12 ธ.ค.วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลก เน้นย้ำทุกประเทศปกป้องสิทธิสุขภาพประชาชน

'หมอธีระ' ชี้ 'UHC DAY' เน้นย้ำประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญปกป้องสิทธิสุขภาพประชาชน พร้อมผลักดัน 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' ตามบริบทแต่ละประเทศ ชี้ 15 ปี ไทยรุกระบบบัตรทองถูกทาง ช่วยคนไทยเข้าถึงการรักษา คุ้มครองด้านมนุษยชน แนะทหากลไกดึงทรัพยากรเพิ่ม สู่การพัฒนาเป็นระบบที่ดีสำหรับทุกคน

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

7 ธ.ค.2560 รายงานข่าวแจ้งว่า ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตามที่ภาคีสุขภาพนานาชาติกำหนดให้วันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “UHC DAY” สะท้อนว่า องค์กรระดับโลกด้านสุขภาพได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) ในแต่ละประเทศอย่างมาก สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป็นการเน้นย้ำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกประเทศทั่วโลก โดยแต่ละประเทศต้องพิจารณาว่าจะมีแนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นสิทธิด้านสุขภาพประชากรของประเทศตนเองได้อย่างไร โดยเป็นแนวทางที่ทำได้จริงและยั่งยืน

อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องสำคัญมากทั้งในยุคปัจจุบันและอนาคต เพราะทุกวันนี้ทั่วโลกต่างหมุนด้วยสังคมทุนนิยม ที่มีความผกผันด้านเศรษฐกิจสูงมาก คนรวยวันนี้อาจเป็นคนจนในวันพรุ่งนี้ได้ ขณะที่ความเจ็บป่วยไม่สบายที่คุกคามต่อชีวิตย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ในหลายประเทศจึงมองระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการลงทุน ไม่ใช่ภาระงบประมาณประเทศ เนื่องจากมองว่าประชาชนเป็นทรัพย์สินที่มีค่า หากประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงสุขภาพที่ดี จะนำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ ดังนั้นหลายประเทศจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยมีรูปแบบที่ต่างกันออกไปตามบริบทของประเทศตนเอง  

นพ.ธีระ กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยในช่วงมา 15 ปีที่ผ่านมา จากการเริ่มต้นแนวคิดคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้สร้างคุณูปการอย่างมากต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเศรษฐานะให้เข้าถึงการรักษา ลดอัตราเสียชีวิตก่อนวันอันควรในกลุ่มที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ทั้งยังช่วยลดช่องว่างทางสังคม ภาวะล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีรายงานตัวเลขชัดเจน ขณะที่สถิติการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพดีขึ้น ทั้งการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ แม้ว่าจะมีผลกระทบอยู่บ้างจากการปรับเปลี่ยนวิธีจัดสรรงบประมาณสุขภาพที่กำหนดให้มีผู้ซื้อและผู้ให้บริการสุขภาพ พร้อมกระจายงบประมาณตามรายหัวประชากร  

“โมเดลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย ถือเป็นโมเดลระดับโลกที่ได้รับการยอมรับ เพราะไทยแม้ไม่ได้เป็นประเทศที่มีเงินถุงเงินถัง แต่ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพประชาชนเพื่อไม่ให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวันอันควร มองสุขภาพดีของประชาชนเป็นสมบัติอันล้ำค่าซึ่งจะนำรายได้สู่ประเทศชาติได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีหลายประเทศที่ทำได้ดี อย่างอังกฤษและญี่ปุ่นที่มีรูปแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตนเอง” นพ.ธีระ กล่าว

นพ.ธีระ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดี นอกจากมีโครงสร้างระบบสาธารณสุขที่ดีแล้ว ยังมาจากโครงสร้างการจัดเก็บภาษีที่เข้มแข็ง เพราะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก หากงบประมาณไม่พอการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีคงเป็นไปได้ยากและไทยกำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ เพราะด้วยโครงสร้างฐานภาษีที่ไม่ครอบคลุม ส่งผลให้งบประมาณภาครัฐที่ลงสู่ระบบมีปัญหา สร้างผลกระทบต่อหน่วยบริการและผู้ให้บริการในระบบสุขภาพ จึงเป็นประเด็นน่าคิดว่า หากต้องการให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีอยู่เป็นสวัสดิการสังคมที่แท้จริงและยั่งยืน เราควรมีแนวทางพัฒนาอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะการระดมทรัพยากรเข้าสู่ระบบ ทั้งต้องทำให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะระหว่างผู้ให้บริการและรับบริการ

“วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลปีนี้ เป็นโอกาสที่จะได้ร่วมทบทวนความเป็นจริงของสถานการณ์ประเทศไทย ซึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดีต้องเป็นระบบสำหรับทุกคน โดยเปิดให้มีส่วนร่วมเพื่อให้ความเห็นและข้อเสนอแนะที่นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนา โดยการสร้างกลไกใหม่เพื่อระดมทรัพยากรสู่ระบบให้เพียงพอ วันนี้ต้องบอกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเดินทางถูกทางแล้ว ทั้งในด้านการสร้างความเท่าเทียม สิทธิมนุษยชนในด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพ และรัฐบาลที่มองประชากรเป็นทรัพยากรล้ำค่าในการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพียงแต่ต้องปรับปรุงให้เกิดความสมดุลเพิ่มขึ้น เพื่อทุกฝ่ายพร้อมเดินหน้าพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปด้วยกัน” นพ.ธีระ กล่าว  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท