องค์กร 'ภาคประชาสังคมโลก' ทำแคมเปญให้ 165 'นักโทษทางความคิด' ในเวียดนาม

องค์กรสิทธิฯ 14 องค์กร ร่วมมือกันทำโครงการสร้างความตระหนักและเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษทางความคิด 165 รายในเวียดนามที่ส่วนใหญ่ถูกคุมขังจากกฎหมายความมั่นคง ชี้ลิดรอนเสรีภาพการแสดงความเห็น รวมถึงมีการทำฐานข้อมูลของผู้ถูกจับกุมเหล่านี้

20 พ.ย. 2560 องค์กรภาคประชาสังคมโลกหรือซีเอสโอ (CSOs) ออกโครงการสร้างความตระหนักและเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้กับนักโทษทางความคิดในเวียดนาม

โครงการดังกล่าวมีชื่อว่าโครงการ NOW! ที่มาจากความร่วมมือขององค์กรสิทธิมนุษยชน 14 องค์กร พวกเขาเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดในเวียดนาม 165 ราย รวมถึงมีการเก็บรวบรวมฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับนักโทษทางความคิดในเวียดนามในแบบที่ผู้คนเข้าถึงได้

ในฐานข้อมูล มีข้อมูลของคนที่ต้องโทษจำคุกเพียงเพราะดำเนินกิจกรรมอย่างสันติ ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเกอร์, นักข่าว, นักสิ่งแวดล้อม, นักเรียน-นักศึกษา, ชาวนา และคนงาน ถ้าหากนำโทษทั้งหมดของผู้คน 165 รายเหล่านี้มารวมกันแล้วจะพบว่าพวกเขาต้องโทษจำคุกรวมกันทั้งหมด 955 ปี กับอีก 1 เดือน มีโทษถูกกักกันบริเวณอยู่ในบ้านรวม 204 ปี

คนส่วนใหญ่ในฐานข้อมูลนักโทษทางความคิดนี้ถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดกฎหมายมาตรา 79 ที่อ้างเรื่อง "การวางแผนล้มล้างรัฐบาล" กับมาตรา 88 ที่อ้างว่าผู้ถูกกล่าวหา "ทำการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ"

กระนั้นองค์กรผู้ปกป้องสิทธิพลเมือง (Civil Rights Defenders) ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ NOW! ระบุว่าอาจจะมีจำนวนนักโทษทางความคิดในเวียดนามสูงกว่านี้ เนื่องจากการควบคุมสื่อของรัฐบาลและการจับกุมอย่างลับๆ อาจจะทำให้มีการจับกุมนักโทษทางความคิดรายอื่นๆ โดยเฉพาะที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ทำให้อาจจะมีบางส่วนตกสำรวจไป

องค์กรทั้ง 17 องค์กรยังลงนามในจดหมายที่ส่งถึงผู้นำที่เข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในเวียดนามเพื่อยกประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ จดหมายฉบับดังกล่าวระบุว่ารัฐบาลเวียดนามคุมขังนักกิจกรรมที่ดำเนินกิจกรรมอย่างสันติและบล็อกเกอร์รวม 25 รายในปีที่แล้ว องค์กรสิทธิมนุษยชนระบุว่าการปราบปรามและเซนเซอร์ของรัฐบาลเวียดนามเหล่านี้ขัดกับเป้าหมายของ APEC ที่ต้องการ "สร้างพลวัตใหม่ๆ สำหรับการส่งเสริมอนาคตร่วมกัน"

เหงียนเบ่าเหงียน ลูกสาวของบล็อกเกอร์ที่ถูกจับกุมตัวยังเขียนจดหมายถึงเมลาเนีย ทรัมป์ ภรรยาของโดนัลด์ ทรัมป์เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแม่ของเธอในช่วงที่สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ เดินทางมาพร้อมกับทรัมป์ในการประชุม APEC ด้วย

ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มสิทธิมนุษยชนอีก 9 กลุ่มที่รณรงค์ด้วยแฮชแท็กว่า #StopTheCrackdownVN เพื่อประณามการปราบปามบล็อกเกอร์และนักกิจกรรมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมารวมถึงการตัดสินลงโทษหนักกับคนที่วิจารณ์รัฐ นักเขียนและสมาชิกพรรคเวียดตันกล่าวว่ารัฐบาลมีการอ้างใช้กฎหมายมาตรา 79 และ 88 ในการปิดปากประชาชน โดยมีการตีความคำว่า "ความมั่นคงของชาติ" เอาไว้กว้างมาก

ก่อนหน้านี้ในเดือน ก.ค. ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติออกแถลงการณ์ระบุว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์คุมขังและดำเนินคดีกับประชาชนผู้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยการอ้างใช้ความมั่นคงที่ระบุในกฎหมายที่นิยามไว้ไม่ดีมาปราบปรามคนที่ต่อต้านรัฐบาล

เรียบเรียงจาก

#StopTheCrackdownVN: Global Groups Call for Human Rights Protection in Vietnam, Global Voices, 15-11-2017
https://globalvoices.org/2017/11/15/stopthecrackdownvn-global-groups-call-for-human-rights-protection-in-vietnam/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท