ปักหลักค้างคืนหน้าทำเนียบ กลุ่มค้าน ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม รอฟังคำตอบ 7 วัน

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปักหลังค้างคืนหน้าทำเนียบฯ รอฟังคำตอบ 7 วัน หลังขอตั้งคณะทำงานยกร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เพื่อยกร่างฉบับนี้ขึ้นใหม่  ให้คณะทำงานยกร่างกฎหมายฯ ประกอบด้วย ภาคประชาชนและภาครัฐในสัดส่วนที่เท่ากัน

ภาพจาก เฟซบุ๊ก เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

6 ธ.ค.2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ เวลาประมาณ 13.30 น. ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่ง โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า ประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กลุ่มคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ในหลายจังหวัด เช่น ชัยภูมิ เลย สกลนคร และเพชรบูรณ์ ประมาณ 100 คน นำโดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่าย ได้รวมตัวกันเพื่ออ่านแถลงการณ์ยืนยันการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญโดยชอบตามกฎหมาย

พร้อมทั้งข้อเสนอของภาคประชาชนต่อสาธารณะและรัฐบาล และยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการซึ่งมีตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรีออกมารับหนังสือ โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. ขอให้ตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นใหม่  2. ให้คณะทำงานยกร่างกฎหมายฯ ประกอบด้วย ภาคประชาชนและภาครัฐในสัดส่วนที่เท่ากัน และ 3. หลักการอื่นใดให้เป็นข้อตกลงกันทั้งสองฝ่ายจนเป็นที่ยอมรับกัน

จากกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผลักดันร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ... ในส่วนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างรีบร้อน โดยที่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะของประชาชนที่พยายามทักท้วงข้อบกพร่อง ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหากระบวนการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) แต่กลับเอื้อให้โครงการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น

แถลงย้ำด้วยว่า "จะปักหลักชุมนุมค้างคืนเพื่อรอฟังคำตอบที่พอใจก่อน เนื่องจากเราได้ขออนุญาตชุมนุมบริเวณบนทางเท้าหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลแล้วเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 6-12 ธ.ค.นี้"

สำหรับเนื้อหาหนังสือเรียกร้องระบุด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ผ่านการจัดทำตามมาตรา 77 และไม่เป็นไปตามมาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ภาคประชาชนได้มีความพยายามยื่นข้อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำร่างกฎหมาย คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่ไม่ได้ถูกบรรจุเป็นเนื้อหาในร่างกฎหมายแต่อย่างใด

โพสต์ทูเดย์ รายงานด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความเรียบร้อยทั้งบริเวณทำเนียบรัฐบาลและฝั่ง ก.พ. ประมาณ 150 นาย

พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดุสิต กล่าวว่า การขอปักหลักค้างคืนเป็นการยื่นตามสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่การขออนุญาต ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าการปักหลักชุมนุมดังกล่าว หากพบว่ามีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวาย พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จะประกาศให้ทำเนียบรัฐบาลเป็นเขตห้ามชุมนุมในระยะ 50 เมตรทันที

"การชุมนุมครั้งนี้อาจจะมีความเป็นไปได้ที่เข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะอ้างว่าไม่ใช่เป็นการชุมนุมทางการเมืองก็ตาม แต่ คสช.จะมีการพิจารณาต่อไป" ผกก.สน.ดุสิต ระบุ

ภาพจาก Jamon Sonpednarin 

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 21.20 น. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งด้วยว่า กลุ่มดังกล่าวยังคงปักหลักจัดอยู่บริเวณ หน้า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล โดยมีกิจกรรม เช่น การ "เสวนาข้างทำเนียบ" และบอกเล่าปัญหาจากกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ใน 2 พื้นที่ คือ 1.กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา  2. กรณีเหมืองโปแตช จ.อุดรธานี เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท