นิธิ เอียวศรีวงศ์: คุณค่าอื่นนอกจากรบไม่ขลาด (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วีรบุรุษและวีรสตรีคือใคร? ผมคิดว่าแก่นแท้เลยคือบุคลาธิษฐานของคุณค่าบางอย่างที่สังคมยึดถือ หรือพูดกลับกันคือการทำให้คุณค่าบางอย่างที่สังคมยึดถือ กลายเป็นตัวตนบุคคลขึ้นมา ทำให้ง่ายแก่การเคารพบูชา ทั้งตัวบุคคลที่กลายเป็นวีรบุรุษ/สตรี และคุณค่าที่สังคมให้ความสำคัญ

ไม่จำเป็นว่า ตัวตนบุคคลที่เป็นบุคลาธิษฐานของคุณค่าต้องเป็นคนจริงๆ ที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลก (คน"จริง"เท่านั้นที่เป็นคน คือความคิดของคนสมัยใหม่เท่านั้น) ผีบรรพบุรุษของคนไทในสิบสองจุไท ไม่ได้หมายถึงบุคคลคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ เจ้าตายไปก็ไปรวมอยู่กับผีบรรพบุรุษทุกองค์ เช่นเดียวกับผีปู่ตาในชุมชนชาวบ้านภาคอิสาน หรือเจ้าพ่อหลักเมือง ล้วนไม่ได้หมายถึงใครคนใดคนหนึ่งที่เคยมีชีวิตอยู่โดยเฉพาะ

ทั้งหมดนี้คือบุคลาธิษฐานของคุณค่าของความเป็น"บ้าน"กับ"เมือง" ตราบเท่าที่บ้านและเมืองยังดำรงอยู่ ชีวิตก็ดำเนินต่อไปได้

เมื่อรัฐแบบบ้าน-เมืองถูกแทนที่ด้วยรัฐชาติ วีรบุรุษของบ้านและเมืองกลายเป็นวีรบุรุษท้องถิ่น ซึ่งไม่สามารถเอามาใช้กับ"ชาติ"ได้ทุกคน แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับคุณค่าใหม่ๆ ที่รัฐชาติให้ความสำคัญไม่ตรงกับคุณค่าที่บ้านและเมืองเคยผดุงไว้ด้วยวีรบุรุษ/สตรีท้องถิ่นมาก่อน ดังนั้นหากจะนำเอาวีรบุรุษ/สตรีท้องถิ่นบางคนมาเป็นวีรบุรุษ/สตรีของชาติ ก็ต้องให้ความหมายใหม่แก่วีรบุรุษ/สตรีเหล่านั้น

เพราะสิ่งที่รัฐชาติต้องการนั้นคือคุณค่าใหม่ที่เหมาะแก่ความเป็นรัฐชาติ ไม่ใช่วีรบุรุษ/สตรีใหม่ ที่บางครั้งต้องสร้างวีรบุรุษ/สตรีใหม่ขึ้นมาก็เพื่อรองรับคุณค่าใหม่นั้นต่างหาก

ยังมีข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ ในบรรดาวีรบุรุษ/สตรีของชาติที่รัฐชาติต่างๆ พากันสร้างขึ้นนั้น ไม่มีผีและเทพอีกต่อไป ผีบรรพบุรุษที่ไม่มีตัวตนบุคคลอย่างที่กล่าวข้างต้น ไม่อาจแปลงให้มาเป็นวีรบุรุษ/สตรีของชาติได้ คนที่เคยอยู่กึ่งๆ ระหว่างมนุษย์กับเทพ เช่นพระเจ้าอู่ทอง (ซึ่งในพิธีถือน้ำ ข้าราชการครั้งอยุธยาต้องไปกราบไหว้ก่อน) ถูกทำให้เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ (รามาธิบดี) พระร่วงกลายเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่ง หรือทั้งหมด ของสุโขทัย อะมาเตราสุ เทพธิดาดวงอาทิตย์ซึ่งให้กำเนิดเกาะญี่ปุ่น ไม่ถูกนับเป็นวีรสตรีของชาติญี่ปุ่น

ความรังเกียจผีและเทพของรัฐชาติไม่ได้เกิดขึ้นเพราะ"ชาติ"มีความจริงในเชิงวิทยาศาสตร์กว่ารัฐแบบอื่น แต่เพราะ"ชาติ"เป็นแค่จินตนากรรมร่วมต่างหาก จึงต้องประคองให้จินตนากรรมนั้นดูเป็น"จริง"ด้วยวีรบุรุษ/สตรีที่เป็นคนจริงในประวัติศาสตร์ อำลาบรรพบุรุษ/สตรีในตำนานและปกรณัมของรัฐโบราณลงทั้งหมดอย่างไม่อาลัย

แม้เป็นคนจริงในประวัติศาสตร์ แต่ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า ความจริงทางประวัติศาสตร์ว่าท่านเหล่านั้นทำหรือไม่ได้ทำอะไรกันแน่ ไม่มีความสำคัญแก่"ชาติ"นัก เพราะเขาใช้คนเหล่านั้นเป็นเพียงสัญลักษณ์หรือตัวแทนของคุณค่าบางอย่างที่"ชาติ"ต้องการเท่านั้น พระนเรศวรเป็นตัวแทนของความวีระอาจหาญของ"ชาติ"ไทย และในบรรดาความวีระอาจหาญทั้งหมดนั้น ไม่อาจหาอะไรมาเทียบได้กับการทำยุทธหัตถี ถ้าท่านไม่เคยทำยุทธหัตถีในประวัติศาสตร์เลย พระนเรศวรก็หมดประโยชน์ในเชิงสัญลักษณ์ของ"ชาติ" การประกาศว่าท่านไม่ได้ทำยุทธหัตถีจึงเท่ากับตั้งข้อสงสัยต่อคุณค่าบางอย่างที่ถือว่าสำคัญของ"ชาติ"ไทย

โดยเฉพาะ"ชาติ"ไทยที่ถูกนิยามความหมายโดยทหาร

แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า วีรบุรุษ/สตรีคือตัวแทนของคุณค่าที่"ชาติ"หนึ่งๆ เห็นว่ามีความสำคัญ และนี่คือปัญหาที่ทำให้วีรบุรุษ/สตรีของ"ชาติ"ต่างๆ ในปัจจุบัน ถูกท้าทาย, โค่นล้ม, หรือให้ความหมายใหม่ หรือสร้างวีรบุรุษ/สตรีใหม่ๆ ขึ้นมารองรับคุณค่าใหม่บางอย่างที่"ชาติ"ไม่เคยเห็นว่าเป็นคุณค่ามาก่อนเลย เพราะคุณค่าที่ชาติให้ความสำคัญไม่เคยหยุดนิ่งกับที่ แต่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย

แม้แต่ในชาติที่คนกลุ่มเก่าถืออำนาจสืบมา ก็ยังต้องปรับเปลี่ยนคุณค่าบางอย่างไปตามความจำเป็นของยุคสมัย ผมนึกถึงพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งถืออำนาจมาตั้งแต่ 1949 จนทุกวันนี้ แต่ก็เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมทั้งภายในและภายนอกไปจนกระทั่ง ไม่รู้จะจัดการกับวีรบุรุษเหมาเจ๋อตงอย่างไร พรรคยังอ้างอุดมการณ์คอมมิวนิสม์เป็นฐานความชอบธรรมของการผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้แต่ผู้เดียว ในแง่นี้เหมาคือวีรบุรุษที่เป็นตัวแทนของความเป็นคอมมิวนิสต์แบบจีน ซึ่งใครจะล่วงละเมิดมิได้ แต่นโยบายเศรษฐกิจและสังคมแบบเหมา ที่ทำให้จีนต้องโดดเดี่ยวตัวเองจนจีนกลายเป็นประเทศยากจนแร้นแค้น ทั้งๆ ที่มีศักยภาพจะพัฒนาเศรษฐกิจของตนไปได้ไกล ผู้นำพรรครุ่นใหม่เลิกยึดถือไปแล้ว

จะโค่นวีรบุรุษเหมาลงเพื่อเปิดทางให้เดินตามกระแสทุนนิยมเต็มที่ ก็เท่ากับทำลายฐานความชอบธรรมทางการเมืองของตนเอง จะยกวีรบุรุษเหมาไว้เลิศลอยตามเดิม ก็เท่ากับก่นประณามความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของพรรคไปพร้อมกัน

ยิ่งใน"ชาติ"ที่เปิดให้ประชาชนมีสิทธิ์มีส่วนในการบริหารและบัญญัติคุณค่าของ"ชาติ"ขึ้นได้เอง แทบจะหาความมั่นคงยั่งยืนอะไรให้แก่วีรบุรุษ/สตรีของชาติไม่ได้เลย บรรดา"บิดาผู้สร้างชาติ" (Founding Fathers) ของอเมริกัน ต่างมี"รอยด่าง"ในสองเรื่องคือ หลายคนหรือเกือบทุกคนใช้ทาสผิวดำเป็นแรงงานในการผลิต หลายคนหรือเกือบทุกคนหาได้มีหรือส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชายที่เท่าเทียมกันไม่

รอยเหล่านี้ไม่เคย"ด่าง"มาก่อน เมื่อพวกเขาประกาศว่า"ทุกคนย่อมถูกพระเจ้าสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน" มีความหมายที่ทุกคนในสมัยนั้นยอมรับว่าทุกคนคือผู้ชายผิวขาว แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในสหรัฐ ทำให้เกิดสำนึกใหม่แก่ผู้คนว่า "ทุกคน"ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เท่าเทียมกันนั้น ย่อมหมายถึงคนทุกผิวสี และทุกเพศด้วย

ยิ่งการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของสีผิวและเพศในคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีความแหลมคมมากขึ้น ความด่างของรอยเหล่านั้นในบรรดาวีรบุรุษของ"ชาติ"ก็ยิ่งใหญ่ขึ้น จนแทบจะกลบร่างของวีรบุรุษเหล่านั้นลงจนหมด

ในปัจจุบัน คนอเมริกันมีวันหยุดราชการเพื่อระลึกถึงมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ผู้นำคนผิวดำที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสมอภาค แต่ไม่มีวันหยุดเจฟเฟอร์สัน ผู้ประกาศคำขวัญว่า"ทุกคนถูกพระเจ้าสร้างมาอย่างเท่าเทียมกัน"

มองจากแง่วีรบุรุษ/สตรีคือตัวแทนของคุณค่าเช่นนี้ "ชาติ"ไทยมีปัญหามาก เพราะคุณค่าที่"ชาติ"ยกย่องไว้ออกจะแคบเกินไป ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดคือนักรบ ที่ได้ต่อสู้ในสงครามต่างๆ อันล้วนถูกตีความว่าเป็นสงครามที่ทำเพื่อ"ชาติ"ทั้งสิ้น

แม้แต่สมมติให้"ชาติ"ไทยมีกำเนิดมาเก่าแก่เช่นนั้นจริง ก็ยังมีปัญหาว่าสงครามและการรบอย่างเดียว ไม่พอจะสร้างและรักษา "ชาติ"ไว้ได้ "ชาติ"ต้องการคุณค่าอื่นๆ อีกมากที่จะธำรงรักษาและพัฒนาให้"ชาติ"เจริญงอกงามต่อไป ผู้นำชาวนาที่รวบรวมญาติพี่น้องและสมัครพรรคพวก ไปบุกเบิกป่าในภาคกลาง เปิดที่นาใหม่ๆ เพื่อผลิตข้าวส่งออก คือวีรบุรุษที่สำคัญอย่างยิ่งในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่"ชาติ"ไทยกำลังถือกำเนิดขึ้น เพราะสร้างฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมั่นคงแก่"ชาติ"สืบมาอีกหลายทศวรรษ

ความกล้าหาญของคนเล็กๆ จำนวนมาก ที่จะเสี่ยงในเงื่อนไขใหม่ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ควรถือเป็น"คุณค่า"ของชาติ เสียยิ่งกว่าการใช้เงินของนายทุนเพื่อสร้างเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ตัวเองคนเดียวได้ประโยชน์ไม่ใช่หรือ แต่ชื่อของพวกเขาทุกคนมลายหายสูญไปในประวัติศาสตร์ที่คอยแต่จะบันทึกชื่อของ"เจ้าสัว" ที่ฉวยโอกาสทางการเมืองเพื่อกีดกันคนอื่นออกไปจากการแข่งขัน

ในแง่นี้ คำพูดของคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์เกี่ยวกับพระนเรศวร จึงไม่ได้เกี่ยวกับพระนเรศวรโดยตรง (พระนเรศวรจะได้ทรงทำยุทธหัตถีจริงหรือไม่ เป็นประเด็นถกเถียงกันทางวิชาการมานานแล้ว) แต่เกี่ยวอย่างสำคัญกว่ากับวีรบุรุษ/สตรี และความเป็น"ชาติ"ของไทย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณสุลักษณ์กำลังตั้งคำถามว่า ในความเป็น"ชาติ"ของเรา ควรจะต้องยอมรับคุณค่าอื่นๆ นอกจากวีรกรรมในการรบอีกมากทีเดียว

สมเด็จพระนเรศวรก็ยังอาจเป็นวีรบุรุษของชาติอยู่ แต่ด้วยคุณสมบัติอื่นๆ ซึ่งถูกละเลยที่จะพูดถึงในประวัติศาสตร์ มากกว่าชัยชนะจากการทำยุทธหัตถี (แม้ในพระราชประวัติที่เป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ก็กล่าวถึงคุณสมบัติอื่นๆ นอกจากการบไว้ไม่น้อย)

น่าเสียดายที่"อำนาจ"ในชาติและสังคมไทยตอบสนองการท้าทายของคุณสุลักษณ์ได้เพียงเท่านี้

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ การท้าทายที่มีนัยยะสำคัญต่ออนาคตของ"ชาติ"ในเรื่องคุณค่าและวีรบุรุษ/สตรีก็ยังอยู่ และผมเชื่อว่าจะแหลมคมมากขึ้นด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท