Skip to main content
sharethis

อดีตนายทหารเชื้อสายโครแอต "สโลโบดัน ปราลจัก" ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย หลังคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ ที่กรุงเฮก ตัดสินจำคุก 20 ปี ข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามช่วงสงครามกลางเมืองบอสเนียระหว่างปี 2535-2538 โดยจนถึงสิ้นปีนี้คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ นัดจำเลยฟังคำตัดสินคดีทั้งหมด 161 ราย


สโลโบดัน ปราลจัก ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย หลังคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ ที่กรุงเฮก ตัดสินจำคุกเขา 20 ปี ข้อหาอาชญากรรมสงครามช่วงสงครามกลางเมืองบอสเนีย (ที่มา: ICTY)

30 พ.ย. 2560 อดีตนายทหารเชื้อสายโครแอต วัย 72 ปี สโลโบดัน ปราลจัก (Slobodan Praljak) ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย หลังคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ ที่กรุงเฮกตัดสินจำคุก 20 ปี ข้อหาอาชญากรรมสงครามช่วงสงครามกลางเมืองบอสเนีย

เดอะการ์เดียนอ้างรายงานของสถานีโทรทัศน์โครเอเชียว่า อดีตนายพลชาวบอสเนียเชื้อสายโครแอต เสียชีวิตเมื่อวันพุธ (29 พ.ย.) หลังดื่มยาพิษที่บรรจุในขวดแก้วใบเล็ก ภายหลังทราบคำตัดสินของคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

ไม่กี่วินาที ภายหลังคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (ICTY)  ซึ่งตั้งขึ้นตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อปี 2535 ได้อ่านพิพากษาจำคุก 20 ปี ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม ปราลจัก ตะโกนขึ้นด้วยความโกรธว่า "ปราลจักไม่ใช่อาชญากร ผมขอปฏิเสธคำตัดสิน"

จากนั้น เขาได้ยกขวดใบเล็กๆ ขึ้นมาระดับริมฝีปากและดื่ม ท่ามกลางกล้องที่กำลังบันทึกภาพการพิพากษา "ผมเพิ่งดื่มยาพิษ" และเขากล่าวด้วยว่า "ผมไม่ใช่อาชญากรสงคราม ผมคัดค้านคำตัดสินนี้" ทั้งนี้เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเฮก

เหตุการณ์อันไม่คาดหมายนี้เกิดขึ้นระหว่างผู้พิพากษาตัดสินคดีของอดีตผู้นำทางการเมืองและการทหารชาวบอสเนียเชื้อสายโครแอต 6 ราย ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามหลังการล่มสลายของอดีตประเทศยูโกสลาเวีย

หลังจากที่เขาดื่มยาพิษ ผู้ทำหน้าที่ผู้พิพากษาคือ คาร์เมล อากิอัส ได้สั่งให้ระงับกระบวนการพิจารณาคดีไว้ก่อน พร้อมกับปิดม่านในห้องพิจารณาคดี โดยไม่กี่นาทีเท่านั้นรถพยาบาลก็มาถึงภายนอกศาล โดยมีเฮลิคอปเตอร์บินเหนืออาคารด้วย

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กู้ชีพหลายคนเร่งเข้าไปในอาคารพร้อมอุปกรณ์กู้ชีพ หน่วยรักษาความปลอดภัยของศาลเข้ามาร้องขอให้รักษาความสงบและบอกว่าอดีตนายทหารชาวบอสเนียเชื้อสายโครแอตผู้นี้ได้รับความดูแลด้านการแพทย์ตามที่จำเป็นทุกประการ
 

ข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมสงคราม


สภาพความเสียหายของเมืองมอสตาร์ ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ภาพถ่ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2540 (ที่มา: Cesar Rodriguez/Wikipeida/Public Domain)


ปราลจักถูกฟ้องในข้อหาเป็นผู้สั่งให้ทำลายสะพานในเมืองมอสตาร์ (Mostar) ที่สร้างในศตวรรษที่ 16 ในสมัยจักรวรรดิออตโตมัน เหตุเกิดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2536 โดยผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นเคยกล่าวว่า  "สร้างความเสียหายอย่างไม่สมเหตุต่อพลเรือนชาวมุสลิม"

สะพานดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความเสียหายที่เกิดขึ้นในสงคราม แม้ในเวลาต่อมาจะมีการบูรณะขึ้นใหม่ แต่เมืองมอสตาร์ก็ประสบความเสียหายร้ายแรงจากสงครามกลางเมืองโดยร้อยละ 80 ของเมืองในฝั่งตะวันออกได้รับความเสียหายจากการสู้รบ

ในการตัดสินของศาล ผู้พิพากษารับฟังในส่วนที่ปราลจักอุทธรณ์ โดยเขาระบุว่าในช่วงความขัดแย้ง สะพานดังกล่าวเป็นเป้าหมายทางการทหารที่มีความชอบธรรม โดยในเว็บไซต์ส่วนตัวของเขา ยังมีการแสดงเอกสารชี้แจงของเขาอีกด้วย

ทั้งนี้ผู้พิพากษาเองก็กลับคำตัดสินให้กับเขาบางส่วน แต่ปฏิเสธที่จะลดโทษของเขาทั้งหมด

องค์คณะผู้พิพากษาในชั้นอุทธรณ์กล่าวว่าจำเลยทั้ง 6 มีความผิดฐานมีส่วนร่วมในการลบล้างพลเรือนมุสลิมบอสเนีย นับเป็นอาชญากรรมที่หนักหนาและร้ายแรงอย่างมาก

โดยองค์คณะผู้พิพากษาตัดสินจำคุก 25 ปี ต่อจาดรันโก พรีลิค (Jadranko Prlić) อดีตนายกรัฐมนตรีของอดีตสาธารณรัฐโครเอเทียนแห่งเฮอร์เซก-บอสเนีย (Croatian Republic of Herzeg-Bosnia) ซึ่งเป็นรัฐที่พยายามก่อตั้งโดยชาวบอสเนียเชื้อสายโครแอต

องค์คณะผู้พิพากษายังตัดสินจำคุก 20 ปี สำหรับอดีตรัฐมนตรีกลาโหม บรูโน สโตจิค (Bruno Stojić) ส่วนจำเลยอีก 3 คน ที่ศาลยังไม่ได้อ่านคำตัดสินคือ มินิวอจ เปตโควิค (Milivoj Petković) อายุ 68 ปี วาเลนทิน คอริค (Valentin Corić) อายุ 61 ปี และ เบริสลาฟ ปูสิค (Berislav Pušić) อายุ 65 ปี

 

สงครามกลางเมืองที่มีผู้เสียชีวิต 1 แสนราย

สงครามที่เกิดขึ้นในบอสเนียระหว่างปี 2535-2538 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 แสนคน มีผู้อพยพกว่า 2.2 ล้านคน เริ่มต้นเป็นการต่อสู้กันระหว่างชาวบอสเนียเชื้อสายมุสลิม กับชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ และต่อมาก็เป็นการต่อสู้กันระหว่างชาวบอสเนียเชื้อสายมุสลิม กับ ชาวบอสเนียเชื้อสายโครแอต หลังจากที่ความเป็นพันธมิตรระหว่างชนสองกลุ่มสิ้นสุดลง

คำตัดสินของคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ (ICTY) เมื่อวันพุธ เกิดขึ้น 1 สัปดาห์หลังจากมีคำตัดสินจำคุกตลอดชีวิต อดีตผู้บัญชาการทหารบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ รัตโก มลาดิช (Ratko Mladic) ซึ่งเป็นผู้มีความโหดร้ายในช่วงสงคราม ทำให้เขาได้ฉายาว่า "นักชำแหละแห่งบอสเนีย"

อย่างไรก็ตามสาธารณรัฐโครเอเทียนแห่งเฮอร์เซก-บอสเนีย ที่ได้รับการหนุนหลังโดยผู้นำชาตินิยมโครแอตอย่าง ฟรานโจ ทุดจแมน (Franjo Tudjman) ก็สิ้นสุดไปเมื่อปี 2539 หลังทำสัญญาสันติภาพสิ้นสุดสงคราม ประธานาธิบดีของรัฐคือ เมท โบบัน เสียชีวิตเมื่อปี 2540 ทุดจแมนเสียชีวิตเมื่อปี 2541 เหลือเพียง จาดรันโก พรีลิค เป็นผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันพิพากษา

มิโรสลาฟ ทุดจแมน ลูกชายของอดีตผู้นำชาตินิยมโครแอตกล่าวว่า การกระทำของปราลจักเป็นผลสรุปที่สะท้อนจุดยืนทางศีลธรรมของเขา ที่ไม่ต้องการยอมรับคำตัดสินที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับทั้งความยุติธรรมหรือความเป็นจริง

ทั้งนี้คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ (ICTY) ฟ้องร้องพรีลิคและพวกมาตั้งแต่ปี 2547 พวกเขาทั้ง 6 มอบตัวกับโครเอเชีย ภายใต้แรงกดดันที่ต้องว่าตามคณะตุลาการฯ เพื่อแลกกับการที่โครเอเชียจะได้เข้าร่วมสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ภายหลังการล่มสลายของยูโกสลายเวียในปี 2534 และยุคสิ้นสุดสงครามกลางเมืองบอสเนียปี 2538 มีประเทศเกิดใหม่ประกอบด้วย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โครเอเชีย มาซิโดเนีย เซอร์เบีย มอนเตเนโกร สโลวีเนีย ส่วนคอซอวอ แยกตัวจากเซอร์เบียและประกาศเอกราชเมื่อปี 2551 แต่เซอร์เบียยังถือว่าคอซอวอเป็นจังหวัดปกครองพิเศษ

สำหรับคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย (ICTY) หรือ คณะตุลาการระหว่างประเทศเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ต้องรับผิดชอบในการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงซึ่งกระทำลงในดินแดนประเทศยูโกสลาเวียเดิมตั้งแต่ พ.ศ. 2534 (International Tribunal for the Prosecution of Persons Responsible for Serious Violations of International Humanitarian Law Committed in the Territory of the Former Yugoslavia since 1991) เป็นองค์กรของสหประชาชาติซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินคดีอาญาอุกฉกรรจ์ซึ่งกระทำลงในระหว่างสงครามกลางเมือง และเพื่อไต่สวนตัวการในความผิดเหล่านั้น คณะตุลาการนี้เป็นศาลเฉพาะกิจ ตั้งอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์

โดยคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ ตั้งขึ้นตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 827 ซึ่งผ่านเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 โดยมีเขตอำนาจเหนือความผิดอาญาสี่กลุ่มซึ่งกระทำขึ้นในดินแดนอดีตยูโกสลาเวียตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ได้แก่ การละเมิดอนุสัญญาเจนีวา การละเมิดกฎหมายหรือธรรมเนียมการยุทธ์ การล้างชาติ และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โทษสูงสุดที่คณะตุลาการสามารถกำหนดได้ คือ จำคุกตลอดชีวิต

คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศฯ จะยุติกระบวนการไต่สวนในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ โดยจะมีคำพิพากษาต่อบุคคลทั้งสิ้น 161 ราย

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Bosnian Croat war criminal dies after drinking poison in UN courtroom - reports, The Guardian, 29 November 2017

International Criminal Tribunal for the former Yugoslavia, Wikipedia

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net