนาจ วูชิชประกาศว่าตนเองเป็นฝ่ายก้าวหน้าและสนับสนุนความเป็นภูมิภาคยุโรป แต่อีกด้านหนึ่งก็เซ็นเซอร์สื่อ

การเซ็นเซอร์สื่อในเซอร์เบียทุกวันนี้กระทำกันอย่างนิ่มนวลขึ้นผ่านการเลือกปฏิบัติของรัฐต่อสื่อที่สนับสนุนรัฐบาล โดยรัฐจะให้เงินช่วยเหลือจากท้องถิ่นและงบประมาณแผ่นดิน ส่วนสื่อที่เห็นต่างมักถูกเจ้าหน้าที่ภาษีเข้าไปตรวจสอบอย่างไม่คาดฝัน สำนักข่าว KRIK ของเขาก็เคยถูกติดตามและข่มขู่เมื่อพวกเขาทำข่าวในประเด็นที่สื่อกระแสหลักไม่จับมาเล่น ตัวดอจซิโนวิชเองถูกนำภาพไปขึ้นในหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของรัฐ กล่าวหาว่าเขาเป็นหนึ่งในมาเฟียที่จะโค่นล้มรัฐบาลเซอร์เบีย

 

หน้าปกของหนังสือพิมพ์ Informer แสดงภาพของดอจซิโนวิช (ซ้าย) พร้อมกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของมาเฟียที่พยายามโค่นล้มรัฐบาลเซอร์เบีย (ที่มา:Index)

ในตอนนี้คุณูปการของเฟสบุ๊คที่ช่วยให้สื่อกระแสรองก้าวข้ามช่องทางการเข้าถึงอย่างสื่อกระแสหลักและนำข้อมูลไปเสิร์ฟให้กับผู้อ่านจำนวนหลักแสนกำลังถูกบ่อนทำลายด้วยการเกิดขึ้นของ “ข่าวปลอม” ซึ่งการทำลายช่องทางการส่งข้อมูลให้ผู้อ่าน ก็คือการบ่อนทำลายตัวสำนักข่าวด้วยในทางเดียวกัน

การทดลองของมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊คในลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งที่อันตรายมากเพราะว่าสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์หัวใหญ่หรือกลุ่มอาชญากรสามารถกระตุ้นยอดวิวได้ผ่านการซื้อโฆษณาเฟสบุ๊คหรือหาทางอื่นให้มียอดการเข้าถึงมากขึ้นโดยขนหน้าแข้งไม่ร่วง แต่สื่อทางเลือกขนาดเล็กแบบ KRIK คือผู้ได้รับความเดือดร้อนตัวจริง

สื่อมวลชนเองก็มีส่วนต้องรับผิดชอบที่ลงทุนลงแรงไปกับการนำเสนอข่าวผ่านเฟสบุ๊ค จนทำให้ตอนนี้มันกลายเป็นแพลตฟอร์ม - อสุรกายตัวใหญ่อย่างที่เป็นทุกวันนี้ ในทางกลับกัน บริษัทเอกชนที่ตอนนี้ครอบครองระบบนิเวศของสื่อโลกไปล้วไม่ได้ต้องรับผิดชอบต่อใครสะท้อนได้จากการเลือกประเทศเล็กๆ ที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งมาเป็นหนูทดลอง

ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในอนาคตเมื่อเราเห็นแล้วว่าเฟสบุ๊คมีอำนาจมากขนาดไหนคือการมองหาวิธีการตรวจสอบมัน และอาจจะต้องมองหาแพลตฟอร์มที่ไม่ถูกรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางและมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นสนามเด็กเล่นของผู้มีอำนาจอีกสนามแบบเฟสบุ๊ค ในบริบทของเซอร์เบีย ดอจซิโนวิชเสนอว่าอาจจะต้องหันไปใช้งานทวิตเตอร์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ชาวเซอร์เบียใช้มากเป็นอันดับสองรองจากเฟสบุ๊ค (แต่ความนิยมของอันดับสองห่างจากอันดับหนึ่งมาก)

แปลและเรียบเรียงจาก

Hey, Mark Zuckerberg: My Democracy Isn’t Your Laboratory, The New York Times, Nov. 15, 2017

รายงาน "Freedom on the Net 2017" ชี้ 'ไทย' ไร้เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต, VOA, Nov. 15, 2017

Freedom of the Net 2017: Manipulating Social Media to Undermine Democracy, Freedom House

Clarifying Recent Tests, media.fb, Oct. 23, 2017

Freedom on the Net 2017: Thailand Country Profile, Freedom House

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท