Skip to main content
sharethis

เรื่องราวของที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลเมื่อถูกสามเหล่าทัพเรียกตัวเข้าค่ายรวม 18 ครั้ง เผยประสบการณ์ทหารกดดันจนแม่และเพื่อนร่วมงานขว้างโทรศัพท์ทิ้ง เปิดแนวคิด วิธีต่อรองทหาร ติดงานก็ไม่ไป ชี้เลื่อนนัดศาลได้ทำไมจะเลื่อนนัดทหารไม่ได้ ระบุจุดอ่อน คสช. คือมุ่งสู่ประชาธิปไตย ประชาสังคมต้องอธิบายให้ได้ว่าเรานำเทรนด์

การถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหาร ‘ปรับทัศนคติ’กลายเป็นหนึ่งในกิมมิคที่มาคู่กับรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่แรกเริ่มของการยึดอำนาจ แต่ไม่บ่อยครั้งที่ชีวิตของคนที่ถูกเรียกตัวเข้าค่ายหลายครั้งหลายหนจะถูกพูดถึง

ป้าย-กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล เป็นอีกหนึ่งคนที่มีบทบาทในเวทีภาคประชาชนมายาวนาน และได้ตกเป็นเป้าหมายของการดำเนินคดีและการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐยาวนานพอกัน ตราบจนขณะนี้เขาโดนคำสั่งเรียกตัวเข้าค่ายทหารไปแล้วถึง 18 ครั้ง พร้อมทั้งโดนฟ้องหมิ่นประมาทสองคดีจากเอกชนและผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีจากการเคลื่อนไหวของเขา

ประชาไทคุยกับกฤษกรในฐานะผู้ถูกเรียกตัวบ่อยครั้งถึงชีวิต จิตใจ แนวคิดการต่อรอง การพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร มุมมองต่อการขับเคลื่อนมวลชน ความกลัวและความกดดันในการทำงานและใช้ชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารที่เรียกตัวบุคคลเข้าค่ายทหารเป็นว่าเล่นจนวันนี้ยอดทะลุไปถึงหลักพันคนแล้วในวันที่ประตูเขื่อนปากมูลปิดสนิทก่อนที่มันควรจะเป็น เฉกเช่นเดียวกับบานประตูสู่ประชาธิปไตยที่ประเดี๋ยวเปิดประเดี๋ยวปิดตามใจหัวหน้ารัฐบาล

สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ค้านปิดเขื่อนปากมูล 8 บาน ร้อง ปลดผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ

ทำไมถึงถูกเรียกตัวได้ถึง 18 ครั้ง

เนื่องจากผมทำงานเคลื่อนไหวกับชาวบ้านโดยเฉพาะชาวบ้านที่ปากมูล และการเคลื่อนไหวไม่ได้เริ่มต้นหลังรัฐประหาร แต่มันก็มีการเคลื่อนไหวรุนแรงมาตลอดตั้งแต่สมัยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือสมัยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัยคุณอภิสิทธิ์เรายึดรถไฟ สมัยคุณยิ่งลักษณ์เราก็ยึดรถไฟ ไปชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลนับครั้งไม่ถ้วน เป็นเรื่องปรกติ

หลังรัฐประหาร ไทยพีบีเอสเขาจัดเวทีเรื่อง เสียงที่คุณต้องฟังก่อนปฏิรูป แล้วทหารก็ไปแสดงอำนาจอิทธิพลล่วงเกินผู้ดำเนินรายการคือคุณณาตยา (ณาตยา แวววีรคุปต์ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารรายงานต่อผู้บริหารไทยพีบีเอสเนื่องจากไม่พอใจการดำเนินรายการดังกล่าวของเธอ อ่านต่อ) ซึ่งเราก็มองว่าการกระทำแบบนั้นมันคุกคามเสรีภาพเกินไป ไม่ใช่การละเมิด แต่เป็นการคุกคามเสรีภาพของคน เราก็ออกแถลงการณ์ ซึ่งทำให้ทหารไม่พอใจและเชิญเราไปปรับทัศนคติ แล้วก็ทราบทีหลังว่าครั้งนั้นค่อนข้างหนัก เพราะทางทหารขอให้ปิดเฟสบุ๊ค ซึ่งเราก็ปิดบัญชีส่วนตัวแต่บัญชีของเครือข่ายเรายืนยันว่าจะไม่ยอมปิด

สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล จัดงานชุมนุมทุกปี เช่นกรณีเดือน เม.ย. เราจัดงานหยุดเขื่อนโลกทุกปี รัฐบาลทหารก็ห้ามทุกปี เราก็ฟัง แต่หยุดไม่ได้ การจัดทุกปีก็ถูกทหารเรียกมาคุยและขอให้ไม่จัด เราก็ทำตามไม่ได้เพราะมันเป็นประเพณีที่ทำกันมา 20 กว่าปีแล้ว ส่วนการเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ที่จะมีทุกปีคือการจัดกิจกรรมยาวตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. เป็นช่วงการเรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนก็จะมีการชุมนุมลากยาวไป มันห้ามไม่ได้เพราะคุณไม่ให้เปิดประตูเขื่อน แต่ทุกครั้งที่มีการชุมนุมหรือมีแผนจะชุมนุมก็จะมีทหารไปห้ามปรามทุกครั้ง แต่ทุกครั้งที่ไปเราก็เรียนว่าเราต้องทำเพราะมันเป็นเรื่องวิถีชีวิตชาวบ้าน

รวมๆ ก็มีการเรียกไปพูดคุยทั้งหมด 18 ครั้ง เป็นทั้งการเรียกเข้าไปคุยทั้งแบบส่วนตัวและเรียกทั้งแกนนำชาวบ้าน แต่ก็ไปแค่ 11 ครั้ง ก็ยอมรับว่าเราต้องทำมาหากิน มีภารกิจมากมาย การที่ท่านเรียกไปพบวันนั้นวันนี้เราก็ทำตามไม่ได้ทั้งหมด ก็ช่วยไม่ได้ถ้าเราติดภารกิจก็ค่อยไป ภารกิจหลักของเราคือการทำงานกับชาวบ้าน สำนักงานของทหารท่านก็อยู่ที่เดิมตลอดเราก็ไปวันไหนก็ได้ ถ้าอยากคุยก็ค่อยไป แต่จะให้ไปปุ๊บปั๊บเลยไม่ได้ ต้องทำงานของเราก่อน

อีก 7 ครั้งทำไมไม่ได้ไป

การเรียกตัวให้ไปพบก็มีอยู่ 3 รูปแบบ หนึ่ง ส่งกำลังสามฝ่าย ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองลงไปตามล่าตัว ซึ่งเราก็ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาไม่เจอเรา สอง การส่งหนังสือเชิญ การออกหนังสือเชิญก็จะให้ทหารเอาไปให้ สาม การแจ้งผ่านระบบ คือแจ้งผ่านเจ้าหน้าที่ปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้เราเข้าไปพบ

ที่เราไปได้แค่ 11 ครั้ง เพราะว่าบางทีเราแจ้งว่าเราจะชุมนุม คุณก็บอกว่าให้เราไปพบเดี๋ยวนี้ แล้วเราจะชุมนุมอีก 3 วัน แต่คุณมาบอกว่าให้ไปพบวันพรุ่งนี้ เราก็ไปไม่ได้เพราะติดงานอยู่ เดี๋ยวเสร็จงานแล้วจะไปพบ แล้วพอเราจะไปพบท่านก็บอกว่าไม่เป็นไรแล้ว ไม่ต้องมา แต่ทุกครั้งเราก็ไม่ได้ไปตามนัดสักครั้งเพราะเราต้องยืนยันว่าเราต้องทำงานตัวเองก่อน แม้แต่ศาลเองถ้าเราไม่สะดวกเรายังขอเลื่อนได้เลย ท่านก็เป็นทหาร เราไม่สะดวกเราก็เลื่อนได้ มันเป็นหลักการทั่วไป ท่านว่างแต่ผมไม่ว่างมันก็ช่วยไม่ได้ ถ้างานเสร็จ สะดวกก็ไป เราก็ทำแบบนี้ ท่านก็ไม่ได้ใหญ่กว่าศาลมั้ง งานทุกอย่างมีการวางแผนมาแล้ว แล้วทหารจะมาบอกว่าไปวันนั้นวันนี้มันก็ไม่ได้หรอก

จากทั้งหมด 18 ครั้ง ส่วนใหญ่ถูกเรียกด้วยเหตุผลอะไร

ร้อยละ 75 มาจากโพสต์เฟสบุ๊ค จากทั้งทหารบก เรือ อากาศ อันที่สองมาจากการขับเคลื่อน มันเป็นแอคชั่นต่อจากเฟสบุ๊ค อันที่สามมาจากเรื่องของระบบการเปลี่ยนตัวบุคคล ผู้ว่าฯ เปลี่ยน ผบ. เปลี่ยน เขาก็เรียกเราไปพบ มันไม่มีเหตุผลเลย

ตลอดเวลา 3 ปี ครอบครัว คนใกล้ตัวมีท่าทีอย่างไรบ้าง

ลูกเมียโอเค แต่แม่หวั่นไหว ลูกเข้มแข็ง ไม่มีปัญหา ภรรยาก็โอเค ตั้งแต่เคลื่อนไหวครั้งแรกผมก็พาครอบครัวไปด้วย ลูกผมเคยขึ้นเวทีไปเป็นโฆษกต่อหน้าคนเป็นพันมาแล้ว ตอนนั้นเขาอยู่มัธยมต้น

พูดง่ายๆ ครั้งแรกถ้าแม่ไม่ขอร้องให้ไปพบทหารผมจะไม่ไป แต่พวกนี้ไปเฝ้า แล้วไปกดดันให้แม่บอกให้ผมไปพบ ทีนี้เราต้องไปตามคำที่แม่บอก มันแย่ ไม่งั้นเราไม่ไปหรอก แต่มันไปกดดันให้แม่โทรหาเรา วิธีที่เขาทำคือเถื่อนมาก คือไปที่บ้าน แล้วแม่ก็บอกว่า ไม่รู้เบอร์ จำเบอร์ไม่ได้ว่าลูกเบอร์อะไร มันไม่เชื่อ ทีนี้หญิงชราอายุ 60 จะไปจำอะไรได้ มันก็ไปไล่ให้แม่กดโทรศัพท์ แม่ก็กดบ้างไม่กดบ้าง แกกดไม่เป็น สุดท้ายแม่ขว้างโทรศัพท์ใส่กำแพงบ้าน โทรศัพท์ก็เจ๊งไป หาเบอร์กันไม่เจอ

การทำแบบนั้นมันถ่อยมาก มันคุกคามมาก คือคุณถามแล้วติดต่อไม่ได้มันก็ควรจบแค่นั้น ไม่ใช่แค่นั้น มีครั้งหนึ่งที่ทหารไปหาผมที่สำนักงาน แล้ววันนั้นมียามเข้าเวร เราก็ไม่รู้ยังไงวันนั้นออกไปกินข้าวพักหนึ่งพอดี ทีนี้คนที่เฝ้าอยู่ก็บอกว่าทหารมาหา เราก็เลยให้บอกว่าเราไม่อยู่ ไปลงพื้นที่ ก็ไปลงพื้นที่จริงๆ นะ ถ้าทหารขอเบอร์ผมก็ขออนุญาตไม่ให้เบอร์ แต่ทหารก็ไปขู่แก แกก็บอกตรงๆ ว่าให้เบอร์ผมไม่ได้ ไม่งั้นจะถูกผมไล่ออกเพราะผมเป็นผู้จัดการ สุดท้ายแกก็ขว้างโทรศัพท์ใส่กำแพง ดีว่าโทรศัพท์ไม่แพง เครื่องละห้าหกร้อย

พอไปค่ายแล้ว เขาให้คุณทำอะไรบ้าง

ไปทำเอ็มโอยูว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เช่น ไม่แสดงความเห็นทางการเมือง ไม่ไปอภิปรายทางการเมือง ไม่เข้าร่วมเวทีวิชาการทางการเมือง ไม่จัด ไม่นำพา สอง ไม่มีการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวที่ขัดต่อคำสั่ง คสช. มีอยู่ประมาณ 4-5 ข้อ อีกข้อหนึ่งก็ห้ามออกนอกราชอาณาจักรหากไม่ได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้า คสช. ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ทำตาม

นอกจากนั้นก็มีการเรียกไปคุยกันทั่วไปว่าสิ่งที่ทำตอนนี้ คสช.เป็นห่วงว่าจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ผิดคำสั่ง ยุ่งยากใจเพราะจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ไม่ให้ชุมนุมเกิน 5 คน แต่มันก็ช่วยไม่ได้ ตอนปี 2558 ที่ไปชุมนุมหน้าศาลากลาง จ.อุบลฯ เราก็ไปกันพันกว่าคน คุณบอกว่าผิดกฎหมาย เราก็บอกว่าชาวบ้านเรียกร้องมาก่อน ส่วนคำสั่ง คสช. นั้นเพิ่งมามีทีหลัง

มันมีสองครั้ง ครั้งแรกในปี 2558 เดือน มิ.ย. เราก็บอกว่าคุณต้องเปิดเขื่อน ชาวบ้านก็ชุมนุมกัน ก็มีการตั้งด่านราว 20-30 ด่าน เริ่มตั้งแต่ที่ อ.พิบูลมังสาหาร ชาวบ้านก็จัดขบวนมาอย่างดี มีธงมีอะไรมา พอมีด่านชาวบ้านก็ไม่จอด พอไม่จอดตำรวจก็เปิดด่านเพราะด่านไม่ใช่ด่านปิด ชาวบ้านก็ขับตามกันไป ไม่ได้จอด เขาก็หาว่าเราฝ่าฝืนคำสั่ง ก็ช่วยไม่ได้เพราะคำสั่งมาทีหลังการกระทำ

ได้เรียนรู้อะไรจากการถูกเรียกตัวหลายครั้งขนาดนี้

ผมเข้าสู่วงการก่อนมีการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อปี 2549 มันมีจุดสำคัญตรงที่ช่วงนั้น คมช. คุมอำนาจสั้นๆ แล้วตั้งท่านสุรยุทธ์ (จุลานนท์) เป็นนายกฯ การบริหารงานระหว่างรัฐบาลกับ คมช. ค่อนข้างจะแยกกันอยู่ ที่ผ่านมาไม่เห็นการใช้กลไกมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับมวลชน ทั้งยังไม่มีการประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติที่มีผลยาวนานอย่างกรณีคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 ไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ชุมนุมทางการเมืองซึ่งมีผลอย่างมาก

ครั้งก่อน (รัฐประหาร 2549) ไม่เคยมีการเรียกคนนั้นคนนี้เข้าไปปรับทัศนคติโดยเฉพาะชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเรื่องปากท้อง พอมาเรียกแล้วเรียกบ่อยจนน่าเกลียด ทำให้เป็นการคุกคามค่อนข้างรุนแรง แม้การเรียกไปคุยจะไม่มีการเรียกหรือจำกัดพื้นที่แต่ก็มีผลทางจิตวิทยาว่า การที่ทหารเรียกไปพบทำให้มวลชนค่อนข้างประหวั่นพรั่นพรึงพอสมควร การที่ทหารไปคุยกับผู้นำการชุมนุมหรือผู้นำองค์กรถึงบ้านเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและเป็นอุปสรรคกับการทำงานภาคประชาชนมาก

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการที่เขาเรียกเรา 18 ครั้งและบังคับให้เราไปพบเขาได้ 11 ครั้ง ก็สะท้อนว่าเขาไม่สามารถควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ การเคลื่อนไหวต้องเดินหน้าต่อเพียงแต่มีข้อจำกัดมากขึ้นเท่านั้น ในมุมกลับ ผมคิดว่าถ้ามีการคุกคามมากขึ้นในขณะที่ระยะเวลาลากยาวมาขนาดนี้ ในขณะที่ปัญหาชาวบ้านไม่ได้รับการแก้ไข มันจะเป็นแรงสวิงกลับ ผมคิดว่าฝ่ายทหารต้องคิดว่าการที่คุณเรียกใครต่อใครไปหลายครั้งไม่ได้ทำให้เขากลัว แต่คุณต่างหากที่ต้องคิดหนักว่าการใช้วิธีการเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมเขาได้ อาจต้องคิดให้มากขึ้นว่าอำนาจที่มีอยู่ไม่สามารถที่จะควบคุมสิทธิที่จะดำเนินการอย่างบริสุทธิ์ของชาวบ้านได้

เห็นความเปลี่ยนแปลงของเจ้าหน้าที่ทหารไหมนับตั้งแต่วันแรกที่โดนเรียกตัว

ในช่วงสามปีนี้มี ผบ.มทบ. สองคน ท่านแรกค่อนข้างที่จะใช้อำนาจเยอะ มีคำสั่งไปแล้วก็ต้องควานให้เจอ มันมีครั้งหนึ่งที่เขาออกหมายไปเรียกแกนนำชาวบ้านแล้วเรียกมาผิดตัว ชื่อนายทวี ทองเทพเหมือนกัน แต่เป็นคนละคนกัน ชาวบ้านไม่รู้เรื่องก็พลอยโดนไปด้วย วิธีการก็คือเขาให้ปลัดอำเภอเอารถไปรับจากบ้านมาที่ มทบ.22 ตอนช่วงปี 2557-2558 เข้มข้นมาก

พอมาปี 2559-2560 ก็ดีขึ้นหน่อย มีหนังสือแจ้งล่วงหน้า หลังแจ้งเสร็จก็ค่อยส่งทหารลงไป และไปไม่เอิกเกริก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาด้วย 2-3 คัน ไม่ใช่สนธิกำลังกัน นุ่มนวลขึ้นเยอะ การมาคุยที่ มทบ.22 ค่อนข้างให้เกียรติเพราะชุดหลังมีการมาให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนทั่วไป ไม่คุกคามเหมือนแรกๆ องค์ประกอบการคุยก็ครบส่วน คือมีส่วนทหารที่ประกอบด้วยฝ่ายบัญชาการ ฝ่ายคุมกำลัง ฝ่ายเสนาธิการ ฝ่ายทหารพระธรรมนูญ แล้วก็มีฝ่ายปกครองและฝ่ายตำรวจ ก็ต่างกันอยู่ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร อาจเพราะคนนั่งหัวโต๊ะเปลี่ยนไปเลยทำให้รูปแบบเปลี่ยนไป บรรยากาศดีขึ้น จะเกี่ยวกับรัฐบาลหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่คนหัวโต๊ะเปลี่ยน 11 ครั้งที่ไปมาคือ มทบ.22 ที่เดียว ค่ายสรรพสิทธิ์ประสงค์ อยู่ที่อุบลฯ

รัฐประหารมีอิทธิพลต่อการดำเนินงานของคุณมากน้อยขนาดไหน

มันเปลี่ยนไปเยอะอยู่ ใหญ่ๆ ก็ยุ่งยากมากขึ้น เราต้องอธิบายมากขึ้น ในขณะที่การอธิบายกับทหารไม่ได้เพิ่มพูนสติปัญญาและไม่ได้ทำให้เกิดวิธีการแก้ปัญหา แต่มันเป็นภาวะที่ไม่มีทางออก ไม่มีครั้งใดที่ไปหาทหารแล้วคุณบอกว่าคุณสามารถแก้ไขปัญหาชาวบ้านได้ แต่คุณบอกว่ารัฐบาลชุดนี้ต้องการแก้ไขปัญหา ให้อยู่ในความสงบ การอยู่ในความสงบ ไม่ต้องทำอะไร แต่คุณก็ไม่ทำอะไรเหมือนกันมันไม่ใช่ทางออก มันเป็นการสร้างภาระความยุ่งยากมากขึ้น

สอง ไม่มีการกระทำของรัฐบาลชุดไหนที่เข้าไปยุ่งกับชีวิตส่วนตัว รัฐบาลชุดนี้แย่มาก ไปทำให้ครอบครัวโดยเฉพาะแม่ตกใจ เป็นเรื่องที่ผมรับไม่ได้ คุณมีปัญหา ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวก็อยู่ที่ตัวคนทำ ครั้งแรกที่ทหารไปที่ 7 พื้นที่ที่คิดว่าเราจะอยู่ รวมทั้งบ้านด้วย แล้วการไปบ้านคือไปกันสามฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง แล้วพอไปก็ไม่รู้ที่อยู่บ้าน ก็ให้กำนันพาไป กำนันก็ไปหาผู้ใหญ่บ้านเพราะกำนันเองก็ไม่รู้จักบ้านแต่บังเอิญกำนันไม่เจอผู้ใหญ่บ้าน กำนันเลยไปประกาศเสียงตามสายเพื่อจะเรียกผู้ใหญ่บ้านที่เกี่ยวข้าวอยู่ให้มาพบ คนทั้งหมู่บ้านออกมาดูว่ายกกำลังกันมาทำอะไร กองกำลังสามฝ่ายยกกันมาประมาณ 20 กว่าคน ซึ่งมันแย่มาก

นอกจากนั้นยังไปคุกคามชาวบ้านและเพื่อนร่วมงาน ไปคุยกับชาวบ้าน คุยกับแกนนำ ครอบครัว ญาติพี่น้องแกนนำ ไปบอกว่าการทำแบบนี้ผิดกฎหมาย ผิดคำสั่ง คสช. แบบนั้นแบบนี้ ทำให้เกิดภาระยุ่งยาก เกิดความกังวลใจของญาติพี่น้องของผู้นำ มันไม่ควรที่จะเกิดขึ้น

หนักที่สุดโดนอะไร

กับตัวขบวนมีสองครั้งที่มาขอพบฝ่ายการเมืองที่ทำเนียบ มากันไม่เยอะ ประมาณ 20 กว่าคน พอมาแล้วเขาจะให้ชาวบ้านไปยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมของทำเนียบ เราก็ไม่ยื่นเพราะไม่ได้มาร้องเรียนแต่มาตามเรื่อง พอไม่ยื่นเราก็นั่งรอตรงประตูทำเนียบ ทีนี้ทหารมากันใหญ่เลย ชาวบ้านก็นั่ง แต่ก็ไม่กล้าทำอะไรชาวบ้าน

ครั้งที่สาม ที่อุบลฯ ชาวบ้านบอกว่าจะไปกัน 30 คน แต่เขามองว่าชาวบ้านอาจจะมาเยอะ เลยตั้งกองกำลังกัน 500-600 คน แต่ชาวบ้านไปแค่ 30 คน เอากำลังมากันเยอะจนนักข่าวหัวเราะ ก็เราบอกแล้วแต่เขาไม่เชื่อ เขาคิดว่าเราจะมาเยอะ จะทำลับ ลวง พราง สุดท้ายก็ขำแตก

ครั้งล่าสุดคือปีนี้ น่าจะช่วง ก.ค. มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีจากปนัดดา (ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล) เป็นออมสิน (ออมสิน ชีวะพฤกษ์) เราก็บอกว่าเราไม่เอาออมสิน เราก็ไปทำเนียบ เขาก็จะให้เราไปยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรม เราก็บอกว่าเราไม่ยื่น เราจะขอพบรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ทีนี้ไม่ได้ไป ตรงหน้าเชิงสะพานชมัยมรุเชฐจะมีตู้ไปรษณีย์ เราก็บอกว่าไม่ไป แต่ให้ขึ้นไปบนตึก คุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อจะแจ้ง เราก็บอกว่าแจ้งเยอะแล้ว ไม่แจ้ง เราเลยทิ้งจดหมายไว้ใต้ตู้ไปรษณีย์ เขาก็หาว่าเราไม่ให้เกียรติ ก็เขาให้เราไปคุยกับเจ้าหน้าที่ซี 3 ที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ เราจะคุยทำไม กลับมาก็โดนเรียกตัว

มีวิธีต่อรองกับทางการอย่างไรบ้างเวลาถูกเรียกตัว

เรื่องเรียกตัวนี่ถูกเรียกจากทั้งทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ ทหารบกนี่เป็น มทบ.22 ทหารอากาศคือกองบิน 21 ซึ่งเป็นกองทัพอากาศในอุบลฯ ส่วนทหารเรือดูแลพรมแดนแม่น้ำโขง ทีนี้ทหารบกก็อย่างที่เล่า ทหารอากาศมีครั้งหนึ่งที่ รมต. ปนัดดา ไปอุบลฯ ในเรื่องปากมูล เราก็แถลงว่าเราอยากเจอปนัดดา ในฐานะที่มาอุบลฯ จะไม่เจอชาวบ้านปากมูลไม่ได้ ทีนี้ฝ่ายราชการก็ไม่ยอมให้เจอ เราก็ถามว่าถ้าจะเจอปนัดดาจะเจอที่ไหนได้บ้าง เพราะว่าสนามบินอุบลฯ เข้าออกได้ทางเดียว ถ้าเราจะเจอเราจะดักที่สนามบิน แล้วคุณจะทำอย่างไร จากเคสนี้ทำให้ทหารอากาศเรียกตัวไป

ส่วนทหารเรือ เมื่อปี 2559 มันมีการบังคับใช้กฎหมายประมงเรื่องการห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ ที่ผ่านมาตรงนั้นไม่เคยมีการห้ามแบบนี้ เราเลยรู้สึกรับไม่ได้ เลยอยากจะไปจับภาพที่ทหารเรือไปไล่จับชาวบ้าน ก็โพสต์เฟสบุ๊คไลฟ์ไป ทำให้ ผบ. ทหารเรือที่คุมโซนแถวนั้นมาเรียกตัว แต่การพบทหารเรือนี่นำไปสู่คำถามที่ผ่านมาว่าได้ข้อสรุปอะไรบ้าง อันนี้ไม่รู้นะ คือเรารู้ว่าทหารเรือจะไปจับชาวบ้าน เราก็โพสต์ขู่เลยว่าเราจะไปดักจับทหารเรือ เตรียมเฟสบุ๊คไลฟ์อย่างดีเลย แต่มันไม่มีใครมา ทีนี้ ที่โขงเจียมมีร้านกาแฟอยู่ร้านเดียว ทั้งเมืองมีร้านเดียวซึ่งเป็นร้านที่เราชอบไปนั่งกินกาแฟ แล้วนิสัยเราคือ เข้าไปก็ถ่ายรูป กินกาแฟ เช็คอิน พอผ่านไป 5 นาทีทหารก็มาประกบแล้วก็แจ้งว่าผู้การฯ ขอเชิญไปพบพรุ่งนี้ น้องที่ไปด้วยกันก็ตกใจ เราก็ติดต่อทนาย ติดต่อทีมงานต่างๆ เราก็ไม่ว่างด้วย ก็ตอบกลับไปว่าขอพิจารณาก่อนว่าจะไปหรือไม่ไป พอวันหลังเราก็โพสต์บอกตั้งแต่เช้าก่อนเวลานัดว่าเราติดงาน ขอเลื่อนไปอีกสามวัน เปลี่ยนเวลาจากเช้าเป็นบ่ายเพื่อรอทีมทนายมา

พอตอนบ่ายถึงเวลานัดตามที่แจ้งในเฟสบุ๊คเราก็ขับรถเข้าไปที่ทำการทหารเรือ ทหารก็บอกว่า ผู้การให้มาตอนหนึ่งทุ่ม เราก็กลับออกมาแล้วแจ้งไปว่าหนึ่งทุ่มมันนอกเวลางาน ไม่สะดวก เพราะเราทำงานหนักเราอยากพักผ่อน ถ้าประสงค์จะพบอีกให้แจ้งผ่านเฟสบุ๊คมาอีกทีหนึ่ง ก็ไม่มีการแจ้ง สุดท้ายก็ไม่ได้เจอกัน เราไปถึงหน้าค่ายแล้วนะ ตอนนั้นเราไปกับศูนย์นักกฎหมายสิทธิฯ แต่ไม่ได้เจอ ก็เลยพากันไปกินส้มตำแล้วก็กลับ

มันไม่ใช่เทคนิคอะไรหรอก แต่คำสั่งที่เขาสั่งมามันไม่ได้ถามไถ่ว่าเราสะดวกไม่สะดวก บอกให้เราไปตามเวลา และให้เชิญชาวบ้าน มีครั้งหนึ่งที่เขาเชิญชาวบ้านไป 14 คน เราก็ถามว่าจะเชิญชาวบ้านไปทำไม เราไปเองดีกว่า ถ้าผมไปแล้วไม่ได้อะไร ก็ให้เชิญชาวบ้านไปเพราะชาวบ้านไม่ใช่ผู้ต้องหา เราก็ไม่ให้ชาวบ้านไป แต่เราก็ให้เกียรติ ถ้าบอกว่าไม่ไปกันหลายคนก็ต้องทำตามนั้น

แต่การที่เราไม่ไปก็ดีอย่างหนึ่ง เพราะหนังสือส่วนมากไม่ให้เตรียมตัว ไม่เคยมีที่ส่งมาวันนี้แล้วให้ไปอีกสามวัน แบบนี้ใช้ไม่ได้ เรามีงานอยู่แล้วว่าต้องทำอะไร มันเป็นไปไม่ได้ที่จะสั่งแบบนี้ แม้แต่ศาลยังมีเวลาตั้ง 15 วัน 7 วัน แล้วยังเลื่อนได้ เราไม่ได้ขัดคำสั่ง แต่เราไม่สะดวก ไม่ได้ขัดคำสั่ง แต่จะไปวันหลัง

ถ้าการเรียกตัวมีผลทางจิตวิทยาแล้วทำไมยังเลือกที่จะยังอยู่ทำงานในพื้นที่ต่อ

คือการเคลื่อนไหวชาวบ้านมันไม่ได้เพิ่งเกิด ชาวบ้านผ่านบรรยากาศการรัฐประหาร ผ่านบรรยากาศการคุกคาม ถ้าเทียบกับปัจจุบันยังเบากว่าแรกๆ ในยุคของการสร้างเขื่อนช่วงก่อนรัฐบาล คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2534 ยุคแรกแยกไม่ออกเลยว่าใครเป็นใคร ทั้งนายทุน เอกชน มือปืน ใครต่อใครก็มา ตอนนั้นโหดกว่านี้เยอะ ทำให้ชาวบ้านเติบโต ผ่านสถานการณ์ที่พีคสุดมาแล้ว บรรยากาศแบบนี้ไม่ได้บั่นทอนอะไรเขาหรอก และที่สำคัญคือ เขาสู้มาถึงวันนี้ 27 ปี แล้วเขาก็ยังมีระบบการรวมกลุ่ม มีผู้เดือดร้อนจริง เพียงแค่เงื่อนไข บรรยากาศทางการเมืองจะมาจำกัดบ้างในบางด้าน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเป้าหมายหลักคือการเรียกร้องความเป็นธรรม ตราบใดที่ความเป็นธรรมยังไม่เกิดมันก็ต้องมีการเรียกร้องต่อไป ไม่มีทางหยุดเขาได้หรอก

ผมมองว่า สิ่งที่ฝ่ายผู้มีอำนาจเริ่มรู้คือ คุณไม่มีทางหยุดชาวบ้านได้ คุณจัดการผมเสร็จมันก็มีคนอื่นมาเรื่อยๆ ไม่มีทางล้มขบวนการได้ มันเป็นขบวนการที่เป็นธรรมชาติเพราะมีชาวบ้านเดือดร้อน ฝ่ายผู้มีอำนาจเลยคิดว่าถ้าไปทำอะไรที่มันเลยเส้นมันน่าจะมีผลลบมากกว่าผลบวก นอกจากนั้นสิ่งที่ชาวบ้านสมัชชาคนจนทำมามันได้รับการยอมรับจากคนในสังคมว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด ผมว่าตรงนี้เป็นต้นทุนที่สำคัญที่ทำให้ฝ่ายกุมอำนาจปัจจุบันคิดหนักพอสมควรว่าจะวางท่วงทำนองในการทำปฏิบัติการลงมาอย่างไร

นอกจากการใช้อำนาจกับกองกำลังของทหารแล้วยังมีการใช้กลไกทางกระบวนการยุติธรรม ทั้งการยัดข้อหา พ.ร.บ.ประชามติ การสร้างขบวนการเพื่อทำเรื่องคดีหมิ่นประมาท มันเป็นแค่เศษเสี้ยวเท่านั้น ไม่ได้ไปยับยั้งขบวนการทั้งหมดได้หรอก

ที่เรารอดถึงวันนี้เป็นเพราะเครือข่าย คอนเนคชั่นหรือชื่อเสียงที่มีหรือเปล่า

เครือข่ายสำคัญมาก พวกเราทั้งฐานะขบวนชาวบ้านและส่วนตัวไปช่วยสนับสนุนขบวนชาวบ้านทั่วประเทศทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ คนเหล่านี้เขาไม่ทิ้งเราหรอก ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขารู้ว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับเรา คนเหล่านี้ไม่ทิ้งเราหรอก เขาเลยค่อนข้างระมัดระวังพอสมควร

เป็นเพราะพื้นที่เป็นทำเลทองที่ทหาร นายทุน ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือเปล่าที่ทำให้รอดถึงทุกวันนี้

อันนี้พูดยาก แต่เข้าใจได้ว่าพื้นที่ปากมูลมันเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจะเป็นรูปแบบขบวนการที่ต่อเนื่องและยาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย แล้วก็มีมวลชน มีชาวบ้าน มากกว่านั้นที่นั่นไม่ได้สู้อย่างโดดเดี่ยว ที่นั่นมีเครือข่าย แนวร่วมจากหลายสาขา หลายอาชีพ หลายกลุ่ม อันนี้น่าจะเป็นเกราะที่ทำให้เราปลอดภัยถึงวันนี้ได้

มีคำแนะนำให้ภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในสภาวะการเมืองอย่างนี้บ้างไหม

พูดตรงๆ นะ คือมันไม่มีอะไรน่ากลัวหรอก สิ่งที่คุยกับคนที่มาเรียกตัวทุกครั้ง จะเรียกว่าเป็นบุคลิกก็ได้ ถ้าคนที่คุยกับผมตำแหน่งต่ำกว่าระดับนายพันผมก็จะบอกเขาว่า ท่านครับ อันนี้เป็นเรื่องระหว่างองค์กรกับองค์กร ท่านเป็นทหาร เราเป็นภาคประชาสังคม ท่านน่าจะให้เกียรติเราบ้าง พวกยศนายร้อยมาเราไม่คุย เราก็ว่าท่านไม่ธรรมดาเรารู้อยู่ แต่ท่านตัดสินใจอะไรไม่ได้หรอก ท่านเป็นลูกน้องเขา ต้องให้คนที่ใหญ่กว่านี้มา ที่ผ่านมาทำแบบนี้ก็ไม่เห็นน่ากลัวอะไรเลยนะ เราต้องมั่นใจว่าเรามีอำนาจของภาคประชาชนที่บริสุทธิ์ ซึ่งต้องบอกให้เขารู้และให้เขาปฏิบัติตามด้วย ที่เขาทำมาก็ที่บอกไป แต่ไม่ได้บอกแบบก้าวร้าว บอกให้เขาเข้าใจว่าระดับนายร้อย นายสิบ ระดับปฏิบัติเขาตัดสินใจไม่ได้ เรื่องระดับองค์กรต้องให้ผู้บริหารตัดสินใจ ให้เขาเข้าใจระบบเรา ทุกครั้งที่ผมไป ผบ. ต้องนั่งหัวโต๊ะเอง แต่เราอย่าก้าวร้าว ต้องใช้ท่วงทำนองที่เป็นมิตรและเป็นเหตุเป็นผล

อย่าปฏิเสธการคุยกับชั้นผู้น้อย จงคุยกับเขาให้เขาเข้าใจว่าเราและเขาควรทำหน้าที่อะไร และให้เขาทำในสิ่งที่ควรจะเป็นในเชิงองค์กร มันไม่น่ากลัว สอง ตราบใดที่เรามีเจตนาบริสุทธิ์ ต้องอธิบายว่าเราเชื่อในประชาธิปไตย มันมีสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนของ คสช. คือ คสช. ยอมรับหลักการประชาธิปไตยที่ดีและกำลังไปสู่มัน เราก็ต้องบอกให้เขารู้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่คือประชาธิปไตยซึ่ง คสช. ยังไปไม่ถึงเรา ต้องอธิบายให้เขารู้ และยกรูปธรรมให้เขาเห็นว่าเราอยู่ในประชาธิปไตยแล้ว คุณยังไปไม่ถึงเรา คุยกับเขาแล้วอธิบายให้เขาเข้าใจ การที่เราปฏิเสธ หลบลี้ มันไม่ถูก ก็คุยกับเขาซะในทางหลักการว่าผู้บริหารท่านจะเอาขนาดไหน เอาประชาธิปไตยหรือเปล่า คุณบอกเราว่ายังไม่ถึงเวลา เอ้า ก็เราไปล่วงหน้าคุณ คุณตามหลังเรามา เราไม่ได้ผิด คุณต่างหากที่ตามเรามาไม่ทัน

จะทำอะไรก็แล้วแต่ ครอบครัวต้องเข้าใจในสิ่งที่คุณทำ อธิบายกับทหาร โครงสร้างอำนาจรัฐให้มาก และต้องอธิบายกับครอบครัวให้เข้าใจมากกว่า พอเขาเข้าใจแล้วเขาไม่มีคำถามหรอก แต่คุณชัดเจนหรือยังว่าคุณอธิบายคนอื่นได้ ปัญหาคือเราสามารถอธิบายได้หรือเปล่า

มันต้องทันคนเหล่านี้ ทหารไม่ได้ศึกษาสังคม การเมืองอะไรมากมาย อย่าไปด่าระดับปฏิบัติ เพราะว่าพวกนี้ไม่รู้หรอก ระบบสายบังคับบัญชาเขาเป็นอย่างนั้น ก็ต้องอธิบายกับเขาว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าเขาไม่เข้าใจก็อย่าแปลกใจ เพราะเขาไม่ได้ถูกทำให้เข้าใจอย่างนั้น แต่ถ้าเขาฟังแล้วเข้าใจก็ถือเป็นกำไรของเรา อย่ารำคาญกับการอธิบาย ผมคิดว่าสิ่งนี้สำคัญ ผมว่าพรรคพวกเราไม่ค่อยอธิบายมากกว่ามั้ง ใช้วิธีการปฏิเสธแล้วก็มองว่าคนพวกนี้ไม่มีวันเข้าใจ คนไม่รู้ไม่ผิด ชาวบ้านไม่รู้ว่ามีโครงการลงมา ไม่ผิด ตรรกะเดียวกัน ทหารไม่รู้จักประชาธิปไตยแล้วเขาผิดเหรอ ชาวบ้านและทหารต่างทำในสิ่งที่เขาเข้าใจ ณ ขณะนั้น เราทำงานกับชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านไม่รู้ เราก็ต้องฝึกฝนชาวบ้าน สร้างความสนใจให้ชาวบ้านรู้ ใช้สิทธิ์ ทหารไม่รู้เพราะผู้บังคับบัญชาสั่งให้รู้แบบนี้ เขาก็ใช้สิทธิ์ตามคำสั่งที่เขารู้มา มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดของเขา มันเป็นเพียงการปะทะกันแค่นั้นเอง เขามาละเมิดเรา แต่ถ้าเรามองมากกว่านั้นมันก็คือเขาไม่รู้ เขาไม่เข้าใจ ถ้าเราไม่ทำให้เขารู้และเข้าใจเขาก็จะไม่เข้าใจต่อไป

แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เขาเข้าใจ มันก็เหมือนทำงานกับชาวบ้านแหละ ต้องใช้เวลาเท่าไหร่กว่าชาวบ้านจะเข้าใจ สองปีสามปีก็ไม่มากไม่น้อยหรอกถ้าจะให้ทหารเข้าใจประชาธิปไตย ชาวบ้านสร้างขบวนการมาแต่ละกลุ่มก็ใช้เวลาสามปีถือว่าเร็วไปด้วยซ้ำ

เจอเรียกตัว 18 ครั้ง กลัวถูกอุ้มหาย ถูกฆ่าทิ้งบ้างไหม

กลัว ไม่ได้ประมาท มีพรรคพวกที่รู้จักกันถูกอุ้มหายเยอะ และมีสัญญาณบางอย่างว่าเราก็อันตราย ก็ระวังตัวอยู่ ทุกย่างก้าวระมัดระวังตลอด การโพสต์เฟสบุ๊ค การเคลื่อนไหวต่างๆ ถูกคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว การจะไปแต่ละที่ในช่วง 3 ปีมานี้มันถูกออกแบบไว้ระดับหนึ่ง แต่ก็มีการเปลี่ยนทุกอย่างตลอดเวลา เรื่องความปลอดภัยตอนนี้ตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า การอุ้มหายเกิดขึ้นได้ การขึ้นศาลเกิดขึ้นได้

แต่สิ่งที่ต้องสรุปตอนนี้คือ ถ้าหยุดเคลื่อนไหวเมื่อไหร่จะเป็นอันตราย เพราะเขาจะไล่เราเข้าสู่มุมมืด ถ้าเข้าสู่มุมมืดเมื่อไหร่นี่อันตรายมาก อันนี้แล้วแต่คนจะคิด บางคนก็บอกว่า มากไปก็ถอยบ้าง ผมคิดตรงข้ามว่า ถ้าเราถอยเมื่อไหร่จะเป็นอันตราย เราต้องมั่นใจในสภาพที่คุณอยู่ ถ้าคุณมั่นใจก็ต้องเดินไปบนเส้นทางนั้น ในมุมผม คนที่โดนรุกหนักคือคนที่ถึงจังหวะหนึ่งแล้วถอย แม้แต่ไอ้ไผ่ (ดาวดิน) มันถอยนาทีสุดท้าย มันเลยรับสารภาพไง พอมันสารภาพแล้วการต่อรองทางการเมืองมันไม่มีจริง ผมอาจจะคิดผิดในสถานการณ์นี้ ไผ่อาจจะคิดถูกก็ได้ แต่ที่เห็น ณ เวลานี้คือ ไผ่พัวพันเยอะมาก ชีวิตทั้งชีวิตนี้ไม่รู้จะได้อิสรภาพเมื่อไหร่ ทั้งคดี 112 คดียกป้าย พอถอยหนึ่งคดีแล้วมันพันไปเรื่อย มันไม่มีสัจจะในหมู่โจรไง กรณีไผ่เป็นกรณีที่นักเคลื่อนไหวต้องคิดกันว่าการที่ไผ่ยอมรับสารภาพ ฝ่ายอำนาจมันไม่ได้ยอม ผมก็ยืนในจุดที่ผมไม่ยอมตลอด ไผ่มันอาจจะคิดผิด เราอาจจะคิดถูกก็ได้ ซึ่ง ณ เวลานี้อาจเป็นอย่างนั้น แต่พรุ่งนี้อาจไม่ใช่ก็ได้ เหนื่อยแทนมันฉิบหาย

สิ่งที่คนทำงานพวกนี้ต้องตระหนักคือ จุดที่คุณปลอดภัยที่สุดคือท่ามกลางประชาชน ตราบใดที่เขายังรักและศรัทธาคุณอยู่ ประชาชนจะปกป้อง

แล้วเวลาไปหาทหารที่ค่ายทำไมไม่เอาคนไปเยอะๆ

การที่เราไม่ไปเยอะมันทำให้เขาศรัทธาเรามากขึ้น ว่าเราไม่ได้สร้างภาระให้เขา เราแบกรับภาระเอง การเอาชาวบ้านไปด้วยมันมีผลลัพธ์หลังจากนั้น ซึ่งคนไม่มอง การเอาชาวบ้านไปด้วยมันได้ในภาพ แต่หลังจากกลับมา และถ้าไปหลายครั้งมันเป็นภาระชาวบ้านแล้วพวกเขาจะหวั่นไหว สมมติว่าถ้าเขาขยายผลจากนายป้าย ไปหานายสี นายสา พอถึงจุดนั้น นายเอ นายบี จะหายไป แต่พอมีแต่นายป้ายไป คนอื่นมันยังอยู่ แต่ตราบใดที่เราไม่สามารถจะรักษาคนทั้งหมดได้ถ้าเขาไม่มั่นใจว่าเราปกป้องคุ้มครองเขาได้ แต่ถ้าเขารุ้สึกว่าเขาอยู่กับเราแล้วปลอดภัย เขาก็จะอยู่ต่อไป การสร้างภาระมันก็ได้ช่วงหนึ่ง แต่เวลาผ่านไปเขาจะรู้สึกว่าเป็นภาระและผละจากเราไป เราต้องการรักษาจิตวิทยามวลชน เราเลยยอมเจ็บปวดแทนเขาให้เขาทิ้งเราไม่ได้ มันเป็นอารมณ์แบบนั้นมากกว่า ไม่ต้องสร้างภาระให้ชาวบ้าน นักเคลื่อนไหวในแนวทางสันติวิธี เสียอะไรก็เสียได้ แต่เป็นเรื่องยากที่จะเสียอิสรภาพของผู้ตามเพื่อแลกมาซึ่งอิสรภาพของตัวเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net