Skip to main content
sharethis

เมื่อ 4 ปีก่อนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มหนึ่งที่แกนนำบนเวทีมักอ้างบ่อยครั้งว่า เป็นขบวนการภาคประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ได้ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ 29 พฤศจิกายน 2556 คือวันที่ม็อบซึ่งมีชื่อเล่นว่า “ม็อบนกหวีด” ได้ถูกตั้งชื่อจริงว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือ “กปปส.”

การเกิดขึ้นของ กปปส. ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เท่านั้น หากแต่มีการขยายขอบเขตการประท้วงต่อต้านรัฐบาลออกไปอีก จนกระทั่งที่สุดแล้วมีข้อเสนอว่า “ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” โดยที่ยังไม่แน่ชัดว่าประชาชนเจ้าของอำนาจทั้งประเทศจะมีส่วนร่วมอย่างไรกับการปฏิรูปที่ กปปส. เปิดตลาดไอเดียขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ไม่กี่เดือนถัดมา ความคิดที่ว่าด้วยการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งก็มีช่องทางที่จะเกิดขึ้นได้จริง 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการณ์ การเมืองไทยกลับไปอยู่ภายใต้อุ้งมือของทหารหาญอีกครั้ง เค้าโครงการของการปฏิรูปก่อตัวขึ้น ขณะที่ กปปส. ค่อยๆ ลดบทบาทตัวเองลง ถึงขั้นที่ว่าหลังจากนั้นไม่นาน สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศลาบวช และลั่นวาจาไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับงานด้านการเมืองอีกตลอดชีวิต

หลังการรัฐประหารเพียง 7 วัน ดูเหมือนว่าภารกิจของ กปปส. จะเสร็จสิ้นลง เหล่าแกนนำ กปปส. จัดงานเลี้ยงขอบคุณกันเองในธีมปาร์ตี้ชุดลายพราง พร้อมโยนภารกิจเรื่องการปฏิรูปประเทศไว้ให้ คสช. สานต่อ

ประชาไทชวนทบทวน 6 ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย สำรวจว่าในห้วงเวลาที่ผ่านไปแล้ว 4 ปี มีการปฏิรูปเรื่องใดเป็นรูปเป็นร่างแล้วหรือยัง

 

1.ปฏิรูปความจน - สร้างรัฐสงเคราะห์ ออกบัตรคนจน 1 ปีเก็บภาษีมรดกไม่ได้แม้แต่บาทเดียว

ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาคู่กับสังคมไทยมายาวนาน เลือกตั้งกี่ครั้งนโยบายที่พรรคการเมืองต่างนำเสนอสู่สายตาประชาชน วนเวียนกับการขจัดและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แตกต่างก็เพียงรูปแบบและวิธีการ แต่มีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกัน ซึ่งก็แล้วแต่เสียงข้างมากของประชาชนเจ้าของประเทศจะกำหนดเอาเองว่าอีก 4 ปีข้างหน้าจะร่วมกันขจัดปัญหาเหล่านี้อย่างไร แต่ดูเหมือนว่ากลไกการเลือกตั้งผู้แทน สู่การตั้งรัฐบาล แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา เหล่า กปปส. จึงชูธงนำว่าต้องมีการปฏิรูปเรื่องนี้ก่อนการเลือกตั้ง

จากเดิมที่ปัญหาเหล่านี้ถูกนำแก้ไขผ่านกลไกนโยบายรัฐบาลมาโดยตลอด กลับกลายเป็นว่า เรื่องเหล่านี้ถูกยัดใส่มือรัฐบาลทหาร ผ่านมา 3 ปีกว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจประกาศกร้าวกลางงานสัมมนาไทยแลนด์ 2018 ว่าปี 2561 รัฐบาลจะเร่งดำเนินนโยบายแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ โดยประสานหลายหน่วยงานเพื่อดำเนินนโยบายอย่างบูรณาการ เชื่อว่าปัญหาความยากจนจะหมดไป พร้อมกับการอุบัติขึ้นของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า บัตรคนจน ซึ่งมียอดผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 11.4 ล้านคน

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีโครงการหรือนโยบายต่างๆ ออกมาจากรัฐบาลทหารเพื่อมุ่งหวังเเก้ไขปัญหาความยากจน แต่บัตรคนจนดูจะเป็นรูปธรรมที่เห็นชัดที่สุดสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นัยหนึ่งคือการจัดประเภทและแบ่งแยกทางชั้นชนว่าคนในประเทศอยู่ในระดับใด เพื่อรัฐจะได้ทุ่มงบลงไปช่วยเหลือได้อย่างถูกที่ถูกทาง เหมือนทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความหวังดีที่ผู้มีอำนาจมอบให้

แต่เมื่อมองลงไปที่รายละเอียดการแก้ไขด้วยแนวทางที่ว่า การช่วยเหลือคนจนมีศักยภาพเป็นได้เพียงมาตรการแบบสังคมสงเคราะห์ ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เพราะสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่กับสังคมไทยมานานคือ “ภาวะรวยกระจุก จนกระจาย” การอัดเติมเงินลงไปช่วยเหลือคนจนของรัฐบาลทหาร มองอย่างไรก็ไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งยังถูกมองว่าสิทธิต่างๆ ที่ผู้ถือบัตรคนจนได้รับเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุน เพราะการจับจ่ายใช้สอยถูกจำกัดเพียงในร้านธงฟ้าเท่านั้น

ขณะที่ระบบสวัสดิการรัฐที่มีอยู่เดิม เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เบี้ยคนชรา กลับถูกลดทอนลง เป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะผู้ยากไร้ แม้ว่ายังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมา แต่สิ่งที่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้เปิดช่องให้รัฐไม่จำเป็นต้องจัดสวัสดิการให้แก่ทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

เรื่องที่ตื่นเต้นขึ้นมาอีกนิด คือการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก แต่ก็เป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีมรดก ช่วงเดือนสิงหาคม 2558 กำหนดว่าจะเริ่มมีการเก็บภาษีมรดกตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 แต่ถึงที่สุดแล้ว ผ่านมาจนถึงเดือนมีนาคม 2560 รัฐก็ยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีมรดกได้เลยแม้แต่บาทเดียว ขณะที่เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็ยังคงเป็นเรื่องที่คาราคาซังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีกทั้งรายละเอียดการประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายดังกล่าวก็ยังถูกปิดลับ

 

2.ปฏิรูปคอร์รัปชัน - ความเงียบงันคือคำตอบ (ใครจะกล้าตรวจสอบ?)

เจตนารมณ์ของการปฏิรูปอีกข้อหนึ่งที่ กปปส. ชูธงปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือ "ปฏิรูปปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ให้ประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้" ถือเป็นข้อเสนอสำคัญ โดยในครั้งนั้น สุเทพ ระบุว่าจะทำเสร็จภายใน 18 เดือน แต่ดูเหมือนกระบวนการจะยังไม่มีความคืบหน้า เพราะเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สุเทพพร้อมด้วยเหล่าแกนนำได้เข้าพูดคุยกับประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสามัคคีปรองดองเพื่อย้ำเจตนารมณ์เดิม

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร การดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตในอดีตยังเป็นที่สงสัยในมาตรฐานว่า เหตุใดบางคดีจึงสามารถดำเนินการเสร็จได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่บางคดีซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้ากลับมีการดำเนินการอย่างล่าช้า เช่น คดีประกันราคาข้าวของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่คดีจำนำข้าวพิจารณาเสร็จไปแล้ว

แล้วผู้ที่เข้ามาจัดการปัญหาคอร์รัปชันอย่าง คสช. บริสุทธิ์ผุดผ่องแค่ไหน กรณีอุทยานราชภักดิ์ เรือเหาะ ทัวร์ฮาวาย ผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ ยังเป็นที่จดจำและไร้การสืบสวน ซ้ำบางกรณีคนที่พยายามตรวจสอบกลับถูกกฎหมายเล่นงาน จนองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเผยดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกปี 2559 ไทยได้ที่ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนน 35 คะแนน ลดลง 3 คะแนนเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการจำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกช่วงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่ผ่านมาทำให้ขาดความเป็นอิสระ การตรวจสอบ และการถกเถียงอย่างจริงจัง

ล่าสุด มีการผ่าน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามทุจริต แต่ก็ถูกมองว่าเน้นไปที่การเพิ่มโทษให้หนักมากกว่าสร้างกลไกการตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชนอีกและมุ่งเล่นงานฝ่ายตรงข้าม

 

3.ปฏิรูปท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ - เลือกตั้งผู้ว่าฯ ยังอยู่แค่ในฝัน เลือกตั้งท้องถิ่นยังถูกดอง

ข้อเสนอเรื่องการกระจายอำนาจของ กปปส. เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเรื่องที่หลายคนในเวลานั้นเห็นด้วย แต่สิ่งที่ต้องย้ำกันก่อนคือ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาโดย กปปส. แต่มีการพูดถึงมาตั้งแต่ช่วงการปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 อย่างไรก็ตาม การส่งไม้ต่อเรื่องนี้จาก กปปส. ไปสู่ คสช. อาจจะตกหล่นไป เพราะตลอดช่วงเวลาของการปฏิรูป ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงน้อยมาก

ทั้งนี้ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปเเห่งชาติ เคยเสนอว่า ให้มีปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง จัดตั้งสภาจังหวัด ยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัดและส่วนภูมิภาค ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลให้ยุบรวมกับเทศบาล เพื่อให้มีกำลังบุคลากรและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มากขึ้น ขณะเดียวกันได้จัดให้การบริหารส่วนท้องถิ่นเชื่อมโยงกับนายกรัฐมนตรีโดยตรง และการจัดสรรงบประมาณให้แบ่งเป็นงบประมาณจังหวัดและงบพัฒนาส่วนภูมิภาค โดยแบ่งเป็น 12 ภาค และตั้งกระทรวงปฏิรูปประเทศขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตาม เอนกเชื่อว่าแนวคิดข้างต้นอาจไม่สามารถทำได้หรือเป็นไปได้ยาก แน่นอนว่าปัจจุบันเรื่องเหล่านี้ยังไม่ได้ก่อรูปก่อร่างขึ้นมา

เมื่อกลับมาดูที่การกระจายอำนาจในระดับท้องถิ่น พบว่า ตลอดระยะเวลาของการเข้ามาปฏิรูปสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นเอาไว้ก่อน เป็นระยะเวลา 3 ปีกว่า ที่ประชาชนไม่ได้สัมผัสการเป็นเจ้าของอำนาจเลย เพราะตำแหน่งของผู้นำสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถูกกำหนดแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งสิ้น ทุกอย่างถูกควบคุมผ่านกลไกราชการ

แม้ปัจจุบันทหารซึ่งกลายเป็นผู้นำประเทศเปิดเผยว่า จะเปิดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในบางท้องถิ่นก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไป แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าท้องถิ่นไหนบ้างที่จะมีการเลือกตั้ง อีกทั้งคำสั่งของ คสช. ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทางการเมืองหรือการทำกิจกรรมทางการเมืองก็ยังไม่ถูกยกเลิก จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ท่ามกลางการจัดโครงสร้างองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่ซึ่งจะยุบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ แต่ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร และยังไม่แน่ชัดว่าท้องถิ่นใดบ้างที่จะถูกยุบรวมกัน อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขให้แล้วเสร็จ

 

4. ปฏิรูปตำรวจ - ยังคาราคาซัง

ต่อประเด็นที่สุเทพเรียกร้องให้ตำรวจต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยคณะกรรมการตำรวจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนที่เรียกร้องเอาไว้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แม้จะมีการฟอร์มทีมจากมหาดไทย – กระทรวงยุติธรรม - สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจในปี 2558 มาจนถึงปี 2560 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และแม้คณะกรรมการชุดล่าสุดจะกล่าวว่ามีข้อสรุปในด้านการบริหารงานบุคคล การแต่งตั้งโยกย้าย เรื่องภารกิจและอำนาจหน้าที่ และเรื่องสืบสวนสอบสวนสำเร็จไปแล้วราวร้อยละ 80-90 แต่ข้อคำสั่งและแนวทางปฏิรูปใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยังคงเป็นคำถามย้อนกลับไปถามโจทย์ของ กปปส. เรื่องการควบคุมกลไกในสถาบันตำรวจโดยคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งเสมอ เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 6/2559 มีผลให้การคัดเลือก แต่งตั้งข้าราชการตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

แม้แต่ข้อเรียกร้องของสุเทพที่ต้องการให้แบ่งการจัดองค์กรตำรวจเป็นระดับชาติและกระจายสังกัดไปในระดับจังหวัด จัดตั้งคณะกรรมการตำรวจในระดับจังหวัดเพื่อพิจารณาการโยกย้ายตำแหน่งในจังหวัดโดยตัวแทนประชาชน ตัดปัญหาเรื่องการวิ่งเต้นข้ามพื้นที่ การกำหนดเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมออกมาจากคณะกรรมการปฏิรูป

 

5. ปฏิรูปการเลือกตั้งและพรรคการเมือง - ได้ ส.ว. สรรหา และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเป็นของแถม

ก่อนหน้าการก่อตั้ง กปปส. 3 วัน สุเทพปราศรัยเสนอให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้ง โดยบอกว่า ต้องการให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม โกงไม่ได้ และต้องไม่ให้คนชั่วมีโอกาสเข้ามานั่งในสภาทำเรื่องชั่วๆ โดยที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน ซึ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาของปฏิรูปโดย คสช. เรื่องเหล่านี้ได้รับให้ความสำคัญมากที่สุด สังเกตได้จากการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดระบบการเลือกตั้งใหม่และส่งผลมาถึงกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง

ทว่า สิ่งที่ได้รับการแก้ไขดูจะไปคนละทางกับที่ กปปส. คาดหมาย หากแต่นำมาซึ่งการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้แค่เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด เอื้อให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ไม่สามารถผลักดันนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง และเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยอาศัยของแถมจากการปฏิรูปชิ้นใหญ่ที่ คสช. ได้มอบให้ไว้นั้นคือสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรก 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด ทั้งยังกำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจเสนอและลงคะแนนเสียงเลือกตัวนายกรัฐมตรีได้ ซึ่งแต่เดิมไม่เคยมีการกำหนดอำนาจหน้าที่นี้ไว้

นอกจากนี้ ของแถมที่ได้มาจากการปฏิรูปคือการกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่จะวางแผนยุทธศาสตร์ในระยะยาวถึง 20 ปี โดยมีผลผูกพันให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งหน่วยงานราชการต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ หากละเลยไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษตามมา ทั้งยังต้องรายงานความคืบหน้าในการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทราบอยู่เป็นระยะ

ในส่วนของการปฏิรูปพรรคการเมือง มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยพรรคการเมืองออกมา ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นกฎหมายที่มีเงื่อนไขยิบย่อยจำนวนมาก ทั้งเรื่องจดแจ้งขึ้นทะเบียนพรรคการเมือง เรื่องระบบสมาชิกพรรคการเมือง เรื่องการจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง ซึ่งทางผู้ร่างต้องการให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบัน และไม่เป็นพรรคการเมืองบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทว่า สิ่งเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นการปิดกั้นและไม่เอื้อให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือพรรคการเมืองทางเลือกขึ้น

แม้พลเอกประยุทธ์เปิดเผยว่าจะเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่กฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ยังไม่ได้ประกาศใช้ครบทั้งหมด และ คสช. ก็ยังไม่ได้ยกเลิกคำสั่งที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองเสียที

 

6. ปฏิรูประบบราชการ - ประเทศไทยกลายเป็นรัฐราชการไปแล้ว

กปปส. เสนอให้มีการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำ เนื่องจากระบบข้าราชการได้ถูกฝ่ายการเมืองที่เข้าไปแทรกแซง นอกจากนี้ ส่วนกลางต้องลดขนาดลง โดยให้ข้าราชการภูมิภาคขึ้นอยู่กับท้องถิ่น ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายของส่วนกลาง และประชาชนควรมีส่วนร่วมในการตรวจสอบถ่วงดุลระบบราชการ

เมื่อ คสช. รัฐประหารและยึดอำนาจการปกครอง แนวคิดเรื่องปฏิรูประบบราชการเน้นในด้านเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรบนพื้นฐานความโปร่งใส ขณะที่เมื่อวิเคราะห์รัฐธรรมนูญปี 60 แล้วพบว่า มีการลดอำนาจนักการเมือง เพิ่มอำนาจข้าราชการ

เช่นการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจำนวน 11 ชุด จำนวน 120 คน ซึ่งแต่งตั้งโดย ครม. หรือในขณะนี้คือ คสช. มีอำนาจสอดส่องการทำงานของหน่วยงานรัฐ หากเห็นว่าหน่วยงานรัฐดำเนินการไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปฯ คณะกรรมการฯ สามารถประสานงานหรือปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐเพื่อแก้ไขปรับปรุงความไม่สอดคล้องนั้น

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ข้าราชการชั้นสูงเป็นทั้งกรรมการสรรหาและเป็นผู้รับการสรรหามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและกลไกควบคุมต่างๆ โดยเว็บไซต์ไอลอว์สรุปที่มาของคณะกรรมการสรรหาว่า สัดส่วนของคณะกรรมการสรรหาฯ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ความสำคัญกับตัวแทนที่เป็นข้าราชการมากกว่าพรรคการเมืองหรือนักวิชาการ และเฉพาะสัดส่วนของบุคคลที่องค์กรอิสระแต่งตั้งมีจำนวนมากกว่าตัวแทนจากฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

และส่วนสุดท้าย คือการใช้อำนาจม. 44 ปลด-สั่งย้าย-แต่งตั้งข้าราชการจำนวนมาก บางส่วนเห็นชัดว่าแต่งตั้งเครือข่ายของตน อันเป็นการแทรกแซงระบบราชการ อ้างเรื่องความรวดเร็ว การคอร์รัปชัน ความเชี่ยวชาญ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น

- 18 ต.ค. 2559 ปลด สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากผู้ว่าฯ กทม. ให้ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ดำรงตำแหน่งแทน เหตุเพราะพบข้อมูลการทุจริต (ที่มา: https://www.thairath.co.th/content/758211)

- 1 สิงหาคม 2560 กำหนดตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำส่วนราชการ 10 เก้าอี้ (ที่มา: https://www.posttoday.com/politic/506537)

- ดูรายชื่อข้าราชการที่ถูกแต่งตั้ง-โยกย้ายหลังรัฐประหารได้ที่: https://www.ilaw.or.th/node/3132

รวมถึงกฎหมายต่างๆ ที่มีการปรับแก้ที่แสดงให้เห็นถึงการสยายปีกของรัฐราชการออกไป เช่น ร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาร่วมจัดซื้อยาร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การแก้กฎหมายการรักษาความมั่นคงภายในให้เข้าไปมีบทบาทในการป้องกันสาธารณภัย เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net