Skip to main content
sharethis

ทนายแย้งอาจเป็นคำสั่งที่อยู่นอกอำนาจกฎหมายและอาจเป็นการละเมิดสิทธิ จำเลยอาจไม่ได้นับวันลดโทษหลังถูกออกหมายขัง ขณะเดียวกัน การพิจารณาคดีล่าช้าออกไปอีก เหตุพยานโจทก์ปากสำคัญเบี้ยวนัดไม่มาศาล อัยการแจ้งโทรตามตัวไม่ได้ พยานสื่อมวลชนให้การว่าวันเกิดเหตุถูกสั่งห้ามถ่ายภาพ ถูกคุมตัวเข้าค่าย ถูกขอเทปบันทึกภาพ

20 พฤศจิกายน 2560 ที่ศาลทหาร มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น ได้มีการเบิกตัว จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน จากทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดขอนแก่น มาเพื่อฟังการไต่สวนพยานโจทก์ในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  จากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร คสช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ใกล้ศาลหลักเมือง จ.ขอนแก่น โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 และครั้งนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ปากที่ 3  จากทั้งหมด 5 ปาก 

อัยการได้แถลงต่อศาลว่า จากเดิมที่มีกำหนดนัดหมาย พตท.นรวัฒน์ คำภิโล และ นายราชา ถิ่นทิพย์ (45ปี) ช่างภาพไทยพีบีเอส TPBS มาให้การ แต่ในวันนัด ไม่สามารถติดต่อ พตท.นรวัฒน์ เจ้าพนักงานตำรวจที่เข้าร่วมทำการจับกุม 7 นศ.ดาวดิน ได้แม้ว่าได้ส่งหมายนัดไปเป็นที่เรียบร้อย และในวันนี้ (วันนัด) ก็ไม่สามารถโทรติดต่อได้ จึงขอให้สืบพยานเพียงแค่ปากเดียว  

จากนั้น ศาลจึงได้มีคำสั่งยกคำร้อง จากการที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลผู้พิจารณาคดีนี้มีคำสั่งปล่อยตัวจำเลย ที่มีคำสั่งให้ขังตามหมายขังที่ลงวันที่ 27 มีนาคม 2560 เนื่องจากครบกำหนดขังตามอัตราโทษสูงสุด (6 เดือน) โดยให้เหตุผลว่าการจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวหรือไม่ถือเป็นดุลพินิจของศาล และศาลถือว่าไผ่ถูกขังตามหมายขังในคดี 112 อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่พิจารณาในเวลานี้

ขณะที่ อานนท์ นำภา ทนายได้แย้งว่าจำเลยมีหมายขังอยู่ 2 ใบ คือในคดี 112 จากการแชร์ข่าวพระราชประวัติ ร.10 ของ BBC กับและคดีชูป้ายไม่เอารัฐประหาร ในวาระ ครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร คสช. ของศาลทหาร โดยหลักกฏหมายแล้ว เมื่อขังครบตามกำหนดโทษสูงสุดศาลก็ต้องมีคำสั่งให้ปล่อยตัวเนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการขังต่อ

ทนายความยังกล่าวต่ออีกว่าโดยปกติแล้ว หากเป็นศาลพลเรือน ศาลจะแนะนำให้จำเลยที่ถูกขังอยู่แล้วในคดีอื่นไปถอนประกันคดีหลังอีกคดีเพื่อให้ขังไปพร้อมๆ กัน จะได้หักวันนับโทษออกซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์กับจำเลย แต่สำหรับกรณีนี้ ศาลทหารยังคงมีคำสั่งขังไผ่ระหว่างพิจารณาคดีจนเกินกำหนดโทษสูงสุดตามกฎหมาย จึงอาจเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย และละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนของจำเลย โดยเฉพาะหากว่าศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดและให้จำคุกต่อจากคดี 112 ก็อาจทำให้จำเลยเสียสิทธิในการนับโทษ โดยอาจไม่ถูกหักวันที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีออก

สุดท้ายศาลได้ให้บันทึกข้อโต้แย้งลงในกระบวนพิจารณาคดีแต่ยังคงยืนยันว่าการสั่งให้ปล่อยตัวและการกำหนดนับวันขังอยู่ที่ดุลพินิจของศาล


ภาพวิดีโอเหตุการณ์จาก ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

จากนั้นจึงเริ่มการสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ราชา ถิ่นทิพย์ ได้ตอบข้อซักถามของทนายจำเลยว่า ตนได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ใน TPBS มาแล้วประมาณ 10 ปี ได้ผ่านการถ่ายภาพเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในกิจกรรมชุมนุมปี 53 และการรัฐประหารปี 57 มาแล้ว แต่กิจกรรมที่ จตุภัทรและเพื่อนทำไม่ได้เหมือนกับการชุมนุมจากสองเหตุการณ์ขัางต้น ราชาได้ให้การต่อว่า ได้เคยติดตามรายงานข่าวกิจกรรมของจตุภัทร์และกลุ่มดาวดินอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนเช่นเรื่องการค้านการทำเหมืองทอง การให้สัมปทานขุดเจาะแก็ซธรรมชาติ การค้านการสร้างเขื่อน การต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ทำกินของชาวบ้าน และรับรู้ว่า จตุภัทร์และกลุ่มดาวดินยังได้เคยรับรางวัลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและรางวัลเยาวชนต้นแบบจากรายการ คน ค้น คน แต่ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องทัศนะการเมืองและทัศนะต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ช่างภาพจาก TPBS ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้พบในวันนั้นว่า ได้มี นศ.ประมาณ 10 คนมายังบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและได้เข้าทำกิจกรรมชูป้ายผ้า ในขณะนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบยืนรออยู่แล้วประมาณยี่สิบคน แต่ไม่ได้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการห้ามปรามระงับเหตุ ต่อเมื่อนักศึกษาชูป้ายผ้าขึ้นเจ้าหน้าที่จึงได้เข้าทำการแย่งป้ายผ้าและแผ่นกระดาษ แต่ไม่ได้ถ่ายภาพขณะที่ นศ.ถูกจับกุมอุ้มขึ้นรถ เนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ออกคำสั่งว่าห้ามไม่ให้สื่อถ่ายภาพเหตุการณ์ และกันให้สื่อถอยห่างออกไป และแม้แต่เมื่อถอยไปยังจุดที่ทหารกำหนดแล้วจะทำการบันทึกภาพต่อ ทหารก็ยังชี้หน้าและโบกมือให้สัญญาณว่าห้าถ่ายบันทึกภาพ

สื่อมวลชนช่างภาพผู้เป็นพยานโจทก์ได้ให้การต่อศาลว่านอกจากการจับกุม จตุภัทร์ และนศ.กลุ่มดาวดินทั้ง 7 คน เข้าค่ายแล้ว ตัวเองซึ่งเป็นสื่อมวลชนก็โดนคุมตัวเข้าค่ายทหารไปพร้อมกัน ในค่าย นายทหารได้ขอเทปบันทึกภาพเหตุการณ์จากพยาน แต่พยานได้เจรจาต่อรองให้เหตุผลว่ามันเป็นงานที่ต้องส่งให้ทางกองบรรณาธิการ TPBS พิจารณาเผยแพร่ต่อสาธารณะสุดท้ายจึงได้ข้อสรุปว่าทางทหารของสำเนาข้อมูลที่ถ่ายเพื่อใช้เป็นหลักฐาน

ในการพิจารณาไต่สวนครั้งนี้ได้มีนำคลิปวิดีโอความยาวประมาณสิบนาทีที่ถูกระบุว่าพยานเป็นผู้ถ่ายไว้ออกมาเปิดดู แต่เมือเปิดได้ประมาณแค่ครึ่งเดียว เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เปิดคลิปวิดีโอของทางศาลก็หยุดทำงาน ศาลจึงถามพยานว่า ยืนยันหรือไม่ว่าคลิปวิดีโอนี้เป็นคลิปที่พยานถ่าย ซึ่งพยานได้ยืนยัน  แต่ให้การเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพนิ่งที่ได้จากการแคปเจอร์จากวิดีโอใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดนั้นไม่สามารถยืนยันว่าเป็นของตนหรือไม่ เพียงแต่ว่าได้ถ่ายจากมุมเดียวกับที่ตนยืนอยู่ซึ่งในจุดนั้นมีคนถ่ายภาพหลายคนซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นใครบ้าง

ศาลกำหนดให้มีการพิจารณาคดีครั้งหน้าในวันที่ 22 มกราคม 2561 เวลา 08.30 น.เป็นต้นไป โดยให้อัยการได้นัดหมายพยานโจทก์ปากที่ 4 และ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหัวหน้าชุดจับกุมและสอบสวนมาเพื่อให้การสืบพยานโจทก์แล้วเสร็จในวันเดียว

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน จำเลยและผู้ต้องขังในกรณีนี้ได้กล่าวถึงความเป็นไปจากการที่มีข่าวว่าตนได้ถูกผู้คุมเรือนจำ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ทำร้ายร่างกายและกระทำการละเมิดต่อสิทธิเหนือร่างกายตนว่า จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นแล้ว ยังไม่ได้มีการละเมิดในทางกายภาพอีก และหลังจากนี้ตนได้ถูกย้ายมาขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อสืบพยานในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหารและคดีพูดเพื่อเสรีภาพจนถึงเดือนมกราคมแล้วขึงจะถูกส่งตัวกลับไปเรือนจำ อ.ภูเขียว เพื่อสืบพยานในคดีประชามติต่ออีก 

สำหรับในการมาศาลครั้งนี้ ทางเรือนจำไม่ได้ตีตรวน ใส่กุญแจข้อเท้า หรือกุญแจมือจตุภัทร์ เพียงแต่มีผู้คุมและสารวัตรทหารควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดเท่านั้น เมื่อถามว่าได้รับการปฏิบัติจากทางศาลทหารดีกว่าที่ศาลจังหวัดภูเขียว ชัยภูมิหรือไม่ ไผ่กล่าวว่า จะให้พูดว่าดีกว่าได้อย่างไรก็ในเมื่อทหารเองเป็นคนแจ้งความเอาผิดจนผมต้องถูกขังอยู่ถึงทุกวันนี้

สำหรับบรรยากาศโดยทั่วไปบริเวณศาลทหาร นอกจากพ่อ-แม่ และคนรักแล้วยังได้มีนักศึกษาและประชาชนทั่วไปมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีประมาณยี่สิบคน และมีชายแต่งกายในชุดพลเรือนแต่ตัดผมเกรียนนั่งพูดคุยอยู่ในบริเวณผู้มารับฟังการพิจาณาและเดินเตร่ไปมาโดยรอบประมาณสี่ถึงห้าคน ผู้มาร่วมรับฟังให้ความเห็นว่าน่าที่จะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net