ปธ.แพทย์ชนบทชี้หากแยกเงินเดือนจากงบรายหัว ต้องแยกค่าจ้างลูกจ้าง-พนง.สาธารณสุขด้วย

ประธานชมรมแพทย์ชนบทชี้หากจะเดินหน้าแยกเงินเดือนจากเงินเหมาจ่ายรายหัว ต้องรวมไปถึงเงินเดือนลูกจ้างชั่วคราว-พนักงานกระทรวงสาธารณสุขด้วย ไม่ใช่แยกแค่เงินเดือนข้าราชการหรือลูกจ้างประจำเท่านั้น และต้องคำนวณค่าใช้จ่ายจากรายได้ทุกประเภท ไม่ใช่เอารายจ่ายทุกอย่างมาหักผ่านเงิน UC อย่างเดียว

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท 
 
23 พ.ย. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้ความเห็นถึงผลการจำลองสถานการณ์การแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัวและพบว่าโดยภาพรวมเงินจะไหลไปอยู่กับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปมากขึ้นขณะที่โรงพยาบาลชุมชนได้เงินลดลงว่า การแยกเงินเดือนเป็นประเด็นที่ชมรมแพทย์ชนบทคัดค้านมาตั้งแต่ต้นเพราะเป็นการเปลี่ยนหลักการสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC)
 
นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ค่าแรงเป็นต้นทุนสำคัญในระบบการให้บริการ ถ้าที่ผ่านมามีการกระจายทรัพยากรที่เหมาะสมและเป็นธรรม การจะแยกหรือไม่แยกเงินเดือนคงไม่เกิดปัญหา แต่เนื่องด้วยระบบการจ้างงานของกระทรวงสาธารณสุขมี 2 ระบบ คือกลุ่มที่รับเงินเดือนจากรัฐบาลผ่านสำนักงบประมาณ กับกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) สมมุติโรงพยาบาลภาคกลางมีสัดส่วนต้นทุนข้าราชการอยู่ที่ 90% ของค่าใช้จ่าย การรวมเงินเดือนไว้กับงบเหมาจ่ายรายหัวจะทำให้ผู้บริหารโรงพยาบาลมีความใส่ใจทางการเงิน (cost conscious) โรงพยาบาลใหญ่ต้องระมัดระวังว่าบุคลากรจะเยอะเกินไปหรือไม่ ทำให้ในภาพรวมก็จะเหลือบุคลากรที่ไปทำงานในโรงพยาบาลขนาดเล็กหรือพื้นที่ชนบทมากขึ้น แต่ถ้าแยกเงินเดือนออกไป โรงพยาบาลขนาดใหญ่ก็ไม่ต้องรับผิดชอบต้นทุนส่วนนี้ ยิ่งรับคนมากเท่าไหร่ยิ่งเป็นประโยชน์ ขณะที่โรงพยาบาลขนาดเล็กหรือในชนบทก็จะถูกดูดคนไปอยู่โรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลในภาคกลางมากขึ้น
 
“ปกติค่าแรงจะอยู่ที่ 55-60% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด สมมุติโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีต้นทุนค่าแรงที่ 1,500 บาท/หัว ส่วนโรงพยาบาลเล็กมีต้นทุนที่ 700 บาท/หัว ถ้าแยกเงินเดือนแล้วได้งบรายหัวมา 2,000 บาท ก็เท่ากับโรงพยาบาลใหญ่ได้เงิน 3,500 บาท/หัว ส่วนโรงพยาบาลเล็กได้ 2,700 บาท/หัว แล้วมันจะเกิดความเป็นธรรมได้อย่างไร และถ้าแยกเงินเดือนจริงจะวุ่นวายแน่นอนเพราะที่ผ่านมาเรารวมเงินเดือนมานับ 10 ปี โรงพยาบาลต่างๆ ก็ปรับตัวให้เข้ากับระบบ โรงพยาบาลไหนที่ขาดแคลนหมอ-พยาบาล ก็จ้างเพิ่มเป็นลูกจ้างชั่วคราว แต่วันดีคืนดีไปตัดตรงนี้ออกแล้วเขาจะทำอย่างไร” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
 
ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวต่อไปว่า หากยืนยันที่จะแยกเงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว จะแยกก็ได้แต่ต้องนำค่าจ้างเงินเดือนของบุคลากรทุกประเภทมารวมกันให้หมด ไม่ใช่แยกเฉพาะเงินเดือนข้าราชการหรือลูกจ้างประจำอย่างเดียว นอกจากนี้ต้องนำรายได้ทุกประเภทมารวมกันด้วย ปกติโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆจะมีสัดส่วนรายได้จากระบบ UC ประมาณ 50% ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนมีรายได้จาก UC ประมาณ 90% ดังนั้นการจะมาหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างผ่าน UC หมด ถามว่าเป็นธรรมหรือไม่ ภาครัฐก็จะเสียประโยชน์ เมื่อโรงพยาบาลขนาดเล็กอยู่ไม่ได้สุดท้ายรัฐก็ต้องเอาเงินมาอุดหนุนอยู่ดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท