Skip to main content
sharethis

ครม. อนุมัติ ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของ UNEA 3 เตรียมประกาศ ย้ำไทยตื่นตัวแก้ปัญหามลพิษ ตามนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ 20 ปี และยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี ขณะที่ภาค ปชช. เตรียมชุมนุมค้านร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ พรุ่งนี้

5 ธ.ค. 2560 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (4 ธ.ค.60) โดยมีประเด็นหนึ่ง คือ ครม. มีมติรับทราบ เห็นชอบ และอนุมัติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ ดังนี้ 1. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 3 (The third session of the United Nations Environment Assembly: UNEA 3)ระหว่างวันที่ 4 – 6 ธ.ค. 2560 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา (โดยมีเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย) 2. เห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของ UNEA 3  3. เห็นชอบกรอบคำมั่นโดยสมัครใจที่ประเทศไทยจะประกาศ 4. อนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองในร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าว และ 5. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณาโดยไม่ต้องนำกลับไปเสนอคณะรัฐมนตรีใหม่จนสิ้นสุดการประชุม

สำหรับสาระสำคัญของเรื่องนั้น 1. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วม UNEA 3 ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา หัวหน้าคณะผู้แทนไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 5 หน่วยงาน ได้แก่ ผู้แทนกรบควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานด้วยว่า ร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารที่แสดงถึงการตระหนักว่ามลพิษที่เกิดขึ้นในทุกรูปแบบทั้งทางอากาศ ดิน และน้ำ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม ระบบนิเวศ เศรษฐกิจ ความมั่นคง และความอยู่รอดของมนุษย์ และยังเชื่อมโยงกับปัญหาอื่นและเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการแก้ไขปัญหามลพิษเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ทั้งการต่อสู้ความยากจน การปรับปรุงให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น การสร้างงานที่เหมาะสม การปรับปรุงให้สิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในน้ำให้ดีขึ้น และการลดภาวะโลกร้อน ในการนี้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมร่วมกันให้คำมั่นว่าจะดำเนินงานเพื่อป้องกัน บรรเทาและจัดการแก้ไขปัญหามลพิษ โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ นำข้อมูลเชิงประจักษ์มาเป็นพื้นฐานและให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมในการตัดสินใจดำเนินงานตามข้อตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ โดยประเทศไทยจะประกาศคำมั่นโดยสมัครใจเพื่อให้นานาชาติทราบว่าประเทศไทยมีความตื่นตัวในการแก้ปัญหามลพิษ โดยมีกรอบคำมั่นโดยสมัครใจที่ยึดตามนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ 20 ปี และยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี โดยจะนำเสนอผลการดำเนินงานของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทั้งนี้ การประชุมฯ ได้กำหนดให้มีการรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีในช่วงการประชุมระดับสูง 

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า พรุ่งนี้ (6 ธ.ค.60) เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 ภาค นัดชุมนุมทำเนียบรัฐบาล เพื่อส่งเสียงแสดงจุดยืนคัดค้านและเรียกร้องให้ยุติการผลักดันและพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ) ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ถนนพิษณุโลก

โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เร่งรัดเสนอร่างร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ โดยอ้างว่าต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายในส่วนเกี่ยวกับระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับเนื้อหาและกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 ภาคประชาชนโดยเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯฉบับใหม่นี้ เพราะนอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมได้แล้ว ยังเป็นร่างกฎหมายที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การเพิ่มเติมเนื้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. มาตรา 44 และการกำหนดกรอบเวลาเร่งรัดการพิจารณารายงาน EIA / EHIA เพื่อเอื้อให้สามารถดำเนินการโครงการได้รวดเร็วและง่ายขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะเพิ่มระบบการกลั่นกรองโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการถูกทำลาย

อย่างไรก็ตาม แม้ภาคประชาชนจะพยายามนำเสนอแนวทางการแก้ไขปรับปรุงระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ที่จะนำไปสู่การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริงต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหลายครั้ง แต่รัฐบาลก็มิได้ตอบสนองรับฟังข้อเสนอของภาคประชาชนเพื่อทบทวนแก้ไข และยังคงเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net