เครือข่าย ปชช. ประกาศล่ารายชื่อเสนอ กม.สิ่งแวดล้อมฉบับประชาชน ก่อนยุติชุมนุม

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนยุติชุมนุมหลังเจรจากับตัวแทนรัฐ บอกให้เวลารัฐบาล 1 เดือนจะกลับมาพร้อม 10,000 รายชื่อกับร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับประชาชนเตรียมประกบฉบับของรัฐบาล หลังจากนี้จะเปิดเวทีถกรายประเด็นกับ สผ.


ภาพจากเพจเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันนี้ (7 ธันวาคม 2560) เวลาประมาณ 11.30 น. เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มาปักหลักชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล ด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2560 เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.... ได้ประกาศข้อตกลงที่ได้พูดคุยกับทางรัฐบาลและอ่านแถลงการณ์ ก่อนจะยุติการชุมนุม

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนของเครือข่ายฯ กล่าวว่า ร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีเนื้อหาหลายข้อที่ถ้าผ่านเป็นกฎหมายจะเอื้อต่อการลงทุนมากเกินไปและทำให้มาตรการการป้องกัน แก้ไข ควบคุม ตรวจสอบ กำกับ ติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลต่อชีวิตประจำวันของผู้คนเลวร้ายลง จึงเป็นเหตุให้ภาคประชาชนไม่สามารถยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้

สำหรับการเจรจากับตัวแทนรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในช่วงเช้า เลิศศักดิ์ กล่าวว่า ทางหน่วยงานรัฐยังคงตอบคำถามของภาคประชาชนในแบบเดิมๆ และที่ผ่านมา ทางกระทรวงทรัพย์ฯ และ สผ. ก็ไม่เคยนำเนื้อหาที่ทางภาคประชาชนเสนอบรรจุเข้าไปในร่างกฎหมายเลย ขณะที่ตัวแทนรัฐบาลไม่ต้องการให้มีการชุมนุมบริเวณทำเนียบอีกต่อไปจึงมีการตกลงกัน ดังนี้

1.หลังจากนี้จะมีการปรึกษาหารือกันระหว่างเครือข่ายประชาชนฯ กับหน่วยงานจากกระทรวงทรัพย์ฯ และ สผ. เพื่อศึกษาพิจารณาเป็นรายมาตราว่ามีมาตราไหนบ้างที่เครือข่ายเสนอไปแล้วสามารถยอมรับได้ หรือตรงไหนที่แตกต่างก็ระบุให้ชัด เพื่อนำเสนอบทบัญญัติต่างๆ ส่งไปยัง สนช. และคณะกรรมาธิการพิจารณา โดยทางภาคประชาชนจะกลับไปทำงานในส่วนวิชาการเพื่อเสนอต่อสาธารณะ รัฐบาล และส่วนราชการต่อไป

2.ทางเครือข่ายยืนยันว่า กฎหมายสิ่งแวดล้อมจะต้องแก้ไขทั้งฉบับ ไม่ใช่เพียงหมวดการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนมากเกินไปดังที่กำลังทำอยู่

3.ทางเครือข่ายประชาชนฯ จะให้เวลารัฐบาล 1 เดือน และจะกลับมาพร้อมรายชื่ออย่างน้อย 10,000 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับภาคประชาชนประกบไปกับฉบับของรัฐบาล

“ความพึงพอใจของการตกลงในวันนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำสุด การยื่นหนังสือกับกระทรวงทรัพย์ฯ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ครั้งนี้มีแรงตอบรับที่ดีขึ้นเพียงเล็กน้อย นี่คือการเจรจาต่อรองระหว่างภาคประชาชนกับรัฐบาล เราจึงยอมรับข้อตกลงนี้โดยที่ไม่ได้พึงพอใจมากนัก” เลิศศักดิ์ กล่าว

สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมหรือเอ็นลอว์ เผยกับประชาไทว่า รัฐบาลยืนยันว่าไม่สามารถถอนร่างกฎหมายออกมาได้ เนื่องจากต้องทำกฎหมายให้เสร็จตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 278 ที่ระบุว่า สนช. ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมาย

แต่ทางรัฐบาลต้องการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมทั้งฉบับอยู่แล้ว ดังนั้น ทางเครือข่ายจึงเตรียมล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายฉบับภาคประชาชนประกบกับร่างแก้ไขทั้งฉบับของรัฐบาลในอนาคต

เมื่อถามว่าทางภาคประชาชนเคยยื่นหนังสือมาแล้วหลายครั้งและครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 คิดหรือไม่ว่านี่เป็นการซื้อเวลาอีกครั้งหนึ่งของทางรัฐบาลและหน่วยราชการ สุภาภรณ์ กล่าวว่า

“เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อเกิดกระบวนการและเวทีพูดคุยรายประเด็นขึ้นแล้ว ไม่เกิดการแก้ไข ภาคประชาชนก็จะมีปฏิบัติการต่อเนื่อง ครั้งนี้อาจดูเหมือนไม่ได้อะไร แต่ต้องยอมรับรัฐบาลชุดนี้ทำให้ภาคประชาชนขยับลำบากมาก ครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของพี่น้อง แต่เราต้องดำเนินการไปเรื่อยๆ คงไม่จบแค่นี้”

หลังจากนั้นตัวแทนเครือข่ายจึงทำการอ่านแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาดังนี้

แถลงการณ์ยกเลิกร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ ที่ไม่ปฏิรูป EIA/EHIA ยุติการเปิดทศวรรษใหม่แห่งความขัดแย้งในสังคมไทย

ตลอด 8 เดือนของการยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแดวล้อมในฐานะหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาเพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA/EHIA) ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 และแนวนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศเดินหน้าปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมไทย

แต่ในทางปฏิบัติ กระทรวงฯ ได้ทำการบิดเบือนด้วยการนำร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ทำไว้ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาปัดฝุ่น และเร่งรัดการจัดทำให้เป็นไปตามกรอบเวลา 240 วัน ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 278 โดยไม่ได้มีการรับฟังความเห็นประชาชนอย่างรอบด้าน และเฉพาะเจาะจงไปยังการปฏิรูประบบ EIA/EHIA ที่เป็นปมปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง และความสูญเสียในทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่เป็นผลมาจากปัญหาของการจัดทำ EIA/EHIA โครงการพัฒนาด้านต่างๆ โรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่ หรือการก่อสร้างตึงสูง เช่น คอนโดมีเนียม โรงแรมขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ขณะที่เนื้อหาสาระของร่างกฎหมายก็ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการของการปฏิรูป ที่จะนำไปสู่การสร้างและพัฒนานวัตกรรมการประเมินผลกระทบ เช่น การไม่บัญญัติเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์หรือ SEA (ทั้งที่เรื่องนี้เป็นดำริของนายกรับมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560) ในทางกลับกัน ยังเป็นการถอยหลังเข้าคลองเพราะมีการเปิดช่องให้เกิดการยกเว้นไม่ต้องจัดทำ EIA เร่งรัดตัดตอนการพิจารณาโครงการและให้อำนาจ ครม. อนุมัติให้มีการจัดหาเอกชนเข้ามารับงานไปก่อนในระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงาน EIA ซึ่งผิดหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขอขอบคุณพี่น้องทุกฝ่ายที่สนับสนุนการต่อสู้ในครั้งนี้ และขอวิงวอนให้สังคมช่วยกันกดดันให้รัฐบาลถอนร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว และดำเนินการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดกระบวนการตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสม เกิดการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และเกิดการเคารพสิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

7 ธันวาคม 2560 ทำเนียบรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท