Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากเวที Q&A ถาม-ตอบเรื่องการกำกับและเขียนบทหนังกับ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ Die Tomorrow เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2560 ที่ SFW เซ็นทรัลเวิลด์ หลังจบภาพยนตร์ ในรอบ 17.00 น. ดำเนินรายการโดย นคร โพธิ์ไพโรจน์ กองบรรณาธิการนิตยสารไบโอสโคป

 

 

ตัวละคร

เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์: ผู้กำกับหนังชาวไทยวัย 33 ปี เมื่อ 2 ปีที่แล้วเคยสร้างกระแส ‘ฟรีแลนซ์’ ให้เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางจากหนังเรื่อง ‘ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ’ ผู้อยู่เบื้องหลังการเขียนบทหนังไทยหลายเรื่อง เช่น รถไฟฟ้า มาหานะเธอ, Top Secret วัยรุ่นพันล้าน ผู้กำกับหนังสั้นที่แพร่หลายในโลกโซเชียลเมื่อหลายปีก่อนอย่าง มั่นใจว่าคนไทยเกินหนึ่งล้านคนเกลียดเมธาวี และผู้กำกับหนังอิสระ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘หนังอินดี้’ อย่างหนังเรื่อง 36 ซึ่งคว้ารางวัล New Currents Award จาก Busan Film Festival 2012 รวมถึง Mary is happy, Mary is happy และสารคดี The Master

ภายใน / โรงฉายภาพยนตร์โรงที่ 8 / กลางคืน

เป็นเวลาทุ่มกว่า หลัง End Credit ของหนัง Die Tomorrow จบลง เป็นรอบที่ผู้ชมมากที่สุดรอบหนึ่ง กวาดตามองก็พบว่าที่นั่งถูกจับจองเกือบทุกที่ จากหลังสุดจนเกือบหน้าสุด ไฟค่อยๆ สว่างขึ้น เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับหนังเดินเข้ามาหน้าจอภาพยนตร์ พร้อมด้วย นคร โพธิ์ไพโรจน์ พิธีกรของงาน Q&A ในวันนี้ ทั้งคู่นั่งลงบนเก้าอี้ที่ถูกจัดเตรียม ข้างๆ กับแบ็คดรอปของหนังเรื่องนี้

หลายคำถามถูกยิงใส่เต๋อ เพื่อให้หายข้องใจถึงไอเดียแรกเริ่มของหนัง กระบวนการที่ถูกพัฒนาให้เป็น Essay Film ความตายในความคิดของเต๋อ วิธีการเขียนบทหนัง วิธีการทำงานกับนักแสดงให้ได้ไดอะล็อกโคตรธรรมชาติ และการแสดงโคตรสมจริงในความคิดของหลายคน แต่เบื้องหลังคือการบล็อคกิ้งอันแสนวุ่นวาย

ฉีกสคริปต์ทิ้งไปก่อน เพราะการตอบคำถามนี้กลั่นมาจากประสบการณ์ในวัย 33 ปี และตลอดระยะเวลาที่เขียนบทและถ่ายทำของหนังเรื่อง Die Tomorrow หนังที่ว่าด้วยความตาย ที่เต๋อบอกว่า มันเริ่มจากไอเดียก่อนวันสุดท้ายที่มันอาจจะเป็นวันธรรมดาที่มันไม่มีสัญญาณอะไรเลยก็เป็นได้




***เนื้อหาต่อจากนี้เปิดเผยบางส่วนของภาพยนตร์

ไอเดียเริ่มแรกของหนัง และที่มาของความเป็น Essay Film

ไอเดียแรกคือ อยากทำตอนสี่สาว ลองเทคไปเลย 70 นาทีทั้งเรื่อง แล้วอยู่ในห้องไปเลยทั้งเรื่อง มันไม่ใช่ไอเดียใหม่แต่เพราะยังไม่เคยทำ และอยากลองทำดู เราอินเรื่อง dying young ด้วย คือตายตั้งแต่หนุ่มสาว เลยจะพัฒนาเรื่องการตายตั้งแต่หนุ่มสาวเป็นหนังทั้งเรื่องไปเลย แล้วก็พูดถึงความฝันความหวังต่างๆ ผ่านตัวละครสี่ตัว ในห้องๆ เดียว

แต่พอทำแล้วเราก็รู้สึกคิดถึงคนที่อายุเยอะกว่านั้น หรือแง่มุมอื่นๆ เช่น พี่น้อง คู่สามีภรรยา ชั่งน้ำหนักกันนานมาก ว่าเราจะทำตอนเดียวยาว หรือจะเอา 6-7 ตอน สุดท้ายเราก็เอา 6-7 ตอน ซึ่งเราว่าความยากของการทำรวมหนังสั้นแบบนี้ เช่น Love Actually (2003) หรือเรื่องอื่นๆ คือทุกเรื่องจะต้องเป็นแบบ จริงๆ แล้ววีโอเล็ตเป็นน้องสาวซันนี่ ซันนี่รู้จักกับทราย ทูเคยเดินสวนน้าค่อมที่ตลาด ซึ่งเราก็เบื่อ คนดูเบื่อ ไม่อยากเป็นแบบนี้เลย หรือทุกเรื่องเกิดขึ้นที่สถานที่เดียวกัน เราก็เบื่อ

เราคิดว่าจะต้องหาวิธีเชื่อม 6-7 ตอนนี้เข้ามาในแบบใหม่ เริ่มหาวิธีการเรื่อยๆ ซึ่งมาเจอกับการดูสารคดี มีสารคดีประเภท Essay Film เช่น I Am Not Your Negro (2016) ที่ Documentary Club เคยเอามาฉาย เป็นการบรรยายพร้อมเปิดภาพฟุตเทจ เวลาเราดู แต่ละพาร์ทที่เล่ามันไม่ได้ต่อกัน แต่อยู่ภายใต้หัวข้อเดียวกัน และเรารู้สึกมันเป็นหนังเรื่องเดียวกัน เราเลยรู้สึกว่าการเอาเทคนิคภาพยนตร์หรือโครงสร้างของหนังมาประกอบเรื่องนี้เข้าด้วยกันมันน่าสนใจกว่า

ซึ่งก็เป็นที่มาของนาฬิกาที่นับ 70 นาทีแล้วบอกว่ามีคนตายไปกี่คน มันคือเชื่อมโยงทุกตอนเข้าด้วยกัน แล้วมันก็เชื่อมโยงโลกในความเป็นจริงด้วย ว่าในขณะเราดูหนังเรื่องนี้ 70 นาที มันมีสิ่งที่เกิดขึ้นนอกโรงด้วย มีคนตายอยู่นะ แล้วก็การมีคลิปสั้นๆ ต่างๆ ฟุตเทจเก่าๆ ของยานอวกาศ ประกอบด้วย ตอนทำก็รู้เลยว่าคนไม่คุ้นแน่ๆ เราทำหนังสตูดิโอ ที่ผ่านมาเราพอรู้ว่าคนดูชินกับอะไร ไม่ชินกับอะไร แต่เรื่องนี้เลือกที่จะไปแบบนี้เลย เพราะอยากลองว่าทำแบบนี้ออกมาในคอนเซปต์ Essay Film หรือทำหนังแบบอัลบั้มเพลงที่มีเพลง 6-7 เพลง คนดูจะไปกับมันได้ไหม

และกับโปรเจกต์นี้เราอาจจะทำมาเป็นเรื่องที่ 5 แล้วก็ได้ มันเลยถึงจังหวะที่ ลองดูก็ได้ ไม่เวิร์คไม่เป็นไร แต่ระหว่างที่ทำเรารู้สึกตัวเองสนุก หาทุนได้แบบไม่ต้องกังวล ไม่ได้เยอะแต่ก็ไม่ได้กังวล ซึ่งก็มีคนไม่เอาหนังเรื่องนี้เลยเยอะ แต่ก็รู้สึกมีคนเอาหนังเรื่องนี้เยอะกว่านิดนึง (หัวเราะ) ซึ่งเราถือว่าประทับใจมากแล้ว

ความตายสำหรับเต๋อ

อันหนึ่งจะมีคอมเมนต์ว่า มันไม่ลึกเลยค่ะ ไม่มีคอนเซปต์ ไม่มีพล็อต แต่จริงๆ ดราฟต์หนึ่งที่เราเขียนออกมามัน โอ้โห ซูเปอร์พล็อตเลย มันมีเหตุการณ์อะไรเยอะกว่านี้ เช่น ต้นหลิว (มรกต หลิว) จะคล้ายๆ เป็นแม่หมอประจำกลุ่ม ทำนายได้ว่าความฝันของแต่ละคนเป็นยังไง ซึ่งที่ทำนายก็จะมีแต่เรื่องดีๆ ทั้งที่มันกำลังจะมีใครตายไป แล้วเราก็รู้สึกมันเยอะไป มันไม่ตรงกับความรู้สึกแรกที่เราอยากทำหนังเรื่องนี้

คือตอนแรกที่อยากทำมันพูดถึงการที่วันนี้มี พรุ่งนี้ไม่มี มันพูดถึงเวลามากกว่า ไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น มันพูดถึงว่าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มันเลยเป็นคอนเซปต์ว่าก่อนวันสุดท้ายมันจะเป็นวันธรรมดาที่มันไม่มีสัญญาณอะไร อันนั้นคือธีมที่เราสนใจมาก เพราะงั้นเรารู้สึกว่ามันจะเป็นธีมนี้ต่อเมื่อคุณทำให้มันธรรมดามาก ธรรมดามากๆๆ ที่สุด จะต้องไม่มีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นที่จะทำให้มันเป็นลาง ซึ่งแบบนี้ยากมาก

เวลาเราดูหนังทั่วไปมันจะต้องมีคอนฟลิกให้คนดู เพราะคนจะต้องคิดว่าแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่อันนี้มันควรจะเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งที่ต้องทำต่อไปคือต้องทำไม่ให้มันธรรมดาเกินไป เช่น ก่อนเต้ยตาย เต้ยไปซื้อติ่มซำก่อนจะถูกรถชน ซึ่งชีวิตจริงอาจจะเป็นแบบนั้นก็ได้ แต่มันจะธรรมดาไปสำหรับหนัง เราก็อาจจะเติมเป็น เต้ยไปซื้อติ่มซำ แต่เต้ยเป็นคนนอยด์ว่าอาหารนี้สะอาดรึเปล่า มีผงชูรสไหม ก็จะเริ่มมีธีมขึ้นมานิดนึงว่า ต่อให้รักสุขภาพก็ไม่รอดนะ แต่มันก็ไม่ใช่คอนฟลิกอยู่ดี

ดังนั้น เราต้องคิดสถานการณ์ธรรมดา แต่ในสถานการณ์ธรรมดานั้นมันจะต้องพูดถึงชีวิตของคนๆ นั้นได้ด้วย ซึ่งเราจะนึกถึงเพจอย่าง Human of New York ซึ่งมาแบบสั้นๆ เปิดมาเราไม่รู้จักพี่คนนี้มาก่อน กระบวนการอ่านเราอาจจะไม่ได้ต้องการความเศร้า แต่บางครั้งมันเป็นการอ่านแล้วเราคิดถึงตัวเอง คิดถึงเรื่องอื่นๆ บนโลก เช่น ชีวิตในเมืองนั้นมันลำบากเนอะ มันคือแค่นี้ แต่นี่คือเราได้แล้ว เราก็คิดว่าหนังเรื่องนี้ก็คงทำให้คนรู้สึกแบบนี้ได้

เราเลยตีว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นแพลตฟอร์มเฉยๆ เป็นหนังที่คนมาดูแล้วจะเอาอะไรกลับไปก็เอาไป จะคิดอะไรก็คิดไป จะชอบตอนไหนเป็นพิเศษก็ได้ ซึ่งผลที่ออกมามันเป็นแบบนั้นจริงๆ เขาก็อาจจะชอบในตอนที่เขารู้สึกเชื่อมโยงกับเขา ตอนนี้เหมือนเพื่อนเขา เหมือนพ่อเขา เหมือนปู่เขา ซึ่งเราคิดว่าหนังได้ทำหน้าที่ของมันแล้วจริงๆ
เราจะทำแค่นี้แหละ ต้องอย่าหวั่นไหวว่ามันจะพีคน้อยเกินไปรึเปล่า

ลำดับเรื่อง

ตอนต้นกับตอนจบคงวางไว้ก่อนแล้ว เพราะมันคือความตายของหนุ่มสาวกับตอนสุดท้ายมันคือความไม่มีอะไรเลย และเราก็รู้ว่าการใส่ระดับอารมณ์ของหนังเรื่องนี้ทำได้ยากมาก 6 ตอนธรรมดาหมดเลยและไม่ต่อกัน ตัวละครไม่รู้จักกัน เวลาดูหนังแบบนี้พอจบตอนหนึ่ง ขึ้นตอนต่อมาหัวคนดูต้องเริ่มใหม่หมด นี่คือใครวะ เพราะฉะนั้นกราฟจะเป็นแบบขึ้นแล้วตก ขึ้นแล้วตกไปเรื่อยๆ ก็เลยพยายามเรียงตามคอนเทนต์ที่จะนำเสนอ

เช่น ตอนที่หนึ่งเราพูดว่าความตายมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ตอนต่อมาก็เลยคิดว่าหรือจริงๆ มันอาจจะมีสัญญาณบางอย่างบอกเราก่อนก็ได้นะ แต่เราอาจจะไม่เคยรู้ ตอนต่อมาก็เหมือนรู้แน่ๆ ว่าจะตาย แล้วต่อมาก็พลิกว่าหรือเราไม่ต้องกลัวความตาย ความตายมันมีประโยชน์รึเปล่า หรือตอนต่อไปก็เป็นว่าหรือความตายมันไม่ใช่อะไรเลย มันไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญของคนบางคน คือมีไอเดียแล้วพยายามลำดับไอเดียให้มันไต่ระดับขึ้นเท่าที่พอจะทำได้ ถ้าเป็นหนังมันง่ายคือการพาตัวละครไปสู่สถานการณ์ที่แย่ลงเรื่อยๆ แต่พอเรื่องนี้อย่างน้อยให้คอนเทนต์จากหนึ่งไปสอง สองไปสามมันเปลี่ยน

จริงๆ ตอนทำเสร็จแล้วก็กังวลว่านี่มันครอบคลุมรึยัง เป็นสากลพอไหม ทุกมุมรึเปล่า แต่ตัวเองดูแล้วรู้สึกไม่มีอะไรจะพูดแล้ว ไม่ได้ขาดตอนไหนไป ซึ่งตอนอ่านคนคอมเมนต์เราก็รู้สึกว่าจริงๆ มันก็ไม่ได้ขาดอะไรเท่าไหร่ เพียงแต่สตอรี่อาจจะต่างกันไป

สุดท้ายแล้วเราทำหนังเรื่องนี้โดยคิดว่าความตายมัน nothing ประมาณหนึ่ง พูดแล้วเหมือนปลงแต่สุดท้ายแล้วมันก็จะกลับมาที่จุดนี้แหละ สำหรับเราสุดท้ายมันกลับมาที่ ความตายมันคือวันนี้มี พรุ่งนี้ไม่มี ไม่มีใครหนีพ้น มันคือแค่นั้นเลย อารมณ์มันคือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา และบังเอิญเราเก่งเรื่องสร้างอารมณ์ เพราะเราเป็นมนุษย์

ไม่ได้บอกว่าถึงคิวตัวเองแล้วจะไม่เสียใจ เราก็คงเสียใจ แต่คนที่ก้าวข้ามมันได้คือคนที่เข้าใจอันนี้ มันมีอยู่แล้วมันก็ดับไป เพียงแต่เรา relate มันกับวัฏจักร เราเลยคิดตอนเต้ยมาให้มันจบที่สิงโต เพราะเรารู้สึกว่ามันมีแล้วก็ไม่มี คนที่อยู่ข้างล่างก็จะขึ้นมาข้างบน คนที่อยู่ข้างบนก็จะจากไป แล้วมันก็จะวน มันคือทัศนะที่เรามีต่อความตาย เราเลยไม่รู้จะทำยังไงกับคนที่บอกว่าอยากได้อะไรลึกๆ เพราะเราดันรู้สึกแบบนี้ แล้วหนังมันก็ออกมาเป็นแบบนี้ แล้วเราก็รู้สึกว่าแนวลึกๆ มันก็มีหนังเรื่องอื่นที่เขาทำมาก่อนแล้ว แล้วแต่คนสนใจ แต่ในอายุ 33 ปี 2017 นี่คือสิ่งที่เรารู้สึก

ไดอะล็อกที่มีความเป็นธรรมชาติเขียนอยู่ในบททั้งหมดรึเปล่า

โดยรวมๆ เราจะให้นักแสดงอิมโพรไวซ์น้อยลงเรื่อยๆ หมายความว่าอย่าพูดออกนอกทะเล อย่าพูดไปเรื่องอื่น การลองเทคมันออกนอกทะเลไม่ได้เพราะคนจดจ่อกับตัวละครไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่านักแสดงจะพูดอะไรก็พูดไป กล้องก็ตามถ่ายไปดิ ยิ่งเป็นลองเทคยิ่งต้องทำให้เรื่องมันเดินหน้าไปเรื่อยๆ ด้วยไดอะล็อก คุยเรื่อยๆ ไม่ได้เพราะเรื่องไม่เดิน

ไดอะล็อกจะต้องถูกจัดวางมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องไปข้างหน้า มันอาจจะเหมือนธรรมดา แต่มีความหมายของมันอยู่ มันไม่ใช่การอิมโพรไวซ์บทสนทนาแต่อาจเป็นการอิมโพรไวซ์ในประโยค เช่น ในบทเขียนว่า เธอๆ สบายดีไหม นักแสดงไม่จำเป็นต้องพูดแบบนี้ ซันนี่อาจจะบอกว่าเป็นผมผมพูดว่า เฮ้ย เป็นไงมั่ง

ตอนสี่สาว ครึ่งหนึ่งคือสคริปต์ แต่พาร์ทที่เขาพูดเรื่องความฝันว่าอยากทำอะไรเราให้เขาพูดในสิ่งที่เขาคิด เพราะครึ่งหนึ่งเราก็อยากให้มีเรื่องจริงของนักแสดงเข้าไปด้วย

นักแสดง

ตอนเราเลือกนักแสดงเราไม่ได้แคส ส่วนใหญ่จะเลือกดูจากงานเก่าๆ และเลือกคนที่เราอยากทำงานกับเขา เรามีจังหวะของการพูดตัวละครที่เราอยากให้มันเป็น กับนักแสดงที่ทำงานกันมาแล้วจะไม่ค่อยยาก แต่นักแสดงใหม่จะยาก เช่น พลอย (รัตนรัตน์ เอื้อทวีกุล) ยากสุด เพราะตัวจริงร่าเริงมาก แต่ต้องเล่นเป็นคนป่วยติดสายยางออกซิเจน ก็ต้องเวิร์กชอป เราเชื่อในพลังของการเวิร์กชอป บางคนพูดปกติธรรมชาติมากแต่พอเข้ากล้องแอคชั่นปุ๊บ ไม่ธรรมชาติทันที ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี แต่อาจจะเหมาะกับหนังอีกโหมดหนึ่ง หรือคนที่เล่นธรรมชาติไปเล่นคอมเมดี้ก็ทำไม่ได้


บางคนก็ยึดตามสคริปต์มาก เราก็ต้องบอกว่าวิธีการคือจำแค่แกนกลางของมันนะ คำพูดจริงๆ จะใช้คำไหนก็ได้ พูดออกมาให้มันรู้สึกเท่าเดิม นักแสดงก็ถามว่าจะรู้ได้ไงว่าพูดด้วยคำพูดเราจะเท่าเดิมกับในสคริปต์ เราก็จะบอกว่าพูดไปก่อน เดี๋ยวไม่ตรงแล้วเราบอกเอง ก็ต้องค่อยๆ จูนกันพอสมควร

อย่างพลอยสุดท้ายก็จูนได้ แล้วเขาเล่นได้บียอนด์มากๆ ในหนังตอนร้องไห้ไม่อยู่ในสคริปต์ แต่พอเราขอให้ลองก็เล่นได้ 3 ครั้งติด ตอนจบมันคือตอนนวด เราก็เกิดไอเดียให้ซันนี่ลองเดินออกไป เหลือพลอยคนเดียว เราปล่อยให้เขานั่งไป แล้วเรารู้สึกว่าทำไมเหมือนมันเปลี่ยนวันแล้ว มันทะลุมาอีกวัน มันคือหลังจากวันที่รู้ว่าเครื่องบินหายไป มันเหลือเขาอยู่ในห้องคนเดียว เลยคิดออกเลยว่าถ้าเป็นวันถัดมามันคงนั่งคนเดียวแล้วร้องไห้ สำหรับเรามันคือลองเทคที่เปลี่ยนเวลาโดยไม่คัท มันกลายเป็นว่าหนังที่เราดูทั้งหมดมันคือภาพในความทรงจำหลังจากวันที่เกิดเหตุ

ตอนน้าค่อม เป็นตอนวัดใจมากๆ เพราะสคริปต์มีแค่หน้าครึ่ง ไม่รู้จะเอาใครมาเล่น ก็นั่งคิดว่าถ้าจะเอาให้อยู่ต้องเป็นนักแสดงที่คนพอจำได้ มีพลังของเขาอยู่ แต่ไม่อยากเอาคนที่เล่นเป็นพ่ออยู่แล้ว อยากได้คนที่ในชีวิตจริงเขาก็ดูอาวุโส ตอนแรกก็คิดว่า หรือจะเอาแบบเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ไหม (หัวเราะ) จากเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์มาสู่ ค่อม ชวนชื่น เพราะรู้สึกว่าเขาก็อาวุโสนะ เขาก็ดูรุ่นใหญ่นะ สิ่งที่กลัวที่สุดคือเปิดมาแล้วฮาทั้งโรง แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่า ไม่รู้ได้รึเปล่าแต่ต้องทำให้ได้แหละ ก็โทรไปชวน จริงๆ น้าไม่ได้ถามเลยเขาแค่ดูว่าคิวเขาว่างรึเปล่า (หัวเราะ)

ซึ่งเรารู้สึกว่าคนที่เป็นตลกเขาเล่นได้หลายแบบมากๆ เพราะตลกเขาอิมโพรไวซ์ตลอดเวลาอยู่แล้ว เราว่ามันมี element นั้นอยู่ที่พอจะใช้ได้ ซึ่งน้าค่อมไม่ได้เจอตอนเวิร์กชอปด้วย มาเจอกันที่กองเลย มีเวลาก่อนถ่ายจริงชั่วโมงครึ่ง น้อยมาก บรีฟแกตอนนั่งกินข้าว แค่พูดตอนของแกว่ามันคืออะไร อธิบายให้ฟัง ค่อยๆ ให้ลองเล่นกับน้องนักแสดงอีกคน ให้ซ้อมกันดู ปรากฏว่ามันง่ายกว่าที่คิด ตอนแรกก็อาจจะเยอะไปแต่ค่อยๆ ปรับถึงจุดนึงมันก็ได้เลย เขาเก็ทเร็วมาก แล้วเราก็ถ่ายลองทั้งแบบเล่นเยอะ เล่นน้อย มีเทคที่ให้เล่นเป็นน้าค่อม แต่ถ้าใช้เทคนั้นที่ทำมา 70 นาทีก็จะหายไป ทุกอย่างที่ธรรมดามาจะกลายเป็นไม่ธรรมดาทันที (หัวเราะ) แต่ที่เขางงคือเขาถามว่าแล้วซีนต่อไปมีอะไรต่อ เราบอกไม่มี หมดแล้ว เขาก็บ่นทำนองว่า “สัส เรียกกูมานอนอย่างเดียวเลยดิ (หัวเราะ)” เขาคงงงว่านอนแล้วก็แสดงแล้วก็ได้เงินจบเป็นนักแสดงมาหลายปีอาจจะไม่เคยเจอแบบนี้

เรื่องนี้สำหรับเราโชคดีมากที่ทุกตอนมันมีแมจิกคนละอัน อาจไม่ใช่แค่เรื่องแอคติ้ง อาจเป็นเรื่องสภาพอากาศ แสงสีใดๆ ความพอดีบางอย่าง หรืออย่างของเต้ยมันแมจิกด้วยการแสดงของเขา

ตอนนี้ถ้าเต้ยไม่สามารถร้องไห้แบบนี้ได้จะใช้ไม่ได้เลย ถ้าน้ำตาไม่ไหลจะปาดอะไร พี่ช่างแต่งหน้าเข้าคิวไม่ได้เลย และตัวละครมีความซับซ้อน ความรู้สึกหลายอย่าง ดีใจเสียใจ เสียใจที่ตัวเองดีใจ มันไม่ใช่เขาตายแล้วเศร้าจบ เพราะฉะนั้นแอคติ้งของหน้ามันจะไม่ใช่อะไรเลย มัน in between กับทุกอย่าง ต้องให้เขาค่อยๆ ทำความเข้าใจ ทำไปทำมาก็พบว่าวีธีการที่ใช้ได้คือพอกล้องค่อยๆ เข้าไป เราก็พูดถึงสิ่งที่อยู่ในหัวตัวละคร ทำไมเป็นคนแบบนี้ เขาร้องไห้หลายเทค แต่ได้แบบนี้เทคเดียว มองข้างล่างแล้วกรอกตาขึ้นมาแล้วน้ำตามันร่วงพอดี ถูกต้องมากๆ ไม่คิดอีกเลยว่าจะได้อีกแล้ว โชคดีหลังจากตอนนี้เขาก็เล่นได้หมดแล้วผ่านเลย จริงๆ ใครสังเกตพอเขาเช็ดน้ำตาไปแล้ว ตรงตาเขามีอีกหยดหนึ่งแล้วมันค้าง มันโคตรดีเลย ไม่น่าทำได้ในครั้งที่สอง

ตอนที่ถ่ายเยอะที่สุดคือตอนสี่สาว เพราะทุกคนพูดพร้อมกัน และตอนถ่ายไมค์ทุกคนดังเท่ากัน มันจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเลย เคยลองให้พูดทีละคนแล้วไม่เวิร์ก พอคนนี้พูดแล้วทุกคนหยุด มันไม่ธรรมชาติ เป็นไปไม่ได้ที่เพื่อนสี่คนอยู่ด้วยกันแล้วไม่แย่งกันพูด บรีฟคือพูดไปเรื่อยๆ ไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นต้องมีทัศนะและคอมเมนต์ ต่อให้ไม่ใช่สิ่งสำคัญในสคริปต์แต่มันคือบรรยากาศของเสียงที่ควรจะมี

บล็อคกิ้งคือส่วนที่ยากที่สุดของหนัง

เบื้องต้นคือการพูดให้ธรรมชาติ ที่ยากสุดคือบล็อคกิ้งมากกว่า หมายถึงว่าใครอยู่ตรงไหนทำอะไร เดินเข้าเดินออกตอนไหน เพราะลองเทคเวลาถ่ายควรเห็นหน้านักแสดง

ตอนยากที่สุดน่าจะเป็นตอนสี่สาว ซูเปอร์อภิมหาแห่งการบล็อคกิ้ง มันไม่ใช่ใครจะเข้าจะออกก็ได้ เพราะตากล้องจะงงว่าจะถ่ายอะไร เช่นตอน ออกแบบ (ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) ไปเข้าห้องน้ำ นี่คือบล็อคกิ้ง เราไม่อยากให้นักแสดงอยู่บนโซฟาทั้งเรื่อง มันจะน่าเบื่อมาก อย่างน้อยมันเหมือนเปลี่ยนซีนในเทคเดียว จะเริ่มเห็นสองคนบ้าง หนึ่งคนบ้าง สามคนบ้าง พอออกแบบลุกไปฉี่ จูนจะขึ้นมานั่งแทนออกแบบ แล้วต้นหลิวจะเดินไปหยิบมาส์ก ออกแบบจะกลับมานั่งที่โซฟา แล้วต้นหลิวค่อยกลับมา แล้วทุกคนค่อยเปลี่ยนหัวข้อคุย แต่ทุกคนต้องทำเหมือนไม่รู้คิว ต้องทำให้ธรรมชาติที่สุด

หรือตอนวีกับพายก็ยาก เพราะระเบียงข้างหน้ามันแคบ ในทางกล้อง ถ้าเราไม่ให้สองคนทำอะไร พิงระเบียงมองออกไปข้างนอกแล้วคุยกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราจะไม่เห็นหน้าพายเลย เราเลยต้องคิดว่าทำยังไงให้ถ่ายเห็นหน้าพายได้บ้าง เราเลยคิดว่าพอคุยถึงประโยคนี้ให้พายลองยืนโหนระเบียงเหมือนเมื่อยๆ ซึ่งแค่นั้นก็ช่วยให้คนดูเห็นหน้านักแสดงแล้วนะ แล้วเราก็เซ็ตให้วีดูดบุหรี่ พอวีดูดบุหรี่ พายก็จะบอกว่าเหม็นบุหรี่แล้วเดินไปอีกข้างหนึ่ง ซึ่งพอวีจะคุยเขาก็ต้องพลิกตัวมาอีกข้างมาหากล้อง ก็จะเห็นหน้าวี

เราต้องหาวิธีให้นักแสดงหันมาหากล้องโดยธรรมชาติโดยพฤติกรรมของนักแสดง เพราะระเบียงนั้นเราไม่สามารถให้กล้องกระโดดจากตึกไปรับหน้าเขาได้ และกล้องเป็นไปไม่ได้ที่อยู่ดีๆ จะเดินไปข้างๆ แล้วถ่ายหน้าโดยอัตโนมัติ เพราะมันจะกลายเป็นอยู่ดีๆ มีตากล้องอยู่ตรงนั้น กล้องต้องเหมือนกับว่า จะไปไหนทีนึงต้องมีใครเคลื่อนไหวบางอย่างแล้วกล้องแพนตาม เราจึงต้องคิดจากแอคติ้งของนักแสดงว่าให้เขาทำอะไร

นี่คือความเหนื่อยมาก เราต้องคิดตลอดเวลาว่านักแสดงทำอะไรแล้วจะอำนวยให้กล้องไปทางนั้นรึเปล่า อย่างตอนซันนี่พลอย เราเซ็ตว่ากล้องจะเคลื่อนเป็นซ้ายขวา เหมือนปิงปอง ใครจะตายก่อนกันแน่ เพราะฉะนั้นเราก็เซ็ตว่าพอซันนี่พูดถึงประโยคนี้แล้วให้ยืดขาไปให้พลอย กล้องก็จะเคลื่อนตามขาซันนี่ไปเข้าสู่พลอย มีซันนี่ไปหยิบโลชั่น มีพลอยขยับมานั่งที่เก้าอี้ ซึ่งมันจะยากกับนักแสดงที่เขาต้องจำว่า พอพูดเรื่องพาสปอร์ตปุ๊บให้กลับมานั่งที่เก้าอี้ เป็นต้น

เวลาซ้อมของหนังเรื่องนี้ไม่สามารถซ้อมในห้องแคสติ้งได้เลย ต้องมาซ้อมที่จริงหนึ่งวันก่อนถ่าย เพราะเขาต้องรู้ว่าเขาจะนั่งตรงไหน เขาต้องทำอะไร ในห้องนั้นมีของอะไรบ้าง จะต้องเดินจากจุดไหนไปจุดไหน ก่อนออกต้องหยิบอะไรออกไป และต้องทำให้ดูเป็นธรรมชาติ

การสัมภาษณ์น้องมรรค

สัมภาษณ์จริง ถ่ายจริง ไม่มีบท บางคนบอกเขาจำหนังสือมาตอบ แต่ถ้าคุณนั่งตรงนั้นกับเขา คุณจะรู้เลยว่าเขาเป็นเด็ก เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้หยิบมาใช้ทั้งหมดในหนัง ในบทที่เขียนคือสัมภาษณ์เด็กเรื่องความตาย แค่นั้นจบ

หนังที่พัฒนาไปพร้อมกับการถ่าย และการเขียนสคริปต์ต่อจากสถานที่ถ่ายทำ

หนังเรื่องนี้มันพัฒนาไปพร้อมกับการถ่ายของแต่ละวัน ซึ่งเราสนุกกับมันมาก อย่างฉากแม่บ้านมาทำความสะอาดโรงแรมไม่ได้เขียนในสคริปต์ ตอนไปถึงสถานที่ก็คิดว่าอยากได้คัทที่เป็นห้องโล่งๆ เรารู้สึกว่ามันอาจจะได้ใช้ เหมือนเราเห็นคัทติ้งในหัวแล้วว่าพอเด็กพวกนี้มันโวยวายๆ ปาร์ตี้กัน คัทมาเป็นห้องโล่งๆ มีแม่บ้านมาทำความสะอาด เราว่ามันมีความหมายบางอย่าง

อย่างดอกไม้ ตอนที่ถ่ายฉากสี่สาวมันโล่งๆ เราลองเอาดอกไม้มาวางดูแล้วมันสวย เราก็รู้สึกว่าหนังเราน่าจะใส่ดอกไม้เข้าไปทุกตอน ก็เลยใส่ดอกไม้เข้ามาแต่ไม่ได้เจาะจงถ่าย ใครเห็นก็เห็น ไม่เห็นก็ไม่เป็นไร ไอเดียมันค่อยๆ พัฒนาไปกับสถานที่จริง ในการทำงานส่วนใหญ่ของเราก็เป็นแบบนี้ เวลาไปดูสถานที่ถ่ายทำจะบอกพี่ๆ ว่าอย่าเร่ง เพราะบางทีเราจะเขียนสคริปต์ต่อจากสถานที่ที่เราไปเจอ เพราะบางทีของจริงมันจริงกว่า มันมีของเล่นเยอะกว่า มีหน้าต่างแบบนั้น มีทีวีแบบนี้ เราใช้เล่นอะไรกับมันได้บ้าง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net