Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Gallup ได้สำรวจความเห็นคนทั่วโลกว่าศาสนาสำคัญต่อผู้ตอบแค่ไหน ได้ผลดังแผนที่ด้านบน จะเห็นว่าในประเทศที่
ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (HDI) สูงมาก ล้วนเป็นที่ๆ ศาสนามีความสำคัญน้อยหรือไม่มีความสำคัญทั้งสิ้น
ที่มา http://whereisthailand.info/2011/07/no-religion/


ในยุคโบราณที่ศาสนาทำหน้าที่ตอบคำถามแทบทุกเรื่อง คำถามว่าศาสนามีไว้ทำไม อาจไม่จำเป็นต้องถาม เพราะหัวหน้าเผ่าที่เป็นทั้งผู้นำศาสนาและผู้นำชนเผ่า ย่อมมีคำตอบชัดเจนอยู่แล้วว่า ศาสนาคือสิ่งหลอมรวมชนเผ่าให้เป็นหนึ่งเดียว หรือเป็นเครื่องมือควบคุมระเบียบประเพณีของแต่ละชนเผ่า

ในรัฐโบราณที่มีเทพเจ้าประจำรัฐ หรือในรัฐที่ถือว่าผู้ปกครองเป็นเทพ โอรสของเทพ อวตารของเทพ สมมติเทพ พระโพธิสัตว์ ศาสนาย่อมเป็นสัญญะรวมจิตใจพลเมืองของรัฐ คุ้มครองรัฐ เป็นพลังให้ทำสงครามชนะรัฐอื่นๆ ตลอดทั้งเป็นสัญญะของอำนาจบารมีของชนชั้นปกครองและความรุ่งเรืองของรัฐนั้นๆ นอกจากนี้ ศาสนายังทำหน้าที่กำหนดศีลธรรมทางสังคมและระบบชนชั้นทางสังคม กระทั่งสร้างอำนาจชอบธรรม และอำนาจครอบงำเพื่อจรรโลงสังคมชนชั้นแบบยุคโบราณและตลอดยุคกลางที่กินเวลายาวนานหลายพันปี

ที่สำคัญ ศาสนาทำให้ความปรารถนาของมนุษย์เกี่ยวกับความอยากรู้ที่มาที่ไปของของตนเองได้รับการเติมเต็ม เมื่อศาสนาทำหน้าที่ให้คำตอบว่า มนุษย์ โลก และสรรพสิ่งมาจากการสร้างของพระเจ้า และมีเป้าหมายคือหวนคืนไปสู่สวรรค์ของพระเจ้า หรือมนุษย์มาจากผลกรรมเก่า และมีเป้าหมายคือความหลุดพ้นจากอำนาจของกรรม เป็นต้น

ในกรอบคิดแบบยุคกลางย้อนไปถึงยุคโบราณ มนุษย์อาจจะไม่นึกถึงศีลธรรมในความหมายอื่น นอกจากศีลธรรมศาสนา การไม่มีศาสนาเท่ากับชีวิตไร้ที่พึ่ง ไร้เป้าหมาย และปราศจากศีลธรรมหรือคุณค่าใดๆ บางทีคนไร้ศาสนาก็อาจถูกตัดสินว่าเป็น “พวกนอกรีต” ควรขจัดทิ้งราวกับสิ่งปฏิกูล ฉะนั้นในยุคที่ศาสนามี “เขี้ยวเล็บ” หรือมีอำนาจรัฐ จึงมีการขจัดสิ่งปฏิกูลอย่างน่าสยดสยองในนามการปกป้องศาสนาที่แท้

แต่ในยุคสมัยใหม่ คำถามที่ว่า ศาสนามีไว้ทำไม? กลายเป็นคำถามที่มีเหตุผล เนื่องจากสังคมโลกส่วนใหญ่เปลี่ยนการปกครองตามหลักความเชื่อทางศาสนามาเป็นการปกครองตามหลักการทางโลกกันแล้ว สิ่งที่เชื่อมโยงประชาชนในรัฐต่างๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ย่อมไม่ใช่ศาสนาประจำรัฐ หากแต่เป็น “หลักการ” ที่รับรองอำนาจ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพของประชาชนที่มีความแตกต่างทางศาสนา ชาติพันธุ์ และอื่นๆ

ศาสนาที่ไม่ยอมปรับตัวอยู่ใต้หลักการปกครองแบบทางโลก ย่อมถูกมองว่าเป็นศาสนาที่ยึดความสำคัญของพวกตัวเองสูงสุด ไม่เคารพหลักการที่ “free and fair” ในการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายศาสนาและวัฒนธรรม

คำถามก็คือว่า ศาสนาเช่นนี้มีไว้เพื่อเป็นปฏิปักษ์หรือคู่ขัดแย้งกับหลักการที่  “free and fair” อันเป็นอุดมคติของการปกครองทางโลกเช่นนั้นหรือ?

เพราะเมื่อศาสนาพยายามรักษาสถานะความเป็นศาสนาของรัฐ หรือ “ศาสนาประจำชาติ” และเป็น “รัฐศาสนา” ย่อมหมายความว่า ศาสนากำลังขัดแย้งกับหลักความเป็นกลาง,เสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนา อันเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐโลกวิสัย (secular state) เพียงเพื่อรักษาสถานะสำคัญสูงสุดของศาสนาตนเอง อันสะท้อนความคับแคบเห็นแก่ตัวหรือต้องการเอาเปรียบศาสนาอื่นๆ และคนไม่นับถือศาสนาที่อยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน

ส่วนเรื่องที่ว่าศาสนามีไว้เพื่อให้คำตอบเกี่ยวกับที่มาที่ไปของมนุษย์นั้น ปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์ย่อมให้คำตอบเกี่ยวกับกำเนิดมนุษย์ โลก และสรรพสิ่งได้อย่างมีเหตุผลมากกว่า

แล้วศาสนามีไว้ทำไม มีไว้ให้คำตอบที่ขัดกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่นนั้นหรือ?

ผู้ปกป้องศาสนาอาจแย้งว่า คำตอบทางวิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม แต่คำตอบทางศาสนาที่ว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์และโลก หรือมนุษย์เกิดมาจากผลกรรมเก่า ย่อมเป็นคำตอบที่เป็นรากฐานของศีลธรรม และสังคมมนุษย์ก็จำเป็นต้องมีศีลธรรมเพื่อความสงบสุข

แต่ในโลกสมัยใหม่ ได้เกิดศีลธรรมใหม่ ที่เรียกว่า “secular morality” หรือศีลธรรมโลกวิสัยที่ถือว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของหลักการในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ อะไรที่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานนี้ย่อมถือว่า “ผิดศีลธรรม” เช่นความเชื่อทางศาสนาในเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ การไม่ยอมรับหรือกีดกันความหลากหลายทางเพศ การลงโทษคนรักร่วมเพศ การเลือกปฏิบัติเพราะคนอื่นนับถือศาสนาต่างจากตนเอง การสร้างความเกลียดชัง ความขัดแย้งระหว่างศาสนา และการที่ศาสนามีอำนาจรัฐ ใช้อำนาจรัฐปกป้อง “ความบริสุทธิ์” ของหลักคำสอน ย่อมขัดหลักสิทธิมนุษยชนหรือหลักศีลธรรมโลกวิสัย

แปลว่าในโลกสมัยใหม่ ศีลธรรมศาสนาไม่อาจเป็น “ศีลธรรมทางสังคม” อย่างที่เคยเป็นในยุคโบราณและยุคกลางได้อีกแล้ว ถ้าเช่นนั้นศาสนามีไว้ทำไม มีไว้ขัดกับหลักศีลธรรมโลกวิสัยเช่นนั้นหรือ?

บางคนอาจจะโต้แย้งผมว่า มนุษย์ในโลกสมัยใหม่อยู่กันด้วยด้วยหลักการปกครองแบบทางโลก, ความรู้ทางวิทยาศาสตร์, ศีลธรรมโลกวิสัย ก็เพียงพอแล้วหรือ ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำตอบทางศาสนาอีกแล้วหรืออย่างไร

คำตอบของผมคือ ในเรื่องหลักการปกครอง ความก้าวหน้าทางวิทยาการ และหลักศีลธรรมทางสังคม ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำตอบทางศาสนาอีกแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า เราต้องกีดกันศาสนาออกไปจากเรื่องทางสังคมโดยสิ้นเชิง ศาสนายังสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมได้ แต่ไม่ใช่เข้ามาในลักษณะที่มุ่งจะมีสถานะ อำนาจ ความสำคัญในรัฐอย่างเช่นเป็นศาสนาประจำชาติ หรือต้องการให้รัฐออกกฎหมายอุปถัมภ์คุ้มครอง หรือต้องการให้รัฐออกกฎหมายตามหลักความเชื่อทางศาสนานั้นๆ ศาสนาควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางสังคม (หรือประเด็นสาธารณะต่างๆ) ได้เฉพาะเมื่อศาสนาถูกตีความสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ การสนับสนุนขันติธรรม สันติภาพทางสังคม เป็นต้น

พูดในทางหลักการคือ ศาสนาควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางสังคมหรือเรื่องสาธารณะเฉพาะเมื่อศาสนาสามารถตีความหลักคำสอน หรือเสนอแนวคิด การเคลื่อนไหวใดๆ ที่สนับสนุน “หลักการทั่วไป” หรือหลักการทางสังคมที่อธิบายได้ว่า “free and fair” ในการอยู่ร่วมกันของคนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาเท่านั้น ไม่ควรอ้าง “ความเชื่อเฉพาะ” ของศาสนาใดๆ มาบิดเบือน ลดทอนความหมายและคุณค่าของหลักการทางสังคม

การที่ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องทางสังคมในความหมายดังกล่าว ย่อมมีตัวอย่างให้เห็น เช่นการใช้ศาสนาสนับสนุนสันติวิธีโดยมหาตมะ คานธี และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง เป็นต้น

ส่วนคำตอบทางศาสนาที่เป็นความเชื่อเฉพาะ หรือเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ เช่นการเข้าถึงพระเจ้า, นิพพานและอื่นๆ ปัจเจกบุคคลคือผู้ที่จะตอบคำถามนี้เองว่า ศาสนาในมิติเช่นนี้มีความจำเป็นต่อชีวิตเขาหรือไม่ เพราะศาสนาในความหมายนี้เป็นเรื่องส่วนตัวหรือเสรีภาพส่วนบุคคล และอันที่จริง ผู้นำทางศาสนาหรือนักบวชควรจะตั้งคำถามกับตนเองว่า ในโลกสมัยใหม่บทบาทของศาสนาในด้านยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ทำไมเสื่อมลงไป ที่เสื่อมเป็นเพราะศาสนาไปผูกกับรัฐมากเกินไปจนสูญเสียบทบาทการกล่อมเกลาด้านจิตวิญญาณใช่หรือไม่

ในความเห็นผม ศาสนายังมีคุณค่าด้านจิตวิญญาณ และคุณค่าดังกล่าวย่อมสามารถงอกงามไปกันได้กับศีลธรรมธรรมโลกวิสัย เพราะความรักพระเจ้า รักเพื่อนมนุษย์ ปัญญา กรุณาในคำสอนทางศาสนาย่อมตีความสนับสนุนการสำนึกเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์เป็นต้นได้อยู่แล้ว

เพียงแต่ว่ามิติด้านจิตวิญญาณเช่นนี้ ไม่อาจงอกงามได้ในศาสนาที่ผูกติดกับรัฐ หรือเป็นกลไกสนับสนุนอำนาจและอุดมการณ์รัฐ เพราะศาสนาเช่นนั้นย่อมเป็นศาสนาแบบยุคกลาง ที่มีไว้เพื่อขัดแย้งกับหลักการปกครองแบบทางโลก ขัดกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และศีลธรรมโลกวิสัยเป็นด้านหลัก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net