Skip to main content
sharethis

ชื่อหลัก: การปฏิวัติที่ถูกตัดตอน
ชื่อรอง: ชาวนา นักศึกษา กฎหมายและความรุนแรงในภาคเหนือของไทย
ชื่ออังกฤษ:  Revolution Interrupted

นี่เป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น  (Tyrell Harberkorn) นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยมายาวนาน ปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา

มันเป็นหนังสือที่แปลงมาจากวิทยานิพนธ์ของเธอที่ลงพื้นที่เชียงใหม่ช่วงปี 2544-2551 เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2517 หลังประชาธิปไตยเบ่งบานจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ไทเรลศึกษาขบวนการชาวนาอันใหญ่โตมโหฬารนี้ (สมาชิก 1.5 ล้านคนทั่วประเทศ) ทั้งจากเอกสารราชการ-หนังสือพิมพ์ในหอจดหมายเหตุ เอกสารประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล และประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ผ่านการสัมภาษณ์อดีตนักศึกษานักกิจกรรม 19 คน ชาวนา 7 คนที่ร่วมยุคสมัย

หลังหนังสือออกได้ไม่นาน มีการจัดเสวนาที่คณรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักวิชาการประวัติศาสตร์อย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ มาเป็นผู้ร่วมอภิปราย

ทั้งนี้ ขบวนการชาวนาเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องกับรัฐเรื่องการจัดสรรที่ทำกิน กฎหมายควบคุมค่าเช่านาซึ่งยุคนั้นชาวนาต้องแบ่งผลผลิตกับเจ้าที่ดินคนละครึ่ง จนก่อเกิดเป็นสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย มีนักศึกษา นักกฎหมายเข้าร่วมขบวนจำนวนมาก และเพียงไม่นานก็เริ่มมีการสังหาร อุ้มหาย ผู้นำชาวนา สถิติช่วงปี 2517-2522 มีผู้ถูกสังหาร 33 คน บาดเจ็บสาหัส 8 คน และหายสาบสูญ 5 คน โดยไม่เคยมีการจับกุมลงโทษผู้กระทำผิดแม้แต่รายเดียว

ในการเสวนา นิธิเริ่มต้นว่าเขาเห็นเช่นเดียวกับผู้เขียนว่า ขบวนการชาวนาที่เคลื่อนไหวผลักดัน พ.ร.บ.การควบคุมการเช่านาในตอนนั้น นับได้ว่าเป็นการปฏิวัติของคนเล็กคนน้อย หลุดไปจากกรอบเดิมๆ ที่ว่าปฏิวัติต้องเป็นการยึดและเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐ

"ชาวนาไร้ที่ดินเป็น 'กรรม' ทางการเมือง ไม่ได้เป็น 'ประธาน' มีคนมาบอกว่าเขาต้องเป็นยังไงตลอด ดังนั้น การเคลื่อนไหวของชาวนาไร้ที่ดินคือความพยายามเปลี่ยนแปลงจากกรรมทางเมือง มาเป็นประธานทางการเมือง เป็นความพยายามเปลี่ยนความสัมพันธ์กับชนชั้นนำ"

"การปฏิวัติในเล่มนี้คือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของคนกลุ่มหนึ่งกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่ในความหมายแบบเหมา (Maoism) แต่เป็นความพยายามเปลี่ยนความสัมพันธ์ของตัวเองกับผู้ปกครองรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ และอื่นๆ เต็มไปหมด"

"การปฏิวัติเพียงแต่ถูกขัดขวาง แต่มันยังไม่หมดไป มองปัจจุบัน เราจะเห็นคนเสื้อแดง ฐานะเขาอาจดีกว่าชาวนาไร้ที่ดินแยะ แต่ไม่เคยมีโอกาสเป็นประธานในทางการเมืองเช่นกัน การเคลื่อนไหวของเสื้อแดงในทัศนะผมชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติเพียงชะงักงันชั่วคราวและคนกลุ่มนี้พยายามเปลี่ยนความสัมพันธ์อีกครั้งหนึ่ง"

"สิ่งที่ชนชั้นนำไทยใช้ ไม่ให้คนเล็กๆ ปรับความสัมพันธ์ได้คือ ใช้ความรุนแรง การบังคับเด็ดขาด เขาไม่มีวิธีอื่น เป็นอย่างนี้มาตลอด แต่มันก็ไม่เคยสำเร็จ"

นิธิอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ชนชั้นนำไทยนั้นไม่มีกลไกในการรักษาอภิสิทธิ์ของตนเองมากนัก เปรียบเทียบกับชนชั้นนำอังกฤษที่มีกลไกมากกว่ายืดหยุ่นกว่า นอกจากนี้รัฐไทยยังมีลักษณะกระจัดกระจายไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถช่วยกันคิดอย่างจริงจังได้ว่าจะจัดการอย่างไรกับคนชั้นล่างแบบที่พวกเขาก็ไม่เสียหายมากนักและคนชั้นล่างก็พอรับได้

"ส่วนคนเล็กๆ ที่โดนเอาเปรียบก็ไม่เคยสามารถรวมตัวกันจัดองค์กรทางสังคมแบบใหม่ ที่ไม่ใช่สายสัมพันธ์แบบครอบครัวได้ ดังนั้น เวลาตั้งสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาขึ้นมา มันมีผลประโยชน์ร่วมกันชัดเจนและเข้มแข็งจริง มันน่าตกใจนะสำหรับคนชั้นนำ ในแง่นี้ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่โดยตัวของมันเองมันคุกคามชนชั้นนำไทยน้องๆ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเลยทีเดียว"

นอกจากนี้นิธิยังชี้ให้เห็นจุดเด่นของขบวนการชาวนาชาวไร่ในยุค 2517-2520 นั้นว่า เต็มไปด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารและกระจายการศึกษาอย่างถึงราก โดยเฉพาะข้อมูลและความสำคัญของกฎหมายการควบคุมค่าเช่านา และนี่เป็นสิ่งที่ขาดหายไปในขบวนการเคลื่อนไหวในปัจจุบันซึ่งมักเคลื่อนกันแต่เฉพาะหน้า

อย่างไรก็ตาม ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์จาก มช.ผู้ร่วมฟังอภิปรายได้ตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า การใช้คำว่า "ปฏิวัติ" นั้นเป็นสิ่งที่ชาวนาชาวไร่คิดเช่นนั้นแต่ต้นหรือไม่ หรือเป็นการนำวาทกรรมภายนอกเข้าไปทำความเข้าใจชาวบ้าน ไทเรลอธิบายว่า นี่เป็นการให้ความหมายของผู้เขียนเองเพื่อทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้อภิสิทธิ์ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ส่วนผู้มีส่วนร่วมในการต่อสู้นั้นไม่มีใครใช้คำนี้

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระตั้งคำถามว่า ทำไมวิทยากรทั้งสองคนจึงหลีกเลี่ยงการพูดถึงอิทธิพลของลัทธิสังคมนิยมที่มีอิทธิพลกับนักศึกษายุคนั้นไม่ว่าจะรับมาโดยเข้าใจอย่างถูกต้องหรือไม่ก็ตามแต่มันน่าจะเป็นสาเหตุให้นักศึกษาลงไปเคลื่อนไหวกับชาวนาจำนวนมากและเหนียวแน่น ไทเรลกล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ไม่ได้สนใจชาวนาเนื่องจากเห็นว่าเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้องระดับกฎหมายซึ่งไม่ใช่การปฏิวัติยึดอำนาจรัฐ ขณะที่ขบวนการชาวนาก็ระมัดระวังไม่ใกล้ชิดกับ พคท. มากเกินไปเนื่องจากเป็นเป้าในการกวาดล้างของรัฐ อย่างไรก็ดี เราพบว่าปลายปี 2518 ผู้นำชาวนาและชาวนาจำนวนไม่น้อยเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. อาจด้วยอุดมการณ์ความเชื่อหรือเพื่อหนีการลอบสังหารที่เกิดขึ้นมากในช่วงนั้น เรื่องนี้น่าทำการศึกษาและทำวิทยานิพนธ์ได้อีกเล่ม

"ยังไงก็ตาม ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วมีความหวัง ผมอายุขนาดนี้แล้วอาจไม่ทันได้เห็นอะไรดีๆ แต่ผมมั่นใจว่า 'มึง' ไม่รอดหรอกว่ะ" นิธิกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net