แพทย์ในญี่ปุ่นทำงานล่วงเวลาเกือบ 64 ชั่วโมงต่อเดือน

ญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีด้านการแพทย์สูงลำดับต้นๆ ของโลกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่แพทย์ก็ยังทำงานหนัก สหภาพแรงงานสำรวจสภาพการทำงานพบแพทย์ญี่ปุ่นทำงานล่วงเวลาถึงเดือนละ 63.9 ชั่วโมง

ที่มาภาพประกอบ: pixabay.com/sasint (CC0)

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีเทคโนโลยีด้านการแพทย์สูงลำดับต้นๆ ของโลก แต่กระนั้นสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของญี่ปุ่นถือว่าไม่สูงมากนักอยู่ที่ 2 คนต่อประชากร 1,000 คน (ข้อมูล ณ ปี 2545) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับ 'ปานกลางค่อนข้างสูง' เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก (ดูเพิ่มเติม: Health > Physicians > Per 1,000 people: Countries Compared) และญี่ปุ่นก็กำลังประสบปัญหาเดียวกับหลายๆ ที่ในโลกนั่นก็คือการทำงานหนักของแพทย์

เว็บไซต์ Japan Press Weekly  รายงานเมื่อเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่ามีการเผยแพร่ผลสำรวจของสหภาพแรงงาน ที่ทำการสำรวจสภาพการทำงานของแพทย์ในญี่ปุ่น 1,621 คน ระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. 2560 พบว่าแพทย์ที่ทำงานเฉพาะกะกลางวันทำงานล่วงเวลา (OT) เฉลี่ย 53.3 ชั่วโมงต่อเดือน ส่วนแพทย์ที่ทำงานทั้งกะกลางวันและกะกลางคืนทำงานล่วงเวลาถึงเดือนละ 63.9 ชั่วโมง ในการสำรวจพบว่าร้อยละ 7.3 ของแพทย์เต็มเวลาที่ทำการการผ่าตัดกะกลางคืนทำงานล่วงเวลาเกิน 80 ชั่วโมงต่อเดือน นอกจากนี้ร้อยละ 8.2 มีประสบการณ์ในการทำงานโดยไม่มีวันหยุดติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน

สำหรับคำถามเกี่ยวกับปริมาณงาน พบว่าร้อยละ 45.5% ของแพทย์ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าพวกเขามีปริมาณงานที่หนักกว่าเมื่อสองปีก่อน ในบรรดาแพทย์ที่ทำงานเป็นกะร้อยละ 79 ระบุว่ารู้สึกว่าตัวเองสูญเสียสมาธิในการทำงานหากทำงานมากกว่า 24 ชั่วโมงติดต่อกัน เมื่อถามถึงมาตรการในการปรับปรุงสภาพการทำงานของแพทย์ แพทย์ 785 รายตอบว่า 'ขอให้ตนเองสามารถใช้วันหยุดได้เต็มที่' ตามด้วย 'การลดจำนวนของคืนที่ทำงานต่อเดือน' (487 ราย) และ 'ลดชั่วโมงการทำงาน' (478 ราย) ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายของข้อเสนอดังกล่าว แพทย์ผู้ตอบแบบสอบถาม 1,024 ราย ระบุว่าการเพิ่มจำนวนแพทย์ให้มากขึ้นจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. 2560 สหพันธ์แรงงานด้านการแพทย์ญี่ปุ่น (Japan Federation of Medical Workers’ Unions - Iroren) หรือ ‘อิโรเร็น’ สำรวจสภาพการทำงานของผู้ประกอบอาชีพพยาบาลในญี่ปุ่นพบว่าร้อยละ 71.7 ของพยาบาลผู้ตอบแบบสอบถามมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง นอกจากนี้ร้อยละ 62.5 รู้สึกเครียด และร้อยละ 55.3 มีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง นอกจากนี้ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามมีประสบการณ์ในการทำผิดพลาดหรือเกือบจะผิดพลาดทางการแพทย์ เกือบร้อยละ 75 ระบุว่าพวกเธอเคยคิดถึงการทิ้งอาชีพพยาบาลนี้ไปหางานใหม่ทำเพราะภาระงานหนักเกินไปเนื่องจากการขาดแคลนพยาบาลในญี่ปุ่น

โดยส่วนใหญ่พยาบาลในญี่ปุ่นต้องทำงานในโรงพยาบาลที่มีตารางการทำงาน 3 กะ โดยร้อยละ 36.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าทำงานกะกลางคืนถึง 9 ครั้งหรือมากกว่าต่อเดือน ร้อยละ 47.3 ระบุว่าทำงานกะกลางคืนถึง 5 ครั้งหรือมากกว่าต่อเดือน และร้อยละ 90 ต้องทำงานล่วงเวลา (OT) (อ่านเพิ่มเติม: สหพันธ์แรงงานเผยผลสำรวจพยาบาลญี่ปุ่น 71.7% มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท