Skip to main content
sharethis


 อารยา ราษฎร์จำเริญสุข 
 

อ่านหนังสือให้ศพฟัง คืองานศิลปะที่ทำให้เรารู้จัก อารยา ราษฎร์จำเริญสุข แม้งานชุดนี้จะไม่ได้เผยแพร่ในวงกว้างของไทย แต่ก็ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในนานาชาติ ในชื่อผลงาน Reading Inaow for female corpse”, “Reading Inaow for three female corpse” ซึ่งเป็นการอ่านกลอนเรื่องอิเหนาให้กับศพเพศหญิงฟัง หลังจากนั้นมีงานสอนหนังสือศพอีก 3 ชุด ได้แก่ The Class I, II, III

อารยาเล่าถึงเรื่องราวที่ทำให้เธอตัดสินใจเริ่มทำงานชุดนี้ว่า

“จริงๆ ที่เราไปอ่านหนังสือให้ศพฟัง เพราะเราเดินผ่านที่คณะ ก็มีกลุ่มอาจารย์ผู้ชายนั่งกินเหล้ากัน พอเราเดินผ่านมีอาจารย์คนหนึ่งตะโกนล้องานว่า เศร้า เหงา ดำ มืดหม่น คือเขาพูดถึงงานภาพพิมพ์ของเรา เราก็เลยเดินมาขึ้นรถคิดว่า มันจะหนักกว่านี้อีกได้ยังไง เหตุผลเบาๆ  เรื่องอ่านหนังสือให้ศพฟังจริงๆ คืออยากเผชิญหน้ากับความกลัว ความไม่รู้ พอลงมือทำหลังจากนั้นไม่มีใครพูดอีกเลยว่า เศร้า เหงา ดำ โศก ไม่มีใครพูดเลย คงคิดว่าไปแล้ว เธอไปแล้ว (หัวเราะ)”

ตอนอายุ 48 เธอทำเรื่องที่เป็นที่ฮือฮาในหมู่แวดวงอาจารย์สอนศิลปะ เริ่มมาจากเธอได้ทุน DAAD (German Academic Exchange Service องค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการของเยอรมนี)

"อยู่เยอรมันตอนที่อยู่ไกลบ้านมันจะเห็นภาพของบ้านชัด ที่บ้านเราชอบตัดสินเรื่องพวกนี้ เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องเพศ พอเรากลับมาสอนที่ มช. เลยคิดอุตริขึ้นมา เย็บท้องปลอมๆ ซึ่งก็เห็นว่าท้องประมาณ 4 เดือน ก็ต้องไปซื้อชุดชั้นในของคนท้อง ฝึกเดินแบบคนท้อง แล้วก็ไปสอน"

เมื่ออารยาเดินท้อง(ปลอม)ไปสอนที่คณะ และทุกคนเชื่อว่าเธอท้องจริงๆ มีคนมากล่าวแสดงความยินดี มีคนตั้งความหวังว่าเธอคือผู้หญิงตัวคนเดียวอายุเกือบห้าสิบ ที่ท้องมาสอนได้อย่างภาคภูมิ และเมื่อเธอเฉลยความจริง ทุกคนจึงผิดหวัง โมโห โกรธาไปต่างๆ นานา อารยาเล่าให้ฟังว่าปฏิกิริยาของแต่ละคนนั้นหลากหลาย

“วันหนึ่งเราก็เดินตัวปลิว เลิกท้อง แล้วหิ้วกุหลาบใส่ตะกร้าไปแจกทุกคนที่พบกันตอนท้อง นักศึกษาป.โทที่เคยพูดแสดงความยินดีกับเราก็โยนกุหลาบเราทิ้ง “อาจารย์จะเอายังไงกับผม” ส่วนอาจารย์ที่แต่งงานแต่ไม่มีลูกก็ไม่พูดกับเราเดือนหนึ่ง ส่วนเจ้าหน้าที่อีกคนที่ไม่แต่งงานแต่มีลูกก็ใส่ชุดดำมา ทั้งที่ปกติเขาจะใส่ชุดสีสวยๆ”

“จริงๆ มันมี text ในงานนะ เราตั้งคำถามว่าการจะไปนอนกับใครสักคนก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ทำไมใครๆถึงเอาธรรมชาติของใครไปแบกไว้มากนัก ถึงใส่ชุดดำ ถึงไม่พูดด้วย ถึงเหวี่ยงดอกกุหลาบ ทำไมใครๆ เอามันไปไว้กับตัวหมดเลย ขำและน่ากลุ้มใจเพราะเขาใส่ใจกับมันมากเกินไป จนมันเป็นปัญหากับผู้หญิงที่ตกเป็นจำเลยในเรื่องแบบนี้”

รวมถึงอารยายังเคยทำวิดีโอเกี่ยวบันทึกเรื่องราวของผู้ป่วยจิตเวชในไทย ที่เธอเล่าว่า การได้มาทำงานกับผู้ป่วยจิตเวชทำให้เธอเห็นว่า ครอบครัว สภาพแวดล้อม สังคมกระทำต่อผู้หญิงหนักมาก ต้องเป็นลูกสาวที่ดี เมียที่ดี เป็นแม่ที่รับผิดชอบต่อลูก ทำให้เธอเหล่านั้นเป็นบ้าเพราะเงื่อนไขพวกนี้

“การเป็นบ้า เราคิดว่ามันไม่ใช่การทำร้ายแต่มันคือการบรรเทานะ บรรเทาให้คุณไม่ถึงขีดแล้วดับดิ้นไปด้วยอะไรสักอย่าง ในที่สุดร่างกายมันจะต้องไปถึงจุดที่มันบรรเทาตัวมันเอง

“มันขมขื่น มันเหมือนเดินเข้าไปเจอความจริงที่ไม่เคยถูกเปิดเผย ความจริงนั้นอยู่ในเรา แล้วเราเข้าไปหาจากคนอื่น ไปคุ้ยมัน แล้วเราสะเทือนใจ เพราะฉะนั้นเวลาเข้าไปอยู่กับงานพวกนี้มันกินตัวเรา กินความรู้สึกนึกคิดของเรา เราไม่อยากอยู่อีกต่อไป ถึงระดับที่ไม่อยากอยู่” อารยากล่าว

00000


อ่านหนังสือให้ศพ ท้องปลอม ทำงานกับคนบ้า เหล่านี้คือข้ออ้างของบรรดาศาสตราจารย์และนักวิชาการ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) บอกว่าผลงานของเธอไม่มีองค์ประกอบทางศิลปะขั้นสูง ไร้ศีลธรรม ไร้จริยธรรม พวกเขาจึงปฏิเสธการขอตำแหน่งทางวิชาการของเธอถึง 2 ครั้ง

“คนในวงการก็ผู้ชายเกือบทั้งหมด ทั้งผู้มีอำนาจในและนอกระบบ ในขณะที่ผู้หญิงจริงๆ ก็แข่งขันกันเอง อวดประชันกันสูง และขณะที่เพศหญิงแข่งขันกัน เพศหญิงก็หันไปจำยอมเพศชาย คือยอมโดยวัฒนธรรม โดยเชิงอำนาจ น่าเวทนามากในจุดยืนของผู้หญิง เราคิดว่าศิลปะกับวรรณกรรมก็ช่วยเปิดทางให้เยอะเลยนะ ที่จะเข้าไปช่วยจัดการกับเรื่องพวกนี้แบบไม่ก้าวร้าวจนเกินไป” อารยากล่าว

และเป็นเหตุให้เธอทำผลงานวิดีโอออกมาหนึ่งชิ้น ชื่อว่า “อำมหิต” โดยในวิดีโอจำลองเหตุการณ์มีตัวแสดงเป็นศิลปินใหญ่ชายที่วิพากษ์วิจารณ์ผลงานด้วยท่าทีทรงภูมิ กับกลุ่มผู้ฟังเป็นชาวบ้านชายหญิงและภิกษุสงฆ์ที่กำลังฉันเพล

แต่ในที่สุดการขอตำแหน่งครั้งที่ 3 ของเธอก็สำเร็จเพราะมีอ.ชลูด นิ่มเสมอ และอาจารย์คนอื่นๆ ที่เข้าใจในผลงานของเธอ

อารยาเล่าว่า “อ.ชลูดรู้ว่าเราทำในจุดของศิลปิน ไม่ใช่นักวิชาการที่ปราดเปรื่อง ทำในแง่มนุษย์ธรรมดาที่สามารถรู้สึกอะไรกับชีวิตของคนอื่นได้ที่เชื่อมกันกับเรา”
 


อารยา ราษฎร์จำเริญสุข คือหนึ่งในศิลปินที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งที่มีผลงานแสดงทั้งในไทยและต่างประเทศ งานของเธอถูกนำไปแสดงตามเทศกาลศิลปะนานาชาติมากมาย อาทิเช่น งาน  Venice Biennale ในปี 2005 ที่ เวนิซ ประเทศอิตาลี งาน DOCUMENTA ปี 2012 ที่ แคสเซิล ประเทศเยอรมนี  ไม่นานมานี้นิทรรศการเดี่ยวครั้งใหญ่ที่ Sculpture Center, New York ในปี 2015 และล่าสุด ในงาน Singapore Biennale  ปี 2016  ในระยะการทำงานร่วม 30 ปี

ถึงแม้ว่าอารยาจะมีชื่อเสียงในฐานะศิลปินที่เป็นที่รู้จักในนานาชาติ แต่น้อยคนจะรู้ว่าเธอเคยมีอาชีพเป็นนักเขียน ทั้งนิยาย เรื่องสั้น และคอลัมน์นิสต์ให้กับดิฉัน พลอยแกมเพชร แพรวสุดสัปดาห์ กรุงเทพธุรกิจ มติชนสุดสัปดาห์ ก่อนที่ 2-3 ปีก่อน เธอจะตกลงใจหยุดงานเขียน

นิทรรศการ “ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน” ที่ 100 ต้นสน แกลลอรี่ คือนิทรรศการล่าสุด ในวาระครบรอบอายุ 60 ปี ของอารยา เป็นนิทรรศการที่เธอกล่าวว่ารู้สึกถึงความเป็นกวีในงานและสนุกในการเปิดกว้างให้ตีความ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 60 – 14 ม.ค. 61

ประชาไทชวนคุยกับ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข เกี่ยวกับที่มาของผลงาน แนวคิด ตัวตน ชีวิต ประสบการณ์ในวัย 60 ปี ที่ผ่านเรื่องราวหลากหลาย นำมาซึ่งการถ่ายทอดเป็นผลงานทางศิลปะ และล่าสุดกับงานที่กำลังเขียนในหนังสือเล่มใหม่ของเธอ


ที่มาของศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน

อารยา: เคยทำงานศิลปะควบคู่ไปกับงานเขียน 2-3 ปีที่ผ่านมาหยุดงานเขียนไป ถอนออกจากการเป็นคอลัมนิสต์ เพราะว่าอายุมากขึ้น แล้วเราก็ตั้งสาขาใหม่คือทัศนศิลป์กับสหศาสตร์ศิลป์ ต้องดูแลปรับหลักสูตร ทัศนศิลป์ของป.โท ส่วนสหศาสตร์ศิลป์ทุกคนบอกว่าต้องป.โท แต่เราคิดว่าต้องป.ตรี เพราะปัญหามันอยู่ที่ป.ตรี คือ วิธีการคิดหลักสูตรศิลปะแบบเดิมมามันแยกส่วน ทุกคนถูกสอนมาแบบจารีตสายเดี่ยว คือ หลักสูตรเพ้นท์ (วาด) พิมพ์ก็ต้องพิมพ์ (ภาพพิมพ์)

ปีนี้เราครบ 60 ก็เลยเหมือนเป็นธรรมเนียมว่าต้องมีงานอะไรสักอย่างก็หิวงานเขียน เลยคิดโครงงานนี้ขึ้นมา

พองานจัดแสดงปุ๊บ เราก็เขียนเลยตั้งแต่นั้น มันก็เป็นอุบายอย่างหนึ่งแหละ เป็นอุบายที่จริงจังมาก เพราะเรากลัวภาวะเปลี่ยนผ่านจากการเป็นอาจารย์ประจำเคยทำงานมากมาก่อน เปิดสาขาใหม่ บริหารสาขา ก็กลัวตัวเองโหวง เพราะฉะนั้นอุบายในการเขียนหนังสือของคือเรามีที่อยู่ ของตัวเอง ในนึกคิดของตัวเราเอง ไม่เกี่ยวกับใครเลย ส่วนตัวมาก หมามากวนยังดุเลย


ประติมากรรม ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน


ภาพจาก 100 ต้นสน แกลลอรี่ 

“ฟิกเกอร์ตัวอาจารย์ที่ตัวหนึ่งเต้นอีกตัวห้อยหัวอยู่ เรารู้สึกว่าอาจารย์กำลังรู้สึกอยู่ในสภาวะระหว่างการเป็นศิลปินที่สร้างงานศิลปะ กับการเป็นนักเขียนที่เขียนหนังสือ เรารู้สึกว่าตัวที่เต้นคือตัวในจินตนาการ ในความฝัน ไม่ใช่เรื่องจริง ในขณะชิ้นที่ห้อยหัวมันดูจริงกว่า เหมือนกำลังจะตาย เหมือนกำลังจะร่วงโรย ถ้าให้ตอบว่าตัวไหนคือศิลปิน ตัวไหนคือนักเขียน เราว่ามันตอบยาก เพราะทั้งตัวที่เต้นและตัวที่ห้อยหัวมันอยู่ในทั้งพาร์ทที่เป็นศิลปินและพาร์ทที่เป็นนักเขียน” ผู้ดูแล 100 ต้นสน แกลลอรี่ อธิบายให้เราฟัง
 

ประติมากรรม เพลงกล่อมเด็กของรังไข่ที่ตายไปแล้ว


ภาพจาก 100 ต้นสน แกลลอรี่ 

'เพลงกล่อมเด็กของรังไข่ที่ตายไปแล้ว' เป็นประติมากรรมที่อารยาทำหลังออกจากการเป็นคอลัมน์นิสต์แล้วปี 2015 โดยอารยาอธิบายว่า รังไข่ เปลไกวกล่อมเด็ก หรือแม้กระทั่งภาชนะของความตายส่งพ้นจากความเป็น ซึ่งมันมีอะไรหลายๆ อย่างในความเป็นที่ไม่สวย และก็คิดว่ามันเป็นพื้นที่สงัดได้ เคยคิดว่าศิลปะก็คือพื้นที่ที่ปลอดภัยเอาเข้าจริงแล้วมันก็ไม่มีที่ไหนปลอดภัย ใจพาไปไม่ปลอดภัย
 

ทำไมถึงหยุดเขียน
สมัยเขียนหนังสือส่งตามที่ต่างๆ เคยเขียนเดือนละ 7 บท ตื่นตี 4 พัก 10 โมง กินข้าวเช้าเที่ยงรวมกัน บ่ายงีบเพราะต้องพักสมอง เย็นต่อ 4 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม ต้องมีวินัยแบบนั้นถึงจะส่งมติชนสุดสัปดาห์ ส่งดิฉันรายปักษ์ ส่งกรุงเทพธุรกิจ แถมยังมีเรื่องสั้นตามที่ต่างๆ

เพราะตอนนั้นคิดว่าตัวเองเหมือนเป็ดเลย คือทำทุกอย่าง เลี้ยงหมาก็เป็นเรื่องหนักมากนะ เพราะเที่ยวไปเก็บหมาเจ็บ หมาป่วย หมาแก่มาหมด 10-20 ตัว ต้องให้น้ำเกลือตัวนี้ ป้อนยาตัวนั้น หยอดตาทาจมูกอีกสองตัว อุ้มอีกตัวที่เดินไไม่ได้ไปถ่าย เหมือนนางพยาบาลเลย เพราะฉะนั้นคิดว่ามันเยอะไปหน่อย อีกอย่างเป็นการเบรกของอะไรที่ต่อเนื่องยาวนานเกินไป มันเขียนมาเป็นสิบๆปี

แล้วที่กลับมาเขียน
หวังว่าการเขียนจะเป็นห้วงภวังค์แข็งแรงที่จะดูแลเรา เพราะถ้าศิลปะเรายังต้องยุ่งเกี่ยวกับโลกข้างนอกเยอะมาก งานเขียนเราเป็นผู้กำกับแต่เพียงผู้เดียว ทุกถ้อยคำ ทุกอารมณ์ เพราะถ้าพูดในเชิงร่างกาย ความโลดโผน การเดินทางต่างๆ โดยวัยขนาดนี้ก็น่าจะลดลง ตอนนี้การสอนก็น้อยลง แต่ก็ยังสอน

งานวิดีโอ “อำมหิต” ที่พาดพิงถึงเหตุการณ์เมื่อผลงานคุณถูกปฏิเสธจากบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะในการขอตำแหน่งทางวิชาการ
เราไม่ได้เป็นคนเริ่ม แต่เราถูกกระทำ เราก็เลยเอาบันทึกของการถูกกระทำมาลงในวิดีโอ เป็นการฉลองแซยิด สิ่งที่นักวิชาการศิลปะวิพากษ์ก็อยู่ในวิดีโอนั้น เช่น ไม่ได้ใช้องค์ประกอบศิลป์ขั้นสูง ไม่มีจริยธรรม

สำหรับศิลปินรุ่นเก่าบางคน สำหรับเขาคุณค่าของศิลปะคงอยู่ที่ความงามของการจัดการอย่างลงตัว มันเกี่ยวกับการมองเห็นมาก อาจไม่ให้ค่าในเรื่องของความคิด ความหมาย เพราะฉะนั้นทางออกคือผลิตในเชิงทักษะ ฝีมือ

ในฐานะที่เป็นอาจารย์เขาก็จะรู้สึกปลอดภัยกว่าที่จะอยู่ตรงนั้น เพราะไม่งั้นเขาจะถูกท้าทายจากคนรุ่นใหม่ คนรุ่นหลัง คนจากที่อื่น เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ก็ดูแลปกป้องสาขาเชิงเดี่ยวของเขา ทำให้เราถูกต้านตอนทำสาขาที่รวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเขาไม่ต้องขวนขวาย อยู่กับที่ กับสิ่งที่เรียนมา เขาจะรู้สึกเขารอดไปจนเกษียณ เพียงแต่มันอาจจะแย่ในเชิงการศึกษา การขาดโอกาสเพราะมีเด็กรุ่นใหม่ที่อยากทดลอง ตื่นเต้นกับอะไรที่เปลี่ยนไป แต่แน่นอนของเดิมก็มีดีอยู่ในแบบเดิม แต่หายากแล้ว

ดูเป็นงานที่พยายามเข้าถึงในหลายชนชั้น อย่างงานอำมหิต มีทั้งพระ ทั้งชาวบ้าน นักเรียน อยู่ในงาน
ต่างสปีชีส์ด้วย แต่งานไม่ได้มีความตั้งใจแข็งว่าต้องเพื่อรากหญ้า เพื่อชายขอบ มันเป็นไปเอง เป็นธรรมชาติของเราเอง มันมีความน่าเอ็นดูอะไรบางอย่าง เช่น เดินออกกำลังในหมู่บ้าน เห็นชาวนาปลูกข้าว บทสนทนาของเขามันขำ หรือไปวัดแล้วไปเจอเขาที่งานบุญ มันก็จะมีอะไรที่มันเป็นธรรมชาติที่น่าเอ็นดู แล้วเราคิดว่าในฝั่งนั้นของมนุษย์มันงดงาม พอมันงดงามเราคิดว่ามันอาจเป็นส่วนหนึ่งของงานได้

อย่างงาน The Two Planets (2007-2008) ที่ให้ชาวบ้านมาวิจารณ์งานศิลปะมาสเตอร์พีชจากตะวันตก รู้สึกเหมือนกำลังตั้งคำถามว่าศิลปะของชนชั้นสูง เมื่อชาวบ้านมามอง เขาก็อาจไม่ได้เห็นว่ามันสวยงามก็ได้
มันมี text ของนักวิชาการเอเชีย บอกว่าศิลปะเอเชียจะได้รับการพัฒนาถึงขีดสุดถ้าได้รับการวิจารณ์จากภายนอก แล้วภายนอกคือตะวันตก เราก็เลยกลับข้างแค่นั้นเอง เอาศิลปะที่เป็นมาสเตอร์พีชตะวันตกให้คนเอเชียวิจารณ์บ้าง งานมีความแสบสันในการเอาคืนนิดๆ แต่งานถูกตีความว่าไปจัดการชั้นเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ อย่างมหา’ลัยเราสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ ส่วนใหญ่เป็นของตะวันตก ไม่ค่อยมีของเอเชีย แล้วก็แข็งๆ ไม่สนุก

งานไม่มีคำถามแข็งๆ ก็แค่เปิดเวทีให้เขาทดลองกับเผชิญสนุกกับตัวเองกับความไม่รู้ ที่ใจไม่ดีตอนคิดว่าจะทำงานนี้คือ คิดว่าศิลปะจะเละแน่ๆ เพราะเราเปิดให้ชาวบ้านคุยอะไรกันก็ได้ ตรงนั้นคือต้องทำใจแข็งไว้หน่อยนึง ไม่ห่วงหน้าตาของศิลปะจนเกินไป

เหมือนงานผู้ป่วยโรคจิตผู้หญิง ก็ไปตั้งกล้องแล้วก็ให้เขาพูดตามสบาย บางคนก็ร้องไห้ บางคนก็เล่าเรื่องที่เขาไม่ได้คิดว่าตลก แต่พอเราขำอยู่หลังกล้อง ขำน้ำตาไหล พอเขาเห็นแบบนั้นเขายิ่งสนุก ไปใหญ่ ฟุ้งเลย แถมบอกว่า จริงๆนะคะอาจารย์

ชอบทำงานกับกลุ่มคนชายขอบ?
อาจจะไม่ใช่ชายขอบ แต่มีคำวิจารณ์ว่างานเราชอบทำงานเกี่ยวกับการสื่อสารที่ติดขัด เช่น ไปอ่านหนังสือให้ศพฟัง หรือไปนั่งฟังคนบ้าพูดไปเรื่อย แต่ผู้วิจารณ์มองในเชิงบวกมากของความเป็นมนุษย์ ว่าจริงๆ การพยายามจะสื่อสารมันเป็นเรื่องที่พิเศษมากสำหรับคนเราในฐานะมนุษย์ แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าพวกเขาเป็นใคร พูดเรื่องอะไร ศพเป็นใครมาก่อน ผู้ป่วยทางจิตเล่าเรื่องจริงรึเปล่า หมาก็อยู่ในงานศิลปะได้แบบตัวเป็นๆ ก็คิดว่ามันดีมากที่ข้ามสปีชี่ส์ไป ข้ามข้อจำกัดไปสู่อะไรก็ตาม

งานมีความเป็นเฟมินิสต์?
นักวิชาการผู้หญิงก็จะจับเราไปในโซนเฟมินิสต์ แต่สำหรับตัวเราเอง (คิด) ก็คงมีเชื้ออยู่นะ ในวัฒนธรรมไทยที่มันนุ่มเอ๋อ เป็นการประนีประนอม เราจะสู้ด้วยอะไรล่ะ เราก็สู้ด้วยงาน คนในวงการก็ผู้ชายเกือบทั้งหมด ทั้งผู้มีอำนาจในและนอกระบบ

แล้วผู้หญิงจริงๆ ก็แข่งขันกันเอง อวดประชันกันสูง และในขณะที่เพศหญิงแข่งขันกัน เพศหญิงก็หันไปจำยอมเพศชาย คือยอมโดยวัฒนธรรม โดยเชิงอำนาจ น่าเวทนามากในจุดยืนของผู้หญิง มันมีเรื่องริษยาของเพศเดียวกัน ที่เขาไม่เคยตั้งคำถามกับกลุ่มผู้ชาย พาวเวอร์ของผู้ชายในที่ทำงานเปล่งรัศมีครอบงำพวกผู้หญิง ดูเหมือนเราเป็นเหยื่อของทั้งสองฝ่าย อยากอยูในคุณค่าของสิ่งที่ทำมากกว่าอยากอยู่ในกลุ่มพวกของใคร ไม่อยากประนีประนอมเชิงสาระของสิ่งที่ทำ

เราคิดว่าศิลปะกับวรรณกรรมก็ช่วยเปิดทางให้เยอะเลยนะ ที่จะเข้าไปช่วยจัดการกับเรื่องพวกนี้แบบไม่ก้าวร้าวจนเกินไป

อย่างงานอำมหิต จริงๆ ทำด้วยความขำนะ ให้ลูกศิษย์มาเล่น เล่นแข็งๆถ่ายหลายรอบตลกดี ไม่ได้โกรธแค้นอะไร เริ่มมาจากอ.ชลูด (นิ่มเสมอ) อ.ชลูดคือคนที่สู้กับคนที่วิจารณ์เราในเชิงวิชาการ อ.ชลูดบอกว่า อารยา ถ้าฉันเป็นเธอฉันต้องทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาสักชิ้น แล้วอาจารย์ตายไปแล้ว ตายไปนานแล้วเราไม่ได้ทำสักที ก็เลยทำขึ้นมาตามคำแนะนำ เป็นศิษย์มีครู
 


นิยายที่เขียนอยู่เป็นไงบ้าง?
ไม่ได้ตั้งพล็อต ใช้เริ่มจากจุดที่ตัวเองคุ้น สนุกกับอดีตก็เขียนเกี่ยวกับอดีต ถ้ามีจุดที่สะเทือนใจอยากตอกย้ำก็ใส่ อยากให้มันมาเอง ตอนนี้ได้ประมาณครึ่งเรื่อง อย่างเมื่อวันก่อนนึกไอเดียได้อย่างหนึ่ง คล้ายบาปสุนทรีย์ คือมันเป็นบาปหรือกรรมที่ติดมากับศิลปะ ในเรื่องก็จะพูดถึงศิลปะกับวรรณกรรม และมีบุคคลที่ใช้คำว่า “เรา” เข้ามาสังเกตการณ์ วิเคราะห์แทรกความเป็นไปของตัวละครอยู่บ้าง

พ่อเราเป็นหมอ ส่วนแม่เลี้ยงเป็นพยาบาล พ่อเป็นนายแพทย์ใหญ่ดูโรงพยาบาล กับอนามัยจังหวัด อยู่ระยอง อุบล จันทบุรี แต่เราเกิดที่ตราด เพราะฉะนั้นมันจะมีแม่น้ำ มีทะเล มีที่ราบสูง ฉากในจังหวัดพวกนี้อะไรยังงี้อยู่ในเรื่อง

ในนิยายมันคล้ายๆ กับชีวิตของคุณด้วย?
มันคล้ายๆ แต่บางมุมมันถูกทำให้ขำ เช่น มีอยู่ตอนหนึ่งอ่านหนังสือให้ศพฟัง แต่ตัวละครศพลุกขึ้นมาถกกันใหญ่เลย ไม่ฟังกันเลย ถกกันว่ามันละเมิดสิทธิรึเปล่า วันนี้วันหยุดทำไมไม่ได้พัก แล้วทำไมถึงอ่านอิเหนา ศพไม่ตาย ศพฟื้น เราก็เออ เราได้ตัวละครใหม่แล้ว ดีจัง ปกติหาตัวละครลำบาก คิดถึงแต่หมา ไม่ได้ตั้งใจพวกเขาลุกขึ้นมาเอง อยากมีบทในเรื่อง (หัวเราะ)

เหมือนคุณทำงานด้วยอารมณ์ขัน
ปีที่แล้วตอนไปบรรยายต่างประเทศ ศิลปินนานาชาติประมาณ 60 คนนั่งฟัง ก็มีศิลปินคนหนึ่งถามว่า คุณไม่เห็นพูดถึงเรื่องอารมณ์ขันในงานคุณเลย เราก็ถามไปว่าคุณอายุเท่าไหร่ คนก็ขำกันใหญ่ หนุ่มคนนั้นก็พาซื่อตอบว่า 38 คนก็ยิ่งขำ แต่จริงๆ เรากำลังจะบอกว่า ถ้าเธออายุเท่าฉัน ถ้าเธออายุมากขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์ขันเธอจะมา

ตอนไปอ่านหนังสือให้ศพฟังเรายังมีอารมณ์ขันไหม?
โห ตอนไปอ่านทีแรก ศพแรกเราร้องไห้ คือมันทั้งกลิ่น ทั้งฉาก ทั้งอะไร คุณไม่เคยเผชิญความตายสดๆ แถมคุณยังเอาน้ำไปแช่เขาอีก เจ้าหน้าที่ก็บอกเดี๋ยวจะเน่าแล้วนะครับอาจารย์ บางคนก็บอกว่าเดี๋ยวมันขึด ขึดคืออาถรรพ์ เจ้าของโลงแก้วไม่ยอมรับฝาก เพราะผมมีลูกเล็กที่บ้าน อ้าวเราก็มีหมา มันไปปนความเชื่ออะไรเต็มไปหมด เห็นศพแต่งตัวสวยๆ ข้างในคือแพมเพิร์ส คือผ้าพันแผลมีเลือด

จุดเริ่มต้นของการทำงานกับศพ?
อายุ 40 เราเป็นผู้หญิงที่อยู่คนเดียวที่ทาวน์เฮ้าส์ เลยทำงานปั้นดินเหนียวไว้ที่เก้าอี้ตัวหนึ่ง ที่เก้าอี้ดูทีวีตัวหนึ่ง โต๊ะกินข้าวตัวหนึ่ง ตรงประตูหน้าบ้านตัวหนึ่ง แล้วปั้นดินมันต้องพรมน้ำ ต้องดูแล มันเริ่มจากตรงนี้ มันเป็นการดูแลอะไรที่ไม่มีชีวิต มันหลอนนะ มันดูหลอนๆ

แล้วเราชอบวรรณคดีเก่า เย็นวันหนึ่งขับรถไปซื้อของ รถก็ติด ก็ร้องกลอนเก่าๆ ร้องไปร้องมาก็ไปพ่วงกับรูปปั้นที่ตัวเองฉีดน้ำดูแล มันก็เลยกลายคิดไปว่า เออทำไมฉันไม่ไปอ่านหนังสือให้ศพฟังล่ะ ตอนนี้ที่บ้าน 4 ตัว ฉันก็ดูแลเหมือนศพอยู่แล้ว แล้วตอนหลังก็ต้องขนรูปปั้นออกมาหมดเลย มันแตกหมด มันก็คือความไม่จีรังยั่งยืน

การอ่านหนังสือ แต่งตัว เล่านิทาน ร้องเพลงให้ศพฟัง มันก็คือการดูแลอย่างหนึ่ง แต่งตัวก็แต่งตัวให้เขาลายเดียวกับเราเลย ทัดดอกลั่นทม เขาถึงได้เหน็บว่าศิลปินใกล้คนบ้านิดเดียว (หัวเราะ)

แล้วมันเกิดการตั้งคำถาม ทำไมคุณถึงได้รับการดูแลที่ดีเมื่อคุณตายแล้ว รองเท้าขัดมัน ชุดสวยที่สุด ทั้งที่ตลอดชีวิตอยู่รองเท้าคุณอาจจะไม่เคยขัดมันเท่านั้นมาก่อน อันนี้เป็นข้อสังเกตของการปฏิบัติเป็นต่อตาย

ทำงานกับศพยากไหม?
พอเครื่องติดมันก็ไปได้นะ เพราะมันต้องทำให้งานสมบูรณ์ แต่ตอนแรกๆ ไม่กล้ากลับบ้านเลย เพราะว่ากลิ่นมันตามมาถึงเช้า มันมีส่วนหนึ่งของสมองแถวท้ายทอยที่อ่อนไหวและรับสัมผัสอะไรพวกนี้ได้ไว อ่านมา เช้าเราชงกาแฟก็เป็นกลิ่นศพ คือถ้าเป็นคนโบราณจะบอกว่าเขามาตาม

ตอนอยู่หน้าบ้านเราก็ถอดเสื้อผ้ากองไว้หน้าบ้าน พยายามไม่เอากลิ่นเข้าบ้าน ตอนแรกๆนะ แต่ตอนหลังสบายเลย ชิน มันเหมือนนักแสดงขึ้นไปแสดงบนเวที มันต้องเดินไปตามบท สถานการณ์ตรงนั้นมันกำกับเรา แต่มันมีภาวะกินตัวเองเหมือนกัน กินตัวเองจนเราเศร้า หดหู่ ต้องไปหาหมอ หมอบอกให้ไปทำสมาธิ ดูลมหายใจ

ในเชิงผลิตให้เป็นงานศิลปะมันก็ยากนะ อาจไม่เป็นก็ได้ คุณว่าเป็นมั้ย? มันไปยากตรง material เงื่อนไขของสังคม และการถูกกระทำ หรือคำถาม ทางศีลธรรมจริยธรรม โดยไม่มองในแง่การสร้างสรรค์ศิลปะ มีหลายเลเยอร์ในความยาก

แล้วตอนอยู่กับศพปลงไหม?
ไม่ปลงเพราะทำศิลปะ

แล้วทำงานกับคนบ้าล่ะ?
เราขมขื่นนะ เดินเข้าไปในโรงพยาบาลบ้า คนบ้าที่รออยู่ก็บอกว่า นักข่าวไทยพีบีเอสมาแล้ว

ครอบครัว สภาพแวดล้อม สังคมกระทำต่อผู้หญิงหนักมาก ต้องเป็นลูกสาวที่ดี เมียที่ดี เป็นแม่ที่รับผิดชอบต่อลูก คือบ้าเพราะเงื่อนไขพวกนี้แหละ

มีผู้หญิงคนหนึ่งบ้าเพราะว่าเป็นลูกสาวของครอบครัวจีนที่อยากได้ลูกชาย แต่ทางออกของเขาก็สวยมาก เมื่อเช้าตอนเขียนเราไปถึงจุดนั้นเลย ข้อเขียนมันพาไปเอง ทางออกก็คือเขากลายเป็นผู้วิเศษตอนเขาบ้า เขาสามารถรักษาไก่ที่ตายแล้วให้ฟื้นได้ เขากลายเป็นคนที่ชาวบ้านเรียกว่าหมอ จากที่เขาอยู่ใต้สามีตลอดเวลา แต่ตอนนี้เหนือกว่าแล้วเพราะชาวบ้านมาหาเขา แล้วก็เจอผู้หญิงอีกคนเล่นเป็นราชินีด้วย

การเป็นบ้า เราคิดว่ามันไม่ใช่การทำร้ายแต่มันคือการบรรเทานะ บรรเทาให้คุณไม่ถึงขีดแล้วดับดิ้นไปด้วยอะไรสักอย่าง ในที่สุดร่างกายมันจะต้องไปถึงจุดที่มันบรรเทาตัวมันเอง เราไม่เคยเจอมุมนี้ ทำงานกับคนบ้ามาตั้งนาน แต่เมื่อเช้าในงานเขียนเราเจอจุดนี้ มันช่วยนี่เอง มันถึงทำให้ฉันหัวเราะตอนตั้งกล้องถ่ายเธอ แล้วกลายเป็นนั่งหัวเราะกันทั้งสองฝ่ายทั้งศิลปินกับคนบ้า มีความสุขกันเหลือเกิน

ตอนไปจัดแสดงงานที่ญี่ปุ่น ก็มีคนบ้าของญี่ปุ่นมาดูงาน มีล่ามแปล คนบ้าญี่ปุ่นคนนั้นกรีดตัวเอง เหมือนเขาไม่รู้ว่านี่คือโลกจริงหรือเสมือนจริง ก็เลยเริ่มทำร้ายตัวเอง ให้รู้สึกว่ายังเจ็บอยู่ จะได้รู้สึกว่าฉันยังเป็นมนุษย์ ต้องรอวันที่เขาอารมณ์ดีที่สุด เขาแต่งตัวสวยชอบมามานั่งหน้ากล้องแล้วคุย

มันขมขื่น มันเหมือนเดินเข้าไปเจอความจริงที่ไม่เคยถูกเปิดเผย ความจริงนั้นอยู่ในเรา แล้วเราเข้าไปหาจากคนอื่น ไปคุ้ยมัน แล้วเราสะเทือนใจ เพราะฉะนั้นเวลาเข้าไปอยู่กับงานพวกนี้มันกินตัวเรา กินความรู้สึกนึกคิดของเรา เราไม่อยากอยู่อีกต่อไป ถึงระดับที่ไม่อยากอยู่

เรารู้ธรรมชาติตัวเอง จุดเปลี่ยนอายุ 60 จะหยุดบริหารสาขา หยุดสอนเราถึงต้องเกาะการเขียนหนังสือซึ่งเยี่ยมมาก ต้องชมอุบายตัวเอง เรารอด มีพลังอย่างเหลือเชื่อ ตอนนี้ไม่เคยวางกระดาษ ปากกา จากมือเลย ไม่ว่าจะไปไหน ขับรถ สอนหนังสือ ดูแลหล่อเลี้ยงตัวละครให้โลดเต้นอยู่ ไม่ให้ชีวิตจริงมากระทบไล่ตัวละครไป

มันเป็นไปได้ไหมที่พอเจอการโจมตีหนักๆ เข้าเราจะชิน
ไม่ ไม่ชิน มันก็แย่ทุกที เพียงแต่เราคิดว่าทางออกของเราไม่ได้เดินไปทะเลาะกับใคร ทางออกก็คือออกในงาน ตอนเด็กกว่านี้ก็ออกในงาน โตขึ้นก็ทำใจ คงเป็นอย่างนี้แหละ เป็นอย่างนี้เอง เข้าใจหละ ไม่เข้าใจก็ไปโรงพยาบาล อยู่กับคนเคยนั่งหัวเราะกันแบบหยุดไม่อยู่

 

ในวันที่ 25 พ.ย. นี้ จะมีกิจกรรมเสวนาพิเศษ ณ 100 ต้นสนแกลอรี่ เวลา 16.00 – 18.00 น. ในหัวข้อ “เธอเกิดมาพร้อมอวัยวะเพศรูปกลีบดอกไม้แย้ม” (เพื่อจะเสียชาติเกิด) โดย สายัณห์ แดงกลม อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ต้องการจะเปิดเวทีร่วมเสนอการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นงานเขียน งานศิลปะ ของอารยา ราษฎร์จำเริญสุข ในนิทรรศการ “ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน” และร่วมถามตอบกับศิลปินและผู้นำเสวนาหลังจากจบการเสวนา

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/events/545217915829043/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net