Skip to main content
sharethis

คุย กับ บุษยรัตน์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงาน ประเมิน 11 นโยบาย ของ รมว.แรงงานคนใหม่ ระบุที่เหมือน ‘จับเสือมือเปล่า’ เหตุมีกฎหมาย-กลไกบังคับใช้อยู่แล้ว พร้อมเปิด 8 ประเด็นร้อน ที่ยังไม่ถูกแก้ไข ก.แรงงาน เป็นการบ้าน ย้ำงานกระทรวงไม่ใช่ งานบนฐานสงเคราะห์ แต่เป็น งานฐานสิทธิ

แฟ้มภาพ

จากเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา ตามรายงานข่าวของ มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ ที่พึ่งเข้ามารับตำแหน่งต่อจาก พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ที่ลาออกเมื่อ 2 พ.ย.60 ได้มอบนโยบายเร่งด่วนแก่ผู้บริหารทุกระดับที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 รวมทั้งหมด 11 ข้อ ประกอบด้วย

(1) เร่งรัดจัดระเบียบเเรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายภายในวันที่ 31 มี.ค. 2561 วางเป้าหมาย 1,137,000 คน ให้มีการลงทะเบียนเเละการพิสูจน์สัญชาติอย่างรวดเร็วเเละสะดวก

(2) ผลักดันเเละเร่งรัดเเก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายด้านเเรงงานตาม IUU Fishing ป้องกันไม่ให้มีการใช้เเรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย

(3) เเก้ปัญหาการหลอกลวงเเรงงานไทยไปต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย

(4) ส่งเสริมให้นายจ้างเเละสถานประกอบการรับคนพิการเข้าทำงานในรูปแบบประชารัฐ

(5) เร่งรัดกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงเพื่อส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น

(6) ขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand ภายในสถานประกอบการ

(7) ผลักดันเเรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึง

(8) ยกระดับคุณภาพฝีมือเเรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายในยุคไทยเเลนด์ 4.0

(9) เพิ่มขีดความสามารถเเรงงานไทยที่ไปทำงานที่ต่างประเทศให้มีสมรรถนะสูง เตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง

(10) ผลักดันการสร้างสิทธิประกันสังคมที่เป็นธรรม เท่าเทียม และคุ้มครองแรงงานอย่างทั่วถึง

(11) ยกระดับสายด่วน 1506 ให้สามารถเป็นเครือข่ายหลักเเละเชื่อมโยงระบบโทรศัพท์ทั่วประเทศ 

 บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงานและผู้ติดตามนโยบายเกี่ยวกับแรงงาน

ในโอกาสที่มีการเปลี่ยน รมว.แรงงาน และการประกาศนโยบายดังกล่าว ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สัมภาษณ์ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงานและผู้ติดตามนโยบายเกี่ยวกับแรงงาน เพื่อประเมินและวิจารณ์นโยบายทั้ง 11 ข้อดังกล่าว พร้อมทั้งประเด็นปัญหาร้อนๆ ที่กระทรวงแรงงานควรรีบแก้ไข

“งานของกระทรวงแรงงานจึงไม่ใช่ งานบนฐานสงเคราะห์ แต่เป็น งานฐานสิทธิ ที่คนทำงานคนหนึ่งๆ พึงได้รับในฐานะการเป็น แรงงาน ดังนั้นโจทย์สำคัญของการแก้ไขปัญหาแรงงานจึงต้องคำนึงถึงบริบทที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องตัวบทกฎหมายเท่านั้น เพราะที่กล่าวมาก็เห็นแล้วว่า บางครั้งกฎหมายก็เป็นกลไกในการละเมิดสิทธิแรงงานเอง การตระหนักถึงแรงงานในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ดูแล เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการจ้างงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ” บุษยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

จับเสือมือเปล่า

บุษยรัตน์ เริ่มต้นด้วยว่ากล่าวว่า นโยบาย 11 ข้อที่กล่าวมานั้น เป็นนโยบายแบบจับเสือมือเปล่า เนื่องจากหลายนโยบายมีกฎหมายบังคับใช้อย่างแน่นอนอยู่แล้ว มีกลไกปฏิบัติ มีหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจน มีแผนงานดำเนินการ เป็นงานปกติที่กระทรวงแรงงานต้องทำอยู่แล้ว นี้ไม่นับนโยบายที่เหลือก็เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กับการแก้ไขปัญหา ความหน้าบางของรัฐไทยต่อประชาคมโลก โดยเฉพาะในเรื่อง “Tier 2 Watchlist” และ “ใบเหลืองจากสหภาพยุโรป (EU)”   

ชำแหละรายนโยบาย

นโยบายข้อ 1-3 นั้น บุษยรัตน์ กล่าวว่า เป็นนโยบายเพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และหวังผลว่าการดำเนินการแบบนี้ ในอนาคตไทยจะหลุดพ้นจาก “Tier 2 Watchlist” และ “ใบเหลืองจาก EU” ทั้งนี้เมื่อ มิ.ย. 2560 ประเทศไทยยังคงถูกจัดอยู่ในระดับ “Tier 2 Watchlist” เช่นเดียวกับปี 2559 ซึ่งหมายถึงประเทศที่การค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น ล้มเหลวในการแสดงหลักฐานที่แสดงถึงการเพิ่มความพยายามในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพม่าและลาว

กรณีที่ EU ได้ให้ใบเหลือง ไทยอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ เม.ย. 2558 เนื่องจากประเทศไทยขาดการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย  ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) ยังคงมีการใช้เครื่องมือผิดกฎหมายทำประมง การขาดการควบคุมจำนวนเรือประมง การทำประมงเกินขนาด และปัญหาการใช้แรงงานทาสโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ จากพม่า ลาว กัมพูชา ทั้งนี้นโยบายสำคัญของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในเรื่องนี้คือ ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ ลดการใช้แรงงานเด็กใน 4 กิจการ ได้แก่ กุ้ง ปลา อ้อย และน้ำตาล ตลอดจนคุ้มครองดูแล บังคับใช้กฎหมายกลุ่มแรงงานบังคับและแรงงานขัดหนี้

บุษยรัตน์ ชี้ด้วยว่า นโยบายข้อ 4-7 และข้อ 10-11 เป็นนโยบายปกติที่มี พ.ร.บ.บังคับใช้และหน่วยงานรัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว โดยเฉพาะการออกกฎหมายลำดับรอง หรือกฎหมายลูก หรือระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นโยบายส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ นั้น บุษยรัตน์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายนี้ ได้กำหนดชัดเจนในมาตรา 33 ว่า สถานประกอบการและหน่วยภาครัฐที่มีจำนวนพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องรับคนพิการที่สามารถทำงานได้เข้าทำงานในอัตราส่วน 100 ต่อ 1 ที่วันนี้พบว่ามีคนพิการอีกกว่า 5 แสนคนไม่มีงานทำ ทั้งนี้หน่วยงานที่รับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนที่น้อยกลับไม่ใช่สถานประกอบการแต่คือหน่วยงานภาครัฐ จนต้องมีมติคณะรัฐมนตรี 10 ต.ค.2560 เร่งรัดการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวนี้โดยตรงกำหนดให้การดำเนินการตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐเป็นตัวชี้วัดของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐในการประเมินผลการปฏิบัติงาน เป็นต้น

ส่วนนโยบาย กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงเพื่อส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น นั้น ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ 1 ก.ย. 2560 โดยมีมาตราหนึ่งระบุว่า คณะกรรมการค่าจ้างสามารถกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง เพื่อส่งเสริมการจ้างงานในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา คนพิการ และผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถทำงานได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่ม ที่อาจมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อเป็นประโยชน์ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่พร้อมทำงานเต็ม 8 ชั่วโมง ก็สามารถทำรายชั่วโมงได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีของกระทรวงแรงงานโดยตรง ก็ต้องไปศึกษาและออกประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ขณะที่นโยบาย safety thailand ภายในสถานประกอบการ นั้น บุษยรัตน์ ชี้ว่า เป็นนโยบายหนึ่งตามวาระ Startup Thailand ที่บูรณาการความร่วมมือของกระทรวงแรงงานกับอีก 5 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งลงนามบันทึกความร่วมมือไปเมื่อ 26 ก.ค. 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีเป้าหมายระยะยาวเพื่อลดอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคจากการทำงาน ส่วนระยะสั้นคือ เฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง การทำงานเกี่ยวกับอัคคีภัย และความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี อีกทั้งยังสอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ.2549 ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไปเมื่อ มี.ค.2559

นโยบาย ผลักดันเเรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมฯ นั้น บุษยรัตน์ กล่าวว่า เมื่อ พ.ค. 2560  กระทรวงแรงงานได้ลงนามข้อตกลงเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2564 ไปสู่การปฏิบัติ กับภาคีเครือข่ายต่างๆ เพื่อทำให้แรงงานนอกระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดีใน 3 เรื่อง คือ 1. การสร้างหลักประกันและขยายการคุ้มครองให้ทั่วถึง ในการแก้กฎหมาย การดูแลสุขภาพและความปลอดภัย 2. เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะในการพัฒนาทักษะที่มีมาตรฐานและมีผลิตภาพ 3. การเพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ ผ่านระบบไอที เครือข่ายและหน่วยงานในท้องถิ่น โดยมีจังหวัดนำร่อง 16 พื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศ

โดยการลงนามนี้สอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ให้มีการขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม จากเดิม 1.3 ล้านคน ได้มีการตั้งเป้าให้เพิ่มเป็น 3 ล้านคน ขณะเดียวกันสำนักงานประกันสังคมก็อยู่ในระหว่างการเสนอเรื่องปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนการเตรียมจัดงานสมัชชาแรงงานนอกระบบ เปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและระดมความคิดเห็นจากกลุ่มแรงงานนอกระบบ รวมถึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป 

ส่วนกรณีการยกระดับสายด่วน 1506 นั้น สายด่วนดังกล่าวก็เป็นเป็นสายด่วนของสำนักงานประกันสังคมอยู่แล้ว มีเจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ให้บริการทั้งข้อสอบถามและเรื่องร้องเรียนผ่านทางโทรศัพท์ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการรับเรื่องร้องทุกข์ เพื่อประสานงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้ประกันตนในเรื่องนั้นๆ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2560 เป็นต้นมาได้หยุดให้บริการชั่วคราว เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการตอบสนองความต้องการในการรับรู้สิทธิของผู้ประกันตน รองรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ขณะที่ นโยบายข้อ 8-9 นั้น บุษยรัตน์ กล่าวว่า เป็นนโยบายที่ตอบสนองวาระหลักของรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เดิมอยู่แล้ว

เปิด 8 ประเด็นร้อนที่ยังไม่ถูกแก้ไข ก.แรงงาน

บุษยรัตน์ กล่าวว่า จาก 11 ข้อนโยบายร้อนๆที่กล่าวมาจึงเห็นได้ว่ายังละเลยเรื่องร้อนๆ ของแรงงาน อีกหลายประการที่เป็นผลมาจากช่องว่างกฎหมาย จากการติดตามสถานการณ์แรงงานในรอบปี 2560 พบว่า มีเรื่องร้อนๆ ฉ่า ที่ยังไม่ถูกแก้ไขจากกระทรวงแรงงานอย่างน้อย 8 เรื่อง

ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

(1) คณะกรรมการค่าจ้างไม่มีความชัดเจนในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 และค่าจ้างแต่ละพื้นที่ยังคงมีความแตกต่างกัน  แม้ว่าเมื่อ ส.ค. 2560 กระทรวงแรงงานจะมีการจัดสัมมนากำหนดกรอบแนวทางหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ให้กับผู้แทนคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด เพื่อใช้เป็นสูตรในการคำนวณอัตราค่าจ้าง ได้นำไปพิจารณากันอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันหรือในอนาคต เนื่องจากในปี 2560 คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นวันละ 5-10 บาทจำนวน 69 จังหวัด ส่วนที่เหลืออีก 8 จังหวัดยังคงเดิมไว้ที่ 300 บาท

อย่างไรก็ตามมาจนบัดนี้กระทรวงแรงงานก็ยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการดังกล่าว บทบาทของคณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจโดยตรง การตัดสินใจยังคงเป็นเพียงคณะกรรมการค่าจ้างระดับประเทศเท่านั้น โดยเฉพาะสูตรการคิดค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานมีความซับซ้อนมากขึ้น และอาจส่งผลให้ค่าจ้างมีความแตกต่างกันในทุกจังหวัดก็เป็นไปได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบโครงสร้างค่าจ้าง และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคมมากขึ้น

(2) ข้อจำกัดของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่ส่งผลต่อการเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานโดยง่าย กับการแก้ไขกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง  แม้ว่าขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานอยู่ในระหว่างการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับเดือนสิงหาคม 2560 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามกลับพบว่าในหลายมาตรายังขัดกับหลักการอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เช่น การก่อตั้งและจดทะเบียนสหภาพแรงงาน การแบ่งแยกสหภาพแรงงานระดับบังคับบัญชาและปฏิบัติการ การกำหนดคุณสมบัติกรรมการต่างๆที่ยังไม่ครอบคลุมคนงานทุกภาคส่วน การขยายระยะเวลาในการเจรจาต่อรอง ระยะเวลาในการยื่นพิพาทแรงงาน ระยะเวลาในการไกล่เกลี่ย การให้อำนาจอธิบดีในการตัดสินใจหลายๆเรื่อง ฯลฯ โดยเฉพาะกฎหมายยังไม่สามารถคุ้มครองผู้ดำเนินการก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานได้ แม้จะมีการห้ามการเลือกปฏิบัติในลักษณะที่ต่อต้านสหภาพแรงงาน แต่พบว่าลูกจ้างก็ยังถูกเลิกจ้างอย่างถูกกฎหมายในข้อหาอื่นๆได้ทุกเมื่อ เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ ไม่มีตำแหน่งงานให้ทำ มาสายหรือลาป่วยไม่สุจริต เป็นต้น รวมถึงนายจ้างยังมีอำนาจเด็ดขาดในการเลิกจ้างหรือลงโทษกรรมการสหภาพแรงงาน

ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับเดิมนี้เอง ในปี 2560 จึงพบสถานการณ์การเลิกจ้างประธานและกรรมการสหภาพแรงงานที่มีส่วนในการเจรจาต่อรองการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของพนักงาน อย่างน้อย 3 แห่ง คือ การเลิกจ้าง อภันตรี เจริญศักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการแห่งประเทศไทย เมื่อ 7 พ.ย. 2560 เฉลิมพล ผลาพรม อดีตประธานสหภาพแรงงานซัมมิท แหลมฉบัง โอโต บอดี้ เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2560 เรืองศักดิ์ คล้ายมาลา ประธานสหภาพแรงงานชิ้นส่วนรถยนต์แห่งปราจีนบุรี เมื่อ ก.ย.2560

(3) ข้อจำกัดของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 กรณีการจ่ายบำนาญชราภาพ , การแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ขยายอายุรับบำนาญชราภาพ และการติดค้างเงินสมทบหลายหมื่นล้านของภาครัฐ  สืบเนื่องจากที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้กำหนดประโยชน์ทดแทนเรื่องการจ่ายบำนาญชราภาพโดยไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ ได้รับเงินบำนาญเพียงเดือนละไม่เกิน 3,675 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ และไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีการคิดคำนวณฐานของเงินบำนาญชราภาพใหม่ โดยเฉพาะในมาตรา 39 ยังไม่มีการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างที่ยังคงเฉลี่ยจาก 60 เดือนสุดท้ายทำให้เงินบำนาญชราภาพที่ผู้ประกันตนได้รับต่ำกว่าอัตราค่าครองชีพหรือรายได้ขั้นต่ำของประเทศรวมถึงต่ำกว่าเส้นความยากจน ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ต้องนำผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมรวม 51 คน เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้มีการเพิกถอนกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เมื่อ ต.ค. 2560

แนวคิดการขยายอายุการรับเงินชราภาพของผู้ประกันตนจากอายุ 55 ปี เป็น 60 ปี ของสำนักงานประกันสังคม ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่การจ้างงานแรงงานในระบบจะเกษียณอายุที่ 55 ปี ดังนั้นการขยายระยะเวลาออกไปอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนในการดำรงชีพในอนาคต อีกทั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยังจัดโดยรวบรัด ไม่โอกาสให้ผู้ประกันตนกลุ่มต่างๆเข้าร่วมอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ รัฐบาลในช่วงปี 2555-57 ยังคงค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจำนวนราว 5.6 หมื่นล้านบาท โดยที่ไม่มีมาตรการเรียกคืนเงินแต่อย่างใดเหมือนมาตรการลงโทษนายจ้างที่ค้างเงินสมทบ

(4) การเร่งรัดเสนอร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ….เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อ ก.ย. 2560  พบว่าหากบรรษัทวิสาหกิจสามารถขายหุ้นได้เกินร้อยละ 50 รัฐวิสาหกิจแห่งนั้นจะพ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ นี้จึงทำให้สถานะพนักงานรวมถึงสิทธิต่างๆก็หมดตามไปด้วย โดยเฉพาะการไม่สามารถรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรสหภาพแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองได้ ซึ่งเป็นการขัดต่อหลักการอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 23 (4) ที่บัญญัติว่าทุกคนมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงานและมีสิทธิเข้าร่วมกับสหภาพแรงงาน

(5) การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 กับบทลงโทษที่รุนแรง มาตั้งแต่ มิ.ย. 2560  ในเรื่องนี้ทางเครือข่ายประชากรข้ามชาติได้ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน โดยเฉพาะการออกมาตรการเพื่อเปิดช่องทางให้แรงงานฯ เดินทางกลับโดยมีกำหนดเวลา เพื่อลดปัญหาการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานฯ ตลอดจนการลดขั้นตอนการขออนุญาตทำงาน และการยื่นคำขอนำเข้าแรงงานในระบบ MOU ให้มีระยะเวลาสั้นลง

ขณะเดียวกันรัฐบาลควรจัดทำร่าง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อทบทวน ยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมายบางมาตราที่ไม่นำมาสู่การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ  และรัฐบาลควรจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยจัดตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจากทุกภาคส่วน ก่อนให้การพิจารณารับรองร่าง พ.ร.ก.ฯ

(6) การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องการจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้าง  จากรายงานสถิติคดีศาลยุติธรรมทั่วราชอาณาจักร ประจำ ปี พ.ศ. 2559 ของสำนักงานศาลยุติธรรม ได้สรุปข้อมูลสถิติคดีศาลแรงงานกลางและศาลแรงงานภาค พบว่าในปี พ.ศ. 2559 มีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาเพิ่มขึ้น โดยในปี 2558 รวม 15,269 คดี ส่วนปี 2559 รวม19,675 คดี  จำนวนผู้เสียหาย 27,030 คน

โดยข้อหาสูงสุด 5 อันดับที่ขึ้นสู่การพิจารณาคดีในศาลในปี 2559 คือ ขอให้คิดค่าชดเชย , ขอให้จ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลา , ขอให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, ขอให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง , ขอให้รับกลับเข้าทำงานและหรือให้จ่ายค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งถ้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีกลไกการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด จริงจัง โอกาสที่นายจ้างจะละเลยการปฏิบัติตามกฎหมายก็จะมีน้อยลง และทำให้การฟ้องร้องทางคดีก็ลดลงตามไปด้วย

(7) รัฐบาลยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง เพื่อประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างกรณีนายจ้างปิดกิจการแล้วไม่จ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่น  มีกรณีสำคัญในปี 2560 ที่เกิดขึ้นกับคนงานบริษัท บริติชไทยซินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด จ.สมุทรสาคร หลังจากที่บริษัทฯหยุดกิจการ ได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้วไม่จ่ายค่าชดเชยใดๆทั้นสิ้น ขณะเดียวกันเมื่อมีการเจรจา นายจ้างกลับมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลและเจ้าหน้าที่การเงินของบริษัทฯ มาเจรจากับลูกจ้างแทน ซึ่งไม่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องใดๆทั้งสิ้น

ทั้งนี้เมื่อลูกจ้างมาร้องเรียนกับกระทรวงแรงงานเพื่อขอให้จ่ายเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ก็จะได้รับค่าชดเชยน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าชดเชยที่กำหนดไว้ในมาตรา 118 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เนื่องจากระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างว่าด้วยการจ่ายเงินอัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย พ.ศ. 2546 (ฉบับที่ 2) และ พ.ศ. 2552 ได้กำหนดอัตราจ่ายเงินไว้ว่า “กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ให้จ่าย 30 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงาน 120 วัน – ไม่ครบ 3 ปี , จ่าย 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานครบ 3 ปี–ไม่ครบ 10 ปี และจ่าย 90 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน สำหรับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 10 ปีเป็นต้นไป ส่วนกรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย จะจ่ายให้ลูกจ้างผู้ขอรับเงินไม่เกิน 60 เท่าของอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างพึงได้รับ”

(8) ความเสี่ยงของคนงานจากการยกเคลื่อนย้ายของหนักจนต้องประสบกับโรคทางการยุทธศาสตร์ แม้จะมีกฎกระทรวงกำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานได้ พ.ศ.2547 แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าวันหนึ่งๆคนงานต้องยกหรือเคลื่อนย้ายของหนักไม่เกินกี่ชั่วโมง ด้วยกระบวนการผลิตที่รีบเร่งได้ส่งผลให้คนงานต้องทำงานในท่าเดิมๆทุกวัน  และส่งผลต่อการเป็นโรคทางการยศาสตร์เกี่ยวกับระบบกระดูก กล้ามเนื้อ คอ เส้นเอ็น ซึ่งในปี 2560 พบผู้ป่วยในโรคดังกล่าวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดที่เข้ามาร้องเรียนที่สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตามด้วยข้อจำกัดการเข้าถึงการวินิจฉัยกับแพทย์เชี่ยวชาญอาชีวเวชศาสตร์ ทำให้คนงานจึงเข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมายเงินทดแทน จนบางคนต้องประสบความพิการและฟ้องร้องในชั้นศาลเป็นคดีความ การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิดการคุ้มครองคนงานในเรื่องดังกล่าวนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ          

“งานของกระทรวงแรงงานจึงไม่ใช่ งานบนฐานสงเคราะห์ แต่เป็น งานฐานสิทธิ ที่คนทำงานคนหนึ่งๆ พึงได้รับในฐานะการเป็น แรงงาน ดังนั้นโจทย์สำคัญของการแก้ไขปัญหาแรงงานจึงต้องคำนึงถึงบริบทที่เกี่ยวข้อง ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องตัวบทกฎหมายเท่านั้น เพราะที่กล่าวมาก็เห็นแล้วว่า บางครั้งกฎหมายก็เป็นกลไกในการละเมิดสิทธิแรงงานเอง การตระหนักถึงแรงงานในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่ต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ดูแล เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการจ้างงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ” บุษยรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net