Skip to main content
sharethis

วันนี้คนนอกไม่ฟังคนในพื้นที่ ตั้งคำถาม “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” พูดทางหนึ่ง ทำอีกทาง สังคมไทยควรมีบทบาทแก้ปัญหา 3 จ.ชายแดนใต้ สานเสวนา เผยจุดอ่อนและความเห็นแย้งให้เข้าใจกัน ความอยู่รอดในพื้นที่ต้องมาก่อน วิจารณ์เอกสารคณะพูดคุยสันติฯ ปัจจุบัน ยิงไม่ตรงเป้า ปัดรับผิดชอบเรื่องการยอมรับ

รศ.โคทม อารียา

6 ธ.ค. 2560 รศ.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “บทบาทของสังคมไทยกับการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้” ในเวทีเสวนาหัวข้อ “บทบาทคนนอกพื้นที่ต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้” จัดโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ Strengthening Human Rights and Peace Research and Education in ASEAN/Southeast Asia (SHAPE-SEA)

OOOOOOO

ทั่วไปคนในสังคมไทยไม่รู้สึกอะไรนักกับความขัดแย้งในชายแดนใต้ ทุกท่านในที่นี้คงรู้สึกค้านผมทันที เว้นแต่เมื่อมีข่าวหรือคนใกล้ชิดได้ผลกระทบ กระนั้นคนที่สนใจ คือพวกท่านทั้งหลายก็มักจะแบ่งคนในสังคมไทยเป็นคนในพื้นที่กับนอกพื้นที่ชายแดนใต้ คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นมลายูมุสลิม คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบหรอกครับ คนนอกส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ แม้จะมีคนเชื้อสายอื่นๆ เพียงแต่มีสัญชาติไทยอีกเยอะที่ไม่ใช่เชื้อสายไทยและไม่นับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่เป็นไร คนนอกพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ถือว่าตัวเองเป็นชาวไทยพุทธแล้วกัน

คนนอกพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นใจชาวไทยพุทธในพื้นที่ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ในขณะที่ความรู้สึกกับชาวไทยมลายูมุสลิมก็พอจะรู้สึกว่าถ้าเขายังมีใจเป็นไทยก็ยังพอยอมรับให้อยู่ร่วมกันในประชาคมไทย ส่วนคนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีจำนวนมากที่ยังเห็นใจฝ่ายขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐ แต่ส่วนที่เป็นชาวพุทธในพื้นที่ที่มีอยู่ราวร้อยละ 10 มีความหวั่นใจ ไม่มั่นใจต่ออนาคต

ผมว่าจะต้องมีแว่นมองต่อว่าเราจะให้ความเมตตาโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นผู้ให้ฝ่ายเดียวได้ไหม หรือจะต้องให้อย่างมีเงื่อนไขว่าเขาต้องมีความเมตตากับเราด้วย รัฐต้องมียุทธศาสตร์อย่างไร จะเอาชนะขบวนการ หรือยุทธศาสตร์การอยู่ร่วมกัน ถ้าชนะก็ชนะร่วมกัน อันนี้ผมถามฝ่ายรัฐในฐานะที่เขาอ้างเสมอว่าเป็นตัวแทนคนไทยว่าเราจะสร้างวาทกรรมขัดแย้งที่ครอบงำ หรือเพียงเสนอวาทกรรมของเราและรับฟังวาทกรรมของเขา และถ้าเห็นพ้องบ้างก็เอามาปรับกับของเรา ทั้งนี้ เพื่อให้มีพื้นที่วาทกรรมที่เปิดกว้างและยอมรับความเห็นที่หลากหลาย ถ้าเรามีแว่นมองตั้งแต่เรื่องความเมตตา จะเอาชนะหรือชนะด้วยกัน และยอมรับวาทกรรมทั้งที่ขัดแย้งกันและไปกันได้ ผมว่าจะช่วยให้บทบาทสังคมไทยเป็นไปในทางบวกมากขึ้น

ศ.จอห์น พอล เลเดอรัค (ศาสตราจารย์ด้านการสร้างสันติจากมหาวิทยาลัยนอเธอร์ดาม รัฐอินเดียนา สหรัฐฯ) กล่าวว่า การใฝ่รู้อย่างย้อนแย้งเป็นหนึ่งในสี่สารัตถะของการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง คือ ความเห็นที่แย้งกับความเชื่อสามัญ แต่ไม่ใช่ขัดแย้งโดยตรงกับสิ่งที่รับรู้กันว่าเป็นจริง เช่น ตอนแรกเชื่อว่าแสงเป็นคลื่น ต่อมามีคนแย้งว่าเป็นอนุภาค เหมือนเป็นก้อนอะไรสักอย่างที่เล็กมาก ในที่สุดก็ยอมรับว่าแสงเป็นทั้งคลื่นและอนุภาค การยอมรับว่าแสงเป็นอนุภาคเป็นการขยายความเข้าใจออกไปอย่างย้อนแย้ง ความจริงทั้งสิ่งที่เรารับรู้ อยู่นอกการรับรู้ รอการค้นพบคือความจริงที่เราสามารถสืบหาได้ตลอดไป ไม่ต้องหยุดตรงใดตรงหนึ่ง

การแปรเปลี่ยนความขัดแย้งคือการทำให้เป้าหมายที่ขัดกันเป็นเหมือนการย้อนแย้ง เช่น จะเอาดินแดนคืน หรือจะคงบูรณภาพเอาไว้ มันก็ไปกันไม่ได้ แต่ว่าความย้อนแย้งคือการนำความจริงที่เหมือนจะแย้งกันมาอยู่ด้วยกันเพื่อหาตำแหน่งความจริงที่ยิ่งกว่า

ความย้อนแย้งช่วยให้เข้าใจความซับซ้อน ซับซ้อนเป็นธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่เราไม่ชอบความซับซ้อน จะสรุปเอาง่ายๆ ว่ามีฝ่ายถูก ฝ่ายผิด แต่การเข้าใจความซับซ้อนจะทำให้เราเห็นสัมพันธ์ภาพในระดับที่สูงขึ้น ช่วยให้เราปฏิเสธตรรกะการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เราอยู่กับความย้อนแย้งได้โดยไม่เลือกข้าง ใช่หรือไม่

สังคมไทยจะมีบทบาทในจังหวัดชายแดนใต้ได้ต้องใช้ปัญญาญาณ (wisdom) เพื่อก้าวพ้นการแบ่งแยกรุนแรงทางสังคมสู่สายสัมพันธ์ที่ให้เกียรติกัน ถ้าไม่มี ปัญหาก็จะยื้ดเยื้อคาราคาซัง เราควรทำตามเสียงเรียกของมโนธรรมที่เห็นทุกคนเป็นมนุษย์ซึ่งอยู่ในมณฑลการตระหนักรู้ที่แผ่กว้าง และเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเขาได้

ที่มาภาพ: flickr/iLaw

เราพึงมีความกล้าหาญที่จะยอมรับความเสี่ยงเพราะไม่มีสูตรสำเร็จและไม่มีหลักประกันความสำเร็จในการกระทำใดๆของเรา โดยเฉพาะเมื่อจะแก้ไขความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออย่างที่เกิดในจังหวัดชายแดนใต้ เราต้องยอมที่จะเผยจุดอ่อนของเราไปตามลำดับเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ขณะนี้ต่างฝ่ายต่างบอกว่าเราเข้มแข็ง ไม่มีจุดอ่อน เรากำลังบุก เรากำลังลุย เรากำลังจะชนะ ไม่รู้เอาอะไรมาอ้างนะครับ จึงทำให้เกิดความยืดเยื้ออย่างที่ทราบ

มาสู่ประเด็นปัญหาระหว่างคนในและคนนอก คนในพื้นที่ควรมีบทบาทหลักในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งชายแดนใต้ อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งนี้ใครคือตัวละครหลัก ก็คือฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายรัฐ กับขบวนการ แล้วดูฝ่ายความมั่นคงนะ หัวหน้าระดับนายพล นายพันเป็นคนนอก แม้ไม่นานมานี้ที่เพิ่งเปลี่ยนกำลังพลให้มาจากภาคใต้ ไม่ใช่ชายแดนใต้นะครับ มากขึ้นตามลำดับโดยอาศัยกองทัพภาคที่ 4 แต่คนสั่งการเป็นคนนอกพื้นที่ แต่ก็ดีขึ้นเพราะมีการส่งผู้แทนพิเศษจากรัฐบาลลงไปด้วย

ในระดับขบวนการอาร์เคเคเป็นคนในพื้นที่ แต่คนสั่่งการก็อยู่ในพื้นที่ไม่ได้ ก็ย้อนแย้ง การใช้คำว่าพื้นที่ที่หมายถึงสามจังหวัด บางทีก็รวมสี่ จ.สงขลาด้วย เป็นประโยชน์ในฐานะหน่วยวิเคราะห์ หน่วยราชการ หน่วยอ้างอิง แต่หน่วยย่อยย่อมเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่กว่าการมองแบบองค์รวมที่เป็นประโยชน์ไม่น้อยกว่าการแย่งย่อย ความย้อนแย้งคือการมองว่าคนๆ หนึ่งเป็นได้ทั้งคนในและคนนอก

การเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งใต้ยังต้องบทบาทสังคมไทยที่มีมากขึ้น เราจะต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น แบ่งเขาแบ่งเราเกินไป หากควรดูที่เจตจำนงของการสร้างความสงบสุขและความเป็นธรรมกับลูกหลานของเราต่อไป ถ้ามาด้วยเจตจำนงร่วมกัน เราก็คงจะไม่ถือเขาเป็นนอกเป็นใน แต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการคลี่คลายความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น

ผมลงไปชายแดนใต้ครั้งแรกปี 2548 ก็ได้ยินคำว่า เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เหมือนเป็นคาถาของฝ่ายความมั่นคง น่าจะหมายถึงเข้าใจคนในพื้นที่ว่าพวกเขากำลังเดือดร้อนแสนสาหัส อยู่ในความหวาดกลัวที่พยายามจะลืม แต่คนในสังคมไทยต้องพยายามเข้าใจคนในพื้นที่ ไม่ใช่ให้คนในพื้นที่เขาต้องมากดดันเรา ความเข้าใจนั้น เราต้องเข้าใจว่าความอยู่รอดของเขาต้องมาก่อน เขาย่อมมองโลกในแง่ร้าย เขาไม่เชื่อคนง่ายๆ ทั้งยังหวาดระแวงจากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ ฝ่ายรัฐมักนำเสนอคำพูดที่สวยหรูว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว รัฐเข้าใจความต้องการคนในพื้นที แต่คำพูดใดๆ ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่พูด เข้าใจของรัฐ ต้องระวังเพราะสามารถตีกลับได้เรื่อยๆ

คำว่าเข้าถึง กลายเป็นว่า คนนอกเข้าถึงความต้องการคนในพื้นที่ แต่ในมุมหนึ่งผมจะมองว่าคือการที่คนในพื้นที่เข้าถึงเราที่เป็นคนนอกด้วย คนในพื้นที่คับข้อง อยากส่งเสียงออกไปนอกพื้นที่ แต่เราคนนอกจะได้ยินแต่เสียงของตนเอง ตั้งใจแต่จะอธิบายความสำคัญของเป้าหมายตนเอง เข้าถึงเขาก็บอกให้เขารู้ว่าเราอยากได้อะไรอย่างนั้นหรือ คนนอกมักไม่ได้ยินเสียงคนใน ทั้งไม่ได้นับเสียงเหล่านั้นมาไตร่ตรองและสะท้อนคิดกลับไปให้เขาทราบ เขาพยายามส่งสัญญาณว่าเขาเดือดร้อนอะไรบ้าง เราก็บอกว่าเรากำลังแก้ปัญหาอยู่ กำลังทำสิ่งนั่นสิ่งนี้อยู่ เหมือนจะพูดสวนทางกันอยู่หรือไม่ ไม่รู้ว่าใครเข้าถึงใคร

จริงๆ คนนอกใช้การเมืองขนานแท้ (Realpolitik) ยกผลดีให้ตน ยกผลเสียให้คนอื่น จึงขาดจิตวิญญาณความจริงแท้ในการทำงานเพื่อคนอื่นอย่างจริงจัง ผลที่ได้คือไม่ได้เข้าถึง

คำว่าพัฒนา อาจจะอ้างอมาตยา เซนนิดหน่อยที่ว่า เสรีภาพคือการพัฒนา พัฒนาให้เขายังไม่สู้ให้เขาพัฒนาเอง คือเงื่อนไขที่คนนอกเอื้อให้คนในจัดการอุปสรรคด้วยตัวเอง คนนอกกล้าที่จะยอมรับความเสี่ยง ลงทุน และสร้างงานในพื้นที่ให้มากขึ้นจะได้ไหม ส่วนในภาพรวมระดับมหภาคก็เป็นที่ทราบกันว่าผลผลิตของจังหวัดชายแดนใต้อยู่ระดับท้ายๆ มาสิบกว่าปี ทำไมการใช้งบประมาณเยอะแยะไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของ จ.ชายแดนใต้อย่างเป็นกอบเป็นกำ สังคมไทยจะทำอย่างไรให้ตัวบ่งชี้เศรษฐกิจมหภาคดีขึ้นตามลำดับ อย่างที่บอกว่าเข้าใจแล้ว เข้าถึงแล้ว ตอนี้จะลงมือพัฒนาแล้ว

ผมก็อดมองไปที่อดีตเมื่อประมาณปี 2548-2549 ไม่ได้ ที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ผมถือว่าเป็นความพยายามหนึ่งของสังคมไทยในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งชายแดนใต้ แม้ประธาน รองประธาน เลขานุการ นักวิจัย ผู้เขียนบทความจะเป็นคนนอกพื้นที่ประมาณหนึ่งในสี่ นอกนั้นเป็นภาคการเมือง นักการเมืองและข้าราชการ ซึ่ง กอส. พยายามจำลองแบบสังคมไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาลงไปเป็นกรรมการชุดหนึ่ง

นอกจากข้อเสนอความหมายความสมานฉันท์ในรายงานแล้ว กอส. ยังให้ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ดังนี้

หนึ่ง เอาชนะความรุนแรงทางตรงโดยสร้างสันติเสนา สานเสวนากับฝ่ายขบวนการ และเจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจลักษณะพิเศษของพื้นที่

ข้อเสนอเชิงโครงสร้าง ให้ชุมชนจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ปรับปรุงกฎหมายอิสลามตามบริบทชายแดนใต้ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรศาสนาอิสลาม คงไว้ซึ่งความหลากหลายในระบบการศึกษา และใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาชายแดนใต้

ข้อเสนอทางวัฒนธรรม ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั่วประเทศ เสริมวิถีชีวิตสันติวิธีทั่วประเทศ ใช้ภาษามลายูปาตานีเป็นภาษาทำงาน ไม่ใช่ภาษาทางการนะครับ และเน้นการสานเสวนาระหว่างสมาชิก

ข้อเสนอทางการเมือง ออก พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ จัดตั้งศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุข จ.ชายแดนใต้ สร้างสภาพัฒนาพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมพัฒนาจากชุมชน ตั้งคณะกองทุนเยียวยาและสมานฉันท์ ข้อเสนอเหล่านี้แม้มีขึ้นในปี 2549 แต่หลายข้อผมยังมองว่าเป็นปัจจุบัน คำถามคือ สังคมไทยให้การยอมรับ และผลักดันให้ภาครัฐมีผลในปฏิบัติอย่างไร

ตัวอย่างที่สังคมไทยได้เริ่มทำไปบ้างแล้วได้แก่ การศึกษาและเผยแพร่ทักษณะวัฒนธรรมที่เป็นคู่มือของการขัดกันฉันท์มิตร ทดลองการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ทวิภาษาเต็มรูปแบบ จัดทำนโยบายทางภาษาและนโยบายการสอนภาษา การส่งเสริมการรวมกลุ่มของชาวพุทธทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อสานเสวนากับฝ่ายรัฐและมุสลิม การถกแถลงอนาคตชายแดนใต้ การเมืองภาคพลเมือง แนวคิดจังหวัด ชุมชนจัดการตนเอง การสำรวจความเห็นกับประชาชนเรื่องสันติภาพที่เสร็จสิ้นแล้ว 3 ครั้ง

งานที่ควรทำเพิ่ม ผมเห็นว่างานที่เรายังทำน้อยคือการสร้างวาทกรรมเพื่อการแลกเปลี่ยน ฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการพยายามสร้างวาทกรรมเพื่อเอาชนะ ผมก็เสนอก่อนหน้านี้ว่าวาทกรรมที่ต่างกันควรมีการสานเสวนากัน ผมอยากเห็นชาวมุสลิมคุยกันเรื่องศัพท์ที่แปลกๆ อย่างเช่น ดารุลฮัรบี (แดนข้าศึก) กับ ดารุลอิสลาม (แดนสันติ) ชายแดนใต้เป็นอย่างไร หรือเป็นอย่างอื่น ผมถามคนหนึ่งก็ได้คำตอบหนึ่ง ถามคนอื่นก็อาจได้คำตอบอื่น หรือ คำกล่าวของฝ่ายขบวนการที่บอกว่าเรากำลังต่อสู้กับอาณานิคมสยาม แสดงว่ายังมองว่าการปกครองปัจจุบันยังเป็นการปกครองแบบอาณานิคมหรือประชาธิปไตย ซึ่งก็แน่นอนว่าปกครองคนหลายชาติพันธุ์ หลายเชื้อสาย คำกล่าวที่ว่าเราต่อสู้เพื่อขับไล่กาเฟรสยาม (สยามที่ไม่ใช่มุสลิม) ออกจากปาตานี ทำให้ชาวพุทธหวาดกลัวมากซึ่งอาจไม่จำเป็น

เราอยากชวนชาวชายแดนใต้มาคุยกัน ผมติดใจคำพูดของวันกาเดร์ (รองศาสตราจารย์ ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมาน หลานของนายอิซซุดดิน ประธานขบวนการแบ่งแยกรัฐปัตตานี (BIPP) อดีตรองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย – ที่มา วิกิพีเดีย) ที่ว่า จะเอาศาสนามาอ้างอย่างไรก็สู้ไม่ได้ คนสามล้านจะสู้กับหกสิบล้านได้อย่างไร คำว่าวาญิบที่แปลว่าเป็นที่บังคับ ในการต่อสู้ มีเงื่อนไขว่าต้องพร้อม ถ้าไปแล้วรู้ว่าจะตาย คือฮะรอม (กฎบัญญัติที่ห้าม – ที่มา วิกิพีเดีย) ไม่ใช่วาญิบ ผมเชื่อว่าวันกาเดร์ที่เป็นนักต่อสู้คนหนึ่งพูดอย่างนี้

ผมว่าน่าจะสานเสวนาถึงขบวนการเอกราชในประเทศต่างๆ และการยอมรับขบวนการเอกราชต่างๆ ในโลก มีการค้นพบว่าการแยกดินแดนในปัจจุบันทำได้ยากมาก แต่ก็ยังมีคนต่อสู้ ผมว่า สปช. (สภาปฏฺิรูปแห่งชาติ) หรือกระทรวงการต่างประเทศอ่อนไหวเกินจำเป็น ถ้าเราพูดเรื่องหลักการกำหนดใจตนเอง (Self Determination) ท่านก็สะดุ้งนอนไม่หลับ เวลาเราพูดว่าการพูดคุยสันติภาพก็พูดว่า พูดแบบนี้ไม่รักชาติหรืออย่างไร ทำไมไม่พูดว่าพูดคุยสันติสุขถึงจะรักชาติจริง ถ้าอ้างเรื่องชายแดนใต้มีการต่อสู้ด้วยอาวุธก็บอกว่าพูดแบบนั้นไม่ได้ เดี๋ยวใครจะเอาไปใช้ในระดับยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) หรือบอกว่า ถ้าเรียกชื่อมาราปาตานีตรงๆ ก็บอกว่าไม่ดีหรอก เรียกเขาเป็นผู้เห็นต่างดีกว่า ก็ไม่ทราบว่าเขาติดขัดอะไร อยากสานเสวนากับเขาแต่ยังหาบุคคลที่สานเสวนาไม่เจอ

ผมก็อยากมาที่กระบวนการพูดคุย คณะพูดคุยท่านก็ทำเอกสารที่จะนำมาแจก ผมวิจารณ์นะครับว่า ในหน้าแปดและหน้าสิบ มาถึงก็ต่อว่าการพูดคุยที่เริ่มเมื่อปี 2558 ไปว่าเขาทำไม ว่าไปในนามรัฐบาลสู้ไม่ได้ ไปในนามประชาชนชายแดนใต้ ก็ไม่รู้นะครับ เมื่อก่อนคุยได้แค่กลุ่มเดียว เดี๋ยวนี้คุยได้ตั้งหกกลุ่ม ผมก็ถามว่ากลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่มไหนนอกจากกลุ่มบีอาร์เอ็น แล้วในมารา ปาตานี มีกำลังกี่คน เขาบอกว่ามีหลายร้อย ซึ่งเทียบกับบีอาร์เอ็นไม่ได้ ก็ดีใจที่ได้คุยกับหกกลุ่มแต่ไม่ได้คุยกับคนคุมกำลัง แต่ก่อนเขาคุยกลุ่มเดียวแต่ได้กลุ่มที่คุมกำลัง ทำไมต้องเอามายกเป็นตัวอย่างความเข้มแข็งของปัจจุบันในเมื่อมันชี้ไม่ตรง บอกว่าดีจะตายที่ปัจจุบันไม่มีข้อเรียกร้องจากมารา ส่วนบีอาร์เอ็นมีข้อเรียกร้องห้าข้อ ก็ไปดูข้อเรียกร้องของมารา บอกว่าเป็นวาระแห่งชาติ ผมก็ถามเขาว่าแปลว่าอะไร เขาบอกว่าคือทุกหน่วยงานมีการประจักษ์เอง แต่พอมาถึงวาระแห่งชาติอ้างได้เลยว่าสามารถทำการนั้นได้ แม้ไม่ใช่สายงานที่ตนเอง คุณจะทำเรื่องอะไรก็ตามแต่พอเป็นวาระแห่งชาติแล้วต้องมีเรื่องภาคใต้เข้ามาทำด้วย ผมถามว่าจริงหรือเปล่า ผมยังเห็นข้าราชการในชายแดนใต้ยังเฉื่อยๆ งานอยู่เลย หรือผมพูดผิด เพราะเขายกบทบาทหลักให้ทหารไปแล้ว สอง การยอมรับมารา ท่านก็ตอบว่าก็ให้ประชาชนยอมรับ ไม่ใช่ให้ฝ่ายเอยอมรับ เขาไม่ได้พูดอย่างนั้น เขาพูดว่าเมื่อไหร่ฝ่ายเอจะยอมรับมาราปาตานีสักที คุณก็บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของฉัน แล้วเขาเข้าพื้นที่ยังไม่ได้เลย แล้วเขาจะเข้าไปโฆษณากับประชาชนอย่างไร อันนี้ก็เป็นข้อโต้แย้งกันไปเรื่อยๆ ส่วนการคุ้มครองทางกฎหมายก็กำลังทำอยู่ด้วยกระบวนการยุติธรรมทางเลือก

แต่ผมก็ยังชื่นชมความพยายามต่อเนื่องของคณะพูดคุย แต่ก็ยังมีข้อฝากอ้างอิงจากนอร์เบิร์ตว่า ทำอย่างไรให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้ ในเอกสารของโครงการ IPP ก็ตั้งคำถามว่า คุณคัดเลือกคนที่มาคุยอย่างไร บทบาทผุ้อำนายความสะดวกคืออะไรกันแน่ การพูดคุยสนับสนุนให้คนนอกพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมแค่ไหน ภาคีการพูดคุยทั้งเอและบีเป็นหนึ่งเดียวกันภายในแต่ละภาคีหรือไม่ เพราะที่ทราบมาก็ไม่ค่อยเป็นถึงขนาดนั้นั้น

การพูดคุยจะสำเร็จจะต้องมีความไว้วางใจ ที่ผ่านมามีการตกลงในช่วยปี 2556 เกี่ยวกับการลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน ผมนึกว่ามันน่าจะดี จนกระทั่งไปอ่านข้อสรุปของคัมภีร์มรณะว่า ถ้าใช้ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนจะได้บุญหลายเท่า ทำให้เข้าใจว่าทำไมสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนจึงรุนแรงขึ้น และการลดความรุนแรงยังคงเป็นที่ถกเถียงในพื้นที่

ถ้าไม่ระวัง การตกลงในเบื้องต้นแล้วเกิดช่องว่าง มันก็จะลดความไม่ไว้วางใจ ทำให้หวั่นใจกับการตกลงกันเรื่องพื้นที่ปลอดภัยที่ผมเชื่อว่าใช้เวลาขัดเกลาเยอะ และที่สำคัญข้อสุดท้าย ถ้าจะเสนอให้ทั้งคนในและคนนอกมีส่วนร่วมกับกระบวนการพูดคุยเพิ่มขึ้น น่าจะมีสิ่งที่เรียกว่าโครงสร้างรองรับกระบวนการสันติภาพ ทุกวันนี้โครงสร้างฝ่ายไทยมีสามระดับ ก็พูดกันอยู่เรื่อยตามคำสั่งที่ 230/2557 แต่ผมก็อยากเห็นคณะทำงานร่วมให้ชัดเจน และแต่ละคณะที่มาคุยก็ต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจน ส่วนในระดับทางแทร็กที่สอง สังคมไทยควรมีส่วนร่วมด้วยการทำงานวิชาการ ศึกษา เผยแพร่ จัดสานเสวนาชุมชน ภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่เข้าไปจัดสานเสวนาชุมชน เปิดโอกาสให้ชุมชนมีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพ สังคมไทยยังทำอะไรได้อีกเยอะ และถ้าไม่เข้าไปร่วมอย่างจริงจัง ความรุนแรงที่ยืดเยื้อก็จะดำรงอยู่ต่อไป ขอขอบคุณครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net