Skip to main content
sharethis

“รัฐมนตรีแรงงาน” มอบนโยบาย ขรก. เน้นย้ำงานเร่งด่วน บริหารการพัฒนา และระดับพื้นที่

2 ธ.ค. 2560 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและทิศทางการปฏิบัติราชการในปี 2561 ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยได้เน้นหนักนโยบายสำคัญและนโยบายเร่งด่วน (Agenda) คือ การเร่งรัดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารให้ถูกต้องแล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคม 2561 ผลักดันและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายด้านแรงงาน ตาม IUU Fishing ป้องกันมิให้มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย คุ้มครองแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แก้ปัญหาการหลอกลวงคนหางานไปทำงานต่างประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบหลักประกันทางสังคม ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ และขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand

พล.ต.อ.อดุลย์ ยังได้มอบนโยบายบริหารการพัฒนา (Administrator) คือ ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการกระทรวง (ศปก.) เพื่อเป็นเครื่องมือของผู้บริหารในการอำนวยการติดตาม ควบคุมสั่งการ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยทั้งระบบ โดยบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการออกกฎหมายสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงาน จำนวน 11 ฉบับ พัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถ เพิ่มประสิทธิภาพพนักงานตรวจแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่ ยกระดับกระทรวงให้เป็นหน่วยงานที่มีมาตรฐานสากล เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ ด้วยการจัดระบบข้อมูล (Big Data) รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์และการปฏิบัติการข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้ต่อการดำเนินนโยบายของกระทรวง

ส่วนนโยบายในระดับพื้นที่ (Area) ให้แรงงานจังหวัดเป็นตัวแทนของกระทรวงในภูมิภาคในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงในระดับพื้นที่ ให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการรายจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้มีการจัดระบบการทำงานที่เชื่อมโยง ประสานส่งต่อ และบูรณาการทรัพยากร นอกจากนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ ยังได้กำชับให้มีการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานชี้แจงนโยบายและมอบภารกิจที่รับผิดชอบเพื่อสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรทุกระดับ ให้ทุกหน่วยงานจัดทำแผนปฏิบัติการ โดยให้บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกระทรวง ให้ใช้ศูนย์ปฏิบัติการของหน่วยงานเป็นเครื่องมือการอำนวยการติดตาม เฝ้าฟัง แก้ไขสถานการณ์ และใช้กลไกคณะกรรมการระดับชาติและคณะอนุกรรมการระดับชาติในการขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการและเชื่อมโยงกันอีกด้วย

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 2 ธ.ค. 2560

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสั่งปิดบริษัท ซีออยล์ ปิโตรเคมิคอล จำกัด 30 วัน หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้รถบรรทุกน้ำมัน

28 พ.ย.2560 เมื่อช่วงบ่าย ภาพมุมสูงแสดงให้เห็นกลุ่มควันขนาดใหญ่จากเหตุเพลิงไหม้ภายใน บริษัท ซีออยล์ ปิโตรเคมิคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิลน้ำมันใช้แล้ว พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร อ.เมือง จ.ชลบุรี ต้นเพลิงเกิดที่รถบรรทุกน้ำมัน 2 คัน กำลังถ่ายน้ำมันดีเซลลงถัง ขนาด 40,000 ลิตร แต่เกิดเพลิงไหม้และระเบิดอย่างรุนแรง พร้อมกับกลุ่มควัน จนต้องอพยพคนงานกว่า 1,000 คน เพื่อความปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ระดมรถดับเพลิงกว่า 20 คัน เข้าฉีดน้ำควบคุมเพลิงให้อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากในมีน้ำมันเก็บอยู่จำนวนมาก ใช้เวลาประมาณ 50 นาที จึงควบคุมไว้ได้ โดยมีรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกแรงระเบิดจากเหตุไฟไหม้ 4 คน และรถยนต์เสียหายบางส่วน ส่วนสาเหตุ เจ้าหน้าที่คาดว่าอาจมีประกายไฟ ระหว่างรถบรรทุกขนถ่ายน้ำมันลงถังเก็บ

หลังเกิดเหตุ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สั่งการให้บริษัท ซีออยล์ ปิโตรเคมีคอล จำกัด หยุดประกอบกิจการ 30 วัน และให้บริษัทฯ ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจนกว่าจะตรวจและแก้ไขปรับปรุงให้แล้วเสร็จ

นอกจากนี้ บริษัทจะต้องชี้แจงรายละเอียดสาเหตุการเกิดเหตุ พร้อมทั้งจัดทำแผนปรับปรุงระบบการขนถ่ายน้ำมันให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย ต่อการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพิจารณาก่อนอนุญาตให้เปิดดำเนินการต่อไป

ที่มา: ThaiPBS, 29/11/2560

ทนายแพทย์อนาจารสาวโรงงาน 11 คน วอนสังคมไทย ฟังความทั้งสองฝ่าย โวยสาวโรงงาน เรียกค่าเสียหายแพงหูฉี่ กว่าครึ่งล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าคดีที่พนักงานสาวโรงงานแห่งหนึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมนวนคร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 11 คน เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.สูงเนิน ให้ดำเนินคดีกับนายแพทย์ชายคนหนึ่ง ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในตัวเมืองนครราชสีมา ในข้อหากระทำอนาจาร หลังถูกนายแพทย์คนดังกล่าวใช้มือจับลูบคลำบริเวณหน้าอก ระหว่างตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี เหตุเกิดภายในโรงงานที่ผู้เสียหายทำงานอยู่ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2560 นั้น ล่าสุดนายแพทย์คนดังกล่าวได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำอนาจารตามที่ถูกกล่าวหา และน่าจะเป็นการกลั่นแกล้งและพร้อมสู้คดีจนถึงที่สุด

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 60 นายธนเดช ศรีลมุล ทนายความของนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหาอนาจารสาวโรงงาน กล่าวว่า เปิดเผยว่า จากคดีดังกล่าวได้ทำให้แพทย์ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความเสียหายชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เนื่องจากคดียังพิสูจน์ไม่ได้ว่าแพทย์มีเจตนาจับหน้าอกหรือไม่ เพราะในวันดังกล่าวเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี โดยมีรายการตรวจ 15 รายการ ซึ่งแพทย์ต้องใช้เวลาในการตรวจพนักงานโรงงานจำนวนมาก จึงใช้เวลาตรวจแต่ละคนไม่นานนัก

"ประกอบกับการตรวจสุขภาพก็ต้องมีการถูกเนื้อถูกตัวกันบ้างเป็นปกติ แม้ว่าพนักงานสาวจะบอกว่าแพทย์ถามเรื่องส่วนตัว โดยไม่ได้ถามเรื่องสุขภาพ แต่นั่นคือการใช้หลักจิตวิทยาของแพทย์ เพราะไม่ได้ตรวจผู้ป่วย เป็นเพียงการตรวจสุขภาพทั่วไปเท่านั้น จึงไม่ได้เข้าข่ายเจตนากระทำอนาจาร ซึ่งที่ผ่านมาแพทย์ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสโต้ตอบอะไร แต่เมื่อเป็นข่าวไปแล้วก็ทำให้สังคมประณามอย่างกว้างขวาง สร้างความเสื่อมเสียให้กับแพทย์ผู้ถูกกล่าวหาเป็นอย่างมาก"นายธนเดช กล่าว

นายธนเดช กล่าวอีกว่า ส่วนหลังจากนี้ก็ต้องสู้คดีตามกฎหมายต่อไป โดยเป็นคดีอาญาที่สามารถยอมความกันได้ ซึ่งเบื้องต้นทางพนักงานสาวโรงงานทั้ง 11 คน ได้เรียกร้องค่าเสียหายคนละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 550,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไป

"แต่ขณะนี้ก็อยู่ระหว่างเจรจาอีกครั้ง เพราะถ้าสามารถหาข้อตกลงก็ถือว่าคดีสิ้นสุด ทั้งนี้ก็ต้องขอให้สังคมฟังทั้งสองฝ่าย เนื่องจากขณะนี้คดียังไม่ถึงที่สุดถือว่าแพทย์ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่"นายธนเดช กล่าวในที่สุด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/11/2560

สมาคมภัตตาคารไทย โอดกฎหมายห้ามคนต่างด้าวทำงานเดินบิล เสิร์ฟ หรือกุ๊ก

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึงกรณีภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนและพิจารณาแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.เป็นต้นไป แต่มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกประกาศให้บางมาตราของ พ.ร.ก.นี้ เลื่อนมีผลบังคับใช้ออกไป 180 วัน จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ว่า ที่ผ่านมา เป็นตัวแทนของสมาคมร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีต่างๆ ที่มีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อ พ.ร.ก.ดังกล่าว เช่น กระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หลักๆ ได้เสนอขอให้ทบทวนแก้ไขนิยามของกรรมกร ในกฎหมายยังห้ามคนต่างด้าวทำงานเดินบิล เสิร์ฟ หรือปรุงอาหาร (กุ๊ก) ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ร้านอาหารจำนวนมากขาดแคลนแรงงานคนไทย มีความจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าว

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า หากมีการปรับแก้ไขกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง ทั้งในแง่บทลงโทษ และนิยาม เชื่อมั่นว่าจะทำให้แรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย จะเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายได้มากขึ้น ร้านอาหารก็จะรู้ต้นทุนชัดเจนในการรับคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน ขณะเดียวกันคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมาย ซึ่งได้รับการตรวจร่างกาย และเมื่อมีรายได้เรื่องภาษีก็จะตามมา ล้วนทำให้ระบบสังคมดีขึ้น

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.ก. กำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ที่คนให้ความสนใจอย่างมาก คือ บทลงโทษรุนแรง เช่น ผู้ใดรับต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงานปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน, ผู้ใดให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตปรับไม่เกิน 400,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน, คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน หรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: ข่าวสด, 28/11/2560

"บิ๊กตู่" สั่งประสานข้อมูล คน 3 จังหวัดชายแดนใต้ นำเข้าอบรม ทดแทนแรงงานประมงต่างด้าว

ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เล่าให้ที่ประชุมครม.ฟัง ถึงการประชุมการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ งานด้านความมั่นคง งานด้านการพัฒนา รวมทั้งงานของจังหวัดในพื้นที่เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า มีภาคประชาชนเสนอให้มีการคัดเลือกเกษตรกรไปรับการอบรมเพื่อไปทดแทนแรงงานต่างด้าวในภาคประมง ซึ่งนายกฯกล่าวว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็ดี เพราะว่าแรงงานไทยที่จะไปทดแทนแรงงานต่างด้าวในภาคประมงนั้น ในความเป็นจริงหายากมาก แต่ภาคประชาชนยืนยันว่ามีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ นายกฯ จึงบอกว่าให้ประสานจังหวัดเพื่อขอตัวเลขมาดูว่าข้อมูลมีอยู่จริงหรือไม่

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 28/11/2560

ปี 2561 คนไทยเงินเดือนขึ้นสูงสุด 5.5% โบนัส 5.5 เดือน

วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ที่ปรึกษาด้าน HR และโบรกเกอร์ชั้นนำระดับโลก ได้เผยผลสำรวจจากรายงาน เรื่อง “2017 Salary Budget Planning Report – Asia Pacific” ในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าปี 2561 นี้ อัตราการปรับขึ้นเงินเดือนในไทยจะอยู่ที่ 5.5% ซึ่งอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย โดยอินเดียมีอัตราปรับขึ้นสูงสุดที่ 10% ส่วนต่ำสุดเป็นญี่ปุ่นเพียงแค่ 2.3% หากเปรียบเทียบการปรับเงินเดือนในไทย ก็พบว่าปีหน้าอุตสาหกรรมก่อสร้างจะมีอัตราปรับขึ้นเงินเดือนต่ำสุด

ส่วนการจ่ายโบนัสในปี 2560 ก็พบว่ามีอัตราเฉลี่ยที่ 1.8-5.5 เดือน โดยกลุ่มบริหารสินทรัพย์มีการจ่ายโบนัสสูงสุดเฉลี่ย 5.5 เดือน ต่ำสุด 1.8 เดือนเป็นกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มประกันภัย

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจอัตราการลาออกของพนักงาน พบว่าในไทยมีสัดส่วนที่ 12% เท่ากับปีก่อน แต่ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั้งภูมิภาคเอเชียซึ่งอยู่ที่ 15% โดยอุตสาหกรรมที่มีการลาออกของพนักงานสูงสุด คือกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 18% ตามมาด้วยกลุ่มประกันชีวิต 16% ขณะที่กลุ่มบริหารสินทรัพย์มีอัตราการลงออกต่ำสุดคือ 10%

วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ยังได้สำรวจพฤติกรรมของกลุ่ม Gen Y รวมทั้งแนวโน้มของพนักงานในกลุ่มอุตสาหกรรมไหนที่มีโอกาสตกงานเพราะถูก AI มาแย่งไป

ที่มา: TNN, 27/11/2560

ปลัดแรงงาน แจงยังไม่ได้ข้อสรุป ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ว่า ขณะนี้กระบวนการพิจารณายังไม่

ปลัดแรงงาน เผยยังไม่ได้ข้อสรุป ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 61 อยู่ระหว่างกลั่นกรองจากหลายปัจจัย หลังที่ผ่านมามี 67 สาขาอาชีพ ประกาศใช้อัตราค่าจ้างสูงกว่าขั้นต่ำ และรอประกาศใช้อีก 16 สาขาอาชีพ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ว่า ขณะนี้กระบวนการพิจารณายังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้ายว่ามีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำออกมาเป็นเท่าไร อย่างไร ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของของคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง ที่จะต้องพิจารณาประกอบหลักเกณฑ์ต่างๆ โดยได้กำหนดแนวทางการใช้สูตรคำนวณที่มีการเพิ่มเติมตัวชี้วัดจากปัจจัยทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในปัจจุบัน ดัชนีชี้วัดค่าครองชีพ อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อ มาตรฐานค่าเฉลี่ยค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิตราคาสินค้าและบริการ ความสามารถในการประกอบธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ (จีดีพี) รวมทั้งคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การพิจารณาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละครั้ง จะมีคณะกรรมการค่าจ้าง เป็นระบบไตรภาคี มีผู้แทนทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ ฝ่ายละ 5 คน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ จากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ที่จะให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการเพื่อประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างตามหลักการดังกล่าวอีกด้วย

"ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเครื่องมือในการปกป้องแรงงานแรกเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพื่อมิให้แรงงานแรกเข้าทำงานถูกปฏิบัติจากนายจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หรือจ่ายค่าจ้างที่ต่ำจากที่ควรจะเป็น แต่หากแรงงานได้พัฒนายกระดับฝีมือของตนเองให้มีมาตรฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพของงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้ประกาศใช้แล้ว 67 สาขาอาชีพ และอยู่ระหว่างรอประกาศอีก 16 สาขาอาชีพ ซึ่งการจะเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ทุกฝ่ายควรจะให้ความสำคัญกับศักยภาพแรงงานเป็นลำดับแรก" ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐ, 27/11/2560

ภาคสังคมจับมือซีพีเอฟตั้งศูนย์ Labour Voices ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ (LPN) ลงนามบันทึกข้อตกลง จัดตั้งศูนย์ LABOUR VOICES (เสียงพนักงาน) เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานซีพีเอฟทุกคน ได้แสดงความคิดเห้น ข้อเสนอแนะ และแจ้งข้อร้องเรียนผ่านองค์กรที่เป็นกลาง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดียิ่งขึ้น ตอกย้ำความมุ่งมุ่นต่อการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดีของซีพีเอฟ

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ลงนามบันทึกข้อตกลงกับมูลนิธิ LPN เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ในเรื่องการรับฟังเสียงจากพนักงาน ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ "LABOUR VOICES" ของบริษัทขึ้น เป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทั้งไทยและเพื่อนแรงงานต่างชาติที่ทำงานกับซีพีเอฟได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทั้งข้อเสนอแนะ รวมถึงข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานซีพีเอฟทุกคน ทุกระดับ ทุกเชื้อชาติ ทั้งชาวไทยและเพื่อนแรงงานต่างชาติได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทั้งบวกและลบ ข้อเสนอแนะ ข้อร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือต่างๆ รวมทั้งมีการจัดอบรมแรงงานซีพีเอฟได้มีความรู้และตระหนักในสิทธิของแรงงาน เพื่อให้บริษัทฯ สามารถจัดการปัญหาความเสี่ยงด้านแรงงานต่างๆ ได้อย่างโปร่งใสที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดีของอุตสาหกรรมอาหาร

"LABOUR VOICES" จะเป็นศูนย์รับเรื่องพนักงานที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่และทนายความจากมูลนิธิ LPN ซึ่งเป็นคนกลางทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียนจากพนักงานซีพีเอฟ ช่วยเพิ่มความไว้วางใจในการรักษาความลับ ซึ่งทำให้บริษัททราบถึงปัญหาที่แท้จริง อย่างรวดเร็วและเข้าไปจัดการได้อย่างทันท่วงที" นายปริโสทัตกล่าว

นอกจากนี้ ความร่วมมือกับมูลนิธิ LPN ในการดำเนินโครงการฯ เป็นระยะเวลา 1 ปี ยังครอบคลุมการจัดอบรมให้ความรู้แก่แรงงานทั้งชาวไทยและแรงงานต่างชาติของซีพีเอฟได้ตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานของประเทศไทย รวมทั้งการปฏิบัติด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของสถานที่ทำงานเพื่อให้แรงงานทุกคนได้ทำงานในสถานประกอบการของซีพีเอฟเด้วยความปลอดภัย สุขภาพวะที่ดีและมีความสุข ขจัดปัญหาความขัดแย้งในที่ทำงาน ช่วยให้คุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคนในซีพีเอฟดีขึ้น

นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า การที่ภาคธุรกิจของไทยร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานของไทย นับเป็นนิมิตหมายอันดี ที่ต่างฝ่ายจะได้นำจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายบูรณาการในการจัดการปัญหาแรงงานบังคับ แรงงานทาส และแรงงานเด็ก ผ่านการสร้างช่องทางรับฟังเสียงของแรงงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นกลาง เพราะเจ้าหน้าที่ของศูนย์ LABOUR VOICES จะมาจากมูลนิธิ LPN ซึ่งเป็นองค์กรกลาง ช่วยสร้างความไว้วางใจของแรงงานได้เปิดใจที่จะแสดงความเห็น รวมถึงการขอคำแนะนำอย่างสะดวกใจ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงานที่ดีต่อไป

ซีพีเอฟมุ่งมั่นดำเนินการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายสิทธิมนุษยชน การจัดหาแรงงาน และการปฏิบัติต่อแรงงานเป็นไปตามมาตรฐานแรงงานไทย (THAI LABOUR STANDARD 8001-2010) และแนวปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี (GOOD LABOUR PRACTICES) เพื่อให้พนักงานของซีพีเอฟทุกคนและทุกระดับได้บการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เป็นธรรม เป็นไปตามหลักสิทธิมนุยชน พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของบริษัทและอุตสาหกรรมปศุสัตว์ของประเทศในเวทีการค้าโลกอย่างยั่งยืน

ที่มา: ไทยโพสต์, 27/11/2560

เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานผลิตเครื่องดื่มภายในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร

(27 พ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้า เกิดเหตุไฟไหม้บริเวณอาคารฝ่ายผลิต บริษัท โออิชิ จำกัด (มหาชน) ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยเพลิงไหม้อย่างรุนแรง เนื่องจากเชื้อเพลิงส่วนใหญ่เป็นกล่องกระดาษ จนเป็นกลุ่มควันขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่ต้องระดมรถดับเพลิงทั้งในพื้นที่และย่านใกล้เคียงกว่า 10 คัน เร่งดับไฟ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงสามารถควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลามไปยังอาคารข้างเคียงได้

สอบสวนเบื้องต้นทราบว่า จุดเกิดเหตุเกิดขึ้นบริเวณแผงควบคุมไฟ ภายในอาคารผลิตเครื่องประเภทไมโลกล่อง และเครื่องดื่มในเครือ ขณะเกิดเหตุ มีพนักงานจำนวนหนึ่งยังคงปฏิบัติงาน พากันวิ่งออกมาด้านนอกอาคารได้ทัน โดยยังไม่มีรายงานใครเป็นอันตราย

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุด เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมไฟได้แล้ว แต่ยังต้องฉีดน้ำหล่อเลี้ยง เพื่อป้องกันไฟปะทุ เนื่องจากยังมีกลุ่มควันเล็กน้อย ส่วนมูลค่าความเสียหายและสาเหตุที่แท้จริง ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากต้องรอเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบ หลังจากไฟดับสนิทอีกครั้ง

ที่มา: ThaiPBS, 27/11/2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net